สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ลมหายใจค้าปลีก ดาวกระจาย

ลมหายใจค้าปลีก ดาวกระจาย (1)

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ เรื่องราวกับความคิด โดย วิรัตน์ แสงทองคำ

ช่วงเวลาปี 2531-2539 ธุรกิจค้าปลีกขยายตัวมากที่สุด ถือเป็นช่วงบูมครั้งแรก และถือเป็นครั้งสำคัญที่ผู้นำอย่างเซ็นทรัลอยู่ระยะหัวเลี้ยวหัวต่ออีกช่วงหนึ่ง

โมเดลความสำเร็จในธุรกิจห้างสรรพสินค้า(DepartmentStore) ที่ชิดลม ในใจกลางกรุงเทพฯ และโมเดลศูนย์การค้า (Shopping Center) เข้ายึดพื้นที่ชานเมืองที่ลาดพร้าว ควรเป็นแนวทางธุรกิจที่สร้างโมเมนตัมในการขยายเครือข่าย ทั้งในพื้นที่เมืองหลวงและปริมณฑลอย่างต่อเนื่อง แต่ในช่วงแรกกลุ่มเซ็นทรัลยังคงเชื่อมั่นและให้ความสำคัญ เดินแผนการขยายเครือข่ายห้างสรรพสินค้ามากเป็นพิเศษ

"--ปี 2531 เซ็นทรัลได้ขยายสาขาไปที่หัวหมาก (ปี 2543 ปรับปรุงเป็นเซ็นทรัลพาวเวอร์เซ็นเตอร์ หัวหมาก) ซึ่งถือได้ว่าเป็นห้างที่นำเทคโนโลยีสมัยใหม่ คือ การนำเอาระบบ Bar Code มาใช้เพื่อบริการลูกค้าได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

--ปี 2532 ห้างเซ็นทรัลมีความคิดที่จะเจาะกลุ่มลูกค้าเป้าหมายบางกลุ่ม และได้เปิดดำเนินการที่สาขาเซน ในศูนย์การค้าเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์เป็นแห่งแรก โดยเน้นกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้สูง ส่วนสินค้าก็เน้นประเภทสินค้าทันสมัยเป็นหลัก

--ปี 2534 ห้างเซ็นทรัลได้ขยายสาขาเพิ่มในตึกสีลมคอมเพล็กซ์ บนถนนสีลมเพิ่มขึ้นอีกสาขาหนึ่ง เพื่อความสะดวกแก่คนทำงานในย่านสีลม ให้เลือกซื้อสินค้าได้โดยไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง" ข้อมูลจากเซ็นทรัลเอง (http://www.central.co.th/)


ที่มาภาพ : www.panoramio.com

ภาพความเคลื่อนไหวของเซ็นทรัลในเวลานั้น มีความพยายามสร้างเครือข่ายยึดพื้นที่ใจกลางกรุงเทพฯ เป็นสำคัญ ขณะที่แผนการขยายเครือข่ายออกสู่ชานเมืองดำเนินไปอย่างไม่เร่งรีบ จากเซ็นทรัลลาดหญ้าย่านฝั่งธนบุรี (2524) เซ็นทรัลลาดพร้าว --กรุงเทพฯด้านเหนือ (2526) กว่าจะไปสู่หัวหมากใช้เวลาถึง 5 ปี

บางคนวิเคราะห์ว่าในเวลานั้นเซ็นทรัลมองโอกาสและให้ความสำคัญในการขยายเครือข่ายธุรกิจ ไปสู่หัวเมืองใหญ่ในต่างจังหวัด ทั้ง ๆ ที่อยู่ภายใต้แรงต่อต้าน ต้องใช้เวลาและพลังงานอย่างมากกว่าจะปักหลักสำเร็จที่เชียงใหม่ (2535) และหาดใหญ่ (2537) รายละเอียดของเรื่องนี้นำเสนอไว้ในตอนที่แล้ว (ลมหายใจค้าปลีก/เครือข่ายนอกกรุงเทพฯ (2) ประชาชาติธุรกิจฉบับวันที่ 24 พฤศจิกายน 2557)

ในช่วงเวลาต่อมา ทำเลชานเมือง มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ของธุรกิจค้าปลีกมากขึ้น อันเนื่องมาจากความสำเร็จของเดอะมอลล์ โดยเฉพาะที่หัวหมาก

ในช่วงปี 2526-2537 ถือเป็นทศวรรษแห่งความสำเร็จ เดอะมอลล์ มาอยู่ในเส้นทางที่เหมาะสม ในฐานะผู้นำในการสร้างศูนย์การค้าชานเมือง ในเวลานั้นกรุงเทพฯกำลังขยายชุมชนออกสู่ชานเมืองอย่างขนานใหญ่ ด้วยมีโครงการก่อสร้างบ้านจัดสรร และระบบสาธารณูปโภค เช่น ทางด่วน ถือเป็นบทเรียนสำคัญของผู้มาทีหลัง และสามารถท้าทายกลุ่มเซ็นทรัล

เดอะมอลล์
ก่อตั้งโดยนักธุรกิจที่มีพื้นเพจากต่างจังหวัด จากธุรกิจบันเทิงในกรุงเทพฯ มีเครือข่ายโรงภาพยนตร์ชั้นสอง ร้านอาหารและสถานบันเทิง ว่าไปแล้วมีประสบการณ์เชื่อมโยงกับกระแสและพฤติกรรมผู้บริโภคในเมืองหลวง สามารถส่งต่อประสบการณ์และบทเรียนให้กับรุ่นที่สอง สร้างเครือข่ายค้าปลีก-เดอะมอลล์ จนยืนอยู่มาได้ 3 ทศวรรษแล้ว

เดอะมอลล์เริ่มต้นยุทธศาสตร์ค้าปลีกชานเมือง เข้ายึดพื้นที่บริเวณ หัวหมาก เปิดสาขา รามคำแหง 3 สาขาในช่วงปี 2526-2530 หลังจากนั้น ได้เข้าสู่พื้นที่กรุงเทพฯด้านเหนือที่ สาขางามวงศ์วาน ปี 2534 กรุงเทพฯด้านตะวันออกและฝั่งธนบุรี ในปี 2537 ที่สาขา บางกะปิ และ บางแค

แม้ว่าเซ็นทรัลได้ชื่อว่าเป็นผู้บุกเบิกศูนย์การค้าชานเมือง โดยบริษัทเซ็นทรัลพัฒนาก่อตั้งขึ้นในปี 2523 ในโมเดลกิจการร่วมทุน โครงการเซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว ซึ่งเปิดตัวในปี 2526 แต่กว่าจะตกผลึกเริ่มต้นเข้าสู่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์รูปแบบหนึ่งเรียกว่า Retail Property Developer ใช้เวลาถึงทศวรรษเลยทีเดียวในบทบาทสำคัญ เป็น "หัวหอก" บุกเบิกสร้างเครือข่ายค้าปลีกของเซ็นทรัลให้เติบโตเร็วขึ้น โดยเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นในปี 2538

เป็นไปได้ว่าภายใต้โครงการการบริหารการเงินแบบเดิม เงินทุนที่ส่วนใหญ่มาจาก เงินกู้ (Debt Financing) เป็นหลัก ย่อมมีข้อจำกัดในการขยายกิจการในระดับหนึ่ง

ว่าไปแล้วในช่วงเวลานั้น ธุรกิจค้าปลีกของกลุ่มเซ็นทรัลได้ขยายเครือข่ายไปมากพอสมควร เพียงแต่ว่าไม่มากพอกับโอกาสที่เปิดขึ้น กับสถานการณ์การแข่งขันที่สูงขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะการมาของเครือข่ายค้าปลีกระดับโลก โดยการร่วมทุนกับเครือข่ายธุรกิจที่ทรงอิทธิพลที่สุดรายหนึ่งของเมืองไทย-ซีพี

ในปี 2531 Makro แห่งเนเธอร์แลนด์ เปิดโฉมหน้าค้าปลีกแบบใหม่-Hyper Market ซึ่งประสบความสำเร็จและเติบโตในยุโรป และ 7-Eleven เครือข่ายร้านสะดวกซื้อ (Convenience Store) รายใหญ่ระดับโลกที่มีฐานจากสหรัฐ และเติบโตมากในญี่ปุ่น

หลังจากปี 2536 เมื่อประเทศไทยเปิดกิจการวิเทศธนกิจ (Bangkok International Banking Facilities : BIBF) การระดมเงินทุนจากต่างประเทศเป็นไปได้มากขึ้น อัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำเสียด้วย คู่แข่งรายใหม่ ๆ กระโดดเข้ามามากขึ้น ไม่ว่าหน้าใหม่อย่าง เซียร์ สตรีท รังสิต ศูนย์การค้าเกี่ยวกับไอทีและอิเล็กทรอนิกส์ เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อปลายปี 2537 และธุรกิจตระกูลเก่าแก่ที่มีดินแปลงใหญ่ในย่านรังสิต --ตระกูลหวั่งหลี เปิดศูนย์การค้าขนาดใหญ่ ฟิวเจอร์ พาร์ค รังสิต เมื่อปี 2538 เป็นศูนย์การค้าขนาดใหญ่ ว่าไปแล้วเป็นโมเดลเริ่มต้นของ Super Regional Mall ซึ่งเกิดขึ้นขนานใหญ่ในช่วงไม่กี่ปีมานี้

เป็นไปได้ว่ากลุ่มเซ็นทรัล กำลังอยู่ในภาวะหัวเลี้ยวหัวต่อ

เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านผู้นำจาก สัมฤทธิ์ จิราธิวัฒน์ ไปสู่ วันชัย จิราธิวัฒน์ ซึ่งทราบกันดีว่าสัมฤทธิ์ ล้มป่วยมาเป็นเวลาพอสมควร จนเมื่อกลางปี 2535 เขาได้ถึงแก่กรรม นำความโศกเศร้าเสียใจมาสู่ตระกูล ซึ่งถือว่ามีความเป็นปึกแผ่นในยุคของสัมฤทธิ์ เป็นปึกแผ่นทั้งในแง่ครอบครัวและธุรกิจครอบครัว กลุ่มเซ็นทรัลจำเป็นต้องใช้เวลาพอสมควรในการก้าวผ่านเข้าสู่ยุค วันชัย จิราธิวัฒน์ ซึ่งถือว่ามีเวลาไม่มากเลยภายใต้สถานการณ์ใหม่ของธุรกิจค้าปลีก ทั้งโอกาสที่เปิดกว้าง ทั้งในโมเดลธุรกิจดั้งเดิม และโมเดลใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนในเมืองไทย ท่ามกลางการแข่งขันทางธุรกิจที่เข้มข้นอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน

กลุ่มเซ็นทรัลและตระกูลจิราธิวัฒน์ จำเป็นต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว

กลุ่มเซ็นทรัลปรับโครงสร้างธุรกิจในเวลาใกล้เคียงกัน แบ่งกลุ่มธุรกิจสำคัญ ๆ เป็นหลายกลุ่ม ที่สำคัญคือ กลุ่มธุรกิจค้าปลีก และ กลุ่มเซ็นทรัลพัฒนา

สุทธิชาติ จิราธิวัฒน์ ผู้บริหารกลุ่มธุรกิจค้าปลีกเคยบอกว่า ในปี 2536 เป็นช่วงเวลาสำคัญในการตีความใหม่ในโมเดลธุรกิจค้าปลีก (Redefinition) และมาสู่กระบวนการที่เรียกว่า Segmentation

ปี 2538 บริษัทเซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น Holding Company ของกลุ่มธุรกิจค้าปลีกได้เข้าร่วมธุรกิจกับบริษัทห้างสรรพสินค้าโรบินสัน จัดตั้ง บริษัท ซีอาร์ (ประเทศไทย) จำกัด ตามแผนการใหม่ในการรุกสู่ภูมิภาค ด้วยการร่วมมือกับห้างสรรพสินค้าท้องถิ่น ที่สำคัญโรบินสันเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ปี 2535) นับเป็นช่วงเวลาที่ดีของการระดมทุนขยายเครือข่าย

ส่วนกลุ่มเซ็นทรัลพัฒนาเริ่มเคลื่อนไหว เตรียมตัวเข้าตลาดหุ้นโดยเริ่มเปิดศูนย์การค้าแห่งที่สองต่อจากเซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว หลังจากว่างเว้นมาถึง 10 ปีเต็ม

"พฤศจิกายน 2536 เปิดตัวโครงการเซ็นทรัลพลาซา รามอินทรา ศูนย์การค้าที่มีการออกแบบที่ยอดเยี่ยม และรายล้อมด้วยที่อยู่อาศัยและระบบขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพ" ข้อมูลของเซ็นทรัลพัฒนา (http://www.cpn.co.th/)

ในปีเดียวกันนั่นเอง เซ็นทรัลพัฒนาได้ร่วมทุนกับ กลุ่มศรีวิกรม์ เจ้าของเกษร พลาซ่า ในโครงการศูนย์การค้าบางนาซิตี้ เปิดทางให้ห้างเซ็นทรัลเปิดสาขาที่นั่น เป็นการขยายตัวสร้างเครือข่ายชานเมือง

จากนั้นจึงถือเป็นช่วงที่กลุ่มเซ็นทรัล มีความพร้อมในการขยายตัวครั้งใหญ่อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน


ลมหายใจค้าปลีก ดาวกระจาย (2)

คอลัมน์เรื่องราวกับความคิด โดย วิรัตน์ แสงทองคำ

ช่วงเวลาปี 2531-2539 ธุรกิจค้าปลีกขยายตัวมากที่สุด ถือเป็นช่วงบูมครั้งแรก เซ็นทรัลอยู่ระยะหัวเลี้ยวหัวต่อ ด้วยแผนการใหญ่ ภายใต้คำนิยามใหม่ธุรกิจค้าปลีก

"กลุ่มเซ็นทรัลปรับโครงสร้างธุรกิจในเวลาใกล้เคียงกันนั้น แบ่งกลุ่มธุรกิจสำคัญ ๆ เป็นหลายกลุ่ม ที่สำคัญคือ กลุ่มธุรกิจค้าปลีก และ กลุ่มเซ็นทรัลพัฒนา สุทธิชาติ จิราธิวัฒน์ ผู้บริหารกลุ่มธุรกิจค้าปลีก เคยบอกว่าในปี 2536 เป็นช่วงเวลาสำคัญในการตีความใหม่ในโมเดลธุรกิจค้าปลีก (Redefinition) และมาสู่กระบวนการที่เรียกว่า Segmentation" (จากตอนที่แล้ว) แนวทางธุรกิจใหม่ของกลุ่มเซ็นทรัลข้างต้น สะท้อนความพร้อมในแผนการเชิงรุก ซึ่งมีบริบทเชื่อมโยงกับสถานการณ์ธุรกิจค้าปลีกโดยรวม

การปรากฏคู่แข่งใหม่ โฉมหน้าเครือข่ายค้าปลีกระดับโลกเข้ามาเมืองไทย โดยเฉพาะโมเดลค้าปลีกขนาดใหญ่จากยุโรปที่เรียกว่า Hypermarket - Makro (2531) และรูปแบบขนาดเล็ก - ร้านสะดวกซื้อ (Convenience Store) ที่เติบโตอย่างมากในญี่ปุ่น 7-Eleven (2531) กว่ากลุ่มเซ็นทรัลจะรู้ว่าเป็นความเคลื่อนไหวที่สำคัญซ่อนอยู่ ต้องใช้เวลาพอสมควร

ในช่วงเวลานั้น สังคมธุรกิจไทยให้ความสนใจกลุ่มซีพี ซึ่งเพิ่งปรับโครงสร้างธุรกิจเพื่อตอบสนองแผนการขยายตัวครั้งใหญ่ ธนินท์ เจียรวนนท์ ก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหาร ถือกันว่าเขาเป็นผู้นำที่ได้รับการยอมรับอย่างมาก เป็นช่วงเวลาเดียวกับซีพีทุ่มทุนครั้งใหญ่ สู่ธุรกิจใหม่ทุนกับ Bell Atlantic ธุรกิจยักษ์ใหญ่จากสหรัฐเริ่มต้นธุรกิจสื่อสาร

ส่วนการเข้าสู่ธุรกิจค้าปลีกของกลุ่มซีพี ดูเหมือนผู้คนไม่ให้ความสนใจมากนัก ไม่ว่ากรณีกับ SHV Holdings (เจ้าของ Makro) แห่งเนเธอร์แลนด์ หรือการนำเครือข่ายร้าน 7-Eleven เข้ามาเมืองไทย ดูเผิน ๆ ทั้งสองธุรกิจแตกต่างกัน แต่มีบางอย่างร่วมกัน เป็นยุทธศาสตร์คู่ขนานของธุรกิจใหม่

โดยเฉพาะ Makro (ภายใต้การบริหารของบริษัทร่วมทุน-สยามแม็คโคร) มีบทบาทอย่างน่าสนใจในฐานะธุรกิจประเภท Hypermarket รายแรกของเมืองไทย ในเวลาต่อมาไม่นาน สยามแม็คโครเข้าตลาดหุ้นไทย (ปี 2537) ในช่วงตลาดหุ้นบูม ถือว่าเป็นจังหวะที่ดีในการระดมทุนในทันที ซีพีได้เริ่มต้นธุรกิจในทำนองเดียวกันของตนเองขึ้นมา ห้างโลตัส ซูเปอร์เซ็นเตอร์ ก่อตั้งขึ้นในปี 2537 ถือว่าเป็นธุรกิจในรูปแบบ Hypermarket เช่นเดียวกัน นั่นคือจุดเริ่มต้นของประวัติเครือข่ายร้าน Tesco Lotus ผู้นำตลาด Hypermarket ในประเทศไทยปัจจุบัน

นอกจากนี้ มีความเคลื่อนไหวอย่างเงียบ ๆ ของเครือข่าย Convenience Store ต่างชาติอื่น ๆ อีก ไม่ว่ากรณี Family Mart (2536) จากญี่ปุ่นอีกราย และ Jiffy (2536) ในสถานีบริการน้ำมันของ ConocoPhillips จากสหรัฐ

ขณะเดียวกัน รูปแบบค้าปลีกสมัยใหม่ยังขยายตัวอย่างไม่หยุดหย่อน การปรากฏตัวของกลุ่มธุรกิจใหม่ ๆ ของไทย ถือเป็นคู่แข่งรายใหม่ของกลุ่มเซ็นทรัล อย่างไม่ต้องสงสัย โดยเฉพาะรูปแบบค้าปลีกสมัยใหม่ขนาดเล็ก สินค้าเฉพาะอย่าง หรือ Specialty Store ทดแทนร้านค้าแบบดั้งเดิม อาทิ การเกิดขึ้นของเครือข่ายร้านค้าวัสดุก่อสร้าง-Home Pro (2538) เครือข่ายร้านหนังสือ-Nai-in (2537) และ Se-ed book center (2539)

กลุ่มเซ็นทรัลปรับตัวเข้าสู่กระแสใหม่อย่างไม่ทันท่วงที เนื่องจากอยู่ในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อ ดังที่อรรถาธิบายไว้ในตอนที่แล้ว เมื่อมีความพร้อมจึงให้ความสำคัญเป็นพิเศษในการสร้างเครือข่ายค้าปลีกขนาดใหญ่ในโมเดลใกล้เคียงกับ Makro

กลุ่มเซ็นทรัลมองการเกิดขึ้นของ Big C มีความหมาย ในฐานะ "ชิ้นส่วนชิ้นแรก" ที่สำคัญได้ก้าวเข้าสู่ธุรกิจยุคใหม่ ภายใต้นิยามธุรกิจค้าปลีกใหม่ ในยุทธศาสตร์เชิงรุก จากกลุ่มเซ็นทรัลพยายามขยายเครือข่ายในเชิงภูมิศาสตร์ ไปสู่การขยายฐานลูกค้าให้กว้างขึ้นสู่ระดับกลางและล่าง Big C เปิดสาขาแรกที่ถนนแจ้งวัฒนะ (2537) จากนั้นตามมาด้วยแผนการเปิดสาขาอีกหลายแห่ง ทั้งในกรุงเทพฯ พัทยา และ สมุทรปราการ รวมทั้งบริษัทได้เข้าระดมทุนจากตลาดหุ้น (2538)

แผนการขยายตัวครั้งใหญ่ ด้วยยุทธศาสตร์ใหม่ กลุ่มเซ็นทรัลได้ผสมผสานแผนการลงทุนจากเงินกู้ ร่วมทุนกับพันธมิตรธุรกิจ และการระดมทุนจากตลาดหุ้น ไปสู่แผนการการลงทุนใหม่ สะท้อนแนวทางธุรกิจที่ยืดหยุ่น พลิกแพลง ในช่วงโอกาสทางธุรกิจเปิดกว้างมากขึ้น

นั่นคือการร่วมทุน-ร่วมมือกับเครือข่ายปลีกระดับโลก ถือเป็นการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ครั้งสำคัญ ก้าวพ้นบทบาทการเคยต่อสู้ และต่อต้านอย่างแข็งขัน การเข้ามาของเครือข่ายธุรกิจค้าปลีกต่างชาติ

"ไม่มี Concept ตายตัว มีแต่คุณสามารถรักษาตัวให้อยู่รอดได้หรือไม่ แล้วคุณจะกำไรหรือไม่ คุณต้องเปลี่ยนไปตามความต้องการของลูกค้าและสถานการณ์รอบข้าง" สุทธิชาติ จิราธิวัฒน์ ให้เหตุผลไว้เมื่อปี 2543 (จากหนังสือ "70 ปีจิราธิวัฒน์ เซ็นทรัล ยิ่งสู้ยิ่งโต" 2546)

ในช่วงปี 2539 กลุ่มเซ็นทรัลได้ร่วมมือกับธุรกิจระดับโลกในแผนการต่าง ๆ หลากหลายอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ควรกล่าวถึงสัก 2 กรณี

ร่วมทุนกับ Carrefour

Carrefour SA แห่งฝรั่งเศส บริษัทผู้ค้าปลีกอันดับหนึ่งของยุโรป ถือเป็นผู้ให้กำเนิดแนวความคิดร้านค้าปลีก-Hypermarket ผนวกรวมห้างสรรพสินค้าและซูเปอร์มาร์เก็ต จำหน่ายสินค้ากว้างขวางนับตั้งแต่อาหาร เสื้อผ้า เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องใช้ในครัวเรือน และสินค้าอุปโภคบริโภคอื่น ๆ เนื่องมาจากข้อจำกัดการเติบโตภายในประเทศ ตามกฎหมายเพื่อปกป้องผู้ประกอบการรายย่อย Carrefour จึงต้องการแสวงหาแหล่งลงทุนใหม่ ๆ ในทั่วทุกมุมโลก

Carrefour เข้ามาเมืองไทยด้วยความคาดหมายที่สูงในช่วงเวลาธุรกิจทำนองเดียวกันในเมืองไทยเกิดขึ้นแล้ว ทั้ง Makro แห่งเนเธอร์แลนด์ ที่ร่วมมือกับซีพี กับ Big C ของกลุ่มเซ็นทรัล การร่วมทุนระหว่าง Carrefour กับกลุ่มเซ็นทรัลจึงน่าสนใจ

บริษัทเซ็นคาร์คือบริษัทร่วมทุนที่มาจาก Central + Carrefour โดยการบริหารอยู่ในมือของ Carrefour เชื่อกันว่าโมเดลเป็นไปได้ เนื่องจาก Carrefour มองว่ากลุ่มเซ็นทรัลคือผู้นำธุรกิจค้าปลีกในเมืองไทย จะเป็นพันธมิตรที่ดีของผู้มาใหม่ ส่วนเซ็นทรัลซึ่งมีแผนในการลงทุนยืดหยุ่นมากขึ้นเป็นครั้งแรก เป็นการลงทุนธุรกิจค้าปลีกโดยไม่มีอำนาจการบริหารโดยตรง ด้วยยุทธศาสตร์ที่เปิดกว้าง มองทั้งผลตอบแทนการลงทุนจากธุรกิจที่เชื่อว่ามีอนาคต และเชื่อว่าพันธมิตรระดับโลกจะเสริมสร้างความเข้มแข็งธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่ทั้งทางตรงและอ้อม

ในเวลาต่อมาได้บทสรุปว่า โมเดลการร่วมทุนดังกล่าวสำหรับ Carrefour ไม่ใช่การตัดสินใจที่ดีนัก แต่สำหรับกลุ่มเซ็นทรัลถือเป็นแผนการที่ยืดหยุ่น และสร้างโอกาสใหม่ ๆ ทางธุรกิจ

ร่วมทุนกับ Royal Ahold

แม้ว่าห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลได้ดำเนินธุรกิจ Supermarket มานานพอสมควร แต่ยังพยายามเรียนรู้แสวงหาประสบการณ์ใหม่ ๆ เพื่อยกระดับธุรกิจ ด้วยการร่วมทุนกับ Royal Ahold ก่อตั้ง Top Supermarket (2539)

Royal Ahold (หรือ Ahold) เครือข่ายค้าปลีกระดับโลก กิจการเก่าอายุกว่า 100 ปีของเนเธอร์แลนด์ ปัจจุบันมีเครือข่าย Supermarket ส่วนใหญ่ในยุโรปและสหรัฐ

"การเข้าร่วมของ Ahold ในกิจการซูเปอร์มาร์เก็ต นอกจากจะทำให้เซ็นทรัลมีผู้ชำนาญการเรื่องอาหารเข้ามาดูแลกิจการแล้ว ยังสามารถนำเงินขายหุ้น 49% ไปขยายสาขา Big C ในช่วงนั้นด้วย" (จากหนังสือ "70 ปีจิราธิวัฒน์ เซ็นทรัล ยิ่งสู้ยิ่งโต" 2546)

ความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มเซ็นทรัลกับธุรกิจในระดับโลกมีอีกหลายกรณี นอกจากที่กล่าวข้างต้นแล้ว ยังมีกับ Toys"R"Us เครือข่ายธุรกิจของเล่นแห่งสหรัฐ และ Conforama เครือข่ายธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ของฝรั่งเศส ฯลฯ แต่น่าเสียดายต้องปรับเปลี่ยนแผนครั้งใหญ่เมื่อเผชิญวิกฤตการณ์ปี 2540


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ลมหายใจค้าปลีก ดาวกระจาย

view