สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

วิชา ชี้จัดซื้อจัดจ้างภาครัฐทุจริตใหญ่ที่สุด

วิชา'ชี้จัดซื้อจัดจ้างภาครัฐทุจริตใหญ่ที่สุด

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

"วิชา" ชี้จัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ทุจริตใหญ่ที่สุด ย้ำการแก้ต้องบูรณาการความคิดเป็นหนึ่งเดียว

ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายวิชา มหาคุณ กรรมการป.ป.ช.บรรยายให้หัวข้อ"ปัญหาคอร์รัปชั่นในประเทศไทย : บทบาทของนักกฏหมายและนักเศรษฐศาตร์" ให้แก่ผู้เข้าอบรมหลักสูตรนิติเศรษฐศาสตร์ระยะสั้น รุ่นที่ 2 (ระดับที่1)

นายวิชา กล่าวว่า ในเรื่องการป้องกันและปราบปรามการทุจริต มักพบปัญหาในเรื่องของความเข้าใจว่าจะทำอย่างไรให้ได้ผล หากดูตามอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านคอร์รัปชั่น 2013 (UNCAC) ได้กำหนดนิยามของคำว่าทุจริตไว้ว่า แบ่งเป็นหลายระดับ แต่ที่มีปัญหามากที่สุดคือการคอร์รัปชั่นขนาดใหญ่ จะต้องจัดการด้วยวิธีที่ซับซ้อน ซึ่งมีการวางแผนล่วงหน้าว่าจะทำกันอย่างไร โดยเฉพาะการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่เป็นการคอร์รัปชั่นขนาดใหญ่มากที่สุดในหลายประเทศ ที่เรียกกันว่าทุจริตเชิงนโยบาย ที่นักธุรกิจร่วมมือกับนักการเมืองผันเอางบประมาณของรัฐมาถ่ายเข้ากระเป๋า ซึ่งเป็นไปอย่างแนบเนียน วงเงินทุจริตนั้นก็ถูกบวกเข้าไว้ในงบประมาณเรียบร้อยแล้ว

นายวิชา กล่าวว่า ระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ (Procurement) เป็นเป้าหมายหลักที่ประเทศต่างๆทั่วโลกต้องบริหารจัดการจะทำอย่างไรให้ลดหรือทำให้เกิดความคุ้มค่าสำหรับประชาชน

กระบวนการเหล่านี้ขึ้นอยู่กับบริษัทเอกชน ซึ่งราชการต้องช่วยดูแลซึ่งป.ป.ช.ก็ได้มีการสร้างระบบ ประเมินคุณธรรม จริยธรรม

นายวิชา กล่าวว่า กระบวนการทางศาลหรือกระบวนการยุติธรรมเบื้องต้น ต้องบูรณาการทางความคิดเพื่อทำให้กระบวนการเหล่านี้เป็นความคิดเดียวกันว่าจะจัดการปัญหานี้อย่างไร

ไม่ใช่แยกเป็นส่วนๆ ซึ่งปัญหาเหล่านี้เป็นความเสียหายทางสังคมและการคอร์รัปชั่นที่เกิดขึ้นทุกแห่งที่มีขนาดใหญ่นั้น มันมีมูลค่าที่สังคมต้องจ่าย โดยเฉพาะเรื่องของความอับอายขายหน้า

ยังรวมถึงความไร้ประสิทธิภาพในการบริหารด้วย มันสะท้อนถึงความไร้ประสิทธิภาพที่ทำให้เกิดความเสียหายได้ขนาดนี้บทเรียนนี้เราต้องเอามาคิด ความเสียหายเหล่านี้เราต้องคิดถึงความเสียหายทางสังคม เราต้องพูดคุยกับบริษัทที่มาทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้างที่ทำให้รัฐเสียหายจากการที่เอาเงินเข้ากระเป๋าตัวเอง

นายวิชา กล่าวว่า ประเทศคอสตาริก้ามีการเรียกค่าเสียหายทางสังคมจากกรณีบริษัทโทรคมนาคมที่ทุจริตในการทำสัญญากับรัฐเป็นเงิน 10 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยคิดคำนวณจากความเสียหายจากการที่นักลงทุนลดความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจของประเทศลงและนำมาซึ่งการก่อตั้ง "เกาะแห่งคุณธรรมจริยธรรม" (Establishing Island of Intrgrity) คือการทำข้อตกลงด้วยความสมัครใจระหว่างบริษัทที่จะเข้าแข่งขันประมูล รวมทั้งบริษัทที่ได้เข้าทำสัญญากับรัฐ เพื่อทำให้เกิดข้อจำกัดที่จะคอร์รัปชั่นในโครงการที่จะเข้าประมูลแข่งขัน ทั้งมีการทำข้อตกลงในทางคุณธรรมจริยธรรม (Integrity pacts)ซึ่งต้องมีการจัดตั้งคณะตรวจสอบที่เป็นอิสระขึ้น เป็นบุคคลที่น่าเชื่อถือแต่ต้องไม่ใช่คณะประนีประนอม สังคมอาจกำหนดว่าใครบ้างที่ต้องเข้ามาร่วมกันเพื่อให้เกิดความโปร่งใสในทุกขั้นตอนของการออกแบบกระบวนการทำสัญญากับรัฐ ถือเป็นการรวมพลังทางความคิด ระหว่างนิติศาสตร์ และวิชาเศรษฐศาสตร์

นายวิชา กล่าวว่า ความสำเร็จที่เห็นได้ชัดของประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียที่ประสบความสำเร็จในการนำ "เกาะแห่งคุณธรรมจริยธรรม" ซึ่งประสบความสำเร็จใหญ่หลวง การประมูลก่อสร้างถนนทุกเส้นนั้นปราศจากการทุจริต โดยการนำเอกชนมาลงนามจับมือกันทุกฝ่าย ซึ่งองค์กรความโปร่งใสนานาชาติก็ได้ไปตรวจสอบก็พบว่างบประมาณที่ลงไปนั้นเกิดการใช้จ่ายอย่างคุ้มค่า

และองค์กรความโปร่งใสนานาชาติยังถามเราด้วยว่าเป็นไปได้ไหมที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศไทยด้วยการผนึกกำลังทุกฝ่าย ซึ่งมาเลเซียทำแล้ว แล้วเราจะหยุดอยู่แค่นี้หรือ


วิชา'ย้ำปราบโกงต้องตีให้หมด

"วิชา" ป.ป.ช. ยกคำพูดอดีตรองนายกฯจีน ปราบโกงต้องตีให้หมด ไม่เว้นแมลงวันหรือเสือ

เมื่อเวลา 10.15 น.ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ จ.นนทบุรี นายวิชา มหาคุณ กรรมการป.ป.ช. กล่าวถึงกรณีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่งตั้งคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ

โดยมีหัวหน้าคสช.เป็นประธานว่า เป็นหน้าที่ของนายกฯ ที่ตั้งใจเอาจริงเอาจัง ไม่เช่นนั้นคงไม่ส่งคณะทำงานไปดูงานเรื่องการปฏิรูปประเทศด้านการต่อต้านการทุจริตที่ประเทศจีน ซึ่งตนได้ร่วมเดินทางไปด้วย จะเห็นได้ว่ารัฐบาลจีนเอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้มาก อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการชุดนี้จะไม่ทำงานซ้ำซ้อนกับป.ป.ช. เพราะนายกฯทำในด้านบูรณาการหน่วยงานต่างๆ ซึ่งกลไกดังกล่าวหากเอาจริงเอาจังจะช่วยในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตได้ เหมือนที่นายหวัง ฉี ซาน อดีตรองนายกรัฐมนตรีจีน และเลขาธิการคณะกรรมการตรวจสอบวินัยกลาง พรรคคอมมิวนิสต์จีนบอกว่า ไม่ว่าจะเป็นเสือหรือแมลงวันต้องตีให้หมด


วิชา-ชี้จำนำข้าวไม่ใช่แค่ขาดทุนแต่ลามถึงคุณภาพ

จาก โพสต์ทูเดย์

วิชา ลั่นแก้ทุจริตต้องตีเสือและแมลงวันให้ตาย ระบุจำนำข้าวไม่ได้เจ๊งแค่เรื่องขาดทุนแต่ลามไปถึงคุณภาพข้าวด้วย

เมื่อวันที่ 22 ธ.ค. ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ  ประธานคณะกรรมการป.ป.ช.เป็นประธานเปิดการจัดอบรมหลักสูตรนิติเศรษฐศาสตร์ระยะสั้น รุ่นที่ 2 (ระดับที่ 1 )

นายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. ได้บรรยายในหัวข้อ “ปัญหาคอร์รัปชั่นในประเทศไทย : บทบาทของนักกฎหมายและนักเศรษฐศาสตร์” ตอนหนึ่งว่า แม้องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติจัดคะแนนความโปร่งใสพบว่าประเทศไทยได้คะแนนเพิ่ม แต่ก็ถือว่ายังสอบตกอยู่ การคอร์รัปชั่นแบ่งเป็นหลายระดับ แต่ปัญหาที่ใหญ่สุด คือการคอร์รัปชั่นขนาดใหญ่ ที่มีวิธีซับซ้อน ซึ่งจะเกิดกับโครงการขนาดใหญ่ หรือเมกะโปรเจ็ค โดยเกี่ยวพันระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ จนทำให้เรียกกันว่า ทุจริตเชิงนโยบาย คือ การที่นักธุรกิจร่วมกับนักการเมืองวางแผนคอร์รัปชั่นแต่แรก หรือบางทีก็บังคับขู่เข็ญข้าราชการ หรือข้าราชการเต็มใจเข้าร่วม โดยการวางแผนจะผันเอางบประมาณของรัฐ นำมาผ่านเข้ากระเป๋า มีระบบของการไซฟ่อน การถ่ายเงินเข้ากระเป๋าอย่างแนบเนียนมาก

นายวิชา กล่าวว่า ขณะนี้มีการพ่วงเอาเงินทุจริตใส่ไว้ในงบประมาณของรัฐเรียบร้อยแล้ว พวกเราอาจไม่รู้ว่าโครงการต่าง ๆ ได้บวกเป็นค่าคอร์รัปชั่นไว้เบ็ดเสร็จแล้วขณะเดียวกันการคอร์รัปชั่นในขนาดเล็กก็ละเลยไม่ได้ เหมือนกับที่นายหวัง ฉีซาน กรรมการประจำกรมการเมือง เลขาธิการคณะกรรมการตรวจสอบวินัยกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน ได้ให้ข้อแนะนำเป็นการส่วนตัวกับตนเองระหว่างการเดินทางไปเจรจากับจีน ในการปฏิรูปการทุจริต และการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เมื่อไม่นานมานี้ว่า การคอร์รัปชั่นจะเป็นเสือหรือแมลงวันก็ต้องตีให้ตาย อย่าให้เกิดการเอาอย่างกัน เพราะจะเห็นว่าคนอื่นทำแล้วไม่ผิดก็ทำตามกัน และป้องกันและปราบปรามการทุจริตหยุดไม่ได้แม้แต่นาทีเดียว ไม่มีวันหยุด ซึ่งที่ผ่านมานายหวัง ฉีซาน ได้จับกุมกับบุคคลสำคัญในพรรคคอมมิวนิสต์ ที่ทำผิดไปแล้ว อาทิ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานของจีน

“ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการคอร์รัปชั่นมีมูลค่ามากกว่าตัวเงินที่สังคมสูญเสีย แต่เกิดความอับอายขายหน้าที่คนในประเทศต้องแบกรับ ซึ่งเป็นความเสียหายทางสังคม เป็นอนุสรณ์สถานแห่งการคอร์รัปชั่น ซึ่งในเมืองไทยก็มีอยู่ชัดเจน ตอนนี้มีโครงการจำนำข้าวที่เสียหาย 6.8 แสนล้านบาท แต่นอกจากนั้นยังมีความเสียหายที่ประเมินค่าไม่ได้ ทำให้ต่างชาติชี้มือมาที่เราว่าเป็นเมืองที่ปลูกข้าวดีที่สุดในโลก แต่ไม่สามารถส่งออกข้าวได้ เพราะมีข้าวถึง 70% ที่เป็นข้าวเสื่อมสภาพ นอกจากนั้นยังสะท้อนถึงความไร้ประสิทธิภาพของการบริหารแผ่นดิน ว่าเราบริหารแบบไหนถึงมีการทุจริตมหาศาลขนาดนี้”นายวิชากล่าว

นายวิชา กล่าวอีกว่า การคิดค่าความเสียหายทางสังคมจากการคอร์รัปชั่น มีตัวอย่างแล้วที่ประเทศคอสตาริกา ที่บริษัททางโทรคมนาคมตกลงจ่ายเงินมูลค่า 10 ล้านเหรียญสหรัฐ ให้กับรัฐบาล เพื่อเป็นค่าเสียหายทางสังคม นอกเหนือจากค่าเสียหายปกติ หลังจากที่รัฐบาลตรวจพบว่าบริษัทดังกล่าวได้รับสัมปทานโทรศัพท์เคลื่อนที่จากการจ่ายสินบน โดยค่าเสียหายทางสังคมนี้คิดคำนวณจากการที่นักลงทุนหมดความเชื่อมันในการลงทุนในประเทศ คิดจากสถานการณ์ทางการเมืองที่อ่อนแอลง การไม่มีประสิทธิภาพกู้ยืมเงิน ดังนั้นแนวความคิดในทางเศรษฐศาสตร์กับนิติศาสตร์ต้องผนึกกำลังกัน เพื่อจะให้เกิดความคุ้มค่าแก่รัฐ เพื่อแก้ไขปัญหาการทุจริต และหากเกิดการทุจริตก็จะได้มีการคำนวณค่าความเสียหายทางสังคมที่เกิดจากการทุจริตได้ ซึ่งเรื่องดังกล่าวทางศาลก็ไม่เคยมีแนวทางนี้ ฉะนั้นจะเป็นได้หรือไม่ ถ้าเราจะนำสิ่งเหล่านี้มาผนึกกำลังกัน มาคิดใหม่ทำใหม่ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส และตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน และทำให้ไทยเป็นที่น่าเชื่อและไว้วางใจต่อสังคมนานาชาติ

สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : วิชา จัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ทุจริตใหญ่ที่สุด

view