สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ทำไมราคาน้ำมันร่วง : จากดุลยภาพเก่าสู่ดุลยภาพใหม่

ทำไมราคาน้ำมันร่วง : จากดุลยภาพเก่าสู่ดุลยภาพใหม่

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ราคาน้ำมันโลกตอนนี้ร่วงหนัก ลดลงแล้วกว่า 40เปอร์เซ็นต์ จากระดับสูงสุดเดือนมิ.ย.57 เป็น 56.47 ดอลลาร์ต่อบาร์เร

วันพฤหัสที่แล้ว ซึ่งเป็นการลดลงเร็วและรุนแรง ราคาน้ำมันเป็นตัวแปรสำคัญของเศรษฐกิจโลก และการเปลี่ยนแปลงของราคาที่รุนแรงไม่ว่าจะแพงขึ้นหรือถูกลงมักก่อปัญหาให้เศรษฐกิจโลกเสมอ คราวนี้ราคาน้ำมันลดลงเร็ว และมีแนวโน้มว่าจะยืดเยื้อถึงปีหน้า คำถามก็คืออะไรกำลังเกิดขึ้นกับตลาดน้ำมันโลกและผลต่อเศรษฐกิจการเงินโลกจะเป็นอย่างไร วันนี้จึงอยากแชร์ว่าผมมองการเปลี่ยนแปลงราคาน้ำมันโลกขณะนี้อย่างไร

ในทางเศรษฐศาสตร์ราคาสินค้าจะถูกกำหนดโดยอุปสงค์และอุปทาน ราคาน้ำมันก็เช่นกัน แต่นอกจากอุปสงค์อุปทานแล้ว ทิศทางหรือการคาดหวังเกี่ยวกับราคาน้ำมันในอนาคตก็สำคัญ เช่น ถ้าคาดว่าราคาน้ำมันจะเพิ่มในอนาคตก็จะมีการเร่งลงทุนด้านการผลิต เพื่อเตรียมน้ำมันไว้ขายทำกำไร แต่ถ้าคาดการณ์ว่าราคาน้ำมันในอนาคตจะลง การลงทุนต่างๆ ด้านการผลิตก็จะลดลง เพื่อไม่ให้มีอุปทานส่วนเกิน ทั้งหมดจะกระทบราคาส่งมอบล่วงหน้า และกระทบมาถึงราคาปัจจุบัน

ที่ผ่านมาแม้ตลาดน้ำมันจะเป็นตลาดเสรี ที่ราคาถูกกำหนดโดยอุปสงค์และอุปทาน แต่เนื่องจากมีผู้ผลิตน้อยราย ประเทศผู้ผลิต 12 ประเทศก็รวมตัวกันเป็นกลุ่มโอเปกคอยแทรกแซงไม่ให้ราคาน้ำมันขึ้นหรือลงเร็ว หรือผันผวนจนเป็นปัญหา ผ่านการกำหนดโควตาผลิตของประเทศในกลุ่ม เพื่อรักษาความสมดุลของอุปสงค์และอุปทาน และจากที่เศรษฐกิจโลกเติบโตได้ดีมาตลอด ความต้องการน้ำมันในเศรษฐกิจโลกจึงเพิ่มต่อเนื่อง ทำให้ราคาน้ำมันปรับสูงขึ้นตลอดจากเฉลี่ย 24.5 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ปี 1990 เป็น 99.6 ดอลลาร์ ปี 2008 ก่อนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจโลก ลดลงเป็น 61.9 ดอลลาร์ ปี 2009 หลังเกิดวิกฤติ และเพิ่มเป็น 97.9 ปี 2013 สังเกตได้ว่า ราคาน้ำมันไม่ได้ขึ้นอย่างเดียว แต่มีขึ้นมีลง ขึ้นอยู่กับความต้องการ ซึ่งก็คือการเติบโตของเศรษฐกิจโลก

หลังวิกฤติเศรษฐกิจโลกปี 2008 เศรษฐกิจโลกขยายตัวลดลงจากการชะลอตัวของประเทศอุตสาหกรรม แต่ก็ได้ประโยชน์จากการเติบโตที่ดีของประเทศตลาดเกิดใหม่ ทำให้เศรษฐกิจโลกไม่ได้ชะลอลงมาก ราคาน้ำมันโลกหลังปี 2008 จึงไม่ได้ปรับลดลงมาก แม้จะมีเหตุการณ์ความไม่สงบในตะวันออกกลาง คือเหตุการณ์ Arab Spring เข้ามากระทบการผลิตน้ำมันในหลายประเทศ แต่ราคาน้ำมันก็ไม่ได้ผันผวนมาก ทำให้เศรษฐกิจโลกคุ้นเคยกับราคาน้ำมันโลกที่มีเสถียรภาพแม้จะปรับขึ้นลงตามภาวะตลาด และตลาดก็ค่อนข้างคาดเดาทิศทางของราคาน้ำมันได้ นี้คือดุลยภาพเก่า ที่ราคาปรับตัวตามกลไกตลาด ตามอุปสงค์อุปทาน แต่ความผันผวนจะถูก “ดูแล” โดยการแทรกแซงของกลุ่ม OPEC เมื่อจำเป็น ทำให้ราคาน้ำมันโลกเปลี่ยนแปลงแต่ค่อนข้างมีเสถียรภาพ

แล้วอะไรเปลี่ยนไปคราวนี้ จริงๆ ก็ไม่ได้มีอะไรเปลี่ยน ราคาน้ำมันยังถูกกำหนดโดยอุปสงค์และอุปทานเหมือนเดิม เพียงแต่การปรับลดลงของราคาเกิดขึ้นเร็ว และการแทรกแซงเพื่อรักษาเสถียรภาพยังไม่เกิดขึ้น เมื่อไม่มีการแทรกแซงตลาดก็คาดว่าราคาคงจะลงต่อ เพราะอุปทานส่วนเกินในตลาดน้ำมันโลกคงจะมีต่อไป จากที่ความต้องการใช้น้ำมันจะลดลง ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก แต่ด้านอุปทานยังขยายตัวและไม่มีการแทรกแซงเพื่อควบคุมการผลิต และยิ่งมีการคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐอาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายปีหน้า ต้นทุนทางการเงินทั่วโลกจะแพงขึ้น ยิ่งทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกมีข้อจำกัดมากขึ้น ทำให้ราคาน้ำมันคงจะต่ำต่อในปีหน้า นี้คือพลวัตที่ทำให้ตลาดการเงินมีความกังวล จึงถอนเงินลงทุนกลับสหรัฐ เพราะมองว่าการลงทุนในสินทรัพย์ดอลลาร์ จะให้ผลตอบแทนดีกว่าจากที่เศรษฐกิจสหรัฐจะฟื้นตัวต่อในปีหน้า อัตราดอกเบี้ยสหรัฐจะปรับสูงขึ้น และเงินดอลลาร์คงแข็งค่าต่อเนื่อง การถอนเงินลงทุนดังกล่าวทำให้ตลาดหุ้นทั่วเอเชียปรับลดลง

แล้วคราวนี้ทำไมการรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันโดยกลุ่ม OPEC ไม่เกิดขึ้น ทำไมโอเปกไม่เข้าแทรกแซงเพื่อลดอุปทาน ดันให้ราคาน้ำมันปรับสูงขึ้น คำถามนี้คงไม่มีใครตอบได้ดีเท่ากับซาอุดีอาระเบีย ที่ควบคุมปริมาณการผลิตน้ำมันของกลุ่ม OPEC สูงถึงหนึ่งในสาม และเป็นประเทศที่ทรงอิทธิพลที่สุดต่อการตัดสินใจของ OPEC แต่ถ้าจะให้คาดเดาเหตุผลตามความเห็นที่ได้มีการแสดงออกมา ผมคิดว่าคงมีสองเหตุผล หนึ่ง คือ เหตุผลทางการเมืองเรื่องน้ำมันและความขัดแย้งในตะวันออกกลาง กับ สอง เหตุผลทางเศรษฐศาสตร์ เรื่อง อุปสงค์และอุปทานน้ำมันตามกลไกตลาด

เหตุผลแรก ก็คือ ในทางการเมืองประเทศซาอุดีอาระเบียและเครือข่ายพันธมิตรในระบบทุนนิยมโลกได้ประโยชน์อย่างน้อยสามทาง ถ้าราคาน้ำมันปรับลดลงมากและอยู่ในระดับต่ำ อย่างแรก ก็คือ ผลต่อรายได้จากน้ำมันของประเทศอิหร่านและกลุ่มประเทศรัฐอิสลาม (ISIS) ที่เป็นปรปักษ์ทางการเมืองกับซาอุดีอาระเบีย ราคาน้ำมันที่ลดลงมากจะทำให้อิหร่านและกลุ่มประเทศ ISIS ขาดรายได้และจะบั่นทอนความสามารถของกลุ่มนี้ที่จะทำสงคราม และขยายอิทธิพล ซึ่งทางซาอุดีอาระเบียมองว่าเป็นอันตรายต่อความเป็นผู้นำของซาอุดีอาระเบียในตะวันออกกลาง สอง ผลต่อรัสเซียที่พึ่งรายได้จากน้ำมันมากเช่นกัน ราคาน้ำมันที่ลดลงจะทำให้เศรษฐกิจรัสเซียยิ่งอ่อนแอ และลดความสามารถของรัสเซียที่จะมีอิทธิพลรุกรานสร้างความขัดแย้งในกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออกเดิม เช่น ยูเครน สาม ราคาน้ำมันที่ลดลงจะทำให้ธุรกิจ Shale Oil ในสหรัฐแข่งขันไม่ได้ เพราะราคาจะลดลงต่ำกว่าราคาคุ้มทุน (Breakeven) ของธุรกิจ Shale Oil ที่วิเคราะห์กันว่าอยู่ประมาณ 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ทำให้จะไม่มีการลงทุนเพิ่มที่จะขยายการผลิตน้ำมัน ซึ่งก็หมายถึงการลดคู่แข่งที่จะผลิตน้ำมัน นอกกลุ่มโอเปกไปอีกหนึ่งราย

ทั้งสามประเด็นนี้ถูกคาดเดาว่า เป็นแรงจูงใจให้ซาอุดีอาระเบียยังไม่ยอมแทรกแซงตลาดน้ำมันเพื่อชะลอการลดลงของราคา จากประโยชน์ที่จะได้กรณีอิหร่าน กลุ่มประเทศ ISIS รัสเซีย และการผลิต Shale Oil ในสหรัฐ และประเทศซาอุดีอาระเบียก็เข้มแข็งมากพอที่จะรองรับการลดลงของราคาในระดับที่ต่ำได้นาน เพราะข้อมูลจากนิตยสารดิอิโคโนมิสต์เผยว่าต้นทุนการผลิตน้ำมันของซาอุดีอาระเบียอยู่ที่เพียง 5-6 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ขณะที่ซาอุดีอาระเบียมีทุนสำรองระหว่างประเทศกว่า 900 พันล้านดอลลาร์เกินพอที่จะรองรับผลที่จะมีต่อดุลชำระเงินของประเทศจากราคาน้ำมันที่ลดลง นี่คือเหตุผลแรก

เหตุผลที่สอง ก็คือ การลดลงของราคาน้ำมันในระดับที่มากพอจะช่วยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกได้อย่างสำคัญในปีหน้า เพราะปัจจัยด้านนโยบายอื่นๆ ที่จะช่วยฟื้นเศรษฐกิจโลกไม่มีแล้วได้ทำเต็มที่แล้ว ที่สำคัญตั้งแต่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจโลกปี 2008 อัตราการขยายตัวตามศักยภาพของเศรษฐกิจโลกได้ลดลงต่ำกว่าเดิมเกือบครึ่ง คือจากประมาณร้อยละ 5 ต่อปีก่อนเกิดวิกฤตเป็นร้อยละ 2-3 ในปัจจุบัน ทำให้ราคาน้ำมันระดับร้อยกว่าดอลลาร์ต่อบาร์เรลไม่สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน คือ แพงเกินไป ดังนั้นถ้าราคาน้ำมันลดลงได้ต่ำมากพอก็จะเป็นปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจโลกให้ฟื้นตัว

ดังนั้น สิ่งที่กำลังเกิดขึ้น ก็คือ ราคาน้ำมันปรับตัวตามอุปสงค์อุปทาน เมื่อความต้องการลดแต่อุปทานยังขยายตัว ราคาก็ลดลงเร็ว และที่ทางกลุ่มโอเปกยังไม่แทรกแซงก็เพราะต้องการให้ราคาน้ำมันลดลงได้เต็มที่ตามภาวะตลาด ให้ราคาน้ำมันปรับเข้าสู่ดุลยภาพใหม่ตามความเป็นจริงของภาวะเศรษฐกิจโลกขณะนี้ และเมื่อราคาลดลงมาเต็มที่ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกก็มีความหวังได้มากขึ้น นำมาสู่การปรับสูงขึ้นของราคาน้ำมันอีกครั้งเมื่อเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว

ในความเห็นของผมเหตุผลที่สองน่าจะเป็นเหตุผลนำ ส่วนเหตุผลแรกเป็นเหตุผลประกอบ แต่ที่น่าห่วงและต้องตระหนักก็คือประเทศตลาดเกิดใหม่ที่ต้องพึ่งน้ำมันเป็นรายได้หลักของการส่งออก เช่น เวเนซุเอลา ไนจีเรีย อินโดนีเซีย และรัสเซีย ประเทศเหล่านี้จะถูกกระทบมากและจะอ่อนไหวต่อการเกิดปัญหาด้านเสถียรภาพในปีหน้า ทั้งจากราคาน้ำมันที่ลง ที่จะมีผลต่อดุลชำระเงินและความสามารถในการชำระหนี้ อัตราดอกเบี้ยที่จะเพิ่มสูงขึ้น ก็จะกระทบเศรษฐกิจและความสามารถในการชำระหนี้ ค่าเงินซาอุดีอาระเบียที่จะแข็งค่าที่จะกระทบความสามารถในการชำระหนี้สกุลดอลลาร์ และการไหลออกของเงินทุนที่จะกระทบสภาพคล่องในประเทศ ทำให้หุ้นจะตก ค่าเงินจะอ่อน เศรษฐกิจจะทรุดลงมากขึ้น ทั้งหมดนี้คือความล่อแหลมที่อาจนำไปสู่การเกิดวิกฤติปีหน้าที่จะส่งผลกระทบไปทั่ว

ดังนั้น ในภาวะที่ราคาน้ำมันกำลังปรับตัวจากดุลยภาพเดิมสู่ดุลยภาพใหม่ ความเสี่ยงของการเกิดวิกฤติในประเทศตลาดเกิดใหม่ปีหน้าจึงเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวัง และประเทศไทยก็ต้องตั้งการ์ดสูง อย่างที่ได้เขียนไว้ในคอลัมน์นี้เมื่อหกอาทิตย์ก่อน


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ทำไม ราคาน้ำมันร่วง ดุลยภาพเก่า สู่ดุลยภาพใหม่

view