สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

มือเขียนรธน-50-มองปี58-การปฏิรูปไม่เกิด-ถ้าคนไม่เปลี่ยน

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม / ไพบูลย์ กระจ่างวุฒิชัย

ประเทศไทยเข้าสู่ปี 2558 อย่างเป็นทางการ มีหลายฝ่ายมองย้อนกลับไป และเรียกปี 2557 ว่าเป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลง เพราะเกิดจุดเปลี่ยนขึ้นเมื่อเกิดการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 พอมาถึงปี 2558 ก็มีหลายฝ่ายสรุปตรงกันว่าจะเป็น “ปีแห่งการปฏิรูปประเทศ” ภายหลังแม่น้ำ 5 สาย ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สร้างขึ้นมา ได้จัดวางสรรพกำลังเข้ารูปเข้ารอยเรียบร้อยเพื่อใช้เวลาปีนี้ทั้งปีในการเดินหน้าปฏิรูปประเทศไทยให้สำเร็จก่อนส่งมอบผ่านการเลือกตั้งในต้นปี 2559

ในความคิดของ “สมคิด เลิศไพฑูรย์” อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็มองไปในทำนองนั้นเช่นกัน โดยได้วิเคราะห์ผ่านโพสต์ทูเดย์ ว่า ปี 2558 จะเป็นช่วงเวลาสำคัญของประเทศ เพราะจะเกิดการเปลี่ยนแปลงมากมายในหลายภาคส่วนทางการเมือง

“ในปี 2558 จะเป็นปีที่สำคัญของประเทศไทย โดยเฉพาะในทางการเมือง เพราะว่าจะมีการตรารัฐธรรมนูญเสร็จสิ้นภายในประมาณเดือน ส.ค. รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะกำหนดโครงสร้างการเมืองการปกครองที่สำคัญของประเทศ ซึ่งผมเข้าใจว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ”

ย้อนกลับไปในปี 2549 อ.สมคิด คือนักวิชาการคนที่มีบทบาทสำคัญในทางการเมืองภายหลังเกิดเหตุการณ์รัฐประหาร เนื่องจากได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเลขานุการคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2550 ซึ่งมาในครั้งนี้ ในฐานะคนเคยเขียนรัฐธรรมนูญก็ได้ประเมินทิศทางของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่อาจก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในหลายมิติ

“สิ่งที่เราจะเห็นในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เป็นตัวกำหนดโครงสร้างทางการเมือง  คือ เรื่องระบบตรวจสอบนักการเมือง การตรวจสอบความสัมพันธ์ระหว่างข้าราชการการเมืองกับข้าราชการประจำ ตรวจสอบองค์กรอิสระ โดยระบบทั้งหลายจะถูกวางให้มีระบบตรวจสอบเข้มแข็งและเข้มข้นมากขึ้นกว่าหลักการเดิม”

“เราไม่ได้มีปัญหาเรื่องรัฐบาลเข้มแข็งหรือไม่เข้มแข็ง เรามีประสบการณ์มาสองประสบการณ์แล้ว คือ สมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ 2540 ที่มีความเข้มแข็งมาก และในรัฐธรรมนูญ 2550 ให้สภามีอำนาจมากขึ้น ซึ่งรัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็ไม่ได้เข้มแข็งมาก แต่ก็ยังอยู่ยาว ดังนั้น ผมเชื่อว่าการผลักดันให้ระบบตรวจสอบเข้มแข็ง โดยเฉพาะระบบตรวจสอบฝ่ายบริหารน่าจะเป็นเป้าหมายหลักของการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่”

ต่อมา อ.สมคิด ลำดับถึงองค์ประกอบในทางการเมืองที่ไม่สามารถหนีการเปลี่ยนแปลงด้วยรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ ประกอบด้วย “พรรคการเมือง” ซึ่งจะถูกเปลี่ยนแปลงด้วยระบบเลือกตั้ง “ศาล” โดยในความคิดของ อ.สมคิด เชื่อว่าศาลจะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องการมีอยู่หรือยุบไปของบางศาล แต่จะมีการปรับเปลี่ยนในส่วนของระบบการทำงาน และ “ความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายบริหารกับนิติบัญญัติ”

“ระบบการเลือกตั้งและพรรคการเมืองอาจจะเปลี่ยนแปลงมากพอสมควร วันนี้ระบบเลือกตั้งปัจจุบันถูกพิสูจน์ว่าไม่ดีพอกับระบบการเมืองไทย วันนี้มีคนเสนอหลายสูตร เช่น ให้มีเขตเลือกตั้งใหญ่ขึ้น ให้ยกเลิกระบบบัญชีรายชื่อ ให้นำระบบเยอรมันมาใช้ และอื่นๆ เป็นต้น พรรคการเมืองก็จะอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนแปลง เพราะระบบพรรคการเมืองที่ครอบ สส. แม้เราจะแก้รัฐธรรมนูญให้ สส.ไม่ต้องฟังมติพรรคก็ได้ แต่โดยระบบของพรรคการเมืองที่คุม สส.อยู่ก็เลยทำให้ยังแก้ไขไม่ได้ จึงต้องแก้ไขเป็นหลายแนวคิด เช่น พยายามให้ สส.เป็นอิสระจากพรรคการเมือง”

ส่วนในเรื่องของศาล นักวิชาการด้านกฎหมายมหาชนคาดการณ์ว่า “ระบบศาลคงไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรมาก โดยรวมๆ ผมคิดว่าปัญหาใหญ่ของศาลอยู่ที่ความรวดเร็วในการตัดสินคดี ผมจึงคิดว่าต้องทำให้เร็ว และในสายตาผมไม่ได้คิดว่าศาลรัฐธรรมนูญมีปัญหา เพราะคิดว่าการพิพากษาในทางการเมืองย่อมต้องถูกคนทั้งหลายวิพากษ์วิจารณ์อยู่แล้วเป็นเรื่องปกติ และที่สำคัญไม่เห็นด้วยกับแนวคิดการยุบศาลรัฐธรรมนูญไปรวมกับศาลยุติธรรม เพราะคุณกำลังข้ามระบบกฎหมาย ซึ่งไม่มีใครเขาทำกันในโลก และคนที่เสนอไม่ได้ศึกษาระบบกฎหมายไทย”

“มีเรื่องเดียวเท่านั้นที่ต้องพูด คือ จะทำอย่างไรให้ระบบการได้มาซึ่งศาลรัฐธรรมนูญเป็นโดยอิสระและมีคุณภาพ และได้มีคนคุณภาพจริงๆ”

ขณะที่เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติที่จะถูกปรับเปลี่ยนไปครั้งใหญ่นั้น อดีตเลขานุการคณะ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ มีความคิดเห็นว่าคือโจทย์สำคัญของการจัดทำรัฐธรรมนูญในครั้งนี้

 “ผมคิดว่าอาจเป็นโจทย์ที่กลับไปสู่การยกร่างรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 แต่ต้องเปลี่ยนวิธีการแก้ไข เช่น ทำอย่างไรเพื่อให้ได้คนดีมีความสามารถ จะทำอย่างไรให้รัฐบาลมีอำนาจพอสมควรและไม่ครอบงำอำนาจนิติบัญญัติและบริหาร ทำอย่างไรให้รัฐบาลถูกตรวจสอบได้ เอารัฐบาลที่ทุจริตออกจากตำแหน่งได้”

นอกเหนือไปจากเรื่องโครงสร้างทางการเมืองที่จะเกิดความเปลี่ยนแปลงแล้ว อีกประเด็นหนึ่งที่ อ.สมคิด ให้ความสนใจและชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการปฏิรูปประเทศและการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คือ กระบวนการสร้างความปรองดอง

“ผมไม่แน่ใจความปรองดองมีความหมายว่าอย่างไร รัฐธรรมนูญคงแก้ไขปัญหาได้บ้าง แต่แก้ไม่ได้ทั้งหมด เพราะอาจถูกแก้ไขโดยอย่างอื่นก็ได้ เช่น ถูกแก้ไขโดย คสช. คือถ้า คสช.ต้องการสร้างความปรองดอง ก็เรียกทุกฝ่ายมาคุยกันก็ได้ ไม่จำเป็นต้องใช้รัฐธรรมนูญ”

“ตัวอย่างเช่น พ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่ไม่สุดซอย ซึ่งผมคิดว่าอาจเป็นหนทางหนึ่งที่ก่อให้เกิดการปรองดองขึ้น การปรองดองทำได้หลายวิธี ไม่ใช่การทำผ่านรัฐธรรมนูญเท่านั้น เรื่องการใช้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวนั้น เพื่อการสร้างความปรองดองก็สามารถทำได้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับฝ่ายบริหาร”

กับคำถามที่ถามว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะสามารถแก้ไขปัญหาได้จริงหรือไม่ ได้คำตอบจาก อ.สมคิด ว่า “การเปลี่ยนแปลงความคิดคนไม่ใช่เรื่องง่าย ผมยกตัวอย่างเรื่องการซื้อสิทธิ
ขายเสียง ซึ่งการแก้ปัญหานี้ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยระบบการ
เลือกตั้งเท่านั้น ถามว่าทำไมปัญหานี้ยังอยู่ ก็เพราะคนไทยยังมีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจอยู่ ตราบใดที่คนที่ยังมีปัญหาในทางเศรษฐกิจ มีคนให้เงินเขาพันบาทเขาก็ต้องโอเคเป็นปกติ

ดังนั้น รัฐธรรมนูญเขียนขึ้นเพื่อแก้ไขโครงสร้างการเมืองได้ แต่ถามว่ารัฐธรรมนูญจะแก้ไขพฤติกรรมของคนได้หรือไม่ ผมว่ายาก ผมหมายความว่าปัญหานี้แก้ได้นะ แต่ยังไม่ใช่การเลือกตั้งที่จะมีในปี 2559 การเขียนรัฐธรรมนูญอาจมีผลต่อพฤติกรรมของคนแต่ไม่ได้มีผลร้อยเปอร์เซ็นต์”

อ.สมคิด ขยายความเพิ่มอีกว่า รัฐธรรมนูญจะสามารถแก้ปัญหาการเมืองของประเทศได้จริงหรือไม่ ความจริงถ้าเราสดับรับฟังคนทั้งหลาย ก็พบว่าจะพูดตรงกันว่ารัฐธรรมนูญคงเป็นปัญหาส่วนหนึ่ง แต่ปัญหาจริงๆ เป็นปัญหาเรื่องคน เพราะคนที่อยู่ในระบบเป็นคนที่มีปัญหา ไม่ใช้รัฐธรรมนูญและกฎหมายอย่างตรงไปตรงมา ใช้กฎหมายและรัฐธรรมนูญอย่างศรีธนญชัย ตีความเข้าข้างตัวเอง ทำให้การตีความนำไปสู่ปัญหามากมายและไม่สามารถแก้ไขปัญหาทางการเมืองของประเทศไทย

“เพราะฉะนั้น ผมเชื่อว่ารัฐธรรมนูญจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงเยอะ แต่ไม่แน่ใจว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะมีผล
กระทบถึงขนาดเรามีการเลือกตั้ง ได้คนดีมีความสามารถเข้ามาบริหารราชการแผ่นดินด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ผมยังไม่เชื่อไปขนาดนั้นว่าการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้
นในปี 2559 จะนำไปสู่จุดนั้นได้ แต่ก็หวังว่ารัฐธรรมนูญที่กำลังร่างขึ้นจะทำให้ปัญหาต่างๆ ของสังคมไทยลดน้อยลง”

รัฐบาลเจองานหนัก ต้นปี-กลางปี-ปลายปี

ขณะเดียวกัน ไม่ใช่เพียงแต่เรื่องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เท่านั้นที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิดตลอดทั้งปี 2558แต่การบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลก่อนถึงช่วงพาประเทศเข้าสู่การเลือกตั้งจะเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เชื่อว่าจะเป็นบทพิสูจน์ว่าการรัฐประหารครั้งนี้จะเสียของหรือไม่ด้วย

“สิ่งที่เราพูดมาก คือ การรัฐประหารเกิดจากอะไรซึ่งมันก็เกิดขึ้นมาจากความขัดแย้งของสองฝ่าย และเกิดจากการทุจริต สองเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ถ้าจะไม่ทำให้การรัฐประหารเสียของก็ต้องแก้ไขทั้งสองเรื่องให้ได้”

อ.สมคิด ย้ำว่า โดยเฉพาะการทุจริต เพราะทุกวันนี้ยังมีปัญหาอยู่ ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง ยังไม่มีการแก้ไขกฎหมาย ความจริงจะไม่แก้ไขกฎหมายก็ได้ แต่ต้องเอาจริงเอาจัง เรื่องไหนที่พบว่ามีการทุจริตและสื่อมวลชนเปิดเผยแล้ว รัฐบาลต้องลงไปจัดการทันที

การรัฐประหารครั้งนี้เริ่มเข้าทรงเดิมๆ หรือไม่? อ.สมคิด ตอบในหลายมิติ ว่า “ผมพูดในมุมของอธิการบดี
ที่ผมสัมผัสได้คือ ผมรู้สึกว่าการแก้ไขปัญหาการศึกษาของประเทศยังเคลื่อนไปช้า เช่น กฎหมายออกนอกระบบ
ผ่านไป 4-5 เดือนแล้วยังไม่มีการดำเนินการ ผมพูดเรื่องเงินสนับสนุนการทำวิจัย ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมพูดมาตลอดว่า ต้องควรให้การสนับสนุน ก็ยังไม่มีการทำในเรื่องพวกนี้

“หรือผมพูดในฐานะสมาชิก สนช. ผมดูกฎหมายที่เข้ามาใน สนช. ส่วนใหญ่เป็นกฎหมายที่ค้างมาจากรัฐบาล
ในอดีต เป็นกฎหมายที่เสนอตั้งหน่วยงานเพิ่มขึ้น หรือเพิ่มอำนาจของตัวเองให้มากขึ้น กฎหมายที่ดีๆ ที่เป็นนโยบายของรัฐบาลยังมีน้อย เห็นอยู่บ้าง เช่น กฎหมายภาษีมรดก แต่มีอีกหลายฉบับที่ควรจะเสนอให้เร็ว แต่
กลับไม่เห็น เช่น กฎหมายเกี่ยวกับปกครองท้องถิ่นกฎหมายเกี่ยวกับการกระจายอำนาจ เป็นต้น ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องที่ต้องแก้ไข”

ส่วนทิศทางและแนวโน้มของการเมืองในปี 2558อ.สมคิด ได้วิเคราะห์พร้อมกับความฝากห่วงใยไปถึงรัฐบาล โดยเฉพาะการเน้นย้ำให้รัฐบาลเร่งสร้างผลงาน

“รัฐบาลต้องเร่งทำงานและสร้างผลงานในทุกเรื่องถ้าเราดูประวัติศาสตร์การเมืองไทย ไม่มีรัฐบาลไหนหรอกที่ได้รับคำชมจากประชาชนเท่าไร อย่างดีก็เสมอตัว ทรงตัว และก็ทรุดไปเรื่อยๆ รัฐบาลส่วนใหญ่ยิ่งอยู่นานยิ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์เยอะ ซึ่งเป็นเรื่องปกติ”

“ยิ่งเวลาผ่านไป คนรู้ว่ารัฐบาลนี้จะหมดอำนาจลงคนก็จะวิพากษ์วิจารณ์มากขึ้น ผมเข้าใจว่าต้นปี 2558 คนก็วิพากษ์วิจารณ์แล้ว กลางปียิ่งมากใหญ่ พอปลายปีซึ่งกำลังจะเลือกตั้งไม่ต้องพูดถึงเลย รัฐบาลต้องเปิดให้มีการพูด การหาเสียงเลือกตั้ง ตอนนั้นปัญหาทั้งหลายจะยิ่งถาโถมเข้ามาที่รัฐบาล ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลต้องรีบทำและเร่งปฏิรูปวันนี้ คือ การดำเนินการปฏิรูปประเทศให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้”

อ.สมคิด ยังบอกถึงปัจจัยอื่น ไม่ใช่แต่อาจส่งผลกระทบต่อตัวรัฐบาลว่า “ประเทศไทยไม่ได้มีเฉพาะปัญหาการเมืองเท่านั้น แต่ยังมีปัญหาเศรษฐกิจและสังคมด้วยซึ่งอาจมีผลสะสมมาจากในอดีต มาในปี 2558 มีคนคาด
การณ์ว่าดีขึ้น แต่อาจไม่ดีขึ้นอย่างที่หลายคนตั้งความหวัง”

สุดท้าย อ.สมคิด ประเมินอนาคตของพรรคการเมืองที่อยู่ในช่วงเก็บตัว เพื่อรอวันสู่การเลือกตั้งว่าพรรคการเมืองจะต้องกลับมาอย่างแน่นอน

“เขาเป็นนักการเมืองอาชีพ ต่อให้เปลี่ยนระบบเลือกตั้งอย่างไร เขาก็พร้อมลงตามระบบเลือกตั้ง การที่ คสช.
มาทำรัฐประหารเป็นสิ่งที่ทำให้ขั้วสองขั้วลดดีกรีลง แต่มันไม่ยังพอ ต้องทำมากกว่านี้อีก”
อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทิ้งท้าย

แต่ต้องอยู่ใต้อัยการศึก

นอกจากจะใช้โอกาสนี้วิเคราะห์ทิศทางของประเทศไทยในปี 2558 ทั้งในเรื่องการเมืองและการปฏิรูปแล้ว สมคิด เลิศไพฑูรย์ ในฐานะผู้บริหารหมายเลขหนึ่งของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ยังพูดถึงการต่อสู้กันทางความคิดในเรื่องการเมืองที่เกิดขึ้นภายในมหาวิทยาลัยเช่นกัน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกรณีที่นักวิชาการและนักศึกษาของมหาวิทยาลัยออกมาเคลื่อนไหวในเรื่องประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งจะว่าไปก็เริ่มขึ้นตั้งแต่การก่อตั้งของกลุ่มนิติราษฎร์มาจนถึงกรณีการแสดงความคิดเห็นผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ของ “สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล” อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ ซึ่งในฐานะที่ดำรงตำแหน่งอธิการบดียืนยันในหลักการว่า “ธรรมศาสตร์ยังมีเสรีภาพทุกตารางนิ้ว”

“ธรรมศาสตร์เป็นมหาวิทยาลัยที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน เป็นมหาวิทยาลัยการเมืองและกฎหมาย เป็นมหาวิทยาลัยที่ อาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ บอกว่ามีเสรีภาพทุกตารางนิ้ว ศิษย์เก่าศิษย์ปัจจุบันทุกคนยึดหลักการนี้มาตลอดว่าธรรมศาสตร์เป็นมหาวิทยาลัยซึ่งต้องมีสิทธิเสรีภาพในทางวิชาการ”

“ขณะเดียวกันธรรมศาสตร์ก็เป็นมหาวิทยาลัยเน้นการเมืองการปกครอง เน้นการวิพากษ์วิจารณ์ทั้งหลาย แต่ว่านี่ก็สิทธิของทุกคน ไม่ว่าจะเป็นอาจารย์ นักศึกษา เจ้าหน้าที่ แต่สิ่งที่ผมเห็นว่ามีปัญหาคือ การวิพากษ์วิจารณ์ชนิดที่ละเมิดสิทธิของคนอื่น โดยเฉพาะการไปพาดพิงถึงกรณีประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112”

ในที่นี้ อ.สมคิด บอกถึงกระบวนการตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่งต่อเรื่องนี้ว่า “ผมวางตัวให้อยู่ตรงกึ่งกลางมากที่สุดในฐานะคนที่เป็นอธิการบดี หมายความว่าผมก็สวมหมวกหลายใบ ผมก็วิพากษ์วิจารณ์สังคม วันนี้ผมให้สัมภาษณ์คุณผมก็วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล แต่คุณต้องรู้ว่าการวิพากษ์วิจารณ์มีขอบเขตมากน้อยแค่ไหนบ้าง”

“ดังนั้นผมถึงพยายามพูดบ้าง คือ ในฐานะอธิการบดีไม่พูดเลยไม่ได้ เพราะท้ายที่สุดอธิการบดีจะได้รับการกดดันจากคนนอกคนในทั้งหมด ถามว่าทำไมมีคนพูดวิพากษ์วิจารณ์ขนาดนี้อธิการบดีไม่ลงมาจัดการ ผมก็บอกว่าผมจัดการได้บ้างแต่ไม่ได้ทั้งหมด ผมเตือนได้ ผมเคยเตือนแล้ว คือ กลุ่มนิติราษฎร์ที่เคลื่อนไหวเรื่องมาตรา 112 ผมก็โดนวิจารณ์อย่างหนัก แต่ผมก็ไม่ได้คิดอะไร เพราะเป็นเรื่องหน้าที่ของคนเป็นอธิการบดี แต่ถ้าผมเป็นแค่ สมคิด เลิศไพฑูรย์ ธรรมดา ผมก็ไม่เตือนหรอก อยากไปทำอะไรก็ทำไป คุณก็ต้องรับผิดชอบไป”

อธิการบดี มธ. ย้ำว่า “ในฐานะเป็นอธิการบดีต้องออกมาเตือนคนทั้งหลาย วันนี้มีอาจารย์ นักศึกษาธรรมศาสตร์หลายคนที่ยังวิพากษ์วิจารณ์เรื่องพวกนี้อยู่ ผมก็บอก ผมไม่เห็นด้วยกับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง ก็พยายามเตือนกันให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ แต่ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะคนเหล่านี้มีความคิดของเขาเอง”

บทบาทของอธิการบดีต่ออาจารย์ของมหาวิทยาลัยที่ถูกตั้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา 112 คืออะไร? อ.สมคิด ยืนยันหนักแน่นว่า “ต้องยึดกฎหมายเป็นสำคัญ เพราะกฎหมาย คือ กติกากฎเกณฑ์ทั้งหลาย ใครที่ทำถูกก็ว่าไปตามถูก ใครทำผิดก็ว่าไปตามผิด แต่ขณะเดียวกัน ต้องคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของคนทั้งหลายที่เขามีสิทธิพูดด้วย เรื่องบางเรื่องเข้าใจว่าคนวิพากษ์วิจารณ์ก็ถูก บางเรื่องก็ผิด ก็ต้องแยกเป็นกรณีไป ผมมีความคิดว่าขอให้เจ้าหน้าที่ อาจารย์ และนักศึกษา ที่ใช้ชื่อในนามธรรมศาสตร์ คำนึงถึงธรรมศาสตร์ด้วยว่ากำลังทำอะไรอยู่”

“ผมย้ำอีกทีว่าผมไม่ได้ห้าม  ผมห้ามไม่ได้หรอก แต่เขาจะพูดอย่างไรก็แล้วแต่ เขาก็ต้องรับผิดชอบในคำพูดเขาเองทั้งในทางอาญาและแพ่ง แต่ในฐานะอธิการบดี ในฐานะผู้บังคับบัญชา ในฐานะหมายเลขหนึ่งขององค์กร ถ้าผมบอกว่าใครอยากพูดอะไรก็พูดไป ไปรับผิดชอบกันเอง ผมอยู่เฉยๆ ผมทำแบบนั้นไม่ได้”

“ถ้าทำอย่างนั้น คือ เท่ากับไม่ได้เป็นอธิการบดี ไม่ได้เป็นผู้บริหารมหาวิทยาลัย ผมถึงต้องเตือนและส่งสัญญาณบ้าง ผมก็มีโทรศัพท์ไปคุยบ้าง ผมก็บอกให้รองอธิการบดีให้ไปคุยบ้างไปเตือนบ้าง ผมก็ทำพอสมควรนะครับ ทำอยู่เยอะ ส่วนตัวผมไม่ได้คุยนะ ผมไม่รู้ว่าเขาอยู่ไหน แต่ผมก็ส่งสัญญาณผ่านคนกลางไปว่าทำไมคุณต้องวิพากษ์วิจารณ์หนักขนาดนี้ ทำไมคุณไม่ดูว่ามันผิดกฎหมายหรือไม่”

มีเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารมากดดันบ้างหรือไม่? อธิการบดี มธ. ตอบว่า “จะเรียกกดดันไม่ได้ เขามาทำหน้าที่ของเขา ผมก็เรียนว่ามีตำรวจ ทหาร มาหาผมหลายครั้ง ตำรวจก็มาถามว่าอาจารย์คนนี้อยู่ที่ไหน นักศึกษาคนนี้อยู่ไหน เขายังลงทะเบียนหรือไม่ เขายังรับเงินเดือนหรือไม่ ผมก็ตอบไปตามข้อเท็จจริงและตามกระบวนการ ทหารก็มาคุยบ้างครั้งคราว เป็นเรื่องเกี่ยวกับกิจกรรมของนักศึกษาและอาจารย์ในมหาวิทยาลัย” 

“ทหารเขาก็พูดกับผมตรงๆ ว่าเขาอยากให้นักศึกษามีสิทธิเสรีภาพ เขาพูดกับผมอย่างนี้เลย เขาบอกว่าสิ่งที่ธรรมศาสตร์ทำถูกต้องแล้ว คือ การที่เราเปิดให้นักศึกษาได้พูดได้บ้างอย่างไม่รุนแรง ยกตัวอย่างกรณีของอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่เกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ทางผู้จัดเขามาขออนุญาตกับผม ผมก็อนุญาต แต่ทหารเขาขอดูหน่อยและขอไม่ให้จัด แต่ทางนั้นยังยืนยันจะจัด เขาถึงเข้ามา แต่ผมไม่เห็นด้วยกับการเข้ามาและมาจับคนในธรรมศาสตร์”

อ.สมคิด เผยความในใจอีกว่า “วันนี้เราอยู่ภายใต้กฎอัยการศึก ผมเห็นด้วยว่าคนธรรมศาสตร์ควรมีสิทธิพูด แต่คนธรรมศาสตร์ก็ต้องรู้นะว่าวันนี้ประกาศกฎอัยการศึกอยู่ และผมก็พูดชัดว่ากฎอัยการศึกไม่ได้ใช้เฉพาะนอกธรรมศาสตร์ แต่พื้นที่ธรรมศาสตร์ทั้งหมดนี้กฎอัยการศึกก็ยังใช้อยู่”

ถามถึงการดำเนินการกับกรณีของ อ.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ ของมหาวิทยาลัย ได้คำตอบจาก อ.สมคิด ผู้ที่เป็นอธิการบดีว่า “ผมเองไม่ค่อยได้อ่านข้อความของอาจารย์สมศักดิ์เท่าไหร่ ยกเว้นจะมีคนอื่นส่งมาให้ผมอ่าน แต่เท่าที่ดูก็หมิ่นเหม่พอสมควร ผมถึงบอกว่าอาจารย์สมศักดิ์ก็ต้องดูให้ดีในการโพสต์ข้อความอะไรต่างๆ แต่ผมย้ำอีกทีว่าผมไม่มีสิทธิไปห้ามอาจารย์สมศักดิ์หรอก เพราะนี่เป็นเสรีภาพ แต่อาจารย์สมศักดิ์ต้องรับผิดชอบต่อทุกอย่างที่อาจารย์สมศักดิ์ทำลงไป”

“ผมอย่างนี้นะ สมมติอาจารย์สมศักดิ์เป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อยู่ และอาจารย์สมศักดิ์ถูกดำเนินการตามมาตรา 112 ปกติตามระบบกฎหมายก็ว่ากันไป อาจารย์สมศักดิ์ก็ยังสอนหนังสือได้ อาจารย์สมศักดิ์ก็ต้องไปขึ้นศาลถ้าถูกฟ้องคดี 112 อันนี้เป็นเรื่องปกติไม่ได้มีอะไรเป็นพิเศษ”

จะต้องตั้งกระบวนการตรวจสอบอะไรหรือไม่? อ.สมคิด ยืนยันว่า ไม่ได้คิดไปทำขนาดนั้น เรื่องคดีความเขาก็ต้อง
รับผิดชอบไป ส่วนสถานะในการเป็นอาจารย์ของอาจารย์สมศักดิ์ก็ต้องตรวจสอบดู ที่ผ่านมาได้ถามทางคณะว่าอาจารย์สมศักดิ์ได้ทำเรื่องลาตามระเบียบหรือไม่ ซึ่งทราบว่ายังไม่มีการทำเรื่องลาอย่างเป็นทางการ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : มือเขียนรธน 50 มองปี58 ปฏิรูปไม่เกิด คนไม่เปลี่ยน

view