สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

AEC กับ APEC

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์พร้อมรับ AEC หรือยัง? โดย ณกฤช เศวตนันทน์

ท่านผู้อ่านคงได้ทราบข่าวเมื่อเร็ว ๆ นี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เดินทางไป สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อเข้าร่วมประชุม "เอเปก" ซึ่งในบทความนี้ขอกล่าวถึงความเป็นมาและความสำคัญของ APEC

APEC ย่อมาจาก Asia-Pacific Economic Cooperation-APEC คือความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก ได้เริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2532 เพื่อตอบสนองการพึ่งพาอาศัยกันทางเศรษฐกิจที่ขยายตัวมากขึ้นในหมู่ประเทศแถบเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งระยะนั้นมีการกีดกันทางการค้าและแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ อาทิ กลุ่ม EU และ NAFTA โดยมีนายกรัฐมนตรีประเทศออสเตรเลียเป็นผู้คิดริเริ่ม ประกอบกับอาเซียนได้ประสบปัญหาการเจรจาทางการค้าของประเทศอุรุกวัยยืดเยื้อ

ทั้งนี้ ในการร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกเกิดขึ้นมาได้เพราะ ออสเตรเลีย ได้รับการสนับสนุนจาก ญี่ปุ่น ในความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิกจนประสบความสำเร็จ จึงได้มีการจัดประชุมรัฐมนตรีของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาครวม 12 ประเทศ เพื่อตอบสนองการพึ่งพาทางเศรษฐกิจระหว่างภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกให้มากขึ้น

หลักการของเอเปก (APEC) คือเป็นเวทีสำหรับการปรึกษาหรือแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นที่เกี่ยวกับทางด้านเศรษฐกิจ โดยมีวัตถุประสงค์ของความร่วมมือในเอเชีย-แปซิฟิก กับมีเป้าหมายในการสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาคและของโลก เพื่อลดอุปสรรคทางการค้าและอำนวยความสะดวกในการค้าการลงทุนระหว่างภูมิภาคในเอเชีย-แปซิฟิก และส่งเสริมความร่วมมือทางด้านการเงินการคลังในการแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจ

ในปัจจุบันเอเปก (APEC) มีสมาชิกทั้งหมด 21 ประเทศ ประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา แคนาดา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย บรูไน ฟิลิปปินส์ ไทย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สาธารณรัฐประชาชนจีน ไต้หวัน ฮ่องกง ปาปัวนิวกินี เม็กซิโก ชิลี เปรู เวียดนาม รัสเซีย

ในการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก ครั้งที่ 22 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เดินทางเข้าร่วมประชุมเมื่อวันที่ 9-11 พฤศจิกายน 2557 ที่สาธารณรัฐประชาชนจีน ได้มีหัวข้อหลักของการประชุมครั้งนี้ คือ การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาค การส่งเสริมการพัฒนาอย่างมีนวัตกรรม การปฏิรูปเศรษฐกิจ การส่งเสริมความเชื่อมโยงอย่างครอบคลุม และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

การประชุมเอเปกครั้งนี้ พลเอกประยุทธ์ได้ให้ความสำคัญในเรื่องการเปิดการค้าเสรี เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยการคิดนวัตกรรมใหม่ ๆ ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและพัฒนาประเทศแบบยั่งยืน

อีกทั้งยังให้ความสำคัญการส่งเสริมการเชื่อมโยงในภูมิภาคเข้าด้วยกัน ลดช่องว่างทางการพัฒนาประเทศ และรับมือกับปัญหาข้ามชาติ เช่น ปัญหาสิ่งแวดล้อม โรคอีโบลา นอกจากนี้ พลเอกประยุทธ์ยังได้พูดคุยกับรัฐบาลของจีนเพื่อขอความร่วมมือในด้านต่าง ๆ อาทิ ขอความร่วมมือด้านมาตรฐานสินค้าเกษตร และอาหารระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนกับจีน หรือที่เรียกว่า MOU เกี่ยวกับการซื้อขายผลผลิตทางการเกษตรไทย ขอให้ช่วยอำนวยความสะดวกในการนำเข้าสินค้าทางเกษตรของไทย โดยเฉพาะผลไม้ ข้าวไทย ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมในประเทศจีนอย่างมาก และขอความร่วมมือในการสร้างทางรถไฟความเร็วปานกลาง นอกจากนี้ ได้เชิญนักลงทุนจีนเข้ามาลงทุนในไทยอีกด้วย

บทบาทสำคัญในความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกเป้าหมายหลักคือการเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุน หรือที่เรียกว่า "เป้าหมายโบกอร์" ได้มีการกำหนดให้สมาชิกเอเปกที่พัฒนาแล้วเปิดเสรีด้านการค้าและการลงทุนภายในปี 2553 และสมาชิกกำลังพัฒนาสามารถเปิดการค้าและการลงทุนภายในปี 2563


ขณะที่บทบาทในการประชุมประชาคมอาเซียน (AEC) ที่สำคัญคือการเตรียมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน การทบทวนในการพัฒนาการสร้างประชาคมอาเซียน และต่อยอดความร่วมมือทั้งสามเสาหลัก รวมทั้งผลักดันให้ประเทศคู่เจรจาต่าง ๆ และสหประชาชาติเข้ามาสนับสนุนการสร้างประชาคมอาเซียน การกำหนดทิศทางและวิสัยทัศน์ของประชาคมอาเซียนภายหลังปี 2558 ตลอดจนแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศที่สำคัญ

สำหรับการประชุมเอเปกกับประชาคมอาเซียนนั้นมีความสำคัญที่แตกต่างกันเพราะ การประชุมเอเปกเป็นการรวมตัวของประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกากับญี่ปุ่นเข้าด้วยกัน เน้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจทางภูมิภาคและระดับโลก ทำให้กลุ่มสมาชิกนั้นมีความแข็งแกร่ง เน้นการเปิดการค้าเสรีและการลงทุน อีกทั้งสมาชิกเอเปกเป็นคู่ค้าที่สำคัญของไทย โดยมีสัดส่วนการค้าระหว่างประเทศกับเอเปกถึงร้อยละ 70 ทำให้ข้อได้เปรียบการเข้าร่วมกลุ่มเอเปกคือการลดช่องทางการกีดกั้นทางการค้าระหว่างประเทศมหาอำนาจ

การเข้าร่วมในเอเปกเป็นการเปิดโอกาสให้กลุ่มสมาชิกเอเปกได้สามารถพัฒนาเทคโนโลยี ตลอดจนการพัฒนาความร่วมมือโครงสร้างพื้นฐาน โทรคมนาคม นอกจากนี้ สมาชิกเอเปกสามารถปรึกษาด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการระหว่างสมาชิกที่พัฒนาแล้วกับสมาชิกที่กำลังพัฒนาได้

ส่วนการประชุมประชาคมอาเซียนนั้น เน้นเป็นตลาดเดียวกันและฐานการผลิตร่วมกัน สร้างความสามารถทางเศรษฐกิจ ขยายการส่งออกและโอกาสทางการค้า ยกเลิกอุปสรรคทางภาษีและที่ไม่ใช่ภาษี สร้างโอกาสในการลงทุน เพิ่มความสามารถของผู้ประกอบการไทย ใช้ทรัพยากรการผลิตร่วมกันกับกลุ่มสมาชิกประชาคมอาเซียน และการเป็นพันธมิตรทางธุรกิจร่วมกับกลุ่มสมาชิกประชาคมอาเซียนกันเอง ทำให้เกิดความได้เปรียบเชิงแข่งขัน สามารถลดต้นทุนการผลิต เพิ่มอำนาจการต่อรองของไทยในเวทีการค้าโลก

หากกล่าวถึงผลกระทบของเอเปกที่มีต่อประชาคมอาเซียนนั้น สำหรับผลกระทบทางบวกเป็นโอกาสที่ดีของประชาคมอาเซียนที่จะสามารถขยายฐานลูกค้าไปยังประเทศต่าง ๆ เพิ่มสัดส่วนครองตลาดของผู้บริโภคในอาเซียนที่มีจำนวน 600 ล้านคน กลายเป็น 4,000 ล้านคนของผู้บริโภคในสมาชิกเอเปก ทั้งนี้ เอเปกมีสมาชิกถึง 21 ประเทศ มีประชากรถึง 400 ล้านคน ที่สำคัญมีประเทศมหาอำนาจเป็นผู้กำกับดูแลในกลุ่มสมาชิกเอเปก

ดังนั้น เอเปกจึงมีอิทธิพลอย่างมากกับประชาคมอาเซียน ในทางตรงข้าม อุปสรรคของคู่แข่งมีทั้งโดยตรงและทางอ้อม ทั้งภัยเงียบการแข่งขันแย่งชิงของกลุ่มสมาชิกเอเปกกันเอง เป็นเรื่องที่ต้องค่อยศึกษาและทำความเข้าใจ เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : AEC APEC

view