สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

Inter-market Analysis ในยุค 90s

Inter-market Analysis ในยุค 90s

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




"หากย้อนกลับไปเมื่อกว่า 20 ปีที่แล้ว ข่าวคราวเรื่องการปรับตัวลดลงของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจะถือว่าเป็นข่าวดีสำหรับทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้คนในตลาดทุน"

ในช่วงที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าประเด็นเรื่องของการปรับตัวลดลงของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก (ทั้งอ้างอิงโดย West Texas Intermediate ของ NYMEX หรือ ที่อ้างอิงจาก Brent Crude Oil) ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงกันเป็นวงกว้างในหลายแวดวง ไม่ว่าจะเป็น การเงิน การเกษตร การอุตสาหกรรม หรือ การพาณิชย์

ทั้งนี้เนื่องจากในยุคสังคมปัจจุบัน น้ำมันดิบถือได้ว่าเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีความสำคัญต่อผู้คนเป็นอย่างมากทั้งทางตรงและทางอ้อม พิจารณาจาก ตัวเลขที่กว่า 90% ของการขนส่งทั้งทางบก เรือ และอากาศ และ อีกประมาณ 95 % ของกระบวนการผลิตสินค้าในโลก ล้วนใช้พลังงานจากน้ำมันดิบ และ/หรือ ผลิตภัณฑ์พลอยได้ทั้งสิ้น

ซึ่งไม่น่าเป็นที่แปลกใจ ที่ในดัชนีราคาสินค้าโภคภัณฑ์ชั้นนำ อย่าง Rogers International Commodities Index (RICI) ที่ปัจจุบันให้น้ำหนักสินค้าประเภทน้ำมันดิบ (WTI + Brent) ในสัดส่วนเท่ากับ 29% (เคยขึ้นไปสูงสุดถึง 35%) สูงที่สุดในบรรดาสินค้าโภคภัณฑ์ชนิดต่างๆ ที่ถูกนับรวมในดัชนีอีก 35 ชนิด และบ่อยครั้งน้ำมันดิบได้ถูกหยิบยกขึ้นเป็นตัวแทนของสินทรัพย์ในกลุ่มของสินค้าโภคภัณฑ์ไปอย่างไม่เป็นทางการ

การปรับตัวลดลงของราคาน้ำมันที่หลุดแนวรับที่ US$80 ต่อบาร์เรล ลงมาที่ระดับราคา US$50 เมื่อเร็ว ๆ นี้ ดูเหมือนว่าจะทำให้ผู้คนที่อยู่ในตลาดหุ้นที่อยู่รอบข้างผมส่วนใหญ่จะไม่ค่อยมีความสุขเท่าไรนัก ทั้งนี้เนื่องจาก เมื่อไรก็ตามที่เห็นราคาน้ำมันปรับตัวลดลงก็มักจะเห็นดัชนีหุ้นไม่ว่าจะเป็น SET Index หรือ S&P500 มักจะปรับตัวร่วงลงพร้อม ๆ กันไปด้วย (ผมทราบดีครับว่าหุ้นพลังงานจะทำกำไรได้น้อยลงหากราคาน้ำมันดิบตกต่ำ ซึ่งมักจะมีแนวโน้มราคาปรับตัวลดลงตามราคาน้ำมัน) การปรับลดลงของน้ำมันจึงเสมือนเป็นข่าวร้ายสำหรับหลาย ๆ คนที่มีความเชื่อและความเข้าใจในทำนองนั้น

แต่หากย้อนกลับไปเมื่อกว่า 20 ปีที่แล้ว ข่าวคราวเรื่องการปรับตัวลดลงของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจะถือว่าเป็นข่าวดีสำหรับทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้คนในตลาดทุน เนื่องจากเป็น Indicator สะท้อนว่ายังไม่มีภาวะเงินเฟ้อจนทำให้มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย อันจะส่งผลให้ราคาพื้นฐานของหุ้นปรับตัวลดลง เป็นไปตามตำราแสดงความสัมพันธ์ตามทฤษฎีของค่าตัวแปรต่างๆ ในตลาดการเงินจากหนังสือที่ John Murphy ปรมาจารย์ด้านการวิเคราะห์ทางเทคนิค แต่งไว้ในช่วงยุค 90 หรือเมื่อ 20 ปีก่อน

Murphy พูดถึง ความสัมพันธ์ที่ค่อนข้างไขว้ไปมาของตัวแปรสำคัญในตลาดการเงินต่างๆ ไว้ใน Intermarket Technical Analysis (John Wiley & Sons 1991) ซึ่งประกอบด้วย 1. ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ 2. ราคาหุ้นใน Stock Market 3. Bond Yield ของ US Treasury ใน Debt Market และ 4. ค่าเงินดอลลาร์ใน Currency Market

โดย Murphy ได้แสดงความสัมพันธ์ที่สำคัญของค่าตัวแปรต่างๆ ที่สามารถเชื่อมโยงกันได้ ไว้เป็นคู่ๆ ได้แก่ 1. สินค้าโภคภัณฑ์ VS US Treasury 2. US Treasury VS ดัชนีหุ้น 3. อัตราดอกเบี้ย VS ค่าเงินดอลลาร์ และ 4. ค่าเงินดอลลาร์ VS สินค้าโภคภัณฑ์

โดยในคู่ที่แรก ได้แก่ สินค้าโภคภัณฑ์ VS US Treasury ที่มีแนวโน้มว่า ราคาสินค้าโภคภัณฑ์มักจะปรับตัวไปในทิศทางตรงกันข้ามกับ ราคาพันธบัตรสหรัฐ แต่เป็นไปในทิศทางเดียวกับ Yield ของพันธบัตรสหรัฐ โดยในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจกำลังขยายตัว ความต้องการและราคาของสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยย่อมปรับตัวสูงขึ้นซึ่งสะท้อนด้วยราคาพันธบัตรที่ปรับตัวลดลงและ Yield ที่ปรับตัวสูงขึ้น

คู่ถัดไป ได้แก่ US Treasury VS ดัชนีหุ้น ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกัน เนื่องจาก ราคาของทั้งพันธบัตรและดัชนีหุ้นมีแนวโน้มจะเปลี่ยนแปลงไปตามภาวะของอัตราดอกเบี้ย (ที่สะท้อนจากภาวะตลาดพันธบัตร) นั่นคือ เมื่ออยู่ในภาวะดอกเบี้ยต่ำ Yield ของพันธบัตรในตลาดก็อยู่ในระดับที่ต่ำ (ราคาพันธบัตรมีราคาสูง) และมีแนวโน้มกระตุ้นที่คนจะนำเงินมาลงทุนหาผลตอบแทนในหุ้นมากขึ้น ส่งผลให้หุ้นมีราคาสูง

คู่ที่สาม ซึ่งก็คือ ได้แก่ อัตราดอกเบี้ย VS ค่าเงินดอลลาร์ โดยค่าเงินดอลลาร์ มักจะปรับตัวแข็งขึ้น หรือ อ่อนลง จากนโยบายอัตราดอกเบี้ย โดยจะปรับตัวแข็งขึ้นเมื่อมีแนวโน้มว่าดอกเบี้ยจะปรับตัวขึ้น และอ่อนค่าลงเมื่อมีแนวโน้มว่าดอกเบี้ยจะปรับตัวลดลง

และคู่ที่สี่ ค่าเงินดอลลาร์ VS สินค้าโภคภัณฑ์ ที่มีแนวโน้มว่าจะเคลื่อนไหวไปในทิศทางตรงกันข้าม เนื่องจาก การมีฐานะที่เป็น World Reserve Currency ซึ่งทำหน้าที่เป็นหน่วยทางบัญชี (Unit of Account) ในการซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ ทั่วโลก หากไม่พิจารณาถึงปัจจัยอื่น (Ceteris paribus) การอ่อนค่าลงของ US Dollar เพียงอย่างเดียวย่อมส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ ที่โค้ดกันเป็น US Dollar ปรับตัวสูงขึ้นในรูปของเงินดอลลาร์

โดยในบรรดาการเชื่อมโยงการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของทั้ง 4 ตัวแปรนี้ Murphy ให้น้ำหนักหรือความสำคัญกับความสัมพันธ์ของคู่ของ สินค้าโภคภัณฑ์ - US Treasury มากที่สุด โดย Murphy ให้เหตุผลว่าความสัมพันธ์ของคู่นี้ เป็นสะพานที่นำไปสู่ความเข้าใจในความสัมพันธ์ของคู่อื่น ๆ ด้วย ได้แก่ คู่ของสินค้าโภคภัณฑ์ - ดัชนีหุ้น และ คู่ของค่าเงิน US Dollar ดัชนีหุ้น ด้วย

อย่างไรก็ดี เนื่องจากวิกฤติหนี้ ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากวิกฤตการณ์การเงินเมื่อ 6 ปีที่แล้วนับตั้งแต่วิกฤติ Lehman Brothers เป็นต้นมา อันเป็นที่มาของภาวะเศรษฐกิจที่เรียกกันว่าเป็นภาวะ “The New Normal” หรือ ภาวะปกติธรรมดาแบบใหม่ ซึ่งทั้งภาครัฐและธนาคารกลางทั่วโลกต่างเร่งอัดฉีดกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยทั้งนโยบายการเงินและการคลัง ซึ่งด้วยเหตุนี้กระมัง ทำให้ความสัมพันธ์แบบเดิมที่ถือเป็นหลักในช่วงทศวรรษที่ 90 (ยุค 90s) มิอาจนำมาประยุกต์ใช้ในภาวะปัจจุบันได้ สอดคล้องกับชื่อของภาวะ The New Normal ซึ่งเป็นภาวะเศรษฐกิจที่มีอัตราดอกเบี้ยใกล้ศูนย์และเต็มไปด้วยความผันผวน อย่างในยุคปัจจุบันนั่นเองครับ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน,สำนักงานบัญชี พี.เอ็ม.เอส.

Tags : Inter-market Analysis ยุค 90s

view