สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ค้นบ้านผอ.ส่วนการคลังเทคโนฯลาดกระบัง

ค้นบ้านผอ.ส่วนการคลังเทคโนฯลาดกระบัง

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

ตำรวจค้นบ้านผอ.ส่วนการคลังเทคโนลาดกระบังหาหลักฐานเพิ่ม หลานเชื่อน้าสาวถูกผจก.แบงก์หลอก

พ.ต.ต.ณรงค์ชัย เอกฉันท์ สว.กก.1 บก.ป. พร้อมด้วย ร.ต.อ.กันต์กวี อดุลยาศักดิ์ รอง สว.กก.1 บก.ป. ร.ต.ท.ณัฐกรณ์ แสนทวีสุข รองสว.กก.1บก.ป. พร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.1บก.ป. นำหมายค้นศาลจังหวัดพระโขนง เลขที่ ค.98/2557 ลงวันที่ 25 ธ.ค. 2557 เข้าตรวจค้นบ้านพักเลขที่ 562 ซอยจ่าโสด ถ.รางรถไฟสายเก่า แขวงและเขตบางนา กทม. ซึ่งเป็นบ้านของน.ส.อำพร น้อยสัมฤทธิ์ อายุ 56 ปี ผู้อำนวยการส่วนการคลัง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ผู้ต้องหาที่ร่วมกับนายทรงกลด ศรีประสงค์ อายุ 40 ปี อดีตผู้จัดการธนาคารกรุงศรีอยุธยา สาขาบิ๊กซีศรีนครินทร์ ลักทรัพย์ด้วยการปลอมเอกสารสิทธิ ใช้เอกสารสิทธิปลอม เปิดบัญชีเงินฝากปลอม ในการยักยอกเงินของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มีความเสียหายมูลค่า 1,663 ล้านบาท

บ้านหลังดังกล่าวเป็นบ้านสภาพเก่าสูงสองชั้น แบบครึ่งปูนครึ่งไม้ มีรั้วรอบขอบชิด เนื้อที่ประมาณ 100 ตรว. เมื่อเจ้าหน้าที่แสดงหมายค้นพบนายผดุงศักดิ์ อ่อนละเอียด อายุ 42 ปี เป็นหลานชายของน.ส.อำพร อยู่ที่บ้านออกมาแสดงตัวกับเจ้าหน้าที่ ก่อนเปิดประตูให้ความร่วมมือในการเข้าตรวจค้นครั้งนี้ การตรวจค้นเริ่มจากบริเวณชั้นล่างซึ่งเป็นห้องนอนของน.ส.อำพร เจ้าหน้าที่ตรวจพบเอกสารใบแจ้งหนี้ จดหมายจากทางธนาคารกรุงศรีอยุธยา รวมทั้งกล้องถ่ายรูป ส่วนบนชั้น2 แบ่งเป็นห้องนอนจำนวน 4 ห้อง โดยพบเอกสารต่างๆรวมทั้งสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารต่างๆกว่า 10 เล่ม ทองรูปพรรณจำนวนหนึ่ง กรมธรรม์ประกันชีวิตหลาย 10 เล่ม และโฉนดที่ดินหลายฉบับ เจ้าหน้าที่จึงเก็บรวบรวมไว้เป็นหลักฐานไปตรวจสอบหาความเชื่อมโยง ขณะเดียวกันยังตรวจสอบรถยนต์อีก 2 คัน ซึ่งเป็นรถยนต์เก๋งโตโยต้า โซลูนา สีน้ำเงิน ทะเบียน วณ 6503 กทม. และรถยนต์กระบะ อีซุซุ สีน้ำเงิน ทะเบียน ศณ 2423 กทม.ซึ่งเป็นของนายผดุงศักดิ์ โดยเจ้าหน้าที่ได้นำเอกสารการครอบครองรถไปตรวจสอบเช่นกัน

พ.ต.ต.ณรงค์ชัย กล่าว่า การเข้าตรวจค้นบ้านน.ส.อำพรในครั้งนี้เพื่อหาหลักฐานไปประกอบสำนวนคดี เพื่อขยายผลว่ามีความเชื่อมโยงถึงใครบ้าง เบื้องต้นมีเพียงเอกสารใบแจ้งหนี้และจดหมายจากทางธนาคาร ส่วนสมุดบัญชีเงินฝากของบรรดาญาติๆน.ส.อำพร กว่า 10 เล่มนั้นจะต้องนำส่งพนักงานสอบสวน กก.1บก.ป. เพื่อตรวจสอบความเคลื่อนไหวของบัญชีเหล่านี้เปรียบเทียบความเป็นจริงของรายได้บุคคลเหล่านี้ ถ้าบัญชีมีเงินหมุนเวีนยปกติ มีเงินเข้าตามรายได้ที่ได้รับอยู่ก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าเกิดมีเงินหมุนเวียนมากเกินกว่ารายได้จริงที่ทำงานอยู่แสดงว่าเกิดความผิดปกติ ซึ่งต้องนำหลักฐานที่ได้ในครั้งนี้ไปให้พนักงานสอบสวนตรวจสอบอย่างละเอียด อย่างไรก็ตามไม่พบหลักฐานทรัพย์สินอื่น หรือเอกสารจากการทำงานที่สถาบัน เนื่องจากสอบถามญาติไม่เคยพบน.ส.อำพรนำงานกลับมาทำที่บ้าน

พ.ต.ต.ณรงค์ชัย กล่าวว่าต่อว่า คดีนื้ทางผู้บังคับบัญชาได้แบ่งงานออกเป็นหลายชุดในการลงพื้นที่ ตรวจสอบหาข้อมูลพยานหลักฐาน และจากการตรวจสอบในเบื้องต้นพบสมุดบัญชีเงินฝาก โฉนดที่ดิน ของบรรดาญาติของน.ส.อำพร หลายรายการ แต่มีโฉนดที่ดินจำนวน 6 ไร่ที่อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา ที่เป็นของน.ส.อำพร รวมทั้งเอกสารการเป็นผู้จัดการมรดกอีกหลายฉบับ ซึ่งหลังจากนี้จะเก็บรวบรวมเพื่อนำไปตรวจสอบ อย่างไรก็ตามทางญาติให้การว่าสมุดบัญชีเงินฝากบางส่วนอยู่ที่ทนายความ ซึ่งมาเอาไปเมื่อสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ก่อนที่น.ส.อำพรจะถูกดำเนินคดี

ด้านนายผดุงศักดิ์ เปิดเผยว่า เป็นหลานชายของน.ส.อำพร ซึ่งน.ส.อำพรมีศักดิ์เป็นน้า แต่ตนเรียกติดปากว่าเป็นอา ซึ่งจริงๆแล้วน.ส.อำพรรู้จักกับนายทรงกลด มาประมาณ 2 ปี ตั้งแต่ตอนที่นายทรงกรดทำงานที่ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขานิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง และทั่งคู่สนิทสนมกัน ซึ่งทันทีที่เกิดเรื่อง ทางครอบครัวก็รู้สึกตกใจมาก และได้มีการพูดคุยกันแล้ว โดยนางสาวอำพร เล่าว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ถูกนายทรงกลด หลอกลวงให้เซ็นเอกสารมาโดยตลอด และตนไม่รู้จะกับนายพูลศักดิ์ บุญสวัสดิ์ นักศึกษาปริญญาโท เจ้าของบัญชีธนาคาร ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในคดีนี้ อย่างไรก็ตามเชื่อว่าคุณอาถูกหลอกใช้ เพราะระยะหลังนายทรงทรดได้เดินทางมาตีสนิทและเข้ามาคลุกคลีกับครอบครัวบ่อยครั้ง ระยะหลังมาถี่ขึ้น บางครั้งนายทรงกรดเดินทางไปต่างจังหวัดก็จะแวะซื้อของฝากมาให้ และก็จะคอยอาสาขับรถมารับส่งให้คุณอาจากที่ทำงานกลับมาบ้านบ่อยครั้ง ในส่วนของธุรกรรมการเงินของน.ส.อำพร นายทรงกรดก็จะอาสาเป็นธุระดำเนินการให้อยู่ตลอด รวมทั้งนายทรงกรดก็จะอ้างว่าเป็นคนมีเงิน ฐานะทางบ้านดี หนำซ้ำยังอ้างว่าสามารถขายที่ดินได้เป็นล้านบาท ซึ่งก็เคยเตือนน.ส.อำพรว่าอย่าไปไว้เนื้อเชื่อใจมาก แต่น.ส.อำพรได้บอกเพียงว่าไม่มีอะไร คบและรู้จักกันในฐานะพี่น้องเท่านั้น

นายผดุงศักดิ์ กล่าวอีกว่า เชื่อว่าคุณอาเป็นคนดี ซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ เริ่มทำงานที่เทคโนลาดกระบังตั้งแต่เรียนจบจากวิทยาลัยครู รวมทั้งไม่เคยมีปัญหากับใคร ชอบช่วยเหลือคน เพื่อนร่วมงานต่างให้ความเคารพรัก จะไม่นำเรื่องงานกลับมาทำงานต่อที่บ้าน อย่างไรก็ตามน้าเป็นโรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคความดัน รวมทั้งโรคไต ซึ่งเข้าออกโรงพยาบาลเป็นประจำเพราะมีโรคประจำตัว ทั้งนี้ก่อนที่จะถูกแจ้งข้อหาก็พักรักษาตัวอยู่ที่รพ.ประมาณ 2 สัปดาห์ จนถึงขณะนี้ อย่างไรก็ตามทุกครั้งที่ตนและครอบครัวไปเยี่ยมน.ส.อำพรก็จะพูดว่าท้อแท้ และหมดกำลังใจ อยากให้เจ้าหน้าที่ตำรวจให้ความเป็นธรรมกับน.ส.อำพรด้วย

รายงานข่าวจากฝ่ายสืบสวนระบุว่า นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ยังพบโฉนดที่ดินของน.ส.อำพร ที่ย่านบางนา ซึ่งมีมูลค่าหลายล้าน ซึ่งจะนำไปตรวจสอบอย่างละเอียด รวมทั้งในส่วนของการตรวจค้นนั้นประเด็นหลักเจ้าหน้าที่พุ่งเป้าไปที่ตรายางของสถาบัน ว่าน.ส.อำพรมีการทำปลอมแปลงหรือไม่ ซึ่งจากการตรวจสอบไม่พบ อย่างไรก็ตามจากการสอบปากคำนายผดุงศักดิ์นั้น ขัดแย้งกับคำให้การของนายทรงกรด ที่ให้การกับทางพนักงานสอบสวนวานนี้(24 ธ.ค.) ว่าไม่ได้รู้จักหรือสนิทสนมกับนางสาวอำพรแต่อย่างใด รวมทั้งนายทรงกรดให้การว่ารู้จักกับน.ส.อำพรตอนทำงานที่ธนาคารกรุงศรี ซึ่งขัดแย้งกับหลานชายที่ให้การว่าทั้งสองรู้จักกันตั้งแต่ตอนที่นายทรงกรดทำงานอยู่ที่ธนาคารไทยพาณิชย์ และพบความเชื่อมโยงในประเด็นหลายอย่าง รวมทั้งพยานหลายปากให้การตรงกันว่า นายทรงกรดเคยมาขอให้น.ส.อำพร เอาเงินมาฝากเพื่อที่จะทำยอดให้กับทางธนาคาร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรดาชาวบ้านในละแวกดังกล่าวต่างพูดถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยหลายคนตกใจและไม่เชื่อว่าน.ส.อำพรจะเป็นคนทำ เนื่องจากน.ส อำพร ทำตัวปกติ สมถะ ไม่ได้มีการใช้ของราคาแพง แต่ก็มีบางส่วนวิจารณ์ว่าด้วยเหตุที่น.ส.อำพรทำงานใกล้ชิดกับเงินอาจทำให้เกิดความโลภก็เป็นได้

ขณะที่บรรยากาศบริเวณหน้าบ้านน.ส.อำพร ยังคงปิดเงียบ สภาพบ้านค่อนข้างเก่า เป็นบ้านสองชั้นครึ่งปูนครึ่งไม้ มีรั้วรอบขอบชิด เนื้อที่ประมาณ 2 งาน จากการสอบถามเพื่อนบ้านซึ่งเปิดร้านขายข้าวแกงอยู่ฝั่งตรงข้ามเยื้องกับบ้านน.ส.อำพร ยืนยันว่าบ้านครึ่งปูนครึ่งไม้ดังกล่าวเป็นบ้านพักน.ส.อำพรจริง โดย น.ส.อำพรเป็นคนโสด อาศัยอยู่กับครอบครัวพี่สาวและหลาน ซึ่งบ้านหลังดังกล่าวปลูกมานานตั้งแต่สมัยรุ่นพ่อแม่ของน.ส.อำพร

แม่ค้าขายข้าวแกงคนเดิม ยังบอกอีกว่า รู้สึกตกใจและไม่น่าเชื่อเมื่อมีข่าวพฤติกรรมของน.ส.อำพร เพราะที่ผ่านมาทำตัวปกติ ไม่ทำตัวฟุ้งเฟ้อ อยู่แบบคนธรรมดา และจะซื้อข้าวแกงที่ร้านเข้าไปทานที่บ้านทุกเย็น สร้อยแหวนเงินทองหรือเครื่องประดับหรูๆก็ไม่เคยเห็นใส่ รถยนต์ที่คนในบ้านใช้ก็เป็นคันเก่าไม่เคยเห็นซื้อใหม่แต่อย่างใด และบ้านก็อยู่สภาพนี้มาตลอดไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร จะซ่อมแซมเล็กน้อยในส่วนที่ผุพังเท่านั้น โดยทราบว่าน.ส.อำพร มีโรคประจำตัวหลายโรค ทั้งเบาหวาน หัวใจ และความดัน เวลาไปทำงานน.ส.อำพรจะใช้บริการแท็กซี่ เพราะขับรถไม่เป็น ซึ่งเท่าที่ได้พูดคุยกับคนในละแวกนี้หลังจากทราบข่าวก็พากันงงว่า คนทำตัวธรรมดา แต่งตัวธรรมดา จะกล้ายักยอกเงินเป็นพันล้าน


นศ.ปริญญาโท เจ้าของบัญชียักยอกเจ้าคุณทหาร ปัดเอี่ยวโกงซัดทอดมือที่ 3

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

โดย ทีมข่าวอาชญากรรม

นักศึกษาปริญญาโท เจ้าของเงินบัญชีเงินยักยอกสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง 85 ล้าน อ้างเพื่อนขอให้เปิดบัญชีและถ่ายโอน ตร.ไม่ปักใจเชื่อเตรียมขยายผลสอบตามคำซัดทอดต่อไป พร้อมนำกำลังเข้าตรวจค้นบ้านของ ผอ.ส่วนคลัง ยึดเอกสารในตู้เซฟไปตรวจสอบ

      วันนี้ (25 ธ.ค.) ที่กองปราบปราม เมื่อเวลา 10.00 น. นายพูลศักดิ์ บุญสวัสดิ์ อายุ 26 ปี นักศึกษาปริญญาโท เข้าพบ พ.ต.อ.จิรภพ ภูริเดช รักษาการ ผกก.1 บก.ป.ภายหลังปรากฏชื่อในบัญชีที่เกี่ยวข้องกับคดีการยักยอกเงินของสถาบัน เทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
       
       โดยนายพูลศักดิ์ให้การอ้างว่า เมื่อช่วงต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมามีเพื่อนขอให้ช่วยเปิดบัญชีในชื่อของตน 1 บัญชี จากนั้นก็มียอดเงินโอนมาในบัญชีจำนวน 85 ล้านบาท ซึ่งตนก็ไม่ได้สงสัยอะไร ต่อมาเพื่อนคนดังกล่าวก็สั่งให้โอนเงินไปยังบัญชีอื่นๆ อีก 3 ครั้ง จนเหลือเงินในบัญชีเพียง 24 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ตนขอปฏิเสธว่าไม่มีส่วนรู้เห็นการยักยอกเงินดังกล่าวและทำตามที่เพื่อนสั่ง เท่านั้น
       
       ด้าน พ.ต.อ.จิรเดชกล่าวว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจยังไม่ปักใจเชื่อในคำให้การของนายพูลศักดิ์ จากนี้จะเร่งตรวจสอบบุคคลที่ในนายพูลศักดิ์ให้การซัดทอด อยู่ระหว่างขยายผลและตรวจสอบเส้นทางการเงิน
       
       ขณะที่ พ.ต.อ.ณษ เศวตเลข รอง ผบก.ป. หัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคลี่คลายคดีนี้ เปิดเผยภายหลังประชุมพนักงานสอบสวนติดตามความคืบหน้าคดี โดยเช้านี้ได้แบ่งกำลังเจ้าหน้าที่เป็น 2 ชุด นำหมายค้นเข้าตรวจค้น 2 จุดพร้อมกัน คือ ที่สถาบันฯ ลาดกระบัง และบ้านพักย่านบางนาของ น.ส.อำพร น้อยสัมฤทธิ์ ผู้อำนวยการส่วนการคลัง สถาบันดังกล่าวที่ตกเป็นผู้ต้องหา ส่วนการอายัดตัว น.ส.อำพร ที่กำลังพักรักษาอาการป่วยที่โรงพยาลเอกชนแห่งหนึ่งย่านบางนานั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างประสานโรงพยาบาลตำรวจเพื่อรับตัวมาเพื่ออยู่ในการควบคุม ของเจ้าหน้าที่ได้อย่างเข้มงวด พร้อมกับยึดเอกสารภายในตู้เซฟ และเอกสารการเงินจำนวนมากมาทำการตรวจสอบเพื่อหาเส้นทางการโอนเงินต่อไป


หอบหลักฐานโอนเงิน “ลาดกระบัง” ปี 55 ยื่น ตร.พบชื่อเจ้าของบัญชียักยอกใหม่อีก 2 ราย

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

โดย ทีมข่าวอาชญากรรม

เจ้าหน้าที่จากสถาบันเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง เข้าพบพนักงานสอบสวนมอบหลักฐานการโอนเงินย้อนหลังตั้งแต่ปี 55 ให้ตรวจสอบ พบมีบุคคลเข้ามาเกี่ยวข้องกับการยักยอกเพิ่มอีก 2 ราย กัน นศ.ปริญญาโท เจ้าของบัญชี 85 ล้าน เป็นพยาน เพื่อขยายผลตามคำซัดทอด
       
       วันนี้ (25 ธ.ค.) น.ส.วรวรรณ สุวรรณกูฎ ผอ.ฝ่ายนิติกร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง พร้อมด้วย น.ส.ลำดวน ทินราช รักษาการ ผอ.ส่วนการคลัง สถาบันดังกล่าว เดินทางเข้าพบ พ.ต.อ.จิรภพ ภูริเดช รักษาราชการแทน ผกก.1 บก.ป. พ.ต.ท.พงษ์ไสว แช่มลำเจียก พนักงานสอบสวน กก.1 บก.ป. เพื่อให้ปากคำเพิ่มเติมในคดีลักทรัพย์เงินกองกลางของสถาบันแห่งนี้ รวมเป็นเงินกว่า 1,600 ล้านบาท โดยได้นำเอกสารหลักฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมทางการเงิน เส้นทางการเบิกถอนและโอนเงินตั้งแต่ปี 2555 - ปัจจุบัน มามอบให้พนักงานสอบสวนเพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินคดีกับผู้ต้องหาทั้งสอง
       
       พ.ต.ท.พงษ์ไสว กล่าวว่า หลังจากที่ น.ส.วรวรรณ ซึ่งได้รับมอบอำนาจจาก ศ.ดร.โมไนย ไกรฤกษ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีฯลาดกระบัง เข้าร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องการการลักทรัพย์เงินกองกลาง ของสถาบันแห่งนี้ไปกว่า 1,600 ล้านบาท นั้น ในวันเดียวกันนี้ ทางพนักงานสอบสวนได้นัดหมายให้ น.ส.วรวรรณ และ น.ส.ลำดวน ซึ่งปฏิบัติหน้าที่รักษาการแทน น.ส.อำพร น้อยสัมฤทธิ์ ผู้ต้องหาในคดีนี้ เข้าให้ปากคำเพิ่มเติม เนื่องจากมีประเด็นที่พนักงานสอบสวนต้องการข้อมูลทางคดีอีกหลายส่วน พร้อมกันนั้นได้ขอให้นำเอกสารการโอนเงินจากบัญชีธนาคารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาตรวจสอบด้วย
       
       พ.ต.ท.พงษ์ไสว กล่าวอีกว่า จากการตรวจสอบข้อมูลและหลักฐานที่ได้รับมาในเบื้องต้น พบว่ามีบุคคลที่เกี่ยวข้องอีกอย่างน้อย 2 ราย ซึ่งมีรายชื่อเป็นเจ้าของบัญชีธนาคารที่ได้รับการโอนเงินจากผู้ต้องหาในคดี นี้ ประกอบด้วย นายกิติศักดิ์ มัทธุจัด และ นายจริวัฒน์ สหพรอุดมการ โดยพบว่าเป็นผู้ที่ใกล้ชิดกับผู้ต้องหาซึ่งจะต้องตรวจสอบต่อไปว่ามีเจตนา หรือรู้เห็นกับการกระทำความผิดมากน้อยแค่ไหน
       
       พ.ต.ท.พงษ์ไสว กล่าวด้วยว่า ส่วน นายพูลศักดิ์ บุญสวัสดิ์ อายุ 26 ปี นักศึกษาปริญญาโท เจ้าของบัญชีที่มีเงิน 85 ล้านบาท โอนเข้าไปนั้น ในขณะนี้ทางพนักงานสอบสวนยังคงสอบปากคำโดยกันตัวไว้เป็นพยานก่อน แต่จะมีการตรวจสอบหลักฐานต่างๆ และเสนอต่อที่ประชุมคณะพนักงานสอบสวน ที่มี พ.ต.อ.ณษ เศวตเลข รอง ผบก.ป. เป็นหัวหน้าคณะ อีกครั้ง เพื่อพิจารณาว่าการกระทำของนายพูลศักดิ์ นั้น อยู่ในขั้นไหนหากพบว่าเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดด้วยจึงจะพิจารณาขออนุมัติ ศาลออกหมายจับและแจ้งข้อกล่าวหาเพื่อดำเนินคดีต่อไป


ผู้ต้องหาโกงพันล้านเข้ามอบตัวกองปราบอีกราย

โดย ทีมข่าวอาชญากรรม

ผู้ต้องหาคดียักยอกเงินในบัญชีของสถาบันเท คโนฯเจ้าคุณทหารลาดกระบัง 1.6 พันล้าน มอบตัวเพิ่ม หลังถูกตำรวจขอออกหมายจับและกดดันอย่างหนัก เบื้องต้นให้การปฏิเสธขอให้การในชั้นศาล
       
       วันนี้ (27 ธ.ค.) ที่ กองปราบปราม ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าคดีจับกุม นายทรงกลด ศรีประสงค์ อายุ 40 ปี อดีตผู้จัดการธนาคารกรุงศรีอยุธยา สาขาห้างบิ๊กซี ศรีนครินทร์ และ น.ส.อำพร น้อยสัมฤทธิ์ อายุ 56 ปี ผอ.ส่วนการคลังสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ในข้อหาร่วมกันลักทรัพย์เงินกองกลางของสถาบันเทคโนโลยีฯ ลาดกระบังกว่า 1,600 ล้านบาทว่า เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา นายจริวัฒน์ สหพรอุดมการ อายุ 31 ปี ผู้ที่เปิดบัญชีธนาคารในการรับโอนเงินจาก นายพูลศักดิ์ บุญสวัสดิ์ อายุ 26 ปี จำนวน 55 ล้านบาทเดินทางเข้ามอบตัวกับ พ.ต.อ.กรไชย คล้ายคลึง รอง ผบก.ป.หลังพนักงานสอบสวนออกหมายจับและออกติดตามจับกุม กดดันจนต้องเข้ามอบตัวที่กองปราบปราม
       
       โดยเจ้าหน้าที่ได้แจ้งข้อกล่าวหาว่า สนับสนุนเจ้าพนักงานในองค์การหน่วยงานของรัฐซึ่งมีหน้าที่ซื้อทำจัดการหรือ รักษาทรัพย์ใด เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตน หรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต หรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้นเสีย เป็นเจ้าพนักงาน พนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ปลอมและใช้เอกสารสิทธิ์ ใช้เอกสารสิทธิ์ปลอม ร่วมกันลักทรัพย์ ตามหมายจับศาลมีนบุรี ที่ 2362/2557 ลงวันที่ 26 ธ.ค.2557 สอบสวนผู้ต้องหาให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยขอให้การในชั้นศาลเท่านั้น
       
       นอกจากนี้ในวันเดียวกันพนักงานสอบสวน กองปราบปรามได้นำตัว นายพูลศักดิ์ บุญสวัสดิ์ อายุ 26 ปี ไปฝากขังศาลอาญามีนบุรี ตามหมายจับที่ 2361/2557 ลงวันที่ 26/2557 ในข้อหาเดียวกัน ซึ่ง พ.ต.ท.ทองศูนย์ อุ่นวงศ์ พนักงานสอบสวนกองปราบปราม ได้คัดค้านการประกันตัว เพราะเกรงว่าจะหลบหนีเพราะมูลค่าทรัพย์นั้นมีจำนวนมาก
       
       ผู้สื่อข่าวรายงานว่าคดีดังกล่าวนั้นศาลได้อนุมัติหมายจับผู้ต้องหา ทั้งหมด 6 ราย โดยสามารถจับกุมได้แล้ว 4 ราย ได้แก่
       นายทรงกลด น.ส.อำพร นายพูลศักดิ์และนายจริวัฒน์ เหลือผู้ต้องหาอีก 2 ราย คือ นายกิตติศักดิ์ มัทธุจัดและนายสมบัติ โสประดิษฐ์ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่ระหว่างเร่งติดตามตัวหลังมีรายงานข่าวระบุว่า นายกิตติศักดิ์หลบหนีไปต่างประเทศแล้ว
       พ.ต.อ.ณษ เศวตเลข รองผบก.ป.กล่าวว่า เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ได้มีการสอบปากคำนายจริวัฒน์ ซึ่งเป็นหนึ่งในบัญชีที่มีการถ่ายโอนเงิน เบื้องต้นยังให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาว่าไม่ทราบเรื่องการยักยอกทรัพย์ดัง กล่าวจากแนวทางการสืบสวนสอบสวนเจ้าหน้าที่เชื่อได้ว่ากรณีดังกล่าวน่าจะมี การกระทำกันเป็นขบวนการ มีผู้รู้เห็นอีกหลายคน ถึงแม้นายจริวัฒน์จะปฏิเสธว่าไม่ได้รู้จักกับนายพูลศักดิ์ แต่จากการสืบสวนทราบว่าจะมีคนกลาง (ยังไม่สามารถเปิดเผยได้) ที่เชื่อมให้ผู้ร่วมขบวนการแต่ละคนมารู้จักกัน และร่วมวางแผนกันมาเป็นอย่างดี โดยทุกคนรู้ถึงที่มาของเงินและรู้วิธีโอนถ่ายเงิน ซึ่งจากกรณีดังกล่าวพบว่าเมื่อได้เงินก้อนใหญ่มาแล้ว มีการแตกเงินออกไปยังที่ต่างๆ ทั้งซื้อบ้าน ซื้อทรัพย์สิน ซึ่งเป็นลักษณะของการฟอกเงิน ทั้งนี้เชื่อว่ายังมีบัญชีที่รับถ่ายโอนเงินและเกี่ยวข้องอีกจำนวนมาก อย่างไรก็ตามคาดว่าเงินที่ยังอยู่ในระบบไม่ได้ถูกถ่ายโอนไปบัญชีใดนั้น มีจำนวนกว่า พันล้านบาท
       
       ผู้สื่อข่าวถามว่าจะเชิญตัว นายถวิล พึ่งมา อดีตอธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังรวมถึงผู้มีอำนาจในการเซ็น อนุมัติ เข้าให้ปากคำเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวหรือไม่นั้น พ.ต.อ.ณษ กล่าวว่า จะมีออกหมายเรียกผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดเพื่อสอบปากคำแน่นอน ซึ่งเป็นการเรียกมาให้ข้อมูลในฐานะพยาน คาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ภายในวันจันทร์ ที่ 29 ธันวาคมนี้
       
       เมื่อถามว่าจากการตรวจสอบเอกสารและหลักฐานต่างๆพบพิรุธอะไรในตัวผู้ที่มีอำนาจเซ็นอนุมัติบ้างหรือไม่
       
       พ.ต.อ.ณษ กล่าวว่า ก็น่าสงสัยกรณีที่มีการถ่ายโอนเงินและปลอมแปลงเอกสารมาตั้งแต่ปี 2555 แล้ว แต่ทำไมถึงไม่มีใครเอะใจ หรือสงสัยหรือพบพิรุธอะไรบ้างเลย ทั้งที่ในกรณีที่จำนวนเงินค่อนข้างมาก ควรมีการตรวจสอบโดยละเอียด
       
       อย่างไรก็ตามขณะนี้ทางเจ้าหน้าที่ประสานขอความร่วมมือจากสำนักงาน ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เพราะพบว่ามีการนำเงินไปใช้ในธุรกิจอื่น เช่น ซื้อบ้าน ซื้อทรัพย์สิน รวมทั้งมีการจดเป็นนิติบุคคล คือบริษัท มัทธุจัด จำกัด อีกด้วย ซึ่งอยู่ระหว่างตรวจสอบว่าในกรณีที่จดเป็นนิติบุคคลนั้นมีรายชื่อบุคคลใด เกี่ยวข้องบ้าง อย่างไรก็ตามแม้ขณะนี้ผู้ต้องหาทุกคนยังให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา แต่ทางพนักงานสอบสวนมั่นใจว่ามีพยานหลักฐานเพียงพอในการแจ้งข้อกล่าวหา โดยขณะนี้ยังไม่มีการออกหมายจับบุคคลอื่นเพิ่มเติมแต่อย่างใด
       
       ด้านแหล่งข่าวระดับสูงจาก บก.ป. เปิดเผยว่า ในวันนี้เจ้าหน้าที่ได้ขอหมายค้นจากศาลเพื่อเข้าตรวจค้น คอนโดมิเนียม เดอะ คีย์ (TheKey) ย่านแจ้งวัฒนะ และ บ้านในหมู่บ้านพฤกษ์ภิรมย์ย่านราชพฤกษ์-รัตนาธิเบศร์ ซึ่งเป็นทรัพย์สินของนายพูลศักดิ์ และบริษัท มัทธุจัด จำกัด ซึ่งเป็นของนายกิตติศักดิ์ เพื่อหาพยานหลักฐานและความเชื่อมโยงเกี่ยวกับคดีดังกล่าว


ใครคือ “ตัวการใหญ่”? ฉกเงิน “ลาดกระบัง” 1.6 พันล้าน

โดย ASTVผู้จัดการรายวัน

ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ฉาวส่งท้ายปี 2557 กับเหตุการณ์ยักยอกเงินมูลค่ามหาศาลจำนวน1,663 ล้านบาทไปจากบัญชีกองกลางของ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง(สจล.) จากจำนวนเงินทั้งหมด 3,000 ล้านบาท อีกทั้งยังมีประเด็นที่ถูกตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใดสถาบันฯ มีการเปิดบัญชีธนาคารหลายบัญชี (ซอยบัญชี) รวมนับ 10 บัญชี..
       
       งานนี้ส่งกลิ่นตุ..เพราะเป็นไปไม่ได้ว่าเงินจำนวนมหึมาขนาดนี้จะ หายอย่างไร้ร่องรอย ทั้งเป็นไปได้ยากที่คนในจะไม่รู้เห็น และน่าจะร่วมมือกันทำเป็นขบวนการ!!
       
       ล่าสุด..กองปราบปรามได้จับกุม นายทรงกลด ศรีประสงค์ อายุ 40 ปี ผู้จัดการธนาคารกรุงศรีอยุธยาสาขาห้างบิ๊กซี ศรีนครินทร์ และยังอายัดตัว น.ส.อำพร น้อยสัมฤทธิ์ อายุ 56 ปี ผู้อำนวยการส่วนการคลัง สจล.ที่ขณะนี้นอนรักษาตัวอยู่ห้อง ไอ.ซี.ยู. โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งย่านบางนา โดยพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาร่วมกันลักทรัพย์ ปลอมและใช้เอกสารสิทธิปลอม
       
       ทั้งนี้ เหตุแห่งการจับกุมสืบเนื่องจาก สจล.เข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน กก.1.บก.ป.เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2557 ที่ผ่านมาให้ดำเนินคดีต่อนายทรงกลด และ น.ส.อำพร ในความผิดฐานดังกล่าว ด้วยเหตุที่เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2557 ซึ่งขณะนั้น น.ส.อำพรได้ดำรงตำแหน่งเป็น ผอ.การคลังของสถาบัน ได้ทำเรื่องถอนอนุมัติเงินของสถาบัน ซึ่งฝากไว้กับธนาคารกรุงศรีอยุธยา สาขา สจล.จำนวน 50 ล้านบาท และเงินของสถาบันที่ฝากไว้กับธนาคารกรุงไทย สาขานิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง จำนวน 30 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 80 ล้านบาท ออกไปโดยอ้างว่าจะนำเงินไปฝากรวมกับบัญชีของสถาบันอีกบัญชีหนึ่งเนื่องจาก อัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าอัตราเดิม โดยนำไปฝากที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา สาขาบิ๊กซี ศรีนครินทร์ ซึ่งมีนายทรงกรดเป็นผู้จัดการสาขาอยู่
       
       ต่อมา นายเผ่าภัค ศิริสุข รักษาราชการแทนรองอธิการบดี สจล.พบข้อพิรุธเกี่ยวกับเงินกองกลางของ สจล.จึงมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการตรวจสอบบัญชีธนาคารตามที่มีการกล่าว อ้างว่าได้นำเงินเข้าบัญชีธนาคารนั้น ๆ กระทั่งพบว่าไม่มีการนำเงินเข้าบัญชีธนาคารแต่อย่างใด ส่วนรายการยอดเงินในบัญชีเป็นเพียงรายการปลอมที่ทำขึ้นเพื่อหลอกลวงว่าเงิน ยังมีอยู่ในบัญชีธนาคารเท่านั้น สจล. จึงได้ดำเนินการตรวจสอบเงินกองกลางที่ฝากไว้ในบัญชีธนาคารต่างๆ ย้อนหลังตั้งแต่ปี2555 ถึงปัจจุบัน จึงพบว่ามีเงินอีกจำนวน 1,583 ล้านบาทได้หายไป รวมแล้วเป็นจำนวน 1,663 ล้านบาท ...
       
       แม้จะสามารถติดตามจับกุมผู้กระทำผิดทั้ง 2 รายได้แต่ยังไม่ใช่การสิ้นสุดของคดี เพราะเป็นจุดเชื่อมโยงเพื่อเฟ้นหา “ตัวการ” ที่อยู่เบื้องหลังอันแท้จริง ส่วนจะโยงใยไปถึงคนใน สจล.หรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือมีอำนาจในการเบิกจ่ายเงินในระดับใดด้วย หรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องรอการสืบสวนและชี้ชัดจากทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ
       
       ฟากสถาบันฯ หลังใช้วิธีการส่งแถลงการณ์ชี้แจง ฉบับที่ 1 เบื้องต้นไปยังสื่อสำนักต่าง ๆ เพื่อเลี่ยงการตอบข้อซักถามจากสื่อที่พยายามติดต่อขอสัมภาษณ์ ได้เปิดโต๊ะแถลงข่าวพร้อมออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 2 ลำดับเหตุการณ์ความเป็นมาเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม ที่ผ่านมาซึ่งเป็นวันเดียวกับที่ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) ได้แถลงข่าวผลการจับกุมผู้ต้องหาทั้ง 2 ราย
       
       โดย ศ.ดร.โมไนย ไกรฤกษ์ รักษาการแทนอธิการบดี สจล.พร้อมคณะรักษาการผู้บริหาร สจล. เปิดเผยว่า เนื่องจากรักษาการรองอธิการบดี ที่รับผิดชอบดูแลด้านการคลังได้พบความผิดปกติเมื่อวันที่ 3 ธันวาคมที่ผ่านมา จากเหตุการณ์ที่ ผอ.ส่วนการคลัง ได้พานายทรงกลด มาแนะนำตัวกับรักษาการแทนรองอธิการบดี โดยแจ้งว่ามาจากธนาคารไทยพาณิชย์ และจะนำของขวัญปีใหม่มาร่วมในการจัดงานปีใหม่ของทางสถาบันฯ และในวันเดียวกันนายทรงกลด ได้นำแคชเชียร์เช็คธนาคารกรุงศรีอยุธยา ลงวันที่ 1 ตุลาคม 2557 จำนวนเงิน 50 ล้านบาท เพื่อให้รักษาการแทนรองอธิการบดีทำการสลักหลังเช็คดังกล่าวโดยสั่งจ่ายเข้า บัญชีของบุคคลแทนที่จะเข้าบัญชีสถาบันฯ ทำให้รักษาการแทนรองอธิการบดีพบว่ามีความผิดปรกติและปฏิเสธที่จะเซ็น
       
       ทั้งนี้ จากความผิดปกติดังกล่าว ทางสถาบันฯ ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาดำเนินการตรวจสอบมี ศ.ดร.โมไนย ทำหน้าที่เป็นประธาน ได้รวบรวมเอกสารที่เกี่ยวข้องมาตรวจสอบ จนกระทั่งวันที่ 12 ธันวาคมที่ผ่านมาได้พบเอกสารที่ทำให้สงสัยว่าบัญชีเงินฝากธนาคารของสถาบันฯ จำนวน 4 บัญชีเป็นบัญชีปลอม จึงรวบรวมเอกสารทั้งหมดและนำไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนกองปราบปราม และรายงานสภาสถาบันฯ ในวันที่ 17 ธันวาคม โดยกองปราบปรามได้ขยายผลการติดตามตรวจสอบจนนำมาสู่การจับกุม นายทรงกลด และอายัดตัว น.ส.อำพร ได้ในที่สุด ซึ่งในส่วนของ น.ส.อำพร ทางสถาบันฯ จะระงับการจ่ายเงินเดือนจนกว่าคดีจะสิ้นสุด
       
       อย่างไรก็ตาม ผลการตรวจสอบย้อนหลังทำให้ทาง สจล.พบความจริงที่น่าตกใจว่าบัญชีของ สจล.มีความผิดปกติมาตั้งแต่ช่วงเดือนธันวาคม 2555 จนถึงปัจจุบันเป็นเวลาถึง 2 ปีและช่วงเวลาดังกล่าว รักษาการแทนอธิการบดี สจล.ยืนยันว่า สถาบันฯ มีการตรวจสอบบัญชีมาโดยตลอดทั้งการตรวจสอบภายในและจากภายนอกโดยสำนักงานตรวจ เงินแผ่นดิน แต่ไม่สามารถตอบคำถามว่าเมื่อมีการตรวจสอบเหตุใดจึงไม่พบความผิดปกติ ?
       
       ขณะเดียวกันเมื่อถามถึงรายชื่อผู้มีอำนาจในการเบิกจ่ายเงินในอดีต 4 รายมีใครบ้าง รักษาการแทนอธิการบดีฯ ปฏิเสธว่าไม่สามารถตอบได้ แต่สามารถตอบได้ในสิ่งที่ดำเนินการอยู่ปัจจุบันว่า กระบวนการเบิก จ่ายเงินต้องกระทำโดยผู้ที่มีอำนาจ 2 ส่วนคือ ฝ่ายบริหาร ได้แก่ อธิการบดี รองอธิการบดี และผู้ช่วยที่ได้รับมอบหมายให้ดูแล และฝ่ายการคลัง ได้แก่ ผอ.ส่วนการคลัง และเจ้าหน้าที่คลังที่ได้รับมอบหมาย ซึ่งการเบิกจ่ายเงินทุกครั้งต้องมีลายเซ็นทั้ง2 ฝ่าย ๆ ละ 1คนจึงจะสามารถเบิกเงินได้
       
       การเปิดโต๊ะแถลงข่าวของคณะรักษาการแทนผู้บริหารสถาบันฯ คราวนี้ดูทีว่าเพื่อออกมาเบรกเสียงกระแสสังคมที่มองว่าฝ่ายบริหารไม่ออกมา เคลื่อนไหวหรือมีท่าทีที่ชัดเจนในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว เพราะเป็นการแถลงข่าวด้วยบรรยากาศแบบสงวนท่าที สงวนคำพูด เพียงแต่มาบอกเล่าความเป็นมาที่พบว่าเงินเก็บที่มีหายไปกว่าครึ่ง โดยเฉพาะเมื่อมีการซักถามว่าเหตุการณ์ยักยอกเงินครั้งนี้อาจโยงไปถึงอดีตผู้ บริหารที่ปฏิบัติหน้าที่ในขณะนั้นหรือไม่ ซึ่งทางคณะรักษาการแทนผู้บริหารสถาบันฯ เลี่ยงที่จะเอ่ยถึงผู้บริหารชุดเก่าบอกเพียงว่ารวบรวมหลักฐานทุกอย่างไว้และ จะมอบให้พนักงานสอบสวนหากมีการร้องขอ ส่วนจะมีรายชื่อของอดีตผู้บริหาร และข้อมูลการดำเนินการต่างๆ ในช่วงนั้นรวมอยู่ด้วยหรือไม่นั้น ไม่ขอตอบและขอให้เป็นเรื่องที่พนักงานสอบสวนดำเนินการตรวจสอบ
       
       เหตุผลที่มีการตั้งคำถามดังกล่าว เนื่องจากช่วงเวลาที่เกิดความผิดปกติ คือ ช่วงเดือนธันวาคม 2555 ผู้ที่มีอำนาจในการเบิกจ่ายเงินตามขั้นตอนและดำรงตำแหน่งอธิการบดีในช่วง เวลานั้น คือ นายถวิล พึ่งมา ที่ได้ออกโรงแจง ว่า ช่วงที่ตนเข้ารับตำแหน่ง ไม่เคยพบความผิดปกติในการเบิกจ่ายเงิน โดยตนรับตำแหน่งอธิการบดี สจล. ในเดือนสิงหาคม 2555 และออกจากตำแหน่งในเดือนพฤศจิกายน 2556 เกษียณอายุราชการเมื่อเดือนกันยายน 2557 โดยปกติเมื่อมีการเปลี่ยนตำแหน่งอธิการบดี ทุกครั้งก็จะต้องมีการเปลี่ยนลายเซ็นผู้เบิกจ่ายมาเป็นอธิการบดีคนใหม่ และกรณีที่สถาบันฯ เปิดบัญชีหลายบัญชีนั้นก็ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ เพราะหลังจากที่ สจล.ออกนอกระบบ โดยปกติต้องบริหารจัดการบัญชีเพื่อให้เกิดรายได้และประโยชน์สูงสุด ดังนั้นหากธนาคารใดให้ดอกเบี้ยสูง ก็จะมีการโยกเงินไปฝากยังธนาคารดังกล่าว ซึ่งปกติก็จะมีการเปลี่ยนธนาคารทุก 3 เดือน 6 เดือน ทั้งนี้พร้อมรับการตรวจสอบและอยากให้มีการตรวจสอบโดยคณะกรรมการป้องกันและ ปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) และ สตง.ด้วย
       
       งานนี้ นายถวิล ยังทิ้งท้ายด้วยว่า “หากพบว่ามีการยักยอกเงินจริงผมเชื่อว่าเรื่องนี้คงต้องมีการทำเป็นขบวนการ ใหญ่ มีผู้รู้เห็นทั้งคนใน สจล.และธนาคารที่เกี่ยวข้องอย่างแน่นอน”
       
       สำหรับ สจล.นั้นแม้เวลานี้ฝ่ายบริหารสถาบันฯ จะยืนยันว่าเงินจำนวนมหาศาลที่หายไปจะไม่ทำให้การบริหารงานของ สจล.สะดุด หรือส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการการเรียนการสอน และการดำเนินโครงการต่างๆ ในปัจจุบันแน่นอน เพราะเงินดังกล่าวเป็นเงินคงคลัง หรือเงินสะสม แต่หากจะริเริ่มทำโครงการพิเศษในอนาคตก็ยอมรับว่ามีผลกระทบแน่นอน
       
       ในส่วนความคืบหน้าของคดีนั้น พ.ต.อ.อัครเดช พิมลศรี รรท.ผบก.ป. กล่าวว่า การตรวจสอบแคชเชียร์เช็คดังกล่าว พบว่า มีการนำเงินเข้าไปฝากในบัญชีของนายพูลศักดิ์ บุญสวัสดิ์ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบว่านายพูลศักดิ์เป็นใครและมีความเกี่ยวข้อง มากน้อยเพียงใด อย่างไรก็ตาม คดีนี้เชื่อว่าน่าจะมีผู้ร่วมขบวนการอีกหลายคน หลังจากนี้ได้ประสานไปยังทางสำนักงาน ปปง.เพื่อมาร่วมทำการตรวจสอบบัญชี รวมทั้งความเคลื่อนไหวของเส้นทางเงิน หากพยานหลักฐานไปถึงตัวผู้ใดก็จะนำตัวมาดำเนินคดีทันที
       
       ขณะที่ พ.ต.ท.พงษ์ไสว แช่มลำเจียก พงส.ผนพ.กก.1 บก.ป. เปิดเผยว่า เวลานี้มีตัวละครเพิ่มมาอีกกลุ่มหนึ่งประมาณ 5-6 คน จากการสอบสวนนายทรงกลด พบว่ามีหน้าที่คอยทำตามคำสั่ง น.ส.อำพร เพราะเป็นเจ้าของเงินคอยสั่งให้โอนเงินเดือนทั้งหมด 1,600 กว่าล้านบาทเข้าบัญชีต่าง ๆ ของผู้เกี่ยวข้องกลุ่มใหม่ ซึ่งอยู่ระหว่างการตรวจสอบว่าเป็นใครบ้าง เกี่ยวข้องกับ น.ส.อำพร อย่างไร แต่เบื้องต้นพบว่าไม่ใช่คนในของ สจล. ซึ่งจากนี้จะเตรียมเรียกผู้ที่เกี่ยวข้องมาสอบเพิ่มเติมและขณะนี้ก็อยู่ ระหว่างตรวจสอบลายเซ็นด้วยว่ามีใครทำหน้าที่เบิกถอนบ้าง รวมไปถึงจะมีการเรียกผู้บริหารชุดเก่ามาตรวจสอบ
       
       อย่างไรก็ตาม นายทรงกลด ให้การภาคเสธยอมรับว่ารู้จักกับ น.ส.อำพร ในฐานะพนักงานธนาคารกับลูกค้ามานานร่วม 10 ปี มีความไว้เนื้อเชื่อใจกันในการทำธุรกรรมการเงินทุกครั้งจะเดินทางไปพบกับ น.ส.อำพร เพื่อรับเอกสารการเบิกถอน หรือโอนเงิน ที่ผ่านมาในการทำธุรกรรม น.ส.อำพรจะนำเอกสาร มีลายเซ็นการมอบอำนาจครบถ้วน ประกอบกับ น.ส.อำพรเป็นข้าราชการระดับสูง และเป็นหน่วยงานน่าเชื่อถืออย่าง สจล.ไม่คิดว่าจะเกิดการทุจริต จึงดำเนินการให้ตาม น.ส.อำพรทุกครั้งด้วยความเชื่อใจ
       
       ส่วนตัว น.ส.อำพร ที่ยังอยู่ระหว่างการรักษาตัวที่ รพ.เอกชนแห่งหนึ่งด้วยโรคประจำตัวนั้นและเจ้าหน้าที่ได้ทำการอายัดตัวไว้ แล้วนั้น ปรากฏแหล่งข่าวระดับสูงแสดงความหนักใจต่อคดีนี้ ระบุว่า ยังไม่ได้รับความร่วมมือจากผู้เกี่ยวข้องมากนัก อีกทั้งอาการของน.ส.อำพร ต้องบอกว่าอยู่ในขั้นวิกฤต ซึ่งหากอยู่ในสภาพนี้ หรือทรุดหนักลงอีก ย่อมไม่ส่งผลดีต่อการสอบสวนแน่นอน เพราะ น.ส.อำพร คือ กุญแจสำคัญเป็นผู้กำความลับต่างๆ ไว้ทั้งหมด ทางตำรวจกองปราบปราม จึงจัดกำลังเวรยามทั้งในและนอกเครื่องแบบดูแลความปลอดภัยตลอด 24 ชั่วโมง อีกทั้งยังประสานกับคณะแพทย์ให้ดูแล น.ส.อำพร อย่างดีที่สุดเพื่อความรุดหน้าของคดี หากเป็นอะไรไปนั่นก็คือการตัดตอนทำให้การสาวไปถึงขบวนการและไอ้โม่งอยู่ เบื้องหลังทำได้ยากขึ้น
       
       ทั้งนี้ ทั้งนั้น มีการคาดการณ์ด้วยว่า มีแนวโน้มสูงที่กรณีดังกล่าวจะส่งเรื่องต่อให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรม เป็นผู้ดำเนินการ ทั้งหมด เนื่องจากมีมูลค่าความเสียหายสูงอีกทั้งมีความสลับซับซ้อนคาดว่ายังมีบุคคล ที่เกี่ยวข้องในระดับต่าง ๆ อีกจำนวนมาก คาดว่าก่อนปีใหม่น่าจะสรุปได้ชัดเจนขึ้น
       
       สุดท้ายแล้วยังไม่แน่ชัดว่าเงินเก็บที่หายไปจากกระเป๋าของ สจล.กว่า 1.6 พันล้านบาทนี้ จะได้กลับคืนมาหรือไม่ แต่การทุจริตยักยอกเงินมูลค่ามหาศาลในสถาบันอุดมศึกษาคราวนี้ น่าจะเป็นอีกหนึ่งบทเรียนสำคัญให้กับผู้บริหารของสถาบันการศึกษาทุกระดับทุก แห่งหันมาย้อนมองดูเงินเก็บและมาตรการต่าง ๆ ในบ้านตัวเอง ที่วางไว้ว่ามีจุดไหนบอด จุดไหนโหว่เร่งแก้ไข สำคัญที่สุดคงต้องฝากความหวังให้ทางเจ้าหน้าที่ติดตามตัว“ไอ้โม่ง” ที่ยังแอบซ่อนตัวอยู่มาลงโทษ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ค้นบ้าน ผอ.ส่วนการคลัง เทคโนฯลาดกระบัง

view