สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เสียงเตือนถึงรัฐบาล-เร่งรับมือ-สังคมผู้สูงอายุ

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ทีมข่าวในประเทศโพสต์ทูเดย์

ย่างเข้าสู่ปีใหม่ 2558 กันแล้ว ถือเป็นช่วงเวลาในการกำหนดเป้าหมายชีวิตเพื่อรับมือความท้าทายในอนาคตความท้าทายอย่างหนึ่งที่มีพัฒนาการไปอย่างเงียบๆ โดยไม่ได้แสดงผลกระทบที่เป็นรูปธรรมเด่นชัด นั่นคือภาวะสังคมไทยที่เข้าสู่การเป็น “สังคมผู้สูงอายุ” มาได้ระยะหนึ่งแล้ว

ทั้งนี้ ข้อมูลจากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ณ สิ้นปี 2557 ระบุว่า ประเทศไทยมีประชากรรวม 64.98 ล้านคน มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปถึง 10.13 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 15.6% และมีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป 6.77 ล้านคน หรือ 10.4% ของประชากรทั้งประเทศ

เทียบตามเกณฑ์ขององค์การสหประชาชาติแล้ว ถือว่าประเทศไทยอยู่ในขั้นของการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และกำลังจะเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

ภาวะเช่นนี้ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสังคมอย่างไร?

พญ.ลัดดา ดำริการเลิศ กรรมการมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) ชี้ว่า ไทยเข้าสู่ภาวะสังคมผู้สูงอายุตั้งแต่ปี 2549 แล้ว และคาดว่าจะเข้าสู่ภาวะสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ในอีกประมาณ 10 ปีข้างหน้า ซึ่งเมื่อโครงสร้างสังคมเปลี่ยน จะมีความต้องการเพิ่มขึ้นใน 2-3 ประเด็น คือ 1.ความต้องการบริการด้านสุขภาพ 2.ความต้องการหลักประกันด้านเศรษฐกิจ และ 3.ความต้องการหลักประกันด้านสิ่งแวดล้อม ความมั่นคงในชีวิตและครอบครัว

พญ.ลัดดา กล่าวว่า การรับมือความท้าทายด้านสุขภาพนั้น ผู้สูงอายุย่อมมีแนวโน้มต้องการบริการด้านสุขภาพสูงกว่าวัยแรงงาน ขณะที่แนวโน้มโรคในอนาคต จะเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ซึ่งเป็นผลมาจากรูปแบบใช้ชีวิตเป็นหลัก ดังนั้นจำเป็นต้องเตรียมตัวตั้งแต่วัยเด็กและวัยทำงาน คือหลีกเลี่ยงรูปแบบการใช้ชีวิตที่เสี่ยง ทั้งจากเหล้า บุหรี่ และอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ และเพิ่มความเข้มข้นในการดูแลสุขภาพมากขึ้นในวัยชรา แต่ปัญหาคือเรื่องแบบนี้ ทุกคนรู้แต่ไม่ค่อยได้ดูแลตัวเอง

ขณะที่ประเด็นเรื่องหลักประกันด้านเศรษฐกิจนั้น คำถามคือเมื่ออายุมากขึ้นแล้วจะมีแหล่งรายได้สำหรับใช้จ่ายในชีวิตประจำวันจากไหน เรื่องนี้เป็นทางเลือกเชิงนโยบายว่าจะเป็นแหล่งรายได้ที่รัฐจัดให้หรือไม่ ซึ่งเมื่อมองไปที่เงินภาษีของประเทศก็ถือว่าไม่กว้างนัก ถ้ารัฐจะจัดรัฐสวัสดิการ คือถามว่าจะเอาเงินมาจากไหน และหากรัฐไม่มีเงินจ่าย ก็ต้องใช้เงินจากกระเป๋าของประชาชนเอง นั่นคือต้องส่งเสริมให้คนทำงานต่อเนื่องให้นานที่สุด เพื่อจะได้มีรายได้มาใช้จ่ายในชีวิต

ขณะเดียวกัน เมื่ออายุมากจนทำงานไม่ได้แล้ว ก็ต้องใช้เงินออมที่สะสมมา ซึ่งปัจจุบันมีแค่กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ และกองทุนประกันสังคม แต่ยังมีกลุ่มแรงงานนอกระบบ 23-24 ล้านคน หรือกว่า 2 ใน 3 ของวัยแรงงาน ที่ไม่มีช่องทางบังคับให้ออม เพราะแม้จะมีกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) มาส่งเสริมการออมของแรงงานนอกระบบและออกเป็นกฎหมายแล้วมา2-3 ปีแล้ว แต่กลับไม่มีการดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายขึ้นมาเสียดื้อๆ

“เรื่องการออมต้องใช้เวลานานกว่าจะเห็นผล เมื่อไม่มีระบบบังคับให้ออมเงิน คนวัยทำงานอายุมากขึ้นก็จะไม่มีเงิน ต้องพึ่งพิงลูกหลานในเรื่องรายได้ คำถามคือถ้าไม่มีลูกหลานมาดูแลจะทำอย่างไร” พญ.ลัดดา กล่าว

สำหรับประเด็นเรื่องความต้องการหลักประกันด้านสิ่งแวดล้อม ความมั่นคงในชีวิตและครอบครัวนั้น โครงสร้างในปัจจุบัน เช่น ทางเท้า รถประจำทางสาธารณะ สะพานลอย ยังไม่รองรับการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ เมื่อไปไหนมาไหนลำบาก ก็ได้แต่อยู่ติดบ้าน ดังนั้นจำเป็นต้องคิดล่วงหน้าในเรื่องภูมิสถาปัตย์และโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ ต้องเริ่มคิดตั้งแต่ตอนนี้ เพราะการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพวกนี้ต้องใช้เวลานาน

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการดูแลผู้สูงอายุในชีวิตประจำวัน ซึ่งปกติเป็นหน้าที่ของคนในครอบครัว แต่สังคมปัจจุบันคนมีลูกน้อยลง และต้องออกไปทำงานหารายได้ด้วย จำเป็นที่รัฐจะต้องจัดระบบดูแลผู้สูงอายุโดยให้ชุมชนเป็นศูนย์กลางการดูแล

“เรื่องการดูแลผู้สูงอายุไม่ค่อยห่วง เพราะเริ่มมีการจัดระบบนำร่อง 20 จังหวัด ให้ชุมชนดูแลผู้สูงอายุไปแล้ว และจะมีการพัฒนาระบบไปเรื่อยๆ แต่ที่น่าห่วง คือ เรื่องโครงสร้างพื้นฐานที่ยังไม่รองรับการใช้ชีวิต และเรื่องการเงินของผู้สูงอายุ หากเราไม่เริ่มทำตั้งแต่ตอนนี้ ในอนาคตเราจะเห็นคนแก่ที่อยู่แต่ในบ้าน ออกไปไหนไม่ได้ เป็นโรคสมองเสื่อม ไม่มีคนดูแล เต็มบ้านเต็มเมืองไปหมด”พญ.ลัดดา กล่าว

ด้าน วรเวศม์ สุวรรณระดา คณบดีวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า การตระหนักรับรู้เรื่องสังคมผู้สูงอายุในไทย ยังเป็นการรับรู้ที่ยังคลาดเคลื่อน เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่แค่มีจำนวนผู้สูงอายุมากขึ้น แต่หมายถึงคนวัยทำงานมีน้อยลง กระทบโครงสร้างสังคมและเศรษฐกิจไปพร้อมๆ กัน เกิดปัญหาขาดแคลนแรงงาน ต้องเปลี่ยนโครงสร้างการผลิต ให้ความสำคัญกับการพัฒนาฝีมือแรงงาน และลงทุนเทคโนโลยีเพื่อช่วยลดต้นทุนให้มากขึ้น

ในทางกลับกัน ภาวะสังคมผู้สูงอายุก็ทำให้แบบแผนการใช้ชีวิตและการบริโภคของคนเปลี่ยนไปเช่นกัน ภาคธุรกิจจะปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงนี้อย่างไร ที่เห็นชัดๆ ในช่วงที่ผ่านมา คือกลุ่มสถาบันการเงินที่เริ่มออกผลิตภัณฑ์สำหรับผู้สูงอายุมากขึ้น รวมทั้งจะมีธุรกิจใหม่ๆ ที่ได้โอกาสจากทิศทางสังคมที่เปลี่ยนไป เช่น ธุรกิจเกี่ยวกับเทคโนโลยีสำหรับผู้สูงอายุ ธุรกิจท่องเที่ยว พักผ่อน สันทนาการ เป็นต้น

4 ประเด็นเร่งด่วน

วรเวศม์ ชี้ว่า เรื่องที่ต้องจัดลำดับความสำคัญเร่งด่วนมี 3-4 ประเด็น คือ 1.เมื่อมีจำนวนผู้สูงอายุมากขึ้น จะดูแลคนกลุ่มนี้ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้อย่างไร หลักๆ คือต้องเตรียมหลักประกันทางการเงินไว้แต่เนิ่นๆ ซึ่ง 2-3 ปีก่อนมีการออกกฎหมาย กอช. ซึ่งก็ถือว่าเตรียมการแต่เนิ่นๆ แล้ว แต่ก็ยังติดขัดไม่มีการดำเนินการจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งเรื่องการออมเป็นเรื่องต้องใช้เวลา ดังนั้นได้เวลาปัดฝุ่น กอช.อย่างเป็นกิจจะลักษณะได้แล้ว

2.ระบบดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ในทาง 2 แพร่ง เพราะสังคมไทยให้คุณค่ากับความกตัญญู ครอบครัวเป็นผู้ดูแลผู้สูงอายุ แต่ในอนาคตแนวโน้มอัตราการเกิดลดลง คนแก่ในอนาคตอาจเจอปัญหาไม่มีลูกให้อกตัญญูด้วยซ้ำ ดังนั้นต้องมีเรื่องการจัดระบบดูแล ซึ่งมี 3 ส่วน คือ ชุมชน เอกชน และภาครัฐ จะมีบทบาทในระบบนี้อย่างไร

3.ประเด็นเรื่องครอบครัว ซึ่งสัมพันธ์กับระบบดูแลผู้สูงอายุ เพราะคนวัยทำงานในอนาคต นอกจากต้องดูแลผู้สูงอายุแล้ว ยังต้องออกไปทำงานหาเงิน และยังมีลูกมีครอบครัวของตัวเองให้ดูแลอีก รัฐต้องจัดการสร้างสมดุลให้คนกลุ่มนี้ในเรื่องการทำงานและการดูแลครอบครัว เช่น ตอนนี้มีการอนุญาตให้ลาคลอดได้ แต่หากคิดไกลๆ อนาคตอาจต้องมีการอนุญาตให้ลาไปดูแลพ่อแม่ได้ เป็นต้น

4.ต้องทำให้ตลาดแรงงานต้องไม่ตึงตัวไม่มากไปกว่านี้ โดยเสนอให้ภาครัฐขยายเวลาเกษียณอายุราชการ เพราะเมื่อคนมีอายุขัยยาวนานขึ้น ระยะเวลาใช้ชีวิตและระยะเวลาทำงานก็ควรสัมพันธ์กัน รวมถึงภาคเอกชน ควรปรับรูปแบบให้ยืดหยุ่นมากขึ้น เช่น ต่ออายุการจ้างงาน ขยายสัญญาการทำงาน หรือถ้าทำเต็มเวลาไม่ไหวก็ปรับเป็นจ้างงานแบบพาร์ตไทม์ เป็นต้น เพื่อให้มีระยะเวลาทำงานนานขึ้น ไม่ให้จำนวนแรงงานลดลงมากกว่านี้

"3-4 ประเด็นข้างต้น มันมาขมวดรวมกันตรงที่รัฐจะหาทรัพยากรมาจัดการเรื่องเหล่านี้อย่างไร ที่ผ่านๆ มาทุกรัฐบาลก็พยายามสร้างกลไกรองรับสังคมผู้สูงอายุสะสมกันมาเรื่อยๆ ทั้งเรื่องเบี้ยยังชีพ กอช. การตั้งคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ฯลฯ แต่เรายังมองว่าเป็นแค่เรื่องของผู้สูงอายุ ไม่ได้มองเรื่องผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม จำเป็นต้องมองในเชิงรุกมากขึ้นเรื่อยๆ แทนที่จะตั้งรับอย่างเดียว" วรเวศม์ สรุป


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เสียงเตือน ถึงรัฐบาล เร่งรับมือ สังคมผู้สูงอายุ

view