สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ศรีราชา ถามสปช.มีวิธีใดให้คนดีเข้าบริหารประเทศ

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

"ศรีราชา" ถามสปช.มีวิธีใดให้คนดีเข้าบริหารประเทศ หลังคนไทยขาดวัฒนธรรมทางการเมือง-เข้าใจปชต.แต่เปลือก

อัดโคครงการจำนำข้าวขาดทุน 7 แสนล้าน ไร้คนรัฐผิดชอบ-จุดโหว่รธน.50 แนะ รธน.ใหม่เขียนให้ชัด รัฐบาลต้องรับผิดชอบจริงจัง แฉ นักการเมืองค้ายาเสพติด เตรียมเงินเข้าสู่เลือกตั้งรอบใหม่ ชี้ทางตัดวงจรอุบาทตัดสิทธิการเมือง-เครือญาติตลอดชีวิต

ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ หลักสี่ นายศรีราชา วงศารยางกูร ผู้ตรวจการแผ่นดิน นายกล้านรงค์ จันทิก สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) และอดีตกรรมการป้องกันและปราบบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) และ นพ.พลเดช ปิ่นประทีป สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) ร่วมเสวนาเชิงวิชาการในหัวข้อ "ยกระดับจริยธรรมการเมืองไทย" ภายใต้งานสัมมนา "จริยธรรมาภิบาลนักการเมืองกับการปฏิรูปประเทศไทย" ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ร่วมกับสำนักเลขาธิการวุฒิสภา สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และสภาพัฒนาการเมือง (สพม.)

โดยศรีราชา กล่าวตอนหนึ่งว่า 80 กว่าปีภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง การเมืองไทยพัฒนาไปในทางลบมากกว่าบวก จะทำให้คนทุกคนเป็นคนดี เป็นเรื่องที่ทำยาก แต่จะทำอย่างไรให้คนดีเข้ามาบริหารบ้านเมือง นี่เป็นคำถามใหญ่ของสังคมไทย เป็นคำถามที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) โดยเฉพาะด้านการเมือง ต้องตอบคำถามนี้ให้ได้ การเมืองไทยดำดิ่งไปสู่ปัญหา ความเข้าใจของสังคมไทยในเรื่องประชาธิปไตยเข้าใจแต่เปลือก ถามว่าสังคมไทยมีวัฒนธรรมทางการเมืองหรือไม่ ตอบได้เลยว่าไม่มี เพราะทุกวันนี้ทุกคนไม่ได้ทำด้วยความอยู่รอดของสังคม แต่ทำเพื่อความยิ่งใหญ่ของคนบางกลุ่ม บางตระกูลเท่านั้น ยิ่งคิดยิ่งหนาว ดังนั้น สปช.และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญต้องคิดดว่าจะทำอย่างไรให้ประเทศไทยเดินไปสู่การปฏิรูปอย่างแท้จริง บอกได้เลยว่าคิดได้ เขียนได้ แต่ทำมันยาก สิ่งสำคัญที่สุดคือ คนไทยขาดวัฒนธรรมทางการเมือง รู้ว่าอะไรผิด อะไรถูก อะไรที่ทำให้ประเทศไทยอยู่รอด แต่คนไทยกลับไม่เคยคิดที่จะทำ แล้วสังคมไทยในยุคต่อไปจะอยู่รอดได้อย่างไร

นายศรีราชา กล่าวต่อว่า รัฐธรรมนูญ ปี 2550 ระบุไว้ว่า รัฐบาลต้องรับผิดชอบ แต่ก็ไม่ได้ระบุชัดเจนว่าต้องรับผิดชอบอย่างไร โครงการรับจำนำข้าวที่สูญเสียเงินกว่า 6-7 แสนล้านบาท ก็ไม่มีใครบอกว่าใครต้องรับผิดชอบ นี่คือจุดโหว่ของรัฐธรรมนูญ ที่ทำให้คนไม่กลัว คือปัจจัยใหญ่ที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญต้องเขียนให้ชัดเจน เพราะไม่เช่นนั้นบ้านเมืองจะฉิบหายเหมือนเดิม นอกจากนี้ ต้องเขียนเรื่องคุณสมบัติของผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งทางการเมืองไว้ในกฎหมายเลือกตั้งให้ชัดเจน เพื่อช่วยสกรีนอีกระดับหนึ่งก่อนที่จะเข้าสมัครรับเลือกตั้ง เช่น ผู้สมัครต้องแจ้งบัญชีทรัพย์สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ก่อนสมัคร ถ้าแจ้งบัญชีเท็จป.ป.ช.สามารถถอดถอนได้ ซึ่งหากถูกถอดถอนต้องรับผิดชอบจ่ายค่าเลือกตั้งเองทั้งหมด พร้อมตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิต รวมถึงคนในครอบครัวที่จะสามารถเป็นนอมีนีด้วย เพื่อตัดวงจรไม่ดีออกจากระบบทันที เป็นต้น

"สิ่งที่น่ากลัวที่สุดตอนนี้ แม้ขณะนี้จะไม่มีการเลือกตั้ง แต่สัญญาณเลือกตั้งจะกลับมาในอีกไม่ช้า กลุ่มคนเหล่านั้นจะกลับมา ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงจากเดิม เราต้องการจะเห็นประเทศชาติหลังจากมีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) แล้ว จะกลับไปสู่จุดนั้นอีกเหรอ ตอนนี้เป็นเวลาพักรบ เวลาเตรียมกระสุน เตรียมสะเบียง ผมได้ยินข่าวว่ามีนักการเมืองค้ายาเสพติด เพื่อเตรียมกระสุนในการลงสู้ศึกเลือกตั้ง เป็นเงินเถื่อนที่ไม่สุจริต จึงไม่มีทางที่จะฟอกคนเหล่านี้ได้ ถ้าคนเหล่านี้ยังอยู่ในระบบ หากจะโทษต้องโทษสังคมไทยที่เอื้อประโยชน์ให้คนเหล่านี้เข้ามาบริหารประเทศ นี่เรื่องจริง สามารถพูดได้ว่าเป็นใคร แต่ไม่สามารถเปิดเผยชื่อได้" นายศรีราชา กล่าว

นายศรีราชา กล่าวต่อว่า ข้าราชการต้องสร้างระบบที่ดี ทำอย่างไรให้เกิดระบบคานอำนาจ แต่ปัจจุบันไม่คานแล้ว ข้าราชการต้องอยู่ภายใต้อำนาจนักการเมือง ซึ่งนานๆจะมีแบบนายถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาธิการสภาความมั่นแห่งชาติ(สมช.)สักคน อย่างไรก็ตาม คุณธรรมจริยธรรม 5 ประการของผู้ตรวจการแผ่นดิน คือ ซื่อสัตย์สุจริต มีวินัย เสียสละเพื่อส่วนรวม พอเพียง และรักษ์สิ่งแวดล้อม คือพื้นฐานสำคัญในสังคมไทย เป็นการวางพื้นฐานให้มีนักการเมืองที่ดีเข้ามาบริหารประเทศ อาจจะต้องใช้เวลา 20-30 ปีก็ตาม แต่สิ่งสำคัญสุด คือ วันนี้ต้องสอนเด็กให้เป็นคนดีเสียก่อน สอดแทรกคุณธรรมจริยธรรมในบทเรียนทางการศึกษา เพื่อปูพื้นฐานให้เด็ก ถ้าเราไม่เริ่มต้นวันนี้ โอกาสจะไม่มีเลย แต่หากพื้นฐานที่สำคัญที่สุดคือการศึกษา ถ้าการศึกษาดี คนจะดีตามเอง

"กล้านรงค์" ชี้ รธน.50 ดี แต่รัฐบาลขาดเสถียรภาพ

ด้านนายกล้านรงค์ กล่าวว่า ตนไม่อยากให้มองโลกในแง่ความหมดหวัง ตนยังมองเห็นแสงสว่างในบ้านเมืองไทย ต้องยอมรับว่าการเมืองมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมา 82 ปี มีรัฐธรรมนูญมาหลายฉบับ รัฐธรรมนูญ 2540-2550 ดี แม้ว่าจะดีแต่เราไม่ได้หยิบยกมาใช้ และรัฐธรรมนูญ 2550 มีการเปลี่ยนรัฐบาลถึง 4 ชุดเพราะความไม่มีเสถียรภาพของรัฐบาล มีความคิดทางการเมืองรุนแรงมาก แบบที่ไม่เคยเห็น มีการชุมนุม นองเลือด ปะทะกัน ประชาชนไม่มีความรู้หรือเข้าใจความเป็นประชาธิปไตย นักการเมืองสร้างวัฒนธรรมที่ไม่ดี ซื้อสิทธิ์ขายเสียง เกิดนักธุรกิจการเมือง ทำให้เกิดระบบธุรกิจการเมือง คอร์รัปชันเชิงนโยบาย จนต้องใช้ยาแรงในวันที่ 22 พ.ค.

"หมอพลเดช" แนะใช้โซเชียลแซงชั่นเป็นพลังตรวจสอบจริยธรรมนักการเมือง

ขณะที่ นพ.พลเดช กล่าวว่า สิ่งที่ต้องทำมากๆในช่วงการปฏิรูปคือจะทำอย่างไรให้โซเซียลแซงชั่นแข็งแรง ต้องมีเครื่องมือที่จะมาสนับสนุนเรื่องนี้ ในแง่นโยบายคงไม่พ้นการจัดองค์กรมาทำงานตรงนี้ กมธ.ยกร่างฯก็คิดประเด็นเรื่องนี้ คณะกรรมการสปช.ปฏิรูประบบบริหารราชการก็พูดเรื่องนี้เพื่อเติมเต็ม จุดที่เติมเต็มในเรื่องโซเซี่ยลแซงชั่น พุ่งไปที่เรื่องจริยธรรม ธรรมาภิบาล คงไม่ใช่มาเอาผิดหรือตัดสินทางกฎหมาย แต่จะชี้ผิดชี้ถูกทางจริยธรรมเป็นหลักแล้วส่งเรื่องให้องค์กรอิสระ เช่น สตง.ป.ป.ช.ตรวจสอบต่อ โดยจะต้องตรวจสอบจริยธรรม ธรรมาภิบาลของบุคคลสาธารณะ องค์กรสาธารณะและหน่วยงานที่ทำธุรกิจกับหน่วยงานรัฐ ให้มีอำนาจไต่สวน สอบทาน การกระทำที่ผิดจริยธรรม ต้องทำข้อมูลบุคคลสาธารณะ เช่น นักการเมือง ข้าราชการ ให้เป็นสาธารณะ หมายความว่าทันทีที่ประกาศตัวลงสมัครจะถูกเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ มันจะมีพลังทางสังคมที่เกิดจากข้อมูลข่าวสาร ดูจากกรณีกรรมการกสทช.เราไม่ได้ไปชี้ถูกชี้ผิด แต่การไปต่างประเทศแล้วใช้เงินเท่าไหร่ ถูกเอามาเปิดเผยโซเซี่ยลแซงชั่นเกิดขึ้น ทำให้มีหน่วยงานมารับลูกไปเอง ตรงนี้จะเป็นจุดเติมเต็ม ดังนั้นเรื่องยกระดับคุณธรรม จริยธรรม ต้องใช้โซเซี่ยลแซงชั่น ใช้ข้อมูลสาธารณะให้สาธารณะเข้าตรวจสอบจะเกิดพลังทางสังคมมาก


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ศรีราชา ถาม สปช. มีวิธีใด คนดีเข้า บริหารประเทศ

view