สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

สร้างมูลค่าจากงานบริการ (2)

สร้างมูลค่าจากงานบริการ (2)

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




การบริหารธุรกิจบริการให้ประสบความสำเร็จมีขั้นตอนกระบวนการ โดยเริ่มต้นที่การวางตำแหน่งเชิงกลยุทธ์ของธุรกิจ

หรือ Strategic positioning เพราะถ้าไม่มีการจัดวางไว้แต่แรก การลงทุนก็จะสิ้นเปลือง ทิศทางเป้าหมายที่ไม่ชัดเจนจะมีผลทำให้บุคลากรทำงานไม่ประสานสัมพันธ์กัน สิ่งหนึ่งซึ่งสะท้อนให้เห็นชัดเจนว่าองค์กรมีการจัดวางตำแหน่งทางธุรกิจแล้วคือ การกำหนดตลาดเป้าหมาย (Target market) รู้ว่ากำลังทำธุรกิจอยู่ในตลาดกลุ่มไหน ลูกค้าเป็นใคร มีปริมาณมากน้อยเพียงใด มีความต้องการอะไรบ้าง และคู่แข่งที่สำคัญเก่งอะไร

ซึ่งในการจัดการนั้นจะใช้เครื่องมือช่วยวิเคราะห์สภาพการแข่งขันในตลาดจากแรงผลักดัน 5 ด้าน หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า Five Forces Model (Analysis) ที่ประกอบด้วย (1) อำนาจต่อรองจากผู้บริโภค (2) อำนาจต่อรองของผู้รับจ้างช่วง (3) การเข้ามาได้ง่ายหรือยากของผู้ประกอบการหน้าใหม่ (4) การแย่งชิงตลาดชั่วคราวจากสินค้าทดแทน และ (5) การแข่งขันรุนแรงมากน้อยเพียงใดจากผู้ให้บริการเดิมที่อยู่ในตลาดก่อนหน้านี้ โดยใช้วิธีการเทียบพลังระหว่างเรากับแรงผลักดันทั้ง 5 โดยใช้วิธีเปรียบเป็นคู่ๆ เช่น ถ้าหน่วยงานเราต้องพึ่งพิงหรือพึ่งพาผู้รับจ้างช่วงเพียง 1 หรือ 2 รายเท่านั้น ถ้าขาดเขาเราก็อยู่ไม่ได้หรือธุรกิจอาจหยุดชะงัก เท่ากับเรามีอำนาจน้อยกว่า จึงต้องหามาตรการแก้ไขป้องกัน หรือในธุรกิจร้านกาแฟระดับล่าง จะเห็นว่าการเข้ามาของผู้ประกอบการรายใหม่ๆเกิดขึ้นได้ง่ายมาก ใช้เงินลงทุนไม่มาก และไม่มีเทคโนโลยีสูงนัก เราจึงเห็นร้านกาแฟเกิดขึ้นมากมาย แต่ถ้าเราจัดวางตำแหน่งในระดับที่สูงขึ้น ก็จะเจอคู่แข่งน้อยลง เพราะเริ่มต้องมีการลงทุนร้าน มีการจัดการลูกค้าที่ดี และมีตำแหน่งที่ตั้งที่เหมาะสม เป็นต้น

ประเด็นสุดท้ายในการวางตำแหน่งเชิงกลยุทธ์คือ การตัดสินใจ ซึ่งจะสะท้อนออกมาผ่านพันธกิจ วัตถุประสงค์เชิงกลยุมธ์ และค่าเป้าหมายในอนาคตที่คาดหวัง เมื่อได้ครบทั้งหมดแล้ว สิ่งที่ต้องดำเนินการต่อไปคือการถ่ายทอดนโยบาย ทิศทาง และเป้าหมายลงไปในระดับบริหารเพื่อใช้กำหนดกลยุทธ์การบริการ (แนวคิด ระบบ และการส่งมอบ) และการดำเนินการให้บรรลุเป้าหมาย ตลอดจนการปรับปรุงแก้ไขเมื่อพบปัญหาอุปสรรค หรือเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อภาพรวม สรุปเป็นขั้นตอนสั้นๆได้ดังนี้

กระบวนการวางแผนเชิงกลยุทธ์ด้านบริการ (The Strategic Planning Process for Services)

1.การวางตำแหน่งเชิงกลยุทธ์

•การกำหนด “ตลาดเป้าหมาย”

•การวิเคราะห์แรงผลักดัน 5 ด้าน หรือความสามารถหลักขององค์กร (จุดแข็ง จุดขาย)

•การตัดสินใจ – พันธกิจ วัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์ และค่าเป้าหมาย

2.กลยุทธ์การบริการ

•การกำหนด “แนวคิดการบริการ” “ระบบการดำเนินการ” และ “กระบวนการส่งมอบ”

•ลำดับความสำคัญในการแข่งขัน คู่แข่ง และการสร้างความได้เปรียบ

•การตัดสินใจ – ตำแหน่งที่ตั้ง ขนาดองค์กร ประเภทการบริการ และกำลังคน

3.การบริหารและการดำเนินการ

•การบริหารงานบริการประจำวันที่ดี

•การตัดสินใจ – การคัดเลือกพันธมิตรและผู้รับจ้างช่วง ระยะเวลานำ โครงสร้างและระดับชั้นของพนักงาน

นี่เป็นเพียงแนวทางเบื้องต้น ที่จะช่วยเราเหมือนที่ปรึกษาคอยชี้แนะและให้คำแนะนำในการบริหารธุรกิจบริการในแต่ละย่างก้าวอย่างมั่นคง ซึ่งเมื่อลงไปในรายละเอียด ก็จะบริหารจัดการองค์กรของตนเองให้มีศักยภาพและความสามารถการแข่งขันเหนือคู่แข่งได้

ตัวอย่างเปรียบเทียบ การบริหารงานบริการของ 2 สายการบิน ที่มีกลยุทธ์การบริการและระบบการบริหารงานที่แตกต่างกัน ระหว่างสายการบินที่ให้บริการแบบสมบูรณ์แบบ (Full services) และสายการบินต้นทุนต่ำที่ให้ลูกค้าได้เลือกที่จะใช้บริการเสริมเป็นส่วนๆตามความต้องการ (Pay per use services) พอสังเขปดังนี้

1.กลยุทธ์ที่ใช้ในภาพรวม Premium Airlines เส้นทางการบินมากเท่าที่เป็นไปได้ ในขณะที่ Low-cost Airlines เส้นทางการบินระยะใกล้เป็นหลัก

2.กลยุทธ์เฉพาะ Premium Airlines มีบริการที่แตกต่างกันไป ขึ้นกับรูปแบบเส้นทางและความถี่การบิน Low-cost Airlines มุ่งเน้นผู้โดยสารภายในประเทศ และการเป็นผู้นำด้านต้นทุน

3.ความสามารถหลัก Premium Airlines การบริการที่เพียบพร้อม และความสะดวกสบายครบครัน มีช่วงเวลาการบินที่เหมาะสมกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย และเลือกบินได้มากในช่วงเวลาต่างๆในแต่ละวัน พร้อมประกันการเดินทางสมบูรณ์แบบ ในขณะที่ Low-cost Airlines การบริหารต้นทุนจนสามารถทำราคาที่ต่ำ ใช้ประโยชน์จากฝูงบินที่มีจำกัด ให้เกิดการบินได้มากครั้ง ด้วยระบบขั้นพื้นฐานที่มีมาตรฐาน และมีบริการเสริมสำหรับลูกค้าเฉพาะรายที่ยินดีจะจ่ายเพิ่มเติม

4.ชนิดของเครื่องบิน Premium Airlines มีมากมายหลายแบบ หลายขนาด จากผู้ผลิตเครื่องบินหลายราย ทำให้สามารถจัดสรรเครื่องบินรุ่นต่างๆให้สอดรับกับเส้นทางการบินทั้งสั้นและยาว ในขณะที่ Low-cost Airlines ส่วนใหญ่จะมีเครื่องบินไม่กี่แบบ และไม่กี่ขนาด โดยมากจะใช้เครื่องบินยี่ห้อเดียว เพื่อให้ง่ายในการบำรุงรักษา

5.จำนวนเครื่องบิน Premium Airlines มีจำนวนเครื่องบินมาก ฝูงบินขนาดใหญ่ ทำให้วางแผนทดแทนกันได้เมื่อมีเหตุขัดข้องหรือฉุกเฉิน ในขณะที่ Low-cost Airlines มีจำนวนเครื่องบินจำกัด โดยมากจะเป็นเครื่องบินเก่า หรือเช่ามา เป็นผลให้อาจมีปัญหาล่าช้า หรือยกเลิกได้ง่าย

6.จุดให้บริการการบิน Premium Airlines มีมากมายหลายเมืองทั่วโลก ในขณะที่ Low-cost Airlines มุ่งเน้นการบินระยะใกล้เป็นหลัก หรือบินภายในประเทศ

7.เที่ยวบินต่อวัน Premium Airlines มีหลายช่วงเวลา ทำให้ลูกค้าสามารถเลือกบินในช่วงเวลาที่สอดคล้องกับความต้องการได้ ในขณะที่ Low-cost Airlines มีวันละ 1-2 เที่ยวเท่านั้น

8.ระยะเวลาบินเฉลี่ย Premium Airlines เครื่องมีสมรรถนะสูง และกัปตันมีประสบการณ์ โดยมากมักเป็นการบินตรง โดยไม่ต้องเปลี่ยนเครื่อง จึงใช้เวลาได้สั้นกว่า ในขณะที่ Low-cost Airlines เมื่อต้องบินในระยะไกลขึ้น มักต้องใช้วิธีการเปลี่ยนเครื่อง หรือต้องทำการบินร่วมกับสายการบินอื่น เป็นผลให้เส้นทางไกล ต้องใช้เวลานาน

9.ปริมาณการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง Premium Airlines มากกว่า เพราะฝูงบินใหญ่กว่า การสั่งซื้อน้ำมันในปริมาณที่มาก อาจมีอำนาจการต่อรองสูง แต่ก็มีความเสี่ยงสูงเช่นกันจากราคาที่ผันผวน ในขณะที่ Low-cost Airlines มีความต้องการใช้น้ำมันน้อย เพราะฝูงบินขนาดเล็ก จำนวนเที่ยวบินไม่มาก ความเสี่ยงจากราคาผันผวนของน้ำมันจึงอาจน้อยกว่า

10.จำนวนพนักงาน Premium Airlines มาก ต้องใช้การบริหารทรัพยากรบุคคลที่ดี มีความท้าทายมาก ในขณะที่ Low-cost Airlines น้อย ต้องใช้สอยอย่างประหยัด แต่ละคนต้องมีทักษะหลากหลาย

ในธุรกิจบริการอื่นๆ สามารถนำแนวทางและวิธีการดังกล่าวข้างต้นไปใช้ในการทบทวน หรือเปรียบเทียบ เพื่อกำหนดกลยุทธ์สร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน อยู่ที่ว่าใครจะสร้างสรรค์และนำเสนอความแตกต่างที่โดดเด่นโดนใจมากกว่ากัน


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : สร้างมูลค่าจากงานบริการ (2)

view