สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

Disinflation จากราคาน้ำมัน คงไม่จบง่ายๆ

Disinflation" จากราคาน้ำมัน คงไม่จบง่ายๆ

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




บทความ 2 ฉบับล่าสุด ได้เขียนเกี่ยวกับ ความกังวลจาก อัตราเงินเฟ้อที่ลดต่ำลงทั่วโลก

อันเป็นผลมาจากราคาน้ำมันที่เข้าสู่ภาวะ “Oversupply” เราเรียก อัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่องแต่ยังอยู่ในแดนบวก ว่า “Disinflation” และเรียก สภาวะอัตราเงินเฟ้อที่ติดลบว่า “Deflation” เป็นที่แน่ชัดว่า “Deflation” เป็นสภาวะที่รุนแรงกว่าและสร้างความกังวลให้แก่ ผู้กำหนดนโยบายของประเทศทั้งด้านการเงินและการคลังอย่างแน่นอน

ในปี 2014 นี้ สหรัฐฯ ตกเป็นเป้าสายตาของทั่วโลก เมื่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่งสัญญาณการฟื้นตัวตั้งแต่กลางปี จากภาคการจ้างงาน และการผลิตที่ฟื้นตัวอย่างชัดเจน สามารถสังเกตได้จาก 2 สัญญาณ คือ การแข็งค่าของ USD เทียบกับรายสกุลหลักอื่นๆ และการปรับตัวขึ้นของ US Treasury yield อายุ 10 ปี จนมาถึงไตรมาสสุดท้ายของปี เหมือนโชคไม่เข้าข้างสหรัฐฯ เมื่อ Momentum ของการฟื้นตัวเริ่มสะดุด เพราะอีกซีกโลกหนึ่งกำลังประสบกับภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขส่งออก

เดือน พ.ย. ของจีนซึ่งออกมาเพียง +4.7% YoY ลดลงจาก +11.6% เดือนก่อน และตัวเลขส่งออกเดือน ต.ค.ของเยอรมันที่ลดลงสู่ +4.9% YoY จาก +8.6% YoY ของเดือนกันยายน นอกจากนี้ ตัวเลขผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน ต.ค. ของกลุ่มเศรษฐกิจ Eurozone ล้วนแต่ปรับลดลงโดยพร้อมเพรียงกัน

ตัวเลขเศรษฐกิจที่ถดถอยได้ถูกซ้ำเติมด้วยราคาน้ำมันที่ปรับลดลงอย่างน่าใจหายตลอด 5 เดือนที่ผ่านมา จากการที่กลุ่มโอเปกนำโดยซาอุดีอาระเบีย ซึ่งยืนกรานให้คงกำลังการผลิตไว้ที่ 30ล้านบาร์เรล/วัน ท่ามกลางความไม่พอใจของประเทศสมาชิกอื่นๆ อย่าง แอลจีเรีย และเวเนซูเอลา ที่มองว่าซาอุฯ กำลังทำลายเศรษฐกิจประเทศตน แต่การตัดสินใจของซาอุฯ มาจากความคาดหวังที่ว่า ระดับราคาน้ำมันดิบที่ต่ำในปัจจุบันจะค่อยๆทำลายอุตสาหกรรม Shale oil ซึ่งกำลังมีบทบาทมากขึ้นในสหรัฐฯ จนในที่สุดจะทำให้ Supply จากน้ำมันทดแทนประเภท Shale oil ค่อยๆหายไป และส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบสามารถกลับสู่ระดับราคาปกติได้อีกครั้ง พูดง่ายๆ ว่า ยอมทุบหม้อข้าวตัวเองในระยะสั้น เพื่อเขี่ยคู่ต่อสู้ออกไปจากตลาดตลอดไป ที่ผมยังไม่เข้าใจคือ รายใหญ่ในอุตสาหกรรม Oil Shale คือ Estonia ไม่ใช่สหรัฐฯ และกำลังการผลิต/สกัด Shale oil นั้น คิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 1% ของกำลังการผลิตของ Opec เท่านั้น

ในปัจจุบัน ราคาน้ำมันดิบ Brent ปรับลดลงต่ำกว่า USD 62 ต่อบาร์เรล ในขณะที่ Nymex และ Dubai ปิดที่ต่ำกว่า USD 57 ต่อบาร์เรล ระดับต่ำสุดในรอบ 5 ปี เลยทีเดียว ... เป็นเหตุการณ์ที่น้อยคนสามารถคาดเดาได้เพราะ 4 เดือน ก่อนหน้านี้ ราคาน้ำมันดิบยังอยู่ในกรอบ USD 99-103 ต่อบาร์เรล

หากยังจำกันได้ ในปี 2008 ราคาน้ำมันดิบปรับตัวขึ้นอย่างรุนแรงแตะ USD 146 ต่อบาร์เรล สิ่งที่ตามมาคือ อัตราเงินเฟ้อของไทยปรับขึ้นในลักษณะเดียวกัน แตะ 9.2% ในเดือน ก.ค. เราเรียก การปรับขึ้นของราคาน้ำมันที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อ (Headline inflation) สูงขึ้นในครั้งนั้นว่า “Cost-push inflation” ซึ่งในครั้งนี้มีลักษณะชั่วคราว เพราะไม่ได้เกิดจากภาวะการขาดแคลนน้ำมัน แต่มาจาก flows บนธุรกรรม Derivatives ที่เร่งปิดปิดความเสี่ยงจากราคาน้ำมันที่เร่งตัว ซึ่งในเวลาเพียง 2 เดือนให้หลัง ราคาน้ำมันได้ปรับลงมาที่ระดับ USD 90-100 และปิดสิ้นปี 2008 ที่ระดับ USD 35 ต่อบาร์เรล จากการ Unwind hedge หลังวิกฤตการณ์ Lehman crisis ในวันที่ 15 ก.ย. 2008 … ธนาคารกลางหลายประเทศมิได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น เพราะการขึ้นดอกเบี้ยไม่ใช่วิธีที่เหมาะสมในการลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจในสภาวะของ “Cost-push inflation”

ในอีกมุมหนึ่ง อัตราเงินเฟ้อที่เกิดจากความร้อนแรงของเศรษฐกิจ เพราะมีการบริโภคสูง การผลิตและส่งออกสูง มักนำไปสู่สภาวะที่เรียกว่า “Demand-pull inflation” ในกรณีนี้ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะสามารถช่วยสกัดความร้อนแรงของเศรษฐกิจได้ เพราะเมื่ออัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น ประชากรจะเลือกที่จะ Save มากกว่า Spend ส่งผลให้การบริโภคและการผลิตชะลอตัวลงไปโดยปริยาย

ในช่วงเวลาที่ราคา Commodities มีความผันผวนมาก อัตราเงินเฟ้อย่อมผันผวนตาม เป็นอุปสรรคในการดำเนินนโยบายการเงินและเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยน ด้วยเหตุนี้ ธนาคารกลางหลายประเทศที่เลือกใช้ Inflation Targeting จะหันมาพิจารณาใช้ Core inflation ซึ่งไม่รวมราคาของ Commodities แทนการใช้ Headline inflation และในปีนี้ที่ราคาน้ำมันดิบลดลงอย่างรุนแรงและนำมาซึ่งการชะลอตัวของอัตราเงินเฟ้อนั้น ผลกระทบย่อมเกิดต่อระบบเศรษฐกิจอย่างแน่นอน จะมากหรือน้อยขึ้นกับโครงสร้างการนำเข้าและส่งออกของเศรษฐกิจนั้นๆ ที่สำคัญที่สุดคือ เราต้องไม่ลืมว่า การชะลอตัวของ Headline inflation (ซึ่งรวมถึงการเปลี่ยนแปลงของราคา Commodities และอาหารสด) หรือ Disinflation ที่เกิดจากการปรับลงของราคาน้ำมันนั้น ไม่ได้ส่งสัญญาณว่า กำลังซื้อ หรือ Domestic demand ลดต่ำลง ในทางกลับกัน หลายประเทศที่เป็น Net import น้ำมัน เช่น Eurozone อินเดีย ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และประเทศไทย กลับมีสตางค์เหลือมากขึ้น และสามารถจับจ่ายสินค้าอื่นได้มากขึ้น … (แต่ถ้ารวมผลของ wealth effects จากการลงทุนในตลาดหุ้น เข้าไป อาจจะเข้าขั้นสะบักสะบอมไปตามๆกัน)

ด้วยเหตุนี้ การที่จะกล่าวว่า “เศรษฐกิจถดถอยเพราะอัตราเงินเฟ้อชะลอตัว” นั้น ย่อมไม่ใช่ตรรกที่ถูกต้องเสมอไป นักวิเคราะห์จึงหันมาพิจารณา Retail sales ประกอบ เพราะตัวเลขการจับจ่าย หรือ ยอดค้าปลีกนั้น สามารถสะท้อนความต้องการในการบริโภคได้เป็นอย่างดี และไม่ถูกบิดเบือนจากราคาน้ำมัน และ Commodities อื่นๆ ที่มีความผันผวนอย่างมากดังที่ได้กล่าวข้างต้น ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ กรณีของสหรัฐฯ ซึ่งยอดค้าปลีกเดือน พ.ย. เพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบ 8 เดือน +0.7% MoM เร่งตัวจากเดือน ต.ค.ที่ +0.5% MoM ส่วนหนึ่งมาจากจากราคาน้ำมันดิบที่ลดลงและการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น อีกทั้ง เข้าสู่ช่วงเทศกาลวันหยุดทำให้การใช้จ่ายเร่งตัวขึ้น

นอกจากความกังวลเรื่องราคาน้ำมันและ Disinflation แล้ว หลายเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันได้เกิดขึ้นในปลายปีนี้ ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงทางการเมืองที่เมืองซิดนีย์ หรือประเทศปากีสถาน สถานการณ์ค่าเงินเยน และ Ruble ของรัสเซียที่อ่อนค่าลงกว่า -54% จากต้นปี และการสร้างราคาของหลักทรัพย์จดทะเบียนขนาดจิ๋วในตลาด MAI การใช้ Single-stock Futures ในจำนวนมากบนหุ้นใหญ่ใน SET ย่อมนำมาซึ่งความผันผวนในการลงทุนในตลาดหุ้นไทย … สิ่งที่เรายังไม่เห็นคือ สัญญาณความผันผวนในตลาดดอกเบี้ย ซึ่งจะเกิดขึ้นแน่นอนหากบริษัทขนาดใหญ่ที่เป็น Oil Exporter/producer รวมถึง ผู้ผลิต Shale Oil ถูก downgrade และผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งหากรุนแรงมาก จะนำไปสู่ปัญหาการขาดสภาพคล่อง ...คงต้องจับตาดูการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ย Overnight และ Swap point ให้ดีนะครับ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : Disinflation ราคาน้ำมัน ไม่จบง่ายๆ

view