สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ส่ง (ไม่) ออก

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ คิด วิเคราะห์ แยกแยะ โดย วีระพงษ์ ธัม

คอลัมน์ คิด วิเคราะห์ แยกแยะ โดยวีระพงษ์ ธัม www.facebook.com/1000Li


การส่งออกไทยมีประวัติศาสตร์ยาวนานย้อนไปตั้งแต่ยุคที่เริ่มมีการค้าต่างประเทศกับชาวยุโรปในช่วงยุคสมัยกรุงศรีอยุธยา ยาวนานมาถึงยุคสมัยรัตนโกสินทร์ และเริ่มมีบทบาทมากขึ้นเมื่อประเทศไทยเริ่มมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯฉบับที่ 1 ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2504

อย่างไรก็ดี การส่งออกในยุคแรกๆ ยังไม่มีความสำคัญในระบบเศรษฐกิจมากนัก ประเทศไทยยังเป็นประเทศที่มีอัตราการนำเข้ามากกว่าส่งออกมาโดยตลอด เนื่องจากอยู่ในช่วงที่ยังผลิตสินค้าหลายอย่างใช้เองไม่ได้ การส่งออกยุคแรกๆ จึงเป็นสินค้าเกษตรเป็นหลัก เช่น ข้าว แป้งมันสำปะหลัง ธุรกิจส่งออกเริ่มเป็นตัวเอกของประเทศไทย ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯฉบับที่ 4-5 (ช่วงปี พ.ศ. 2524) เมื่อการส่งออกภาคอุตสาหกรรมมีสัดส่วนมากขึ้น เป็น 40% และภาครัฐและเอกชนเริ่มมุ่งเน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ มีการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต และสินค้าที่มีสัดส่วนมากที่สุดในยุคนั้นเป็น "สิ่งทอ" ราว 20% รวมไปถึงอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับซึ่งได้รับอานิสงส์จากค่าแรงราคาถูก แต่มีคุณภาพสูงและมีจำนวนมากมายจากการย้ายแรงงานจากภาคการเกษตร

หลังจากนั้นโครงสร้างการส่งออกก็ค่อยๆ เปลี่ยนไป เริ่มมีการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาในไทย และสร้างอุตสาหกรรมใหม่ๆ เช่น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้เทคโนโลยีไม่มากนัก เช่น แผงวงจร หรือ สินค้าสำเร็จรูปประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้าอย่างง่ายๆ ซึ่งสองส่วนนี้เป็นพระเอกขี่ม้าขาวของไทยในยุควิกฤตต้มยำกุ้ง มีการส่งออกรวมในสองอุตสาหกรรมนี้มากถึง 1 ใน 4 ของมูลค่าทั้งหมด ในขณะเดียวกันบทบาทของธุรกิจสิ่งทอก็เริ่มจะลดลงต่ำกว่า 10% และเป็นธุรกิจตะวันตกดินตั้งแต่นั้นมา หลาย ๆบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ก็เริ่ม Delist หรือมีสัดส่วนเล็กลงเรื่อยๆ

ในเวลานั้น ก็เริ่มมีอุตสาหกรรมใหม่ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว คืออุตสาหกรรมยานยนต์ เริ่มสร้าง Cluster ที่แข็งแรง แม้ว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยจะผลิตเป็น "Finished Goods" แต่บริษัทสัญชาติไทยก็มักจะได้ผลิตเฉพาะชิ้นส่วนที่ไม่ซับซ้อนนัก ส่วนชิ้นส่วนที่มีเทคโนโลยีสูงๆ เช่น เครื่องยนต์ หรือระบบส่งกำลัง ก็จะเป็นการนำเข้า มาประกอบในประเทศ สาเหตุที่อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยเติบโตได้ดี เพราะประเทศไทยค่อนข้าง "เปิดรับ"

การลงทุนจากต่างประเทศ รวมไปถึงคุณภาพแรงงานไทยที่ดีทั้งแรงงานฝีมือและวิศวกร ซึ่งมีความจำเป็นกับงานการประกอบรถยนต์ จนไทยติดอันดับ 1 ใน 10 ของผู้ผลิตยานยนต์ของโลก (และเป็นผู้ผลิตอันดับหนึ่งในรถยนต์ประเภทกระบะ 1 ตัน หรือรถปิกอัพ) ส่วนรถยนต์นั่งไทย ก็สามารถเป็นฐานผลิตรถที่เป็นโมเดลคุณภาพสูงๆ หลายรุ่น

นั่นเป็นภาพการเติบโตของธุรกิจส่งออกไทยที่มีสัดส่วนถึง 70% ของ GDP และมีความหลากหลายสูง ทำให้การส่งออกเติบโตอย่างแข็งแรง เพราะการส่งออกสินค้าต่าง ๆ สามารถชดเชยซึ่งกันและกันตลอดเวลา อีกทั้งการส่งออกผ่านชายแดนที่ไทยอยู่ในตำแหน่ง "ยุทธศาสตร์" สำคัญของ AEC ทำให้ไทยยิ่งได้เปรียบ โดยเฉพาะเมื่อมีการลดภาษีในกลุ่มอาเซียน จนถึงยุคกำลังจะเปิด AEC

นั่นคือความสวยงามและความทุ่มเทของภาคเอกชนและภาครัฐไทยมาตลอดหลายสิบปี อย่างไรก็ดี การส่งออกไทยเริ่มมีปัญหาในเรื่องการเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะอุตสาหกรรมส่งออกไทยหลักๆ เช่น การส่งออกฮาร์ดไดรฟ์ พรินเตอร์ กล้องดิจิทัล มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ธุรกิจเกษตรก็เข้าสู่ช่วงราคาตกต่ำ อุตสาหกรรมยานยนต์ก็มีความท้าทายจากการเติบโตของประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งมีศักยภาพของตลาดในประเทศที่สูงกว่าไทย รวมไปถึงประเทศไทยยังหา "ดาว" ดวงใหม่ไม่ได้มาเป็นสิบปี ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะการวิจัยและพัฒนาของไทยอยู่ในระดับต่ำมาโดยตลอด แม้ว่าจะมีกรอบความคิดในการพัฒนาที่ดี เช่น "Detroit of Asia" หรือครัวของโลก หรือเมืองแฟชั่น ฯลฯ แต่ก็ไม่ได้ทำเป็นรูปธรรมมากนัก ทำให้ไทยเริ่มติดปัญหา "ส่งไม่ออก"

ยิ่งไปกว่านั้น ผมไม่ค่อยเห็นคนรุ่นใหม่อยากทำธุรกิจ "โรงงาน" หรือภาคการผลิต อุตสาหกรรมการผลิตเป็นสิ่งที่วุ่นวายเพราะต้องจัดการ "แรงงาน" ที่ยุ่งยากขึ้นทุกวัน ครั้นจะใช้เทคโนโลยีชั้นสูง ประเทศไทยก็ยังไม่สามารถผลิตเองได้ ตราสินค้าจากไทยแม้ว่าจะมีมุมมองว่าเป็นสินค้าคุณภาพสูง แต่ก็ไม่มี Brand ที่มีราคาเหมือนต่างประเทศ ดังนั้นจนกว่าไทยจะลดข้อจำกัดเหล่านี้ และเพิ่มความแข็งแรงของตัวเอง การส่งออกยังคงต้องพึ่งพิง "สภาวะเศรษฐกิจของประเทศ "คู่ค้า" ต่อไป และ Market Share ของการส่งออกไทยในตลาดโลกจะค่อย ๆ ลดลง พร้อม ๆ กับการขึ้นมาของประเทศอื่น ๆ ที่ใช้เส้นทางเดินเดียวกับไทยในอดีต คือเน้นแข่งขันต้นทุนแรงงาน

อันที่จริงการส่งออกไม่ได้มีนิยามเฉพาะการส่งออก "สินค้า" แต่ควรนับรวมไปถึง "บริการ" ด้วย (แต่ไม่ได้นับรวมในนิยามตัวเลขส่งออกของไทย) ประเทศไทยมีศักยภาพสูงมากในแง่การบริการ เพราะนิสัยที่สุภาพน่ารักและความใส่ใจในรายละเอียดของคนไทย ทำให้โครงสร้าง GDP ไทยปัจจุบันมีภาคบริการมากกว่าครึ่ง

ภาคบริการ เช่น การท่องเที่ยว เติบโตอย่างรวดเร็ว (จำนวนนักท่องเที่ยวติดอันดับสิบของโลก) หรือบริการทางการแพทย์ของไทยที่ติดอันดับโลกเช่นเดียวกัน ส่วนการค้าปลีกไทยก็เป็นอุตสาหกรรมที่แข่งขันได้กับต่างประเทศ แต่ทั้งหมดก็ยังขาดทิศทางที่ชัดเจน เป็นลักษณะเอกชนต่างคนต่างทำเป็นส่วนใหญ่ ขาดกฎระเบียบ เช่น กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาต่างๆ การเข้าถึงเงินทุน ขาดวิธีการเพิ่มมูลค่า แต่นี่คือส่วนหนึ่งที่มีศักยภาพที่จะเป็นดาวดวงใหม่ และช่วยแก้ปัญหา "ส่งไม่ออก" ของประเทศไทยครับ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ส่ง (ไม่) ออก

view