สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

แล้ว เศรษฐกิจรัสเซีย จะไปอย่างไรต่อ

แล้ว 'เศรษฐกิจรัสเซีย' จะไปอย่างไรต่อ

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




อาทิตย์ที่แล้วผมเขียนเรื่องราคาน้ำมัน ก็มีคำถามตามมาจากแฟนคอลัมน์โดยเฉพาะกรณีรัสเซียว่าจะเกิดวิกฤติหรือไม่

และถ้าเกิดใครจะช่วยรัสเซีย เพราะกระแสในประเทศขณะนี้มองว่า รัสเซียกำลังถูกรุมโดยสหรัฐและยุโรปทั้งทางทหารและทางเศรษฐกิจ คำถามก็คือ รัสเซียจะควบคุมสถานการณ์เศรษฐกิจได้หรือไม่ จะเกิดเป็นวิกฤติหรือไม่ วันนี้จึงอยากแชร์ความเห็นของผมเรื่องนี้

สถานการณ์เศรษฐกิจรัสเซียขณะนี้ต้องถือว่าเปราะบาง มีความเสี่ยงสูงที่สถานการณ์จะปะทุเป็นวิกฤติในระยะข้างหน้า ที่จะส่งผลกระทบไปทั่วโลก ปัญหาของรัสเซียมาจากตัวก่อเหตุสามตัว ตัวแรกคือ การปรับลดลงของราคาน้ำมันที่เป็นรายได้เงินตราต่างประเทศหลักของรัสเซีย รายได้จากน้ำมันคิดเป็นสองในสามของรายได้จากการส่งออกของรัสเซีย และเป็นฐานรายได้ประมาณครึ่งหนึ่งของงบประมาณแผ่นดิน ปัจจุบันราคาน้ำมันในตลาดโลกได้ลดลงกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งหมายถึงรายได้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศของรัสเซียจากน้ำมันได้หายไปครึ่งหนึ่ง เหตุผลหลักที่ราคาน้ำมันลดลงมาก ก็เพราะความต้องการใช้น้ำมันลดลงตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งรวมถึงผู้บริโภครายใหญ่ เช่น จีน และประเทศตลาดเกิดใหม่ ขณะที่การผลิตยังขยายตัวโดยเฉพาะการผลิต Shale Oil ในสหรัฐ ทำให้เกิดอุปทานส่วนเกิน ราคาจึงปรับลดลง และเมื่อกลุ่มโอเปกประกาศที่จะไม่แทรกแซงในเดือนพฤศจิกายน เพื่อพยุงราคา ราคาน้ำมันก็ยิ่งปรับลงเร็ว และกระทบเศรษฐกิจรัสเซียมากขึ้น

ตัวก่อเหตุที่สอง ก็คือ มาตรการแซงชั่นหรือการห้ามการทำธุรกิจและค้าขายกับรัสเซีย (Economic Sanction) โดยสหรัฐและกลุ่มประเทศยุโรป เพื่อตอบโต้รัสเซียที่ได้รุกรานและเข้าไปครอบครองพื้นที่บางส่วนของประเทศยูเครน มาตรการห้ามทำธุรกิจนี้ห้ามทั้งบริษัทสหรัฐ ยุโรป และประเทศพันธมิตรเช่น ญี่ปุ่น ทำการค้ากับรัสเซีย ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจรัสเซียมาก โดยเฉพาะภาคการธนาคารและเทคโนโลยี ทำให้บริษัทรัสเซียไม่สามารถทำธุรกิจได้เหมือนเดิม แม้พยายามปรับตัวโดยขยายการค้ากับบริษัทที่ไม่ใช่บริษัทสหรัฐและยุโรปแทน แต่ที่รุนแรงจริงๆ ก็คือ เงินที่กู้จากธนาคารสหรัฐและยุโรป ที่มาตรการห้ามทำธุรกิจ ห้ามไม่ให้ธนาคารพาณิชย์สหรัฐและยุโรปปล่อยเงินกู้ให้กับบริษัทเอกชนในรัสเซียเหมือนเดิม ดังนั้นเงินที่บริษัทในรัสเซียกู้จากธนาคารในสหรัฐและยุโรปจึงไม่สามารถต่ออายุ หรือ Rollover ได้ ต้องชำระคืนหรือหาแหล่งเงินกู้ใหม่ และจากที่เงินรูเบิลได้อ่อนค่าไปกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ บริษัทรัสเซียที่มีหนี้เป็นเงินตราต่างประเทศก็จะมีภาระชำระหนี้ในเงินรูเบิลที่สูงขึ้นมาก ขณะที่เศรษฐกิจที่ทรุดก็เป็นข้อจำกัดต่อการหารายได้ ทั้งหมดทำให้บริษัทรัสเซียมีความเสี่ยงสูงที่จะผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งถ้าเกิดขึ้นก็จะจุดชนวนความไม่เชื่อมั่นที่อาจนำไปสู่การปะทุเป็นวิกฤติเศรษฐกิจได้

ตัวก่อเหตุที่สาม คือ การไหลออกของเงินลงทุนต่างประเทศทั้งโดยนักลงทุนต่างประเทศ และโดยคนรัสเซียเอง ขับเคลื่อนโดยการถอนเงินลงทุนเพราะสถานการณ์เศรษฐกิจของรัสเซียแย่ลง และส่วนหนึ่งเพราะการแก้ปัญหาของรัฐบาลรัสเซียไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนได้ ตัวอย่าง เช่น การเข้าอุ้มบริษัทรายหนึ่งที่มีหนี้เป็นเงินตราต่างประเทศที่ต้องชำระโดยธนาคารกลาง ซึ่งในสายตานักลงทุน การช่วยเหลือดังกล่าวแสดงถึงการขาดวินัยในการทำนโยบาย สิ่งเหล่านี้ทำให้นักลงทุนไม่มั่นใจในการดำเนินนโยบายของทางการ คนรัสเซียจึงได้พยายามนำเงินออกนอกประเทศ (Capital Flight) ซึ่งยิ่งซ้ำเติมการไหลออกของเงินทุนต่างประเทศให้รุนแรงขึ้น

ตัวก่อเหตุสามตัวนี้มีผลให้เศรษฐกิจรัสเซียทรุดลงไปมาก และมีแนวโน้มจะไม่ขยายตัวในปีหน้า ภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย อัตราเงินเฟ้อที่สูง (ประมาณร้อยละ 9.6 ขณะนี้) และความไม่มีเสถียรภาพของค่าเงินรูเบิลทำให้ความเป็นอยู่ของคนรัสเซียลำบากขึ้น สินค้าในประเทศแพงขึ้นนำไปสู่การกักตุนสินค้าและความขาดแคลน ขณะที่การว่างงานที่มีมากขึ้นก็ลดกำลังซื้อภายในประเทศ กระทบเสถียรภาพด้านสังคมและความอยู่รอดทางการเมืองของรัฐบาล

คำถามที่ตามมาก็คือ แล้วเศรษฐกิจรัสเซียจะไปต่ออย่างไรปีหน้า ผมคิดว่าความเป็นไปได้คงมีสามกรณี ขึ้นอยู่กับว่าตัวแปรที่นำมาสู่การเกิดขึ้นของปัญหาจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรในปีหน้า ตัวแปรเหล่านี้ก็คือ หนึ่ง ความต้องการของสหรัฐ ยุโรป และกลุ่มประเทศพันธมิตรที่อยู่เบื้องหลังมาตรการแซงชั่น และการลดลงของราคาน้ำมันว่าจะเอาอย่างไรต่อ สอง ตลาดการเงินว่าจะมีความเชื่อมั่น (Confidence) ในนโยบายและสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศรัสเซียหรือไม่ ซึ่งจะกระทบการไหลเข้าออกของเงินทุนระหว่างประเทศ และค่าเงินรูเบิล และสาม การดำเนินนโยบายของทางการรัสเซียเองว่าจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนได้หรือไม่ ซึ่งทั้งหมดนำไปสู่ความเป็นไปได้ของสถานการณ์ในระยะต่อไปเป็นสามกรณี

กรณีแรก คือ สถานการณ์เศรษฐกิจทรงตัวจากนี้ไป คือ แย่เหมือนขณะนี้แต่ไม่แย่มากขึ้น เป็นลักษณะของประเทศที่มีปัญหา อ่อนแอ และเศรษฐกิจไม่ขยายตัว เงินรูเบิลอ่อนค่า แต่มีเสถียรภาพในระดับที่ต่ำมาก ประเทศมีอัตราเงินเฟ้อสูง การว่างงานมีมาก คนในรัสเซียมีความเป็นอยู่ที่ลำบาก สินค้านำเข้าขาดแคลน แต่สถานการณ์ยังไม่ปะทุเป็นวิกฤติ เพราะทั้งตลาดการเงิน และภาคธุรกิจยังมีเชื่อมั่นในความสามารถของทางการที่จะดูแลเศรษฐกิจไม่ให้เพลี่ยงพล้ำไปสู่การผิดนัดชำระหนี้ ที่จะกระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุน นี่คือความเป็นไปได้แรก

ความเป็นไปได้ที่สอง ก็คือ สถานการณ์แย่ลงและปะทุเป็นวิกฤติ จุดชนวนโดยการสูญเสียความเชื่อมั่นของนักลงทุนและภาคธุรกิจในรัสเซีย ในความสามารถของทางการที่จะดูแลปัญหา ที่อาจมาจากการผิดนัดชำระหนี้ในขนาดที่รุนแรง นำไปสู่การไหลออกของเงินทุนต่างประเทศต่อเนื่อง เกินกำลังที่ธนาคารกลางจะบริหารจัดการได้ ทำให้ประเทศขาดสภาพคล่องเงินตราต่างประเทศ เงินรูเบิลขาดเสถียรภาพจนรัสเซียไม่มีทางเลือกอื่น ต้องพึ่งความช่วยเหลือจากภายนอก เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน ในกรณีนี้ปัญหายังเป็นปัญหาเศรษฐกิจ แต่ไม่มีความวุ่นวายทางการเมืองในประเทศ และรัฐบาลปัจจุบันยังทำหน้าที่ต่อได้

ความเป็นไปได้ที่สาม ก็คือ กรณีแย่สุดที่ประเทศเกิดวิกฤติเศรษฐกิจเหมือนกรณีที่สอง แต่ถูกซ้ำเติมโดยความไม่สงบทางการเมือง จากที่ประชาชนไม่พอใจการทำหน้าที่ของรัฐบาล และต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงผู้นำ (ซึ่งอาจรวมถึงการเลือกตั้งที่เป็นประชาธิปไตย) เกิดการประท้วงอย่างกว้างขวาง ในกรณีนี้รัสเซียจะมีทั้งปัญหาเศรษฐกิจ และการเมืองในประเทศ คล้ายกรณี Arab Spring ที่ประชาชนไม่ชอบรัฐบาลจากปัญหาที่เกิดขึ้น และต้องการการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

ในทั้งสามกรณี รัสเซียคงอยากให้กรณีแรกเกิดขึ้นมากที่สุด โดยหวังว่าหลังจากเศรษฐกิจชะลอหรือถดถอยประมาณหนึ่งหรือสองปี สถานการณ์เศรษฐกิจน่าจะกลับมาดีขึ้น ซึ่งประเด็นสำคัญที่สุดในแง่นโยบายที่จะทำให้กรณีที่หนึ่งนี้เกิดขึ้น ก็คือ ต้องสร้างความเชื่อมั่นในความสามารถของทางการในการแก้ปัญหา ซึ่งเงื่อนไขสำคัญก็คือ การรักษาค่าเงินรูเบิลให้มีเสถียรภาพ แม้จะอ่อนค่าลงมากก็ตาม อีกประเด็นก็คือ ต้องมีสภาพคล่องเงินตราต่างประเทศเพียงพอ เพื่อป้องกันการผิดนัดชำระหนี้

ในเรื่องความเชื่อมั่น สิ่งที่ทางการรัสเซียอาจต้องทำเพื่อให้กรณีที่หนึ่งเกิดขึ้น ก็คือ ปรับระบบอัตราแลกเปลี่ยนให้เป็นไปตามกลไกตลาดมากขึ้น (ลดการแทรกแซง) เพื่อให้ค่าเงินสามารถปรับสู่ดุลยภาพใหม่ได้เร็ว เสริมด้วยมาตรการควบคุมเงินทุนไหลออก (Capital Control) เพื่อป้องกันไม่ให้ภาคเอกชนและรัฐวิสาหกิจรัสเซียนำเงินออกนอกประเทศเพื่อเก็งกำไร ซึ่งจะทำให้ค่าเงินรูเบิลขาดเสถียรภาพไม่จบสิ้น สำหรับประเด็นสภาพคล่อง ในกรณีจำเป็นที่ต้องเสริมสภาพคล่องโดยการกู้เงินหรือขอความช่วยเหลือจากภายนอก คงเป็นไปไม่ได้ที่รัสเซียจะพึ่งองค์กรอย่างไอเอ็มเอฟ เพราะรัสเซียเป็นประเทศใหญ่ (ใหญ่เป็นอันดับที่แปดของโลก) และไอเอ็มเอฟก็อยู่ภายใต้อิทธิพลสหรัฐและยุโรป

ดังนั้น รัสเซียคงต้องเตรียมและต้องพร้อมรับการช่วยเหลือจากประเทศในกลุ่มสังคมนิยมเดิมถ้าจำเป็น ซึ่งประเทศที่เข้มแข็งที่สุดก็คือจีน ที่มีความพร้อมมากที่สุด ถ้าจะให้เดาจีนเองคงพร้อมจะช่วยแบบห่างๆ เพราะในบริบทการเมืองระหว่างประเทศ การช่วยเหลือรัสเซียก็คือการรักษาดุลยภาพทางอำนาจในฐานะประเทศใหญ่ ประเด็นนี้จะเป็นตัวกำหนดสำคัญของความเป็นไปได้ของกรณีที่หนึ่งว่าจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ ทำให้บทบาทของจีนจากนี้ไปต้องจับตามากที่สุด


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เศรษฐกิจรัสเซีย จะไปอย่างไรต่อ

view