สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ราคาตลาดโลกกับหน้าปั๊มสัดส่วน ลดลง ที่ไม่เท่ากัน

ราคาตลาดโลกกับหน้าปั๊มสัดส่วน 'ลดลง' ที่ไม่เท่ากัน

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




สถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกก็ยังคงปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับช่วงเดือนมิ.ย.ปีนี้

ที่น้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) มีราคาสูงสุดในปีนี้ถึง 107.95 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ลดลงเหลือเพียงประมาณ 54.11 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ณ วันที่ 18 ธ.ค.2557 ลดลงถึงร้อยละ 49.8 เช่นเดียวกับน้ำมันดิบดูไบที่ประเทศไทยนำเข้ามากลั่นส่วนใหญ่นั้น เมื่อกลางปีมีราคาสูงสุดที่ 110.95 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ลดลงเหลือ 56.53 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ลดลงไปร้อยละ 49

ทีนี้ก็มีหลายๆ คนสงสัยว่า ทำไมราคาน้ำมันหน้าปั๊มในประเทศไทยไม่ลดลงเป็นสัดส่วนเดียวกับราคาน้ำมันดิบ เช่นราคาน้ำมันดิบตลาดโลกลดลงกว่าร้อยละ 49 แต่ราคาน้ำมันหน้าปั๊มลดลงเพียงร้อยละ 23 แล้วมองว่าส่วนต่างร้อยละ 26 นั้นบริษัทน้ำมันได้กำไรไปเกินควร แต่ถ้าพิจารณาโครงสร้างราคาน้ำมันก่อนและหลังการลดลงของราคาน้ำมันตลาดโลก จะพบว่ามีปัจจัยหลายๆ อย่างที่ทำให้ราคาน้ำมันหน้าปั๊มลดลงไม่เป็นสัดส่วนเดียวกับราคาน้ำมันดิบตลาดโลก ซึ่งบริษัทน้ำมันนั้นไม่ได้ค้ากำไรเกินควรเหมือนที่ถูกกล่าวอ้างโจมตี

ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงราคาน้ำมันหน้าปั๊มในประเทศไทย ได้แก่ อัตราแลกเปลี่ยน ราคาน้ำมันสำเร็จรูปตลาดโลก ค่าพรีเมียมและปรับคุณภาพน้ำมัน ราคาไบโอดีเซล ราคาเอทานอล ภาษีฯ กองทุนน้ำมันฯ และค่าการตลาด อย่างแรกเลยที่ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า น้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปมีอุปสงค์และอุปทานคนละกลุ่มจึงอยู่คนละตลาดกัน แต่การเปลี่ยนแปลงราคาน้ำมันดิบกับราคาน้ำมันสำเร็จรูปมักจะมีทิศทางเดียวกัน แต่จะไม่เปลี่ยนแปลงเป็นสัดส่วนที่เท่ากันพอดี ทำให้ค่าการกลั่นเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แล้วแต่สภาพตลาดน้ำมันในขณะนั้น เป็นความเสี่ยงที่โรงกลั่นน้ำมันต้องรับไป ดังนั้น การเปรียบเทียบครั้งนี้ผมจะใช้ราคาน้ำมันสำเร็จรูปตลาดโลกแทนที่จะใช้ราคาน้ำมันดิบตลาดโลก

ผมขอเทียบโครงสร้างราคาน้ำมันของ วันที่ 21 ก.ค.2557 ซึ่งเป็นวันที่ราคาน้ำมันตลาดโลกมีราคาสูงและฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงของประเทศไทยติดลบมากที่สุดถึง 9,157 ล้านบาท เทียบกับโครงสร้างราคาน้ำมัน ณ วันที่ 18 ธ.ค.2557 โดยราคาน้ำมันเบนซินตลาดโลกที่สิงคโปร์ หรือ Mean of Platts Singapore (MOPS) เฉลี่ยราคาตามหลักเกณฑ์ของกระทรวงพลังงาน ลดลงจาก 121 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เหลือ 67 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ลดลงร้อยละ 45 แต่หลังจากปรับอัตราแลกเปลี่ยนที่เงินบาทอ่อนตัวลงประมาณร้อยละ 2.5 เมื่อเทียบราคาน้ำมันเบนซินตลาดโลกเป็นเงินบาทจะพบว่าราคาน้ำมันเบนซินตลาดโลกลดลงร้อยละ 43

เมื่อเทียบกับข้อมูลโครงสร้างราคาน้ำมันขายปลีกของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน (สนพ.) วันที่ 21 ก.ค. 2557 กับวันที่ 18 ธ.ค. 2557 จะพบว่า ราคาหน้าโรงกลั่นเปลี่ยนแปลงจาก 25.49 บาทต่อลิตร เป็น 15 บาทต่อลิตร ลดลงร้อยละ 41 ซึ่งใกล้เคียงกับสัดส่วนการลดลงของราคาตลาดโลก ส่วนต่างเล็กน้อยร้อยละ 2 มาจากอัตราค่าพรีเมียมและปรับปรุงคุณภาพน้ำมันให้เป็นมาตรฐานยูโร 4 รวมถึงสภาพการแข่งขันของตลาดน้ำมันในประเทศขณะนั้นที่ทำให้ราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นน้ำมันในประเทศลอยตัวขึ้นลง แต่ไม่เกินเพดานราคาอ้างอิงที่ประกาศโดยกระทรวงพลังงาน

เมื่อพิจารณาส่วนประกอบอื่น ๆ พบว่าภาษีที่จัดเก็บทั้งหมดได้แก่ ภาษีสรรพสามิต ภาษีเทศบาลและภาษีมูลค่าเพิ่มเปลี่ยนแปลงจาก 10.89 บาทต่อลิตร เป็น 8.60 บาทต่อลิตร ลดลงร้อยละ 21 กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงและกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานเปลี่ยนแปลงจาก 10.25 บาทต่อลิตร เป็น 9.40 บาทต่อลิตร ลดลงเพียงร้อยละ 8 และค่าการตลาดเปลี่ยนแปลงจาก 2.12 บาทต่อลิตร เป็น 4.36 บาทต่อลิตร เพิ่มขึ้นร้อยละ 105 ทำให้โดยรวมราคาน้ำมันเบนซินหน้าปั๊มลดลงจาก 48.75 บาทต่อลิตร เป็น 37.36 บาทต่อลิตร หรือลดลงร้อยละ 23

ทีนี้ลองเปรียบเทียบกับราคาน้ำมันดีเซลของวันที่ 21 ก.ค. 2557 กับ วันที่ 18 ธ.ค. 2557 บ้างครับ ราคาน้ำมันดีเซลตลาดโลกด้วยวิธีคิดเดียวกับราคาน้ำมันเบนซิน พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงจาก 120 ดอลลาร์ เป็น 74.3 ดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 38 แต่หลังจากปรับอัตราแลกเปลี่ยนที่เงินบาทอ่อนตัวแล้วเทียบเป็นเงินบาทพบว่าราคาน้ำมันดีเซลตลาดโลกลดลงร้อยละ 36

เมื่อเทียบกับข้อมูลของ สนพ. จะพบว่าราคาหน้าโรงกลั่นของน้ำมันดีเซลลดลงจาก 25.10 บาทต่อลิตร มาเป็น 17.09 บาทต่อลิตร ลดลงร้อยละ 32 ซึ่งก็ใกล้เคียงกับสัดส่วนการลดลงของราคาตลาดโลก ส่วนต่างเล็กน้อยร้อยละ 4 เพราะอัตราค่าพรีเมียมและราคาไบโอดีเซล ราคาหน้าโรงกลั่นน้ำมันประเทศไทยนั้นเป็นราคาน้ำมันดีเซล บี 7 คือมีไบโอดีเซลผสมอยู่ประมาณร้อยละ 7 ซึ่งราคาไบโอดีเซลเปลี่ยนแปลงจาก 30.30 บาทต่อลิตร เป็น 34.14 บาทต่อลิตร หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 13 รวมถึงสภาพการแข่งขันของตลาดน้ำมันในประเทศเช่นเดียวกับน้ำมันเบนซิน

และเมื่อพิจารณาส่วนประกอบอื่น ๆ จะพบว่าภาษีที่จัดเก็บทั้งหมดได้แก่ ภาษีสรรพสามิต ภาษีเทศบาลและภาษีมูลค่าเพิ่มเปลี่ยนแปลงจาก 1.96 บาทต่อลิตร เป็น 5.33 บาทต่อลิตร เพิ่มขึ้นร้อยละ 172 กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงและกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานเปลี่ยนแปลงจาก 1.25 บาทต่อลิตร เป็น 2.00 บาทต่อลิตร เพิ่มขึ้นร้อยละ 60 และค่าการตลาดเปลี่ยนแปลงจาก 1.54 บาทต่อลิตร เป็น 2.47 บาทต่อลิตร เพิ่มขึ้นร้อยละ 60 ทำให้โดยรวมราคาน้ำมันดีเซลหน้าปั๊มลดลงจาก 29.85 บาทต่อลิตร เป็น 26.89 บาทต่อลิตร หรือลดลงเพียงร้อยละ 10

เมื่อวิเคราะห์อย่างละเอียดถึงองค์ประกอบของโครงสร้างราคาน้ำมันต่อการเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมันหน้าปั๊มเปรียบเทียบกับราคาน้ำมันตลาดโลกจะพบว่า ราคาที่เป็นเนื้อน้ำมันคือราคาหน้าโรงกลั่นมีการเปลี่ยนแปลงตามราคาตลาดโลกเป็นไปตามกลไกตลาด แต่ส่วนอื่น ๆ ที่ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปตามตลาดโลก ได้แก่ ภาษีต่าง ๆ กองทุนน้ำมันฯ และค่าการตลาด ฯลฯ ดังที่แสดงตัวเลขไว้ให้แล้ว การเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลเพิ่มเป็น 3.25 บาทต่อลิตร ได้นำรายได้กลับเข้ารัฐอีกครั้งหลังจากเก็บเพียงลิตรละครึ่งสตางค์จากนโยบายตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกินลิตรละ 30 บาทนานถึง 3 ปีกว่า

นอกจากนี้ด้วยนโยบายของกระทรวงพลังงานในรัฐบาลชุดนี้ทำให้สามารถใช้หนี้กองทุนน้ำมันฯ โดยเก็บเพิ่มเติมจากน้ำมันดีเซล จนฐานะกองทุนน้ำมันฯ ณ วันที่ 21 ธ.ค. 2557 กลับมาเป็นบวก 14,234 ล้านบาท เป็นเงินสำรองเพื่อใช้รักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันหากเกิดราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นในอนาคต และสามารถนำไปใช้เพื่อส่งเสริมพลังงานทดแทนอีกด้วย ในส่วนของค่าการตลาดนั้นช่วงที่ราคาน้ำมันขาลงค่าการตลาดมักจะเพิ่มขึ้นมาชดเชยในส่วนที่ผู้ประกอบการรับภาระไว้ตอนช่วงราคาน้ำมันขาขึ้นที่ค่าการตลาดมักจะถูกบีบให้น้อยกว่าปกติ ก็ขึ้นอยู่กับกระทรวงพลังงานจะพิจารณาถึงความเหมาะสมและเป็นธรรมต่อทั้งประชาชนและผู้ประกอบการ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ราคาตลาดโลก หน้าปั๊ม สัดส่วน ลดลง ไม่เท่ากัน

view