สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

แล้วรัสเซีย.. จะรอดไหม

แล้วรัสเซีย.. จะรอดไหม

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์


รัสเซียนั้นใหญ่และสำคัญทั้งในแง่การเมืองและเศรษฐกิจเกินกว่าที่ชาติตะวันตกจะยอมปล่อยให้ล้มทั้งยืน

ทางรอดของรัสเซียในตอนนี้สำหรับนายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีของรัสเซีย เท่าที่ผมประเมินมีอยู่ด้วยกันอย่างน้อย 3 ทาง ได้แก่

หนึ่ง ประคองตัวเองโดยใช้อัตราดอกเบี้ยสูง ซึ่ง ณ วันนี้ ขึ้นไปที่เกือบร้อยละ 20 เข้าไปแล้วและใช้สำรองเงินตราระหว่างประเทศของธนาคารกลางรัสเซียซึ่งตอนนี้ใช้ไปเป็นเกือบหลักแสนล้านรูเบิลเข้าไปแล้วในการแทรกแซงค่าเงินเพื่อช่วยป้องกันไม่ให้ค่าเงินรูเบิลตกลงจนไม่สามารถยืนอยู่ได้ ดังรูปที่ 1 ซึ่งจากในอดีตที่ผ่านมา จะพบว่าไม่ว่าจะเป็นอังกฤษในปี 1992 ที่จอร์จ โซรอส สามารถกำไรจากค่าเงินปอนด์ ประเทศในลาตินอเมริกาในทศวรรษที่ 80 หรือไทยเองในปี 1997 ล้วนไม่ประสบความสำเร็จในการใช้กลยุทธ์ดังกล่าว

โดยลุ้นให้ราคาน้ำมันโลกไม่ให้ตกและขึ้นกว่าตอนนี้ เนื่องจากที่ผ่านมาจะพบว่าราคาน้ำมันถือเป็นปัจจัยหลักที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของรัสเซีย จากอดีตที่ผ่านมา จะพบว่ายามที่ราคาน้ำมันร่วงลงมา เศรษฐกิจรัสเซียจะเข้าสู่สภาวะถดถอยแทบทุกครั้งไป ดังรูปที่ 2



อีกฝั่งหนึ่ง ใช้นโยบายการคลังที่ผ่อนคลายในการกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ให้ตกต่ำเพื่อชดเชยกับการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจของชาติตะวันตก ซึ่งตรงนี้ต้องทำด้วยความระมัดระวังไม่ให้เงินเฟ้อทะลุสูงเกินไป รอจนกระทั่งราคาน้ำมันโลกกระเตื้องขึ้นมา ค่อยไปสอยให้นักเก็งกำไรค่าเงินรูเบิลให้หงายเก๋ง หากจะเล่นเกมแบบนี้ คำถามคือ สำรองเงินตราระหว่างประเทศของธนาคารกลางรัสเซียจะเหลือพอที่จะปกป้องค่าเงินไหม

หากพิจารณาจากภาระหนี้ของรัสเซียซึ่งส่วนหลักเป็นหนี้จากบริษัทและธนาคารพาณิชย์ที่ไปกู้เงินจากต่างประเทศ ดังรูปที่ 3



จากรูปจะพบว่าหนี้ต่างประเทศภาคเอกชนของรัสเซียในอีก 2 ปีข้างหน้า มีอยู่ประมาณ 2 แสนล้านดอลลาร์ โดยกว่าครึ่งเป็นหนี้ที่จะครบกำหนดภายใน 1 ปีข้างหน้า



คราวนี้หากพิจารณาเงินสำรองระหว่างประเทศ ดังรูปที่ 4 จะพบว่า เงินสำรองระหว่างประเทศของรัสเซีย มีอยู่ถึงกว่า 4 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งน่าจะถือว่าในระยะปี 2 ปีนี้ น่าจะพออุ่นใจได้ อย่างไรก็ดี หากพิจารณาให้ลึกเข้าไป กลับปรากฏว่าสำรองเงินตราระหว่างประเทศในส่วนที่มีสภาพคล่องสูงจริงๆ มีอยู่เพียงไม่ถึง 2 แสนล้านดอลลาร์เท่านั้น ส่วนที่เหลือนั้นเป็นส่วนผสมของสำรองซึ่งขาดสภาพคล่องที่ส่วนใหญ่เป็นเงินส่วนที่สำรองไว้จ่ายให้กับบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ที่เจ้าของเป็นเพื่อนสนิทของนายปูตินและเงินที่ลงทุนในกองทุน wealth fund ของประเทศ อันประกอบด้วยกองทุน Reserve Fund และ กองทุน National Wealth Fund โดยกองทุนหลัง หลายคนเชื่อว่านำเงินไปกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์ไปสนับสนุนโครงการสร้างสาธารณูปโภคและการก่อสร้างสนามกีฬาสำหรับโอลิมปิกเกมส์ที่เมืองโซชิ

สอง การใช้สงครามโดยเฉพาะอย่างยิ่งพุ่งใส่เข้าประเทศที่ส่งออกน้ำมันเพื่อให้ราคาน้ำมันสูงขึ้น ย่อมจะสามารถทำให้เศรษฐกิจรัสเซียกลับมาคึกคักได้จากการเพิ่มขึ้นของรายได้จากการส่งออก ต้องบอกว่าในอดีตที่ผ่านมา เคยมีการใช้วิธีนี้กัน แม้หลายคนจะเห็นว่าเป็นเพียงผลพวงทางอ้อมก็ตาม อาทิ สหรัฐกับสงครามในอิรัก หรือ เยอรมันในสงครามโลกครั้งที่ 2 หมากสไตล์บู๊แนวนี้ นายปูตินถนัดอยู่เป็นอย่างดี ทว่าก็เท่ากับบีบให้การคว่ำบาตรทางการค้าของประเทศตะวันตกให้รุนแรงขึ้นไปอีก ซึ่งนายปูตินคงจะนำมาใช้เมื่อเข้าตาจนเท่านั้น

สาม การยอมอ่อนข้อให้กับชาติตะวันตก ด้วยการถอยจากยูเครน เพื่อให้การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจของชาติตะวันตกผ่อนคลายลง ส่งผลให้เศรษฐกิจรัสเซียกลับมาเติบโตดีขึ้น ซึ่งโอกาสได้เห็นคงไม่มาก หากมองจาก ณ นาทีนี้

หลังจากนายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย กล่าวในงานการประชุมประจำปีของรัสเซียเมื่อสัปดาห์ก่อน ผมคิดว่า นายปูตินยังไม่ตัดสินใจเลือกเส้นทางใดๆ แม้มองภายใต้สถานการณ์แวดล้อมทุกอย่าง ณ วันนี้ เศรษฐกิจรัสเซียคงไปต่อได้ไกลสุดคงไม่เกินกลางปีหน้า

อย่างไรก็ดี ต้องบอกว่า รัสเซียนั้นใหญ่และสำคัญทั้งในแง่การเมืองและเศรษฐกิจเกินกว่าที่ชาติตะวันตกจะยอมปล่อยให้ล้มทั้งยืน ตรงนี้ ต่างหากที่ถือเป็นหนทางรอดของรัสเซียที่ซ่อนอยู่ครับ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : แล้วรัสเซีย จะรอดไหม

view