สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ฝันไกลๆ ฝันแบบไปดวงจันทร์

ฝันไกลๆ ฝันแบบไปดวงจันทร์

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ในช่วงนี้ผมมีโอกาสฟังแนวคิดต่างๆ ที่ผู้หวังดีมองว่าจะช่วยพัฒนาประเทศได้อย่างแท้จริง บางแนวคิดพูดกันมานานแล้ว

บางแนวคิดค่อนข้างใหม่และอาจมองได้ว่ามาจากนอกโลก หรือหลุดโลก แต่ผมมองว่าถ้าเราไม่กล้าคิดกล้าทำสิ่งใหญ่ๆ เมืองไทยจะพัฒนาไปตามแนวเดิมที่จะทำให้เราย่ำเท้าอยู่กับที่มากกว่าจะพัฒนาให้ก้าวหน้าอย่างแท้จริง หากจะพัฒนาไปให้ถึงฝั่งฝันจะต้องคิดกันแบบไปดวงจันทร์ นั่นคือ สร้างยานพาหนะจำพวกจรวดแซทเทิร์นไฟว์ ซึ่งใหญ่และมีพลังสูงพอที่จะพายานอพอลโลพร้อมมนุษย์อวกาศสามคนออกไปนอกแรงโน้มถ่วงของโลกได้ก่อนที่สองคนจะไปลงบนดวงจันทร์ ผมมองว่าถ้าเรานำแนวคิดสามกลุ่มมาทำรวมกัน เราจะไปถึงฝั่งฝันแบบไปดวงจันทร์ได้

กลุ่มแรกมีแกนอยู่ที่การพัฒนาภาคใต้ผ่านการขุดคอคอดกระ แนวคิดนี้มีมานมนานแต่ยังไม่มีรัฐบาลไหนกล้าพอที่จะต่อยอดไปจนถึงขั้นปฏิบัติ ผลดีของการย่นระยะทางระหว่างมหาสมุทรอินเดียผ่านอ่าวไทยไปยังมหาสมุทรแปซิฟิก ของการสร้างท่าเรือน้ำลึกและของการก่อตั้งเขตอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในย่านนั้นคงเป็นที่รับรู้กันอยู่แล้ว แต่แนวคิดในกลุ่มนี้จะไม่หยุดอยู่ที่สามสิ่งนั้น หากจะขยายต่อไปถึงการใช้ชายฝั่งและเกาะต่างๆ สร้างรายได้เพิ่มขึ้นจากการพัฒนาในแนวปัจจุบันซึ่งส่วนใหญ่มุ่งไปที่นักท่องเที่ยวที่มีรายได้ไม่สูงนักรวมทั้งจำพวกสะพายเป้ใบเดียว นั่นหมายถึงการให้มหาเศรษฐีเช่าพื้นที่ชายฝั่ง หรือเกาะต่างๆ สร้างคฤหาสน์ขนาดใหญ่ รีสอร์ทจำพวกหรูหราและท่าเทียบเรือยอชท์เฉกเช่นประเทศในทะเลแคริบเบียนซึ่งทำกันมานานแล้ว

กลุ่มที่สองอยู่ในภาคกลาง โครงการใหญ่และเป็นแนวคิดที่อาจมองได้ว่ามาจากนอกโลกได้แก่การขุดคลองขนาดใหญ่จนเรียกได้ว่าเป็น “แม่น้ำเจ้าพระยา 2” จากปากน้ำโพมาลงตรงย่านปากแม่น้ำบางปะกง แนวคิดนี้ มีอาจารย์มานิต รัตนสุวรรณ เป็นต้นเรื่อง แต่ยังไม่มีใครฟัง (ผู้สนใจในรายละเอียดอาจติดต่อกับอาจารย์มานิตได้ที่ Manit88@hotmail.com หรือเข้าไปดูในเว็บไซต์ www.smatmarketing.com) เจ้าพระยา 2 จะมีความกว้างและลึกพอสำหรับเรือบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่ที่จะเข้าไปถึงท่าเรือซึ่งจะสร้างขึ้นมาใหม่เป็น “คลองเตย 2” พื้นที่ทั้งสองฝั่งซึ่งกว้าง 2-4 กม. จะพัฒนาเป็นเขตอุตสาหกรรมดิจิทัล เมืองธุรกิจ สวนป่า เขตสันทนาการและหมู่บ้านทันสมัยพร้อมทะเลสาบใหญ่ๆ ซึ่งจะใช้เป็น “แก้มลิง” ได้ในยามจำเป็น

หัวใจของทะเลสาบขนาดใหญ่และเมืองใหม่จะใช้พื้นที่ซึ่งทอดไปทางตะวันออกถึงนครนายก พื้นที่ในย่านนี้เคยถูกเสนอให้ใช้สร้างศูนย์ราชการมาเกือบ 50 ปีแล้ว หลังจากต้นคิดได้ลงเวทีไปก็ยังไม่มีใครสนใจ จนกระทั่งรัฐบาลสมัย พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี การที่มันถูกพับไปในช่วงนั้นอาจมีส่วนดีเพราะทำให้มีเวลาที่จะออกแบบการพัฒนาให้เป็นเมืองล้ำสมัยซึ่งใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมทุกด้านและแบบบูรณาการจนชาวโลกสนใจนำไปใช้เป็นตัวอย่าง

กลุ่มที่สามเกี่ยวกับการกักเก็บน้ำและเกษตรกรรมเป็นหลัก เรื่องนี้จะเริ่มต้นที่ภาคอีสานเนื่องจากภาคนั้นกันดารน้ำที่สุด เป้าหมายได้แก่การทำพื้นที่เกษตรกรรมส่วนใหญ่ให้เป็น “ถาดขนมครก” โดยการขุดสระน้ำจำนวนมากขนาด 1 ไร่ต่อเนื้อที่ 5 ไร่เพื่อเก็บน้ำฝนไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง แนวคิดนี้ขยายการทำเกษตรกรรมในรูป “โคก หนอง นา” ซึ่งวิวัฒน์มาจากเกษตรกรรมตามแนวทฤษฎีใหม่ สระเก็บน้ำจำพวกนี้มีชื่อว่า “สระพวง” ซึ่งใช้ได้ผลดีมานานแม้กระทั่งท่ามกลางพื้นที่กึ่งทะเลทรายในอินเดีย (ผู้สนใจอาจหาอ่านได้ในหนังสือ 3 เล่มคือเรื่อง When the Rivers Run Dry ของ Fred Pearce เรื่อง Water Wars ของ Diane Raines Ward และเรื่อง Water Wars ของ Vandana Shiva ทั้งสามเล่มมีบทคัดย่ออยู่ในเว็บไซต์ของมูลนิธินักอ่านบ้านนา www.bannareader.com)

การสร้างสระพวงอาจเริ่มด้วยการนำร่องในตำบลเดียวในจังหวัดใดจังหวัดหนึ่งซึ่งอยู่ในภาคอีสาน อาทิเช่น ยโสธร ในขณะเดียวกัน อาจทำนำร่องเรื่อง “หนึ่งบึง หนึ่งตำบล” ด้วย หากเลือกยโสธรซึ่งมี 58 ตำบลและแต่ละตำบลมีเนื้อที่เฉลี่ยราว 72 ตารางกิโลเมตรก็สร้างบึงขึ้นในทุกตำบลที่ไม่มีแหล่งน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ บึงจะใช้พื้นที่ราว 1 ตารางกิโลเมตรและอยู่ในความดูแลของตำบลเฉกเช่นป่าชุมชนซึ่งทำกันอยู่ในหลายพื้นที่ การมีน้ำจะทำให้ภาคอีสานเปลี่ยนจากท้องถิ่นกันดารเป็นอีสานเขียวอันอุดมสมบูรณ์ทันที

แนวคิดทั้งสามกลุ่มนี้เมื่อนำมาทำด้วยกันจะก่อให้เกิดทั้งพลังและทางเลือกในด้านการประกอบอาชีพหลากหลายมาก จากเกษตรกรขนาดเล็กไปจนถึงพนักงานบริการ แรงงานและผู้บริหารกิจการขนาดยักษ์ การมีทางเลือกจำนวนมากเป็นหัวใจของระบบตลาดเสรีที่เราใช้กันอยู่ ส่วนประกอบของสามกลุ่มอาจจะเริ่มได้ในเวลาต่างกัน สิ่งที่จะเริ่มได้ทันทีเนื่องจากเรามีผลผลิตจำนวนจากภาคเกษตรได้แก่การใช้ตลาดล่วงหน้าแก้ปัญหาราคาที่ผันผวน เรื่องนี้เรามีผู้เชี่ยวชาญด้านการใช้ตลาดล่วงหน้าชื่อโฉลก สัมพันธารักษ์ (chaloke@gmail.com) คุณโฉลกใช้หลักซึ่งมักเรียกกันว่า “รู้กำไรก่อนไถหว่าน” ที่เขาเสนอไว้หลายปีแล้ว แต่รัฐบาลที่ผ่านๆ มาไม่ฟัง ในช่วงนี้น่าจะเป็นโอกาสดีที่จะฟังและเริ่มทำตามคำแนะนำของคุณโฉลก

แนวคิดเหล่านี้ต้องการปัจจัยหลายอย่างรวมทั้งเงินทุนก้อนใหญ่เพื่อนำไปสู่ขั้นปฏิบัติ ผู้เป็นต้นคิดมองกันว่าจะหาเงินทุนได้โดยไม่ต้องใช้เงินกู้มากนักหากรัฐบาลยอมรับฟังผู้เชี่ยวชาญทางด้านต่างๆ รวมทั้งผู้ฝันไกลๆ ทั้งหลายด้วย ในสายตาของพวกเขา อุปสรรคใหญ่อยู่ที่คนไทยพร้อมที่จะไปดวงจันทร์กันหรือเปล่าเท่านั้น


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ฝันไกลๆ ฝันแบบไปดวงจันทร์

view