สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ราคา น้ำมัน ดิ่งเหว ใครเสียหาย-ใครรับอานิสงส์

จากประชาชาติธุรกิจ

ปริมาณการผลิตน้ำมันทั่วโลกที่พุ่งสูงเหนือความคาดหมาย บวกกับความต้องการใช้พลังงานที่ชะลอตัวลง ผลักดันให้ปริมาณน้ำมันสำรองพุ่งสูง ขณะที่ราคาร่วงลง บทเรียนในอดีตชี้ว่า ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ลดลงราว 40% จากเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาจะมาอยู่ที่ราว 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จะส่งผลดีมากกว่าผลร้ายต่อเศรษฐกิจโลกโดยรวม แต่สถานการณ์แวดล้อมที่ซับซ้อนในปัจจุบันทำหลายคนยังกังขาว่า ราคาน้ำมันที่ลดลงจะสร้างอานิสงส์ตามที่คาดการณ์กันไว้หรือไม่

ผลกระทบเศรษฐกิจโลก

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ "ออกซ์ฟอร์ด อีโคโนมิกส์" คาดการณ์ว่า ราคาพลังงานที่ลดลงทุก ๆ 20 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลจะกระตุ้นให้เศรษฐกิจโลกขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.4% ภายใน 2-3 ปี แนวโน้มเศรษฐกิจที่สดใสขึ้น ช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับภาคธุรกิจและครัวเรือน ซึ่งนำไปสู่การใช้จ่ายและลงทุนที่สูงขึ้น

จากการวิเคราะห์ 45 เขตเศรษฐกิจทั่วโลกของออกซ์ฟอร์ด อีโคโนมิกส์พบว่า ประเทศตลาดเกิดใหม่ที่เป็นผู้นำเข้าน้ำมันสุทธิคือกลุ่มที่ได้รับประโยชน์สูงสุด ส่วนประเทศพัฒนาแล้วก็ได้รับอานิสงส์เช่นกัน แต่น้อยกว่าชาติกำลังพัฒนา เนื่องจากพึ่งพาพลังงานในการขับเคลื่อนการเติบโตในสัดส่วนที่ต่ำกว่า

แน่นอนว่าสำหรับประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน สถานการณ์ปัจจุบันเป็นเหมือนยุคมืด โดยเฉพาะชาติที่นำรายได้จากการขายพลังงานไปใช้เพื่อการบริโภคมากกว่าเก็บออม อาทิ รัสเซียและเวเนซุเอลา ซึ่งมูดีส์ สถาบันจัดอันดับเครดิต ประเมินว่าจะเป็น 2 ประเทศที่เจอหางเลขรุนแรงที่สุด ขณะที่ซาอุดีอาระเบีย ผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่สุดของโลก มีฟูกทางการคลังรองรับ เนื่องจากเก็บออมมากกว่าใช้จ่าย

เจาะลึกรายประเทศใครสุขใครซึมจากราคาน้ำมันขาลง โดย + หมายถึงได้รับผลดี - ได้รับผลเสีย

สหรัฐ (++)

แม้การลดลงของราคาน้ำมันจะทำให้การขยายตัวของอุตสาหกรรมน้ำมันจากชั้นหินดินดาน (Shale Gas) ในสหรัฐชะลอตัว แต่ก็ยังถือว่าเป็นข่าวดีสำหรับเศรษฐกิจมะกันในภาพรวม เพราะผู้บริโภคหลายร้อยล้านคนมีเงินเหลือในกระเป๋ามากขึ้น นักเศรษฐศาสตร์วิเคราะห์ว่า ราคาพลังงานที่ต่ำลง ช่วยให้ชาวอเมริกันมีเงินเหลือสำหรับซื้อสินค้าประเภทอื่นราว 7.5 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อปี นอกจากนี้ยังช่วยเสริมความเชื่อมั่นถึงแนวโน้มที่สดใสของเศรษฐกิจสหรัฐในปีหน้า โดยเอชเอสบีซีคาดการณ์ว่าจีดีพีของเขตเศรษฐกิจเบอร์หนึ่งของโลกจะขยายตัว 2.6-2.8% ในปี 2558

อังกฤษ (+)

ปริมาณการผลิตน้ำมันจากทะเลเหนือที่ลดลงอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ทำให้อังกฤษเป็นประเทศที่ได้รับประโยชน์ปานกลางจากภาวะราคาน้ำมันร่วง ราคาน้ำมันที่ลดลงยังช่วยลดแรงงานกดดันต่อการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนและธุรกิจ พร้อมกับเพิ่มความเชื่อมั่นต่อแนวโน้มเศรษฐกิจปีหน้า

อย่างไรก็ตาม ภาคการคลังอาจได้รับผลกระทบพอสมควร เพราะอุตสาหกรรมพลังงานเป็นแหล่งรายได้ภาษีที่สำคัญ และแม้ว่าเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้นในปีหน้าจะช่วยให้จัดเก็บภาษีจากอุตสาหกรรมอื่นได้เพิ่มขึ้น แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะชดเชยรายได้ภาษีที่หายไปจากธุรกิจน้ำมัน

ยูโรโซน (+)

ยูโรโซนต้องนำเข้าน้ำมันราว 88% ของปริมาณความต้องการใช้ทั้งหมด แต่ก็ยิ้มรับการลดลงของราคาพลังงานได้ไม่เต็มที่นัก เพราะต้นทุนน้ำมันที่ลดลงจะยิ่งฉุดอัตราเงินเฟ้อในยูโรโซนที่อยู่ในระดับต่ำมาก และเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะเงินฝืด ยิ่งไปกว่านั้น ประเทศสมาชิกหลายชาติที่แบกรับภาระหนี้สาธารณะในระดับสูงต่างหวังพึ่งเงินเฟ้อเพื่อช่วยลดตัวเลขหนี้สินที่แท้จริง

แต่ถ้ามองในแง่ดีการร่วงลงของราคาน้ำมันช่วยลดต้นทุนของภาคการผลิตในยูโรโซน ซึ่งพยายามรักษาความสามารถในการแข่งขันเทียบกับสหรัฐ และเมื่อเสริมด้วยการอ่อนค่าของเงินยูโรยังช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจ จากการประเมินของสถาบันไอเอฟโอในเมืองมิวนิก มองว่า ปีหน้าเศรษฐกิจเยอรมนี พี่เบิ่มแห่งยูโรโซนจะเติบโต 1.5% โดย 0.25% มาจากการอานิสงส์ของราคาน้ำมัน

รัสเซีย (---)

สำหรับรัสเซียการลดลงของราคาน้ำมันตลอดจนวิกฤตยูเครนเป็นเหมือนซูเปอร์ไต้ฝุ่นที่พัดถล่มเศรษฐกิจ เพราะอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติครองสัดส่วนถึง 75% ของมูลค่าการส่งออก และมากกว่า 50% ในรายได้ของรัฐบาล ด้านค่าเงินรูเบิลซึ่งอ่อนค่าอย่างต่อเนื่องนับจากรัสเซียผนวกไครเมีย และถูกชาติตะวันตกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ ก็ยิ่งรูดลงอย่างรวดเร็วหลังราคาน้ำมันปรับตัวลง

เนื่องจากภาคธุรกิจในรัสเซียมีหนี้สินในรูปเงินตราต่างประเทศสูงถึง 6 แสนล้านดอลลาร์ การอ่อนค่าของรูเบิล หมายความว่าบริษัทเหล่านี้มีภาระหนี้สินในรูปเงินรูเบิลสูงขึ้น แถมยังไม่สามารถรีไฟแนนซ์ได้เพราะเจอมาตรการคว่ำบาตรจากสหรัฐและยุโรป

ญี่ปุ่น (++)

ไม่ต้องสงสัยเลยว่าญี่ปุ่นเป็นผู้ได้ประโยชน์จากน้ำมันถูก ในปีงบประมาณที่แล้วซึ่งสิ้นสุดในเดือนมีนาคม 2557 ประเทศนี้หมดเงินไปกับการซื้อเชื้อเพลิงถึง 28.4 ล้านล้านเยน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นราคาน้ำมันที่ลดลงทุก ๆ 10% จะช่วยให้ญี่ปุ่นประหยัดเงินได้ 2.6 ล้านล้านเยน ซึ่งจะช่วยลดการขาดดุลงบประมาณและต้นทุนการผลิตของภาคธุรกิจ แต่ในอีกแง่หนึ่ง ราคาน้ำมันที่ร่วงลงก็ทำให้ธนาคารกลางบรรลุเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อ 2% ได้ยากขึ้น

จีน+

จีนไม่ได้รับผลดีจากการลดลงของราคาน้ำมันมากนัก แม้จะเป็นผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่สุดของโลก เนื่องจากราคาดีเซลและเบนซินภายใต้ประเทศถูกตรึงไว้ที่ 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ประกอบกับหลายอุตสาหกรรมพึ่งพาการใช้ถ่านหินมากกว่าน้ำมัน นอกจากนี้ ยังอาจส่งผลเสียต่อธนาคารรัฐวิสาหกิจของจีนซึ่งปล่อยกู้ให้กับประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน อย่างเวเนซุเอลา เพราะราคาพลังงานที่ลดลงย่อมหมายถึงความสามารถในการชำระหนี้ที่ต่ำลงตามไปด้วย

อินเดีย (++)

เพราะพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันปริมาณมหาศาล และประสบปัญหาขาดดุลงบประมาณรวมถึงอัตราเงินเฟ้อสูงอย่างต่อเนื่อง อินเดียจึงได้รับอานิสงส์เต็มที่จากราคาน้ำมันในขณะนี้ นายนเรนทรา โมดิ นายกรัฐมนตรี อาศัยจังหวะนี้ยกเลิกการอุดหนุนราคาดีเซล การลดลงของราคาน้ำมันไม่เพียงช่วยลดการขาดดุลการค้า บัญชีเดินสะพัดและงบประมาณ แต่ยังทำให้อัตราเงินเฟ้อลดลงด้วย ซึ่งคาดว่าจะนำไปสู่การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเร็ว ๆ นี้ อันจะส่งผลดีต่อการลงทุน

เวเนซุเอลา (---)

นักเศรษฐศาสตร์ประเมินว่าประเทศนี้จะสูญรายได้ 700 ล้านดอลลาร์ต่อราคาน้ำมันที่ลดลง 1 ดอลลาร์ เนื่องจากน้ำมันมีสัดส่วนถึง 96% ของรายได้จากการส่งออกทั้งหมด เวเนซุเอลาจึงมีความเสี่ยงสูงที่จะผิดนัดชำระหนี้ คาดว่าปีนี้เศรษฐกิจของประเทศดังกล่าวจะหดตัว 3% ขณะที่ตัวเลขเงินเฟ้อพุ่งทะลุ 63% นักวิเคราะห์มองว่า เพื่อชดเชยรายได้ที่ขาดหายไป เวเนซุเอลาต้องเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 2.4-2.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน แต่การเพิ่มปริมาณการผลิตก็ต้องใช้เวลาหลายปี

เงินฝืด ดอลลาร์แข็งฉุดผลดีน้ำมันถูก

ตามปกติการดิ่งลงของราคาน้ำมันเป็นเสมือนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโลก และยิ่งราคาอยู่ในระดับต่ำนานเท่าไหร่ก็ยิ่งดีเท่านั้น แต่ครั้งนี้มีปัจจัยหลายอย่างที่หักลบอานิสงส์ของราคาน้ำมันลด เช่น ค่าเงินดอลลาร์แข็ง รวมถึงความเสี่ยงต่อภาวะเงินฝืด

หนึ่งในสาเหตุที่กดดันให้ผู้บริโภคในประเทศพัฒนาแล้วไม่ค่อยเต็มใจควักกระเป๋า เป็นเพราะอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ และมีแนวโน้มจะลดลงอีก ส่งผลให้ครัวเรือนเลือกที่จะชะลอการใช้จ่ายและรอดูสถานการณ์ เช่นเดียวกับภาคธุรกิจที่เลื่อนการลงทุนขยายกิจการออกไปก่อน การดิ่งลงของราคาน้ำมันซ้ำเติมปัญหาเงินฝืดให้ย่ำแย่ลง ออกซ์ฟอร์ด อีโคโนมิกส์คาดว่า ราคาน้ำมันที่ระดับ 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลจะกดดันให้อัตราเงินเฟ้อใน 13 ประเทศในยุโรปร่วงต่ำกว่า 0% ในปี 2558

นอกจากนี้ ค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งขึ้น มีส่วนฉุดอานิสงส์จากราคาน้ำมันหดที่มีต่อเศรษฐกิจโลก เนื่องจากราคาพลังงานในประเทศอื่น ๆ ย่อมไม่ได้ปรับตัวลง 40% เท่ากับในสหรัฐ เพราะค่าเงินสกุลท้องถิ่นอ่อนลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ราคา น้ำมัน ดิ่งเหว ใครเสียหาย ใครรับอานิสงส์

view