สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เหลียวหลัง แลหน้า

เหลียวหลัง แลหน้า

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ในช่วงส่งท้ายปีเก่าและต้อนรับปีใหม่นี้ เราต่างมีโอกาสทบทวนเหตุการณ์ที่เพิ่งผ่านไปและมองว่าอะไรน่าจะเกิดขึ้น

ในปีที่เพิ่งมาถึง ในฐานะผู้เขียนคอลัมน์ซึ่งหนักไปทางเศรษฐศาสตร์ ขอนำบางอย่างทางเศรษฐกิจมาทบทวนเพื่อใช้เป็นฐานพร้อมกับคาดการณ์ต่อไป

ในช่วงปีที่ผ่านมา วงการต่าง ๆ มองกันว่าเศรษฐกิจโลกตกอยู่ในภาวะไม่สดใส ขอเรียนว่านั่นเป็นการมองจากมุมของความคาดหวังเท่านั้น นั่นคือ ในช่วงเวลาราวเก้าทศวรรษที่ผ่านมา ชาวโลกโดยทั่วไปถูกชักจูง หรือล้างสมองให้เชื่ออย่างฝังใจว่า เศรษฐกิจที่สดใสจะต้องขยายตัวในอัตราสูง เอื้อให้ทุกคนใช้จ่ายหรือบริโภคเพิ่มขึ้นได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่ต้องมองว่าการบริโภคนั้นจำเป็นหรือไม่และจะมีผลอย่างไร

เป็นเวลากว่าสิบปี คอลัมน์นี้เสนอว่า อย่ามองแค่การขยายตัวของเศรษฐกิจซึ่งวัดด้วยการเพิ่มผลผลิต หรือจีดีพีเท่านั้น หากควรมองต่อไปว่าจีดีพีมาจากไหนและใครเป็นผู้ได้รับส่วนแบ่ง จีดีพีที่มาจากการผลิตและสูบบุหรี่มิใช่จีดีพีที่พึงปรารถนา เช่นเดียวกับจีดีพีที่มาจากการผลิตและใช้อาวุธเข่นฆ่าเพื่อนมนุษย์ด้วยกันและจีดีพีที่มาจากการพนันทุกอย่าง ในขณะเดียวกัน หากจีดีพีส่วนใหญ่ไปตกอยู่ในมือของคนรวยเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ความยากจนแพร่หลาย การขยายตัวจะสร้างปัญหามากกว่าสร้างความสันติสุข ยิ่งกว่านั้น การผลิตต้องใช้ทรัพยากร การใช้ทรัพยากรแบบไม่ถูกต้องและการบริโภคบางอย่างจะสร้างปัญหา ข้อมูลบ่งว่า โดยทั่วไปนั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นต่อเนื่องกันมาเป็นเวลานาน

ณ วันนี้ ยังไม่มีการเคลื่อนไหวให้ปรับเปลี่ยนความเชื่ออย่างฝังใจนั้น ไม่ว่าจะเป็นในวงการเมือง หรือวงการเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก ฉะนั้น การผลักดันให้เศรษฐกิจขยายตัวในอัตราสูงเช่นในอดีตจะดำเนินต่อไป ทั้งที่โอกาสที่จะทำได้มีน้อยลง ส่งผลให้ความไม่สมหวังแพร่ขยายออกไปอย่างกว้างขวางขึ้น ปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจมีโอกาสขยายตัวในอัตราสูงได้น้อยลงเป็นทั้งเรื่องพื้นฐานและผลของนโยบายในอดีต เรื่องพื้นฐานได้แก่ความร่อยหรอลงของทรัพยากรและเทคโนโลยีใหม่ยังไม่สามารถช่วยให้เราก้าวข้ามความร่อยหรอลงนั้นได้ ส่วนผลของนโยบายได้แก่กองหนี้ที่ใช้ทำให้เกิดการขยายตัวในอดีต การชำระหนี้ที่สูงขึ้นทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนส่งผลให้ทั้งสองฝ่ายใช้จ่ายได้ต่ำกว่าความต้องการ

อนึ่ง ความร่อยหรอลงของทรัพยากรไม่เพียงแต่จะมีส่วนทำให้เศรษฐกิจโดยทั่วไปขยายตัวได้ในอัตราต่ำในช่วงปีที่ผ่านมาเท่านั้น หากยังเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความขัดแย้งร้ายแรงเพราะการแย่งชิงทรัพยากรกันอีกด้วย สงครามและการก่อการร้ายซึ่งส่วนใหญ่เกิดขึ้นในภาคส่วนของโลกที่ทอดยาวจากปากีสถานและอัฟกานิสถานไปจนถึงส่วนเหนือของทวีปแอฟริกานั้นเกิดจากการแย่งชิงทรัพยากรกันเป็นส่วนใหญ่

ในอนาคตอันใกล้ ปัจจัยที่กล่าวถึงจะยังไปเปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญ จริงอยู่ราคาน้ำมันได้ลดลงมาเป็นเวลาหลายเดือนติดต่อกันและสหรัฐรายงานว่าเศรษฐกิจของตนขยายตัวในอัตราสูงกว่าที่คาดไว้ในไตรมาสที่สามของปี 2557 แต่การลดลงของราคาน้ำมันอาจเกิดจากปัจจัยที่ไม่พูดถึงกัน นั่นคือ การกลั่นแกล้งรัสเซีย อิหร่านและเวเนซุเอลาซึ่งเป็นปฏิปักษ์ต่อสหรัฐและพันธมิตร การลดลงมีผลกระทบต่อผู้ผลิตน้ำมันขนาดใหญ่หลายประเทศซึ่งอีกไม่นานอาจจะผลักดันให้มันกลับเพิ่มขึ้นก็ได้ ในขณะเดียวกัน การขยายตัวในสหรัฐยังยืนยันไม่ได้ว่ามาจากฐานอันมั่นคงหรือไม่ ฉะนั้น เมื่อมองโดยรวมภาวะเศรษฐกิจโลกจะคล้ายในปีที่ผ่านมาและความไม่สมหวังจะยังไม่ลดลง

หากใช้กรอบนั้นอ่านเมืองไทย คงสรุปได้ว่าภาพที่ออกมาไม่น่าสดใสนัก แต่เนื่องจากเมืองไทยมีทั้งส่วนที่ต่างกับสภาพของโลกโดยทั่วไปและส่วนที่คล้ายในด้านความคาดหวัง ผลที่ออกมาจึงอาจสดใสมากกว่าหรือน้อยกว่าภาพที่อ่านจากกรอบดังกล่าวก็ได้ ส่วนที่ต่างอย่างเด่นชัดได้แก่ข้อจำกัดของไทยน้อยกว่าทั้งทางด้านทรัพยากรการเกษตรและการท่องเที่ยวและหนี้ที่เกิดจากภาครัฐใช้เพื่อสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ ผลจะสดใสมากน้อยเพียงไรจึงขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของนโยบายและของการใช้จ่ายในภาครัฐทั้งในด้านเพื่อก่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรสร้างผลผลิตและเพื่อการขายผลผลิตนั้นภายในและภายนอกประเทศ ในอดีต ภาครัฐมิได้ก่อหนี้มากจนเกินไป อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายของรัฐมีประสิทธิผลน้อยลงเนื่องจากความฉ้อฉลได้เพิ่มขึ้น หากภาครัฐสามารถลดความฉ้อฉลลงได้อย่างมีนัยสำคัญ รัฐยังสามารถก่อหนี้เพิ่มขึ้นได้โดยเฉพาะเพื่อนำมาสร้างปัจจัยพื้นฐานที่จะสนับสนุนผู้ประกอบการในภาคเอกชน

ในด้านความคาดหวัง คนไทยคล้ายชาวโลกโดยทั่วไปที่มีความฝังใจจากการถูกล้างสมองว่า เศรษฐกิจควรขยายตัวในอัตราสูงเพื่อเอื้อให้ตนบริโภคเพิ่มขึ้นไม่ว่าการขยายตัวนั้นจะมาจากไหนและการบริโภคจะจำเป็นหรือไม่ แม้จอมปราชญ์เช่นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงชี้แนะว่านั่นเป็นการเข้าใจผิด แต่รัฐบาลและคนไทยส่วนใหญ่ฟังไม่ได้ยิน ซ้ำร้าย รัฐบาลกลับดำเนินนโยบายไปในทางตรงข้ามโดยเฉพาะการนำมาตรการประชานิยมแบบเลวร้ายมาใช้จนทำให้คนไทยมักง่ายเพิ่มขึ้น

คำถามสำคัญยิ่งในปีนี้ซึ่งจะมีผลต่อไปในระยะยาวได้แก่ รัฐบาลจะยุตินโยบายเพื่อสนองความคาดหวังของประชาชนในระยะสั้นโดยขาดการปูฐานในด้านความยั่งยืนเกินไปได้หรือไม่ และรัฐบาลจะปราบความฉ้อฉลโดยการลงโทษคนทำผิดในอดีตและป้องกันทั้งผู้ที่อยู่ในภาครัฐในขณะนี้และผู้ที่จะเข้ามาในอนาคตมิให้ฉ้อฉลได้หรือไม่

สวัสดีปีใหม่โดยจะไม่ขอฟันธง


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เหลียวหลัง แลหน้า

view