สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

มองการลงทุนทางการศึกษาที่ทำให้อเมริกาเป็นเลิศ

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ ระดมสมอง โดย ไสว บุญมา

ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ชาวอเมริกันมองว่า ระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานของตนตกต่ำมาก เนื่องจากการทดสอบความสัมฤทธิ์ทางการศึกษาผลออกมาแพ้แม้กระทั่งประเทศที่ชาวอเมริกันมองว่ายังล้าหลัง

ด้วยเหตุนี้จึงมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบและเนื้อหาของการศึกษาหลายครั้ง และนำแนวคิดใหม่ ๆ หลายอย่างเข้าไปใช้ ทั้งโดยฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายเอกชน แต่ผลที่ออกมา ยังไม่เป็นที่น่าพอใจ กระบวนการค้นหาคำตอบและการระดมสมอง หรือการถกเถียงกันจึงยังดำเนินต่อไปอย่างเข้มข้น

ในกระบวนการนี้ มหาเศรษฐี จำนวนมาก ได้เข้าร่วม รวมทั้ง บิลล์ เกตส์ ซึ่งสนใจในด้านการศึกษามานาน พร้อมกับทุ่มเงินจำนวนมหาศาลลงไปเพื่อสนับสนุนการวิจัยในแนว "ถึงลูกถึงคน" ความสนใจในด้านการศึกษาของเขาแสดงออกมาในรูปของหนังสือชื่อ The Road Ahead ซึ่งพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2538 (บทคัดย่อของหนังสืออาจดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์ของมูลนิธินักอ่านบ้านนา www.bannareader.com) ตอนนั้นเขาอายุ 40 ปี และเพิ่งเริ่มเป็นมหาเศรษฐีอันดับ 1 ของโลก ปรากฏว่าหนังสือขายดีมากจนครองหมายเลข 1 ของหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์อยู่หลายสัปดาห์ บิลล์ เกตส์ มอบรายได้จากการขายหนังสือทั้งหมดให้แก่มูลนิธิเพื่อปรับปรุงการศึกษา

สตีฟ ฟอร์บส์ เป็นมหาเศรษฐีอีกคนหนึ่งซึ่งสนใจในด้านการศึกษาเป็นพิเศษ ด้วยเหตุนี้ นิตยสาร Forbes ที่เขาเป็นหัวหน้าบรรณาธิการ จึงนำผลของการระดมสมองทางด้านการศึกษา มาลงพิมพ์ในฉบับประจำวันที่ 15 ธันวาคม ฉบับนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับการบริจาคทรัพย์สินเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ของบรรดามหาเศรษฐีอเมริกันรวมอยู่ด้วย

เนื่องจากการปรับเปลี่ยนรูปแบบและเนื้อหาของระบบการศึกษาที่ผ่านมาไม่ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ นิตยสารจึงท้าทายผู้เชี่ยวชาญให้มองหามาตรการที่พวกเขาคิดว่าจะทำให้การศึกษาของอเมริกาได้ผล ไม่ต่ำกว่าอันดับ 5 ของโลก

ผู้เชี่ยวชาญได้มาตรการ 5 กลุ่ม ซึ่งผู้เชี่ยวชาญทางด้านการลงทุนนำมาคำนวณว่าจะต้องใช้เงินทุนเท่าไรในช่วงเวลา 20 ปีข้างหน้า และผลที่ออกมาจะเป็นเงินเท่าไรในช่วงเวลา 80 ปี การคำนวณต้องใช้สมมติฐานหลายอย่าง แต่นิตยสารมั่นใจว่าผลที่ออกมามีความน่าเชื่อถือได้สูง

ขอนำมาตรการมาเสนอคร่าว ๆ ตามลำดับ ของผลลัพธ์จากสูงไปหาต่ำ พร้อมชื่อมหาเศรษฐีที่สนับสนุน

เพิ่มศักยภาพและอำนาจพร้อมกับความรับผิดชอบให้แก่ครูใหญ่ มาตรการสำคัญประกอบด้วยการก่อตั้งสถาบันขึ้นมาฝึกครูใหญ่และขึ้นเงินเดือนให้พวกเขา 26% พร้อมกับเปลี่ยนกฎหมายอนุญาตให้ครูใหญ่ทำหน้าที่คล้ายนายพลคุมกองทัพ ครูใหญ่มีอำนาจในการจ้างครูและบริหารงบประมาณ งานนี้ต้องใช้เงินทุน 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์ และได้ค่าตอบแทน 6.1 ล้านล้านดอลลาร์ หรือ 5,551 เท่าของเงินลงทุน มหาเศรษฐีที่สนับสนุนแนวคิดนี้ ได้แก่ จอห์น ฟิสเชอร์ เจ้าของทีมเบสบอลอาชีพโอ๊กแลนด์เดอร์ส

เปลี่ยนกระบวนการเรียนรู้ มาตรการสำคัญ ได้แก่ การขยายระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้ครอบคลุมทั่วทุกหัวระแหง แจกคอมพิวเตอร์ให้นักเรียน ใส่บทเรียนซึ่งปรับเปลี่ยนให้ตรงกับความต้องการของนักเรียนแต่ละคนลงไปในโปรแกรม ฝึกอบรมครูให้มีความรอบรู้ รวมทั้งในด้านการเป็นพี่เลี้ยงแก่นักเรียน และสนธิการเรียนการสอนในโรงเรียนและการเรียนผ่านระบบอินเทอร์เน็ต งานนี้ต้องใช้เงินทุน 4.43 หมื่นล้านดอลลาร์ และจะได้ผลตอบแทน 33.1 ล้านล้านดอลลาร์ หรือราว 746 เท่าของเงินลงทุน มหาเศรษฐีที่สนับสนุน ได้แก่ เฟรด วิลสัน ผู้ร่ำรวยจากการบริหารจัดการเงินทุน

ยกมาตรฐานวิชาหลักให้เทียบเท่ากับของชาวโลก และพร้อมที่จะเรียนต่อในมหาวิทยาลัย เรื่องนี้เป็นการต่อยอดสิ่งที่ทำอยู่แล้ว โดยการเพิ่มอุปกรณ์การเรียนการสอน การประเมินผลและการพัฒนาครู งานนี้ต้องใช้เงินทุนกว่า 1.85 แสนล้านดอลลาร์ และจะได้ค่าตอบแทนเกือบ 28 ล้านล้านดอลลาร์ หรือราว 149 เท่าของเงินลงทุน มหาเศรษฐีที่สนับสนุน ได้แก่ เอ็มมา บลูมเบิร์ก ลูกสาวอภิมหาเศรษฐี ไมเคิล บลูมเบิร์ก

ให้เด็กทุกคนเข้าถึงการศึกษาขั้นปฐมวัย ขยายการศึกษาของเด็กในระดับนี้ ซึ่งในปัจจุบันครอบคลุมเด็กแค่ 52% ให้ทั่วประเทศ พร้อมกับฝึกครูเพิ่มและสนธิหลักสูตรระหว่างขั้นปฐมวัยและขั้นอนุบาล งานนี้ต้องลงทุน 1.1 ล้านล้านดอลลาร์ และจะได้ค่าตอบแทน 38.4 ล้านล้านดอลลาร์ หรือราว 34 เท่าของเงินลงทุน มหาเศรษฐีที่สนับสนุน ได้แก่ เจ. บี. พริตซเกอร์ ซึ่งมีพ่อแม่ร่ำรวยมาก่อนและมีกิจการด้านการลงทุน


เพิ่มแรงจูงใจให้ครูและค้นหาครูที่ทั้งเก่งและมีจิตวิญญาณของการเป็นครู มาตรการสำคัญได้แก่ การขึ้นเงินเดือนครู 50% ซึ่งจะเป็นแรงจูงใจให้นักศึกษาเก่ง ๆ ในมหาวิทยาลัย สนใจออกมายึดอาชีพครูมากขึ้น พร้อมกับดึงดูดครูที่มีความรู้ความสามารถและทุ่มเทให้อยู่สอนต่อไป งานนี้ต้องลงทุน 4.8 ล้านล้านดอลลาร์ และจะได้ค่าตอบแทน 64.3 ล้านล้านดอลลาร์ หรือราว 12 เท่าของเงินลงทุน มหาเศรษฐีที่สนับสนุน ได้แก่ ลอร์รี รอบบินส์ ผู้ร่ำรวยจากการบริหารจัดการกองทุนเพื่อเก็งกำไร

นิตยสารเชิญผู้เกี่ยวข้อง 4 ด้าน ให้มานั่งล้อมวงคุยกันเพื่อพิจารณาข้อเสนอเหล่านี้ ได้แก่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของรัฐบาลกลาง ผู้ว่าการรัฐนิวยอร์ก ในฐานะตัวแทนของรัฐต่าง ๆ ประธานสมาพันธ์ครูแห่งอเมริกา และตัวแทนของคณะกรรมการสถานศึกษาท้องถิ่น

รัฐมนตรีสรุปผลการคุยกันว่า ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่าควรทำทั้ง 5 กลุ่มพร้อมกัน แต่จะทำได้หรือไม่ นิตยสารมิได้พูดถึง นอกจากจะจบรายงานในทำนองปรารภออกมาว่า เงินกว่า 6 ล้านล้านดอลลาร์ที่ต้องนำมาลงทุนนั้นเป็นก้อนมหาศาลยิ่งนัก

หากใช้ผลตอบแทนของการลงทุนเป็นเกณฑ์ตัดสิน ว่าควรจะทำอะไรในสภาพที่มีงบประมาณจำกัด มาตรการในกลุ่มแรกและกลุ่มที่สอง ซึ่งใช้งบประมาณในระดับหมื่นล้านดอลลาร์ ย่อมเหนือกว่ามาตรการในกลุ่มอื่นแบบเทียบกันไม่ติด

แม้เรื่องนี้น่าจะให้ข้อคิดแก่ผู้รับผิดชอบในด้านการปฏิรูปการศึกษาไทยมากก็จริง แต่เมืองไทยอาจทำเช่นเขาได้ยาก นอกจากภาครัฐและภาคเอกชนจะร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดทั้งเพื่อระดมสมองและเงินทุน และเพื่อลดระดับความฉ้อฉลลงอย่างมีนัยสำคัญ มิฉะนั้นการมอบทั้งอำนาจและงบประมาณให้แก่ผู้อำนวยการโรงเรียน จะเป็นดาบสองคมที่มีผลดีน้อยกว่าผลเสีย


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : มอง ลงทุนทางการศึกษา อเมริกา เป็นเลิศ

view