สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

SLC ทุนฉงน-ซ่อนกลฮุบ NMG(2) : ธนชาติให้ WAT-SLC กู้แม้บักโกรก

SLC ทุนฉงน-ซ่อนกลฮุบ NMG : เหตุไฉน3คนดี-เด่น-ดังคสช."ยืนเด่น"


SLC ทุนฉงน-ซ่อนกลฮุบ NMG(2) : ธนชาติให้ WAT-SLC กู้แม้บักโกรก?

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์



ความซับซ้อนซ่อนปมของเส้นทาง การเพิ่มทุนและราคาหุ้น ที่เพิ่มขึ้นดั่งจรวดของบริษัท โซลูชั่น

คอนเนอร์ ( 1988 ) จำกัดหรือ SLC เกิดขึ้นมาตั้งแต่"เจ้าของSLCตัวจริง" พ่อมดการเงินยุคดิจิทัล"ฉาย บุนนาค"ได้ทยอยเข้าซื้อหุ้นของ SLC ตั้งแต่ปี 2553 แล้วสร้างปรากฏการณ์ทำราคาหุ้น SLC เพิ่มขึ้นไปกว่า 500% แล้วกลับไปซื้อหุ้นเพิ่มสัดส่วนถือหุ้น SLC กลายเป็นหุ้นใหญ่แต่กลับไม่ปรากฏชื่อ

แต่คณะกรรมการกำกับและดูแลตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพิ่งยื่นเรื่องกล่าวโทษให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ( DSI ) เมื่อวันที่ 9 ก.ย.ที่ผ่านมา สอบสวนเพิ่มเติม"ฉาย บุนนาค" กับพวก 10 คนมีพฤติกรรมการปั่นหุ้น-สร้างราคา SLC เกินจริงมาตั้งแต่ปี 2553 ต่างกรรมต่างวาระกัน

ก่อนหน้านี้ในยุค"ธาริต เพ็งดิษฐ์"เป็นอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ช่วงประมาณปลายเดือนเม.ย. 2557 ก่อนคณะรักษาความสงบแห่งชาติ( คสช.)เข้ายึดอำนาจการปกครองประเทศจากรัฐบาลรักษาการ"ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร"ประมาณ 3 สัปดาห์

ดีเอสไอและอัยการได้ปิดคดีสั่งไม่ฟ้อง"ฉาย บุนนาค"และพวกอีก20 คนในคดีซื้อหุ้นแบบทุนอำพราง บริษัท ไมด้า ลิสซิ่ง จำกัด(มหาชน)หรือ MIDA และบริษัท แมกซ์เมทัล จำกัด(มหาชน)หรือ MAX

ชื่อผู้ถูกกล่าวหาในคดี MIDA และ MAX ที่เกี่ยวพันกันในฐานะญาติคือ ฉาย บุนนาคกับภรรยา"เดียร์-วรันทยา วงศ์โอภาสี"ที่ปัจจุบันนั่งเป็นรองประธานบริหารธุรกิจของช่องข่าวทีวีดิจิทัล Springnews ที่บริษัท SLC ถือหุ้น 99% และโต้ง-สุพิชยะ ฉายเหมือนวงศ์ ลูกชายของ"ชวนพิศ ฉายเหมือนวงศ์"อดีตผู้ว่าการเคหะแห่งประเทศไทยที่เคยมีชื่อเข้าไปถือหุ้นและนั่งเป็นกรรมการของหลายบริษัทที่"ฉาย บุนนาค"ไปเกี่ยวข้องแบบเปิดเผยและไม่เปิดเผย

"ชวนพิศ"คือเพื่อนรักมากที่สุดของคุณแม่"ฉาย บุนนาค"นามว่า"โฉมพิศ บุนนาค"ที่มีศักดิ์เป็นญาติภรรยาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณีที่มีลูกสาวชื่อ"อ๊อบ"อรอร อัครเศรณีและบริษัท อัครเศรณี โฮลดิ้ง จำกัดที่มักเข้าไปมีชื่อเป็นนักลงทุนประเภท Private Placement ให้กับบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ที่"ฉาย บุนนาค"เข้าไปซื้อหุ้นไล่ราคาแล้วมักจะทำ PP เพื่อเพิ่มทุนบริษัทของตัวเองให้ดูเป็นหลักเป็นฐานแหล่งเงินทุน

ค่อนข้างแน่ชัดว่าปฏิบัติการล่าสุดที่มี "ฉาย บุนนาค" เป็นผู้วางแผนและเดินเกมอย่างแยบยลมานานพอสมควร โดยคิดการใหญ่จะเข้าควบคุมกิจการ หรือเทคโอเวอร์บริษัท เนชั่นมัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด(มหาชน)หรือ NMG ที่มีการปล่อยข่าวลือหยั่งกระแสในตลาดหุ้นมาไม่น้อยกว่า 3-4 เดือนแล้ว

หลังจากตั้งแต่เดือนเม.ย.2557 บริษัทมาบุญครองหรือ MBK ทยอยเก็บหุ้น NMG จากตลาดหุ้น แล้วแจ้งตลาดหลักทรัพย์เมื่อถือครองเกินกว่า 5% จนไปถึงประมาณ 13 % ได้มีข่าวจาก"บันเทิง ตันติวิท" ประธาน MBK หวังจะถือหุ้นอันดับหนึ่ง 20% เพื่อจะได้นำส่วนกำไรมารวมกับ MBK ได้ตามสัดส่วน

"บันเทิง"แสดงความสนใจธุรกิจการศึกษาเพราะ NMG เป็นเจ้าของมหาวิทยาลัยเนชั่นที่จังหวัดลำปางและกรุงเทพ รวมทั้งยังต้องการเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ กับสื่อหลากหลายของเครือเนชั่น ที่มีหนังสือพิมพ์รายวัน 3 ฉบับคือ The Nation, กรุงเทพธุรกิจและคมชัดลึก สถานีโทรทัศน์ดิจิทัล 2 ช่องคือ Nation TV กับ NOW

แต่เมื่อ"บันเทิง ตันติวิท"ได้ฟังจาก "สุทธิชัย หยุ่น" ที่ไม่ต้องการให้ MBK ถือหุ้น NMG เกินกว่า 15%ที่อาจจะกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ NMG กลุ่มMBK เปลี่ยนแผนอย่างไม่รั้งรอ ขายหุ้น NMG ทั้งหมดให้กับบริษัท วัธน แคปิตัลหรือ WAT ที่ทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์แบบไม่เอาจริง ขาดทุนสะสมร่วมพันล้านบาท แต่กลับได้เงินกู้จากธนาคารธนชาติที่ถือหุ้นใหญ่ MBK มาซื้อหุ้น 7.57 % และนักลงทุนที่ชื่อ"ศิร์วสิษฐ์ สายน้ำผึ้ง 6.1% รวมเป็นเงินรวมกัน ร่วม 1,000 ล้านบาท

โดยกลุ่มธนาคารธนชาติ จำกัดที่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ MBK ปล่อยเงินกู้ก้อนใหญ่ให้ WAT และศิร์วสิษฐ์ เข้าซื้อหุ้น NMG ที่มีผลตอบแทนต่ำมาก แต่ MBK ได้กำไรจากการเทหุ้น NMG หมดพอร์ตไปร่วม 50 ล้านบาท

สมประโยชน์แบบ WIN-WIN กันระหว่าง MBK ที่ได้กำไรไป 50 ล้านบาทแบบคุ้มลงทุนสั้นๆ WAT กับศิร์วสิษฐ์ ได้หุ้น NMG ไปในราคาแสนถูก 1.6 บาทต่อหุ้น เมื่อเทียบกับ SLC แจ้งตลาดหุ้นเมื่อวันที่ 18 ธ.ค.ว่าได้ใช้เงิน 1,042 ล้านบาทซื้อหุ้นสามัญ NMG ประมาณ 400 ล้านหุ้นในราคา 2.02 บาทต่อหุ้นคิดเป็น 12.27 %และซื้อ NMG-W3 อีก 225 ล้านหน่วยคิดเป็นประมาณ 6%

น่าสนใจว่าแหล่งเงินทุนในการเข้าซื้อหุ้น SLC ที่"อารักษ์ ราษฎร์บริหาร" ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ SLC ให้สัมภาษณ์ก็คือธนชาติ เจ้าเก่าที่เคยปล่อยกู้ให้ WAT ซื้อหุ้น NMG จาก MBK มาตั้งแต่ส.ค.2557

ผู้บริหาร SLC บอกประสบความสำเร็จในการเพิ่มทุนครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 28 พ.ย. 2557 ได้เงินมาประมาณ 2,200 ล้านบาท แล้วเหตุไฉน ธนาคารธนชาติยังต้องสนับสนุนทางการเงินให้ SLC ที่มีกิจการขาดทุนสะสมมากกว่า 1,200 ล้านบาทและแผนธุรกิจยังคลุมเคลือมากว่าเพิ่มทุนมาเพื่ออะไรกันแน่

ความเคลื่อนไหวของ SLC ที่เพิ่มทุนสำเร็จเมื่อปลายพ.ย.คู่ขนานกับ WAT อย่างน่าฉงนอย่างยิ่ง ในวันที่ 29 พ.ย.ที่ผ่านมา บริษัท วัธน แคปปิตัล จำกัดหรือ WAT ที่ออกมติจดทะเบียนเพิ่มทุนมโหฬาร แล้วขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนได้มาอีก 3.16 พันล้านบาท

พร้อมกับการ"ลอกคราบ"ครั้งที่เท่าไหร่ไม่อาจจดจำได้แล้ว เปลี่ยนชื่อบริษัทใหม่เป็น บริษัท โพลาริส แคปปิตัล จำกัดชื่อย่อว่า POLAR การเปลี่ยนชื่อ WAT เป็น POLAR ดูเหมือนจะทำให้ไม่มีใครจดจำอดีตอันสับสนวกวนของการเพิ่มทุน WAT แบบเดียวกับ SLC มาเป็นชื่อใหม่ POLAR ที่ใครได้ยินแล้ว แวบแรกคงนึกถึงน้ำดื่มโพราลิสที่มีแบรนด์บริสุทธิ์ใสสะอาด

สัดส่วนของ SLC+ WAT ที่ถือใน NMG เท่ากับ 19.75% เมื่อรวมกับ "ศิร์วศิษฐ์ สายน้ำผึ้ง"อีก 9.14% (ตัวเลขล่าสุดจากปิดทะเบียนปลายธ.ค.)ถือหุ้นใน NMG รวมกัน 28.89 %เกินกว่า 25% ที่หากพิสูจน์ได้ว่าเป็นกลุ่มผู้ถือหุ้นรายเดียวกัน ถือว่าสัดส่วนถึงเกณฑ์จะต้องตั้งโต๊ะรับซื้อหุ้น NMG ที่เหลือทั้งหมดจากผู้ถือหุ้นเดิมแล้ว ยังไม่รวมรายชื่อ"นอมินี"ของกลุ่มฉาย บุนนาคที่ดอดเข้ามาเก็บหุ้น NMG ไปเป็นจำนวนมากในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา

หาก"ฉาย บุนนาค"และกลุ่มนอมินียังทำเป็นนิ่งเฉยเหมือนกับว่าเป็นคนละพวกกัน จะเข้าข่ายกระทำความผิดกฏของก.ล.ต.ที่เรียกว่า Acting in Concert ทำให้เกิดความเข้าใจผิดต่อบุคคลอื่นในการหลีกเลี่ยงการทำเทนเดอร์ออฟเฟอร์

และขอตั้งคำถามไปถึง"บันเทิง ตันติวิท" ประธาน MBKที่เคยซื้อหุ้น NMG ไล่ไปถึง 13 %และในฐานะประธานธนาคารธนชาติ ทำไมปล่อยเงินกู้ก้อนใหญ่ให้กับ WAT, SLC ที่มีผลประกอบการขาดทุนสะสมเกินกว่า 1,000 ล้านบาทและไม่มีแผนธุรกิจที่เป็น Real Sector ในการลงทุนเพื่อสร้างผลผลิต แต่กลับนำเงินเพิ่มทุนและเงินกู้มาไล่ซื้อหุ้น NMG ที่เป็นคู่แข่งทางธุรกิจ ขอถามบรรทัดฐานการปล่อยกู้บริษัทขาดทุนมาไล่ซื้อหุ้นคู่แข่ง ระดับจริยธรรมทางธุรกิจของธนาคารธนชาติยังหลงเหลืออยู่แค่ไหน?


'ธนชาต'แจงไม่เคยปล่อยเงินกู้ให้SLCเข้าซื้อหุ้นNMG

"แบงค์ธนชาต" แจงไม่เคยปล่อยเงินกู้ให้ SLC เข้าซื้อหุ้น NMG ชี้ผู้บริหารของธนาคารไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง

จากกรณีที่หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจได้ตีพิมพ์บทความเรื่อง "SLC ทุนฉงน-ซ่อนกลฮุบ NMG (2) ในคอลัมน์ ”คิดใหม่วันอาทิตย์” ฉบับวันที่ 4 มกราคม 2558 เขียนโดยนายอดิศักดิ์ ลิมปรุงพัฒนกิจ ตั้งคำถามถึงผู้บริหารธนาคารธนชาต สรุปใจความว่า "ทำไมธนาคารธนชาต ปล่อยเงินกู้ให้กับ WAT, SLC ที่มีผลประกอบการขาดทุนและไม่มีแผนธุรกิจที่แน่นอน แต่กลับนำเงินเพิ่มทุนและเงินกู้มาไล่ซื้อหุ้น NMG ที่เป็นคู่แข่งทางธุรกิจ " นั้น

ธนาคารธนชาต ขอชี้แจงว่า กรณีนี้ผู้บริหารของธนาคารไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้แต่อย่างใด ส่วนการให้สินเชื่อนั้น ธนาคารฯ ก็ไม่ได้ให้สินเชื่อแก่ SLC เพื่อใช้ในการเข้าซื้อหุ้น NMG ในส่วนของ WAT นั้นบริษัทหลักทรัพย์ ธนชาต ได้ให้เงินกู้เพื่อการซื้อขายหุ้นเพียงครั้งเดียวในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยมีหุ้น NMG เป็นหลักประกัน ให้กู้ในอัตรา 50% ของราคาซื้อขาย ซึ่งหากเกิดกรณีหุ้นมีราคาลดลงถึงจุดหนึ่งที่ตกลงกันหากลูกค้าไม่เพิ่มหลักประกันให้เพียงพอตามสัญญาหรือไม่ขายทิ้งเองเพื่อลดหนี้ บริษัทหลักทรัพย์ สามารถบังคับขายในตลาดได้เพื่อบริหารความเสี่ยงตามหลักเกณท์ เป็นเงื่อนไขปกติที่ให้กับลูกค้าทั่วไปในการลงทุนซื้อหุ้นในตลาดทรัพย์และเป็นไปตามหลักเกณท์ของ กลต. ซึ่งถือว่าเป็นการให้กู้ที่มีความเสี่ยงต่ำมาก และ WAT ได้เคยเปิดเผยให้ตลาดหลักทรัพย์และสาธารณชนทราบว่าวงเงินดังกล่าวมีจำนวนประมาณ 200 ล้านบาทเท่านั้น มิได้มีจำนวนสูงอย่างที่ตั้งข้อสงสัย

ธนาคารธนชาต ใคร่ขอเรียนให้มั่นใจได้ว่า ธนาคารฯ เป็นสถาบันการเงินที่ประกอบกิจการด้วยการยึดมั่นในการมีหลักธรรมาภิบาล สุจริต เสมอมา ขณะเดียวกันก็อยากเรียกร้องให้ผู้เขียนในฐานะทั้งที่เป็นสื่อมวลชนและผู้บริหารสื่อได้โปรดตรวจสอบข้อมูลข้อเท็จจริงให้ถูกต้อง รอบด้าน และชัดเจนเสียก่อนที่จะเผยแพร่ข้อคิดเห็นตามหน้าที่และความรับผิดชอบของสื่อมวลชนด้วยเช่นกัน

ในกรณีนี้ ธนาคารฯ จะพิจารณาฟ้องร้องตามกฎหมาย เพื่อปกป้องและกอบกู้ชื่อเสียงของธนาคารธนชาตต่อไป


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : SLC ทุนฉงน ซ่อนกล ฮุบ NMG ธนชาติ WAT SLC กู้แม้บักโกรก

view