สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

สวัสดีปีใหม่ครับ

สวัสดีปีใหม่ครับ

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




เดือนที่แล้วผมได้เรียนท่านผู้อ่านถึงการคาดการณ์ว่าในปีนี้จะมีอะไรเกิดขึ้นนะครับ

ถึงตอนที่เขียนบทความแรกของปี 2558 ขณะนี้ก็มีเค้าลางบางอย่างแล้วว่าน่าจะเป็นจริงอยู่หลายประการ (อันที่ไม่ถูกก็มีครับ ก็เรื่องดอกเบี้ยนโยบายนั่นแหละ แต่ผมคิดว่าไม่นานเกินรอครับ) ได้เคยเรียนท่านผู้อ่านที่ได้กรุณาติดตามผมไปแล้วว่า หากเราต้องการ”คิด”อย่างที่สากลเขาคิด เราคงต้องปรับตัวปรับแนวความคิดให้เป็นสากลด้วยนะครับ ความรู้สึกแบบไทย ๆ หลายอย่างอาจทำให้เราตีความตลาดการเงินผิด บางทีก็ผิดไปเล็กน้อย บางทีก็กลายเป็นคนละเรื่องเลยก็มีนะครับ ตัวอย่างเช่น การเฉลิมฉลองเทศกาลต่าง ๆ ตลาดการเงินของเรานั้นมีความเป็นสากลอย่างมาก ดังนั้นจะชอบหรือไม่ชอบ เราก็ต้อง “Follow” เทศกาลที่มีความเป็นสากลให้มาก

ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าเขาหยุด เราก็หยุด เขาไม่หยุด เราก็หยุดนะครับ แต่หากเราตามได้แบบเขาเราก็จะรู้ว่าการเคลื่อนไหวของตลาดช่วงใดที่มีความสำคัญ ไม่สำคัญอย่างไร การหยุดในเทศกาลคริสต์มาสเป็นตัวอย่างที่ดีที่ชี้ให้เห็นว่า การเคลื่อนไหวก่อนครึ่งหลังของเดือนธันวาคมจะค่อนข้างหวือหวา พอใกล้คริสต์มาสก็จะเงียบเหงาและมีการซื้อ / ขายกันเบาบาง หลังจากคริสต์มาสก็จะเริ่มตื่นขึ้นมา ในขณะที่เราฉลองปีใหม่จะกี่วันก็ตาม ที่เมืองนอกเขาไม่ได้ฉลองกับเราด้วย ความรู้สึกของฝรั่งมันไป peak ที่ 24-25 ธ.ค. วันที่ 31 เขาก็ไม่หยุด วันที่ 1ม.ค.ก็ไม่ได้แตกต่างในบรรยากาศวันหยุดแบบบ้านเรานะครับ ดังนั้นเรายังคงต้องตามตลาดให้ดี ถึงแม้เราจะหยุดก็ตามที

ตัวอย่างที่ชัดเจน ขออนุญาตยกมานะครับ ในปีที่ผ่านมา บ้านเราหยุดติดต่อกันหลายวัน ประเพณีของเราก็คือต้องส่งท้ายปีเก่า และต้อนรับปีใหม่ ด้งนั้นเป็นธรรมเนียมบ้านเราที่ต้องหยุดวันที่ 31 ธ.ค. และ 1 ม.ค.ปี 2557 ที่เพิ่งผ่านมาก็ยังมีการ”คืนความสุข”ให้กับประชาชนเพิ่มเติม ด้วยการประกาศให้วันที่ 2 มกราคม หยุดเพิ่มอีกหนึ่งวัน หากเราจะมองจากมุมมองของตลาดการเงินนะครับ วันที่ 31ธ.ค. มีเพียงกรุงเทพและโตเกียว(ประเทศไทยและญี่ปุ่น) เท่านั้นที่หยุดทำการ ไม่ต้องพูดถึงวันที่ 2 ม.ค. ที่มีความเป็นไปได้อย่างมากที่บ้านเรา”หยุดเอง”อยู่คนเดียว ดังนั้นหากท่านใดที่มีการติดตามตลาดการเงินมาอย่างต่อเนื่อง ก็ยังคงต้องตามตลาดกันในคืนวันที่ 31 ธ.ค. (ซึ่งตรงกับนิวยอร์ก ตอนกลางวัน) ผมคนหนึ่งที่ยังตามตลาดอยู่ ไม่ต้องพูดถึงวันที่ 2 ม.ค.ที่การติดตามตลาดยังคงมีอยู่ต่อไปไม่ว่าในขณะนั้นจะอยู่ที่หัวหิน , เขาใหญ่ หรือสยามสแควร์ก็ตาม สิ่งที่อยากจะเรียนนั้นก็คือ จิตวิญญาณที่เป็นสากลเท่านั้นจะทำให้ท่านไม่ขาดการติดต่อกับตลาดการเงิน บางท่านอาจจะบอกว่า”เยอะ”ไปรึเปล่า อันนี้ก็แล้วแต่มุมมองนะครับ แต่ผมอยากเรียนว่าคนที่อยู่ในตลาดการเงินไม่ว่าจะเป็นตลาดเงินหรือตลาดทุนนั้น สิ่งที่เรียกเงินนั้นไม่เคยหลับ ดังนั้นคงต้องทำตัวให้เป็นสากลให้มากดีกว่าน้อยนะครับ

ลองมาดูนะครับว่ามีอะไรที่เกิดขึ้นในวันที่ 31 ธ.ค.และ 2 ม.ค. กันบ้าง บางท่านอาจจะทราบแล้วต้องขออภัย บางท่านอาจจะมองข้ามไปก็ถือโอกาสนี้เรียนให้ทราบเป็นตัวอย่างนะครับ ตลาดหุ้นในคืน 31 ธ.ค. ที่นิวยอร์ค ดัชนี S&P 500 ปรับตัวลดลงมาพอควร ราคาน้ำมันดิบก็ปรับตัวลดลงมาเช่นกันสำหรับผมนั้นการปรับตัวลดลงมาของดัชนี S&P 500 นั้นบอกผมว่าตลาดหุ้นน่าจะเปิดศักราชใหม่ด้วยการลดลง แต่ก็ยังขอดูในวันที่ 2 ม.ค. อีกหนึ่งวัน เนื่องจากเป็นการเปิดทำการวันแรกของปี 2558 พร้อมกันทั่วโลก(ยกเว้นบ้านเรา) ผมตามตั้งแต่โตเกียว สิงคโปร์ ยุโรป และไปจบที่อเมริกา ก็จะเห็นว่ายังไม่ผงกหัวกันได้เท่าไหร่ ดัชนี S&P 500 เคลื่อนไหวแคบ ๆ และปิดแทบไม่เปลี่ยนแปลงจากวันที่ 31 ธ.ค.

ข้อสังเกตเหล่านี้ทำให้ผมเชื่อว่าเมื่อเรากลับมาทำงานกันในวันที่ 5 ม.ค.หุ้นก็น่าจะปรับตัวลดลง ทางด้านอัตราแลกเปลี่ยนก็มีความเคลื่อนไหวเล็กน้อย ค่าของเงินดอลลาร์มีค่ากลับมาขึ้นเหนือระดับ 120 เยนอยู่ได้ ในขณะที่ High Yielders เช่น ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ก็มีการเคลื่อนไหวไม่มากนัก ค่าของเงินบาทก็ไม่เปลี่ยนแปลงเท่าไรนักอยู่ที่ประมาณ 33 บาทต่อดอลลาร์ ตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอาจจะดูทิศทางยากหน่อย เพราะไม่มีดัชนีอะไรบ่งชี้เหมือนหุ้น ตามธรรมชาติของการซื้อ / ขาย แบบ Over-The Counter (OTC) คงต้องคอยดูว่าอะไรจะเกิดขึ้นในวันที่ 5 ม.ค. และในวันถัด ๆ ไป ใจผมเองก็แอบลุ้นลึก ๆ ว่าดอลลาร์จะมีค่าสูงขึ้นตามมุมมองที่ได้เคยเรียนท่านผู้อ่านไปในหลายๆ คราวก่อน

การหยุดแบบสากล(และคิดแบบสากล)อาจจะทำให้พวกเรามี Holiday Mood ไม่เหมือนชาวบ้านชาวช่องเขานะครับ แต่ผมคิดว่าหากเราทำให้เป็นกิจวัตร นอกจากว่าจะทำให้เราไม่ขาดการติดต่อกับตลาดแล้ว(ซึ่งจะทำให้ท่าน”พร้อม”กว่าคนอื่น ๆ ที่ไม่ได้ตาม) อีกอย่างหนึ่งที่จะได้ก็คือการวิเคราะห์เหตุปัจจัยที่มีความเป็นสากลมากขึ้น ผมขออนุญาตยกตัวอย่างอีกตัวอย่างหนึ่ง ตอนที่เกิดเหตุการณ์กันยายน 2549 การเข้ายึดอำนาจครั้งนั้นมีการประกาศปิดทำการธนาคารด้วย ในการวิเคราะห์ของคนที่อยู่ในตลาดขณะนั้น เชื่อกันว่าพอเปิดทำการก็จะมีการแห่ซื้อดอลลาร์กันอย่างมากเพราะ(เราคิดว่า)ฝรั่งน่าจะ”หนีไปตั้งหลัก”ก่อน อัตราดอกเบี้ยเงินบาทก็น่าจะขยับตัวสูงขึ้นจากการที่(เราคิดว่า) ฝรั่งน่าจะทิ้งพันธบัตรที่ถือครองอยู่ ทุกคนก็มีการเตรียมตัวและซักซ้อมความเข้าใจกับทีมงานว่าใครต้องทำอะไรและเมื่อใดพอตลาดเปิดขึ้นจริง ๆ ก็มีแรงซื้อดอลลาร์มาในระยะเวลาเพียงสั้น ๆ เท่านั้น การคาดว่าจะมีการทิ้งพันธบัตรก็ไม่ได้เกิดขึ้นสักเท่าไหร่ ปรากฏว่าเหตุการณ์ค่อนข้างปกติ สำหรับผมแล้วก็ถือเป็น “Lesson learned” อีกอันหนึ่งในการที่พยายามคิด(และในบางทีก็ต้องคาดเดา) ให้เป็นสากลมากขึ้น จริงอยู่ผมและทีมงานไม่ได้เกิดความเสียหาย จากเหตุการณ์ในคราวนั้น แต่บทเรียนนี้ก็ทำให้ผมนิ่งขึ้น เมื่อเหตุการณ์คล้าย ๆ กันเกิดขึ้นในภายหลังหลายต่อหลายหน และทำให้ผมเค้นเอาเฉพาะแก่นออกมาได้จริง ๆ ว่าอะไรจะเป็นเหตุให้ตลาดมันเคลื่อนไหวจริง ๆ

ในปีใหม่นี้ก็ขอให้ทุกท่านมีความสุข สดชื่น สมหวัง นะครับ ติดตามตลาดการเงินอย่างสบายใจ จะ cut lossหรือ take profit ก็ขอให้ทำได้สำเร็จ และถูกที่ถูกทางนะครับ สุดท้ายที่ต้องเรียนตามที่ได้เรียนเป็นประจำคือ ทรรศนะต่าง ๆ ที่ผมแสดงในที่นี้ เป็นความเห็นของผมส่วนตัวนะครับ และโปรดให้วิจารณญาณ ในการพิจารณาด้วยครับ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : สวัสดีปีใหม่ครับ

view