สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

หมัดต่อหมัด วิชา ยิ่งลักษณ์ จำนำข้าว เจ๋ง หรือ เจ๊ง

หมัดต่อหมัด-วิชา-ยิ่งลักษณ์-จำนำข้าว-เจ๋ง-หรือ-เจ๊ง

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

หมายเหตุ: การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 9 ม.ค. ได้มีการพิจารณาเรื่องการถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ออกจากตำแหน่งในคดีโครงการรับจำนำข้าว โดยนายวิชา มหาคุณ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ผู้กล่าวหา และน.ส.ยิ่งลักษณ์ ในฐานะผู้ถูกกล่าวหาได้แถลงเปิดสำนวนต่อสนช. โดยมีสาระสำคัญดังนี้

วิชา มหาคุณ กรรมการป.ป.ช.

ตั้งแต่ปี2554 เมื่อรัฐบาลเริ่มโครงการรับจำนำข้าวอย่างเป็นทางการและพอใช้โครงการมาประมาณ 2 ปี ก็เริ่มเห็นผลเสียและวาระซ่อนเร้น รัฐบาลรวบรวมข้าวได้ถึง 26.75 ล้านตันข้าวสารไว้ในมือ ซึ่งมากกว่าปริมาณสำหรับการส่งออก 2 ปี และตั้งราคารับจำนำสูงกว่าราคาตลาดเกิน 50% เมื่อข้าวสำหรับการส่งออกล้วนอยู่ในมือรัฐบาล การที่จะส่งออกได้นั้นข้าวต้องถูกระบายผ่านรัฐบาลหรือคนสนิทของผู้มีอำนาจไม่ว่าทางตรง
หรือทางอ้อม

ในรัฐสภามีการยกตัวอย่างว่าคนเหล่านั้นสามารถซื้อข้าวจากรัฐบาลได้ในราคาถูกเพื่อมาขายต่อในราคาที่สูงขึ้นเป็นเท่าตัว การกระทำดังกล่าว จึงนำมาซึ่งการทุจริตในระดับที่ไม่เคยเป็นมาก่อน นอจากนี้ ยังได้มีการเปิดเผยอีกว่ารัฐบาลได้ใช้สองวิธีหลักในการขายข้าวในสต๊อกราคาถูก โดยอ้างว่าเป็นการขายแบบรัฐต่อรัฐที่พิสดารและการขายเพื่อไปทำข้าวถุงเล็กสำหรับให้ประชาชนที่ยากจนในราคาถูก เป็นที่รู้กันในวงการข้าวว่าข้าวเหล่านี้ถูกนำมาให้คนสนิทของผู้มีอำนาจในราคาถูกและสามารถขายต่อในตลาดได้ในราคาสูงกว่าเท่าตัว
 
จำนำข้าวเจ๊ง 4 แสนล้านบาท

ระยะเวลา 2 ปีรัฐบาลขณะนั้นใช้เงินไปทั้งสิ้นประมาณ 7.7 แสนล้านบาทเพื่อใช้จ่ายในการรับจำข้าวและค่าบริหารจัดการ แต่รัฐบาลขายข้าวและเก็บเงินได้จริงเพียง 1.3 แสนล้านบาท เท่ากับจำนวน 18%ของจำนวนเงินที่ใช้ไปทั้งหมด รัฐบาลได้มีการระบายข้าวทั้งหมด12.75 ล้านตัน และสามารถคำนวณผลขาดทุนจากการขายข้าวจำนวนนี้ได้ 2.29 แสนล้านบาท เพราะราคาขายเฉลี่ยเท่ากับ11บาทต่อกิโลกรัม ในขณะที่ราคาต้นทุนเฉลี่ยของรัฐบาล คือ 29 บาทต่อกิโลกรัม ตามสถิติการส่งออกข้าวในปี 2555 เอกชนสามารถส่งออกข้าวได้ในราคาเฉลี่ย 21บาทต่อกิโลกรัม ชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลขายต่ำกว่าราคาที่เอกชนขายได้ถึง 10 บาทต่อกิโลกรัม หากรัฐบาลขายข้าวสต๊อกที่เหลือทั้งหมดในราคา 11 บาทต่อกิโลกรัม โครงการรับจำนำข้าวก็จะขาดทุนรวมทั้งหมด 481,500 ล้านบาท ในช่วงเวลา 2 ปี

ในปี 2554 ซึ่งเป็นปีที่ประเทศไทยส่งออกข้าวในปริมาณที่มากที่สุด แต่ประเทศไทยมีรายได้จากการส่งออกข้าวเพียง 1.9แสนล้านบาท จะเห็นได้ว่าการขาดทุนจากข้าวที่ขายไปแล้วของรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ ยังสูงกว่ารายได้ของการส่งออกข้าวของปี 2554 นอกจากนี้ ในปี 2555 ซึ่งเป็นปีที่มีการรับจำนำข้าวในราคาสูง ยอดการส่งออกข้าวกลับลดลง 35% และรายได้จากการส่งออกลดลง 25% ตามลำดับ จึงทำให้ไทยตกอันดับกลายเป็นผู้ส่งออกอันดับ3ของโลกรองจากอินเดียและเวียดนาม ซึ่งเป็นการเสียแชมป์เป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปี ดังนั้น จากการดำเนินการโครงการเป็นเวลา 2 ปี จึงปรากฏผลอย่างชัดเจนว่ารัฐบาลไม่มีงบประมาณมาดำเนินโครงการต่อ เพราะได้ระบายข้าวในราคาต่ำมาก อีกทั้งยังไม่สามารถระบายข้าวได้ทั้งหมด ณ เวลานั้นมีเกษตรกรจำนวนมากรอขึ้นเงินใบประทวนเป็นเวลาหลายเดือน ข้าวที่ขายไม่ออกอย่างน้อย 14 ล้านตันผนวกกับข้าวที่กำลังเก็บเกี่ยวเป็นจำนวนมาก ทั้งสองส่วนนี้จะทำให้เป็นปีที่เกษตรกรไม่สามารถมีอิสระในการปลูกข้าวได้เป็นครั้งแรกในชีวิต

เอื้อพรรคพวกทำลายข้าวไทย

ดังนั้น การที่รัฐบาลประกาศว่าโครงการรับจำนำข้าวจะทำให้ราคาข้าวในตลาดโลกสูงขึ้นด้วยเหตุที่ว่าประเทศไทยส่งออกข้าวเฉลี่ย30% ของปริมาณการส่งออกข้าวของโลก จึงไม่เป็นความจริง เพราะตั้งแต่เริ่มโครงการรับจำนำข้าวปรากฏว่าราคาส่งออกข้าวขาว 5% หรือราคาเอฟโอบีของประเทศไทยไม่เคยไต่เกินระดับ 620เหรียญสหรัฐต่อตัน อีกทั้งหลังจากนั้นก็ลดลงมาเรื่อยๆจนมาถึงปัจจุบันในราคา 400 เหรียญสหรัฐต่อตันเท่านั้น ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำกว่าเมื่อต้นเริ่มโครงการด้วยซ้ำ

การที่รัฐบาลมีผู้แอบเอาข้าวไปขายในราคาถูกให้พรรคพวกต่อ ย่อมเป็นสาเหตุหนึ่งในการตัดโอกาสที่จะทำให้ราคาข้าวไทยสูงขึ้น แต่เนื่องจากในกระบวนการทุจริตเหล่านี้จะอยู่ในสำนวนการไต่สวนคุณบุญทรง จึงยังไม่ได้ลงในรายละเอียดในเรื่องนี้ต่อที่นี้ แต่จะให้เห็นในภาพรวมว่าการใช้การรับจำนำข้าวเปลือกตันละ 1.5 หมื่นบาท จุดคุ้มทุนของข้าวขาว 5% ของไทยจะอยู่ที่ราคา800เหรียญสหรัฐต่อตัน แต่เมื่อราคาในตลาดโลกในช่วงของรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่เคยขยับราคาถึงระดับนี้ การระบายทุกตันจึงส่งผลขาดทุนให้กับโครงการรับจำนำข้าว กล่าวโดยสรุปแล้วผู้ส่งออกเห็นว่าการผูกขาดในเรื่องข้าวของรัฐบาลจะต้องยุติ เพราะเป็นภัยต่ออุตสาหกรรมข้าวไทยและเกษตรกรไทยเป็นอย่างมาก
 
เปิดกระบวนการโกงชาวนา

นอกจากนี้ ป.ป.ช.ได้สอบพยานในส่วนของกลุ่มชาวนาพบว่าได้เห็นการทุจริต ดังนี้ 1.ในส่วนของโรงสีกับชาวนา ตามโครงการได้กำหนดผลผลิตไว้ที่ 800 กิโลกรัมต่อไร่ หากชาวนามีที่ 10 ไร่จะได้ผลผลิตประมาณ 8 ตันที่สามารถเข้าร่วมโครงการได้ แต่เมื่อดำเนินการจริง ผลผลิตที่ได้รับอาจจะได้ไม่ครบ 8 ตัน บางรายอาจจะได้แค่ 4-5 ตัน ส่วนที่เหลือที่โรงสีจะเข้ามารับซื้อสิทธิ์โดยให้ราคาไร่ละ 2พันบาท โรงสีจะนำข้าวมาสสวมสิทธิ์ให้เต็มจำนวน 8 ตัน โดยโรงสีจะนำข้าวที่รับจำนำแล้วมาเวียนชั่งเพื่อนำเงินมาใช้ก่อน แต่พอเมื่อสิ้นสุดโครงการหรือมีการเช็คสต๊อกก็จะนำมาสวมให้เต็มจำนวน

2.ถ้าข้าวเถื่อน จะร่วมมือกับโรงสีที่เข้าร่วมโครงการที่สามารถออกใบประทวนให้กับชาวนาได้ โดยจะมีการออกใบประทวนสินค้าให้กับชาวนาเช่นเดียวกัน แต่ข้าวดังกล่าวจะไม่มีหลักเกณฑ์การตรวจสอบคุณภาพและความชื้นของข้าว และไม่มีเจ้าหน้าที่หรือตัวแทนชาวนาที่ได้รับการแต่งตั้งให้เข้าไปดำเนินการตรวจสอบข้าวที่นำมาจำนำดังกล่าว ทำให้สามารถนำข้าวที่ไม่มีคุณภาพมาเข้าโครงการรับจำนำในราคาเต็มได้ หรือไม่มีข้าวจริงก็สามารถออกใบประทวนได้ เพราะเมื่อปิดโครงการก็ค่อยหาข้าวมาสวมสิทธิให้เต็มตามจำนวนในใบประทวนที่ออกไว้

ชาวนาทั้งหลายเห็นว่าสาเหตุที่ยังไม่มีการจ่ายเงินค่ารับจำนำข้าวให้กับชาวนา เกิดจากกรอบวงเงินที่รัฐบาลเตรียมไว้ 5 แสนล้านบาทตั้งแต่ปี 2554นั้นได้หมดลงแล้ว เนื่องจากข้อเท็จจริงในหนึ่งรอบการผลิตจะใช้เงินไม่เกิน 2 แสนล้านบาท เมื่อนำไปใช้ในโครงการรับจำนำข้าวแล้วแต่กลับไม่สามารถระบายข้าวออกไปได้ ทำให้ไม่มีเงินหมุนเวียนเข้ามาทดแทน ทำให้ใน 2 ปีที่ผ่านมา วงเงินที่เตรียมจึงหมด ซึ่งรัฐบาลให้เหตุผลว่าเป็นรัฐบาลรักษาการณ์ไม่สามารถกู้เงินมาจ่ายกับชาวนาได้ แต่พยานที่ป.ป.ช.ไต่สวนเห็นว่ารัฐบาลโกหก เนื่องจากในช่วงเดือนต.ค.-พ.ย.2556 รัฐบาลยังมีอำนาจกู้เงินได้ แต่ไม่ดำเนินการประกอบกับไม่สามารถระบายข้าวที่รับซื้อจากชาวนาได้ จึงเป็นสาเหตุให้ชาวนายังไม่ได้รับเงิน ซึ่งสอบถามโรงสีต่างๆพบว่าโรงสีพร้อมรับซื้อข้าวจากรัฐบาลแต่ต้องมีการแยกคุณภาพของข้าวก่อน ตรงนี้จึงเป็นจุดตายของโครงการรับจำนำข้าว

การกำหนดราคารับจำนำไว้สูงทำให้กระทบต้นทุนการผลิตของชาวนา และไม่เป็นไปตามกลไกของตลาดที่แท้จริง หากจะดำเนินการต่อไปควรกำหนดราคาจำนำให้ต่ำกว่าตลาด เพื่อให้ชาวนามีแรงจูงใจมาไถ่ถอนข้าวคืนมาจากรัฐบาล หากรัฐบาลจะช่วยชาวนาควรช่วยเหลือในเรื่องการลดต้นทุนการผลิต    

แม้ว่าโครงการนี้จะเป็นโครงการที่ดีของรัฐบาลแต่ปรากฏผลร้าย คือ มีความสูญเสียเงินจำนวนมหาศาลที่ไม่อาจประเมินได้ โดยนอกจากป.ป.ช.ที่เป็นหน่วยงานที่เตือนไปยังรัฐบาลเพื่อให้หยุดยั้งโครงการดังกล่าวแล้ว ทางสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ยังได้มีหนังสือทักท้วงไปถึงสองครั้งว่ารัฐบาลไม่ควรดำเนินโครงการต่อ เพราะถ้าดำเนินโครงการต่อจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรง

คนเป็นนายกฯต้องมีจริยธรรมสูงสุด

ผมขอกราบเรียนต่อที่ประชุมว่าการดำเนินการในเรื่องการถอดถอนเป็นเรื่องของการแสดงธรรมาภิบาลหรือหลักของความโปร่งใส และการตรวจสอบผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองให้ปรากฏต่อสาธารณชนและเป็นหลักแก่แผ่นดินว่าในการบริหารราชการแผ่นดินนั้นบุคคลที่บริหารราชการแผ่นดินย่อมต้องมีจริยธรรมสูงสุดเหนือกว่าบุคคลอื่นทั้งหมดในกระบวนการในการปฏิบัติหน้าที่ ในการทำหน้าที่ของผู้บริหารราชการแผ่นดินนั้นหลักใหญ่ คือ นอก
จากจะบริหารราชการแผ่นดินด้วยความสุจริตแล้วจะต้องเป็นผู้ที่ไว้วางใจของประชาชน กระบวนการในการถอดถอนเป็นกระบวนการตรวจสอบว่าท่านยังอยู่ในความไว้วางใจของประชาชนหรือไม่

ผมเข้าใจดีว่านายกรัฐมนตรีที่ได้แก้ข้อกล่าวหามาว่าคณะรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบด้วยนั้นแต่ในส่วนตัวของนายกรัฐมนตรีได้ลงไปทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ด้วยนอกเหนือจากความเป็นนายกรัฐมนตรี ดังนั้น การปฏิเสธจะไม่รับผิดชอบใดๆและเห็นว่าเป็นเรื่องของคณะรัฐมนตรีทั้งชุดนั้น ผมเห็นว่าอาจจะอ้างได้ แต่ในตัวท่านเองท่านก็ต้องมีความรับผิดและรับชอบด้วย กล่าวคือ เมื่อท่านมีโอกาสในทันใดที่จะแก้ไขปัญหาให้กับประเทศชาติเพื่อหยุดยั้งความเสียหายก็ควรหยุดยั้งความเสียหายนั้นเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายลุกลามต่อไปในแผ่นดิน

///////////

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

โครงการรับจำนำข้าวไม่ใช่โครงการใหม่ แต่เกิดขึ้นมาแล้ว 33 ปี ตั้งแต่ปี 2524 สมัยรัฐบาลพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ แต่ผลการศึกษาวิเคราะห์พบว่า การดำเนินการมีปัญหาทางปฏิบัติทำให้โครงการไม่บรรลุเป้าหมายเท่าที่ควร โดยมีปัญหาหลักๆในอดีตคือ 1.การรับจำนำข้าวในราคาต่ำกว่าตลาดและรับจำนำในปริมาณที่น้อย จึงไม่มีแรงผลักดันให้ราคาข้าวในตลาดสูงขึ้น ทำให้ชาวนามีรายได้ไม่เพียงพอ 2.ตลาดข้าวเป็นกลไกที่เรียกว่า เสรีแต่ไม่เป็นธรรม เพราะชาวนาไม่มีอำนาจต่อรองที่แท้จริง วันนี้มีชาวนา 3.7 ล้านครัวเรือนหรือ 15 ล้านคน คิดเป็น 23 % ของคนทั่วประเทศ เทียบกับพ่อค้าคนกลางทีมีอยู่ 1,500 ราย หรือคิดเป็นสัดส่วนชาวนา 4,000 รายต่อพ่อค้า 1 ราย 3.พ่อค้าคนกลางสามารถกดราคาได้ตลอด เพราะชาวนายากจน เป็นแรงกดดันให้ชาวนาต้องรีบขายข้าวจึงได้ราคาถูก ไม่เป็นธรรม

งัด4ประเด็นต่อสู้

ในเรื่องตัวเลขบัญชีโครงการรับจำนำข้าวที่มีการกล่าวหาว่าขาดทุนเป็นจำนวนมาก จึงขอชี้แจงเฉพาะรอบการปิดบัญชีครั้งที่ 3 วันที่ 31 พ.ค.2556 กล่าวคือ กขช.ได้โต้แย้งการปิดบัญชีของคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าว โดยสรุป 4 ประเด็น ดังนี้ 1.การไม่ได้บันทึกจำนวนข้าวสารครบถ้วน คือ ไม่ได้บันทึกความมีอยู่ของข้าวสารที่อยู่ระหว่างการสีแปร ซึ่งผู้ดูแลสินค้าได้แก่ องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร  (อตก.) และ องค์การคลังสินค้า (อคส.) ได้ยืนยันการมีอยู่จริงของข้าวสารและมีผู้รับผิดชอบข้าวสารตามสัญญาอยู่แล้ว จนถึงขณะนี้รัฐบาลชุดปัจจุบันได้ตรวจนับจำนวนพบว่ามีข้าวสารหายเพียง 2 แสนตัน ซึ่งไม่ใช่ตัวเลข 2.59 หรือ 2.98 ล้านตัน แต่อย่างใด ดังนั้น ความเสียหายที่คำนวณโดยคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวจึงไม่ถูกต้อง

2.วิธีการคำนวณมูลค่าสินค้าคงเหลือที่แตกต่างกัน คณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวได้วิธีคำนวณสินค้าคงเหลือ 3 วิธี ได้แก่ คำนวณจากต้นทุน คำนวณจากราคาจำหน่าย และคำนวณจากราคาตลาด โดยเลือกตัวเลขที่ต่ำที่สุด ขณะเดียวกันแม้จะคำนวณสินค้าคงเหลือด้วยวิ ธีเดียวกัน แต่ถ้าตัวเลขที่นำมาคำนวณต่างกันก็จะให้ผลลัพธ์แตกต่างกัน ทั้งนี้ ปลัดกระทรวงการคลังใช้ตัวเลขที่ 1.1 หมื่นบาทต่อตัน และ นายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมส่งออกข้าว ใช้ตัวเลขที่ 1.5 หมื่นบาทต่อตัน จึงมีความแตกต่างกันที่ 4,243 บาทตัน แต่ถ้าจะคำนวณด้วยการใช้ตัวเลขเพียง 1000 บาทต่อตันสำหรับข้าวสาร 15 ล้านตัน มูลค่าสินค้าคงเหลือจะแตกต่างกันถึง 1.5 หมื่นล้านบาท ดังนั้น มูลค่าสินค้าคงเหลือจึงเป็นเรื่องของอนาคต ไม่มีความแน่นอน ขึ้นอยู่กับราคา ณ วันที่ขายจริงเท่านั้น เท่ากับว่าตัวเลขสินค้าคงเหลือตามที่ปิดบัญชีนั้นจะต้องมีการปรับจากตัวเลขที่มีการขายจริงเท่านั้น

3.ข้อโต้แย้งเรื่องการคิดค่าเสื่อมราคาที่ไม่ตรงกัน ในเรื่องนี้มีหลักคิดหลายแนวคิดแต่ยังไม่เคยมีข้อสรุปอย่างเป็นทางการเพื่อใช้บรรทัดฐานในการคำนวณค่าเสื่อมราคา เช่น เช่น คณะอนุกรรมการปิดบัญชีคิดค่าเสื่อมปีละ 10% สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ คิดปีแรก 6% 10% และ 20% ตามลำดับ และรัฐบาลที่ผานมาคิดค่าเสื่อมระหว่าง 0-10% และ 0-20% และเพิ่มขึ้นในแต่ละปีตามลำดับ ด้วยวิธีที่แตกต่างกันทำให้มูลค่าคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง

4.ข้อโต้แย้งการไม่ได้บันทึกมูลค่าข้าวที่ขายให้กับองค์กรของรัฐ ในเรื่องนี้ที่ประชุมกขช.ได้โต้แย้งคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวที่ไม่ได้บันทึกข้อมูลส่วนนี้รวมไปถึงการไม่บันทึกข้อมูลข้าวที่แจกให้กับประชาชนในกรณีภัยธรรมชาติจำนวน 6 แสนตัน มูลค่า 1.1 หมื่นล้านบาท
 

อัดปปช.ฟังข้อมูลด้านเดียว

จากข้อโต้แย้งทั้ง 4 ประเด็นดังกล่าวหากนำตัวเลขทั้งหมดมาปรับปรุงบัญชีและยอดใช้เงินในโครงการรับจำนำข้าว ณ วันปิดบัญชี วันที่ 31 พ.ค.2556 ให้มีความถูกต้องและใกล้เคียงกับความเป็นจริง จะต้องปรับปรุงค่าใช้จ่ายจาก 332,372 ล้านบาท จะเหลือประมาณ 257,148 ล้านบาท ที่ผ่านมาได้พยายามโต้แย้งทั้ง 4 ประเด็น ให้ป.ป.ช. พิสูจน์ แต่ป.ป.ช.เลือกรับฟังตามรายงานของคณะอนุกรรมการปิดบัญชี ทำให้ข้ออ้างเรื่องการขาดทุนไม่ได้รับการพิสูจน์ให้เป็นธรรม ส่วนข้อกล่าวหาว่า โครงการจำนำข้าวทำให้เสียวินัยการเงินการคลังนั้น ยืนยันว่าตลอดเวลาที่ดำเนินการ ไม่ได้ทำให้เสียวินัยการเงินการคลัง โดยสิ้นปี 2556 รัฐบาลสามารถรักษาระดับตัวเลขหนี้สาธารณะอยู่ที่ 44.71 %  ไม่เกิน 60% ของจีดีพีตามที่กระทรวงการคลังกำหนด

ส่วนข้อกล่าวหารัฐบาลว่า มีปัญหาจ่ายเงินชาวนาในรอบปี 56 – 57 ยืนยันว่าไม่ได้เกิดจากนโยบายจำนำข้าว แต่หลังจากยุบสภา กลุ่มกปปส.นำนโยบายดังกล่าวมาเป็นประเด็นขัดขวางการจ่ายเงินชาวนา  แต่รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์เร่งระบายข้าว นำเงินมาจ่ายชาวนา จำนวน 7 หมื่นล้านบาท และขออนุมัติครม.ของบกลาง 2 หมื่นล้านบาท มาจ่ายเงินให้ชาวนา รวม 9 หมื่นล้านบาท จนมาถึงรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารก็ใช้แนวทางเดียวกับรัฐบาลชุดก่อนที่วางแนวทางไว้ ทั้งการกู้เงินจากธกส. ให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกัน ขณะที่ ข้อกล่าวหาว่านโยบายดังกล่าวทำให้ไทยเสียแชมป์การส่งออกข้าว เป็นข้อกล่าวหาที่ไม่ถูกต้อง เพราะการระบายข้าวสารเป็นการอ้างอิงตามราคาตลาดโลก ไม่เกี่ยวกับราคารับจำนำข้าว แต่เป็นผลจากการทุ่มตลาดของบางประเทศในช่วงเวลาดังกล่าว

ยืนยันไม่เกียร์ว่างปราบทุจริต

ส่วนข้อกล่าวหาว่ารัฐบาลปล่อยให้มีการทุจริตทุกขั้นตอนนั้น เป็นข้อกล่าวหาที่มีวาระซ่อนเร้นทางการเมือง รัฐบาลไม่เคยละเลยข้อแนะนำต่างๆ และจัดให้มีกิจกรรมจำนวนมากกับหัวหน้าส่วนราชการ เพื่อป้องกันการทุจริต มีแผนงานป้องกันการทุจริต เป็นครั้งแรกที่รัฐบาลตั้งคณะอนุกรรมการปิดบัญชี เพื่อป้องกันการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว และมอบหมายให้รมต.ที่เกี่ยวข้องนำไปพิจารณา มีการประสานกับป.ป.ช.ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้มงวดกับโครงการต่างๆ  ยืนยันว่ารัฐบาลไม่เพิกเฉยการทุจริต  ส่วนข้อกล่าวหาว่าข้าวไม่ได้คุณภาพ และข้าวหายนั้น กระทรวงพาณิชย์ได้กำหนดไว้ในสัญญาอย่างชัดเจนว่า หากเกิดความเสียหาย ผู้รับผิดชอบต้องชดใช้ให้รัฐบาลเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ ตามสัญญา จึงไม่สามารถนำมาคำนวณเป็นความเสียหายได้

ส่วนการระบายข้าวแบบจีทูจี ถือเป็นยุทธศาสตร์การระบายข้าวตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ในส่วนของคำจำกัดความของรัฐบาลประเทศผู้ซื้อ โดยป.ป.ช.เห็นว่าหากเป็นรัฐวิสาหกิจจะต้องถือหุ้นโดยรัฐบาลกลางเท่านั้น ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ ได้ถือปฏิบัติในทุกรัฐบาลที่ผ่านมาให้รวมถึงรัฐวิสาหกิจที่ถือหุ้นร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยรัฐบาลมณฑลหรือรัฐบาลท้องถิ่น สามารถทำสัญญารัฐต่อรัฐได้ เมื่อความหมายแตกต่างกันระหว่างรัฐบาลกลางกับรัฐบาลมณฑล ดังนั้นเพื่อป้องกันความเสียหาย กระทรวงพาณิชย์จึงยกเลิกสัญญาการส่งมอบข้าว ทำให้สัญญาดังกล่าว เมืองหลงเจียง ประเทศจีน มูลค่า 2 หมื่นล้านบาท หรือ 1.2 ล้านตัน จึงถูกยกเลิกไป

ในฐานะที่เป็นหัวหน้ารัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จริง พบว่าไม่มีการทุจริต ตนพยายามทำทุกอย่างสุดความสามารถ และตลอดเวลาที่ดำเนินการได้รับฟังทุกความเห็น ส่วนที่ไม่ยกเลิกโครงการ เพราะการบริหารราชการแผ่นดิน นายกรัฐมนตรีจะยกเลิกนโยบายโดยพลการไม่ได้ เพราะเป็นรูปแบบของคณะกรรมการที่หน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องต้องร่วมกันพิจารณาตามรัฐธรรมนูญกำหนด ส่วนที่สตง.ส่งข้อท้วงติงมายังรัฐบาล ให้ยกเลิกโครงการนั้น ไม่สามารถดำเนินการอะไรได้ เนื่องจากส่งมาหลังจากที่ยุบสภาไปแล้ว

อ้อนสนช.ขอความเป็นธรรม

กังวลการไต่สวนที่ไม่เป็นธรรม การเร่งรีบรวมรัด โดยป.ป.ช.มีมติให้คณะกรรมการป.ป.ช.ทั้งชุดเป็นองค์คณะไต่สวน โดยไม่มีการตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนก่อน  เป็นการข้ามขั้นตอน ส่อเจตนาเร่งรัดผิดปกติไม่เหมือนกรณีอื่น นอกจากนี้ป.ป.ช.ยังมีมติชี้มูลความผิดตนในวันที่ 8 พ.ค. 2557 ถัดจากวันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้ตนพ้นจากตำแหน่งไปแล้วเพียงวันเดียว ก็น่าแปลกใจว่า เหตุใดยังให้มีการถอดถอนซ้ำคนที่ไม่มีตำแหน่งแล้วได้อีก

อยากขอความเป็นธรรมจากสนช. ว่า ป.ป.ช.ดำเนินการไม่ปกติ ยินดีให้ตรวจสอบ แต่ขอให้เป็นกระบวนการที่เป็นธรรม ตามหลักนิติธรรม ยืนยันว่าตลอดเวลาที่ผ่านมาไม่เคยทุจริต ประเทศจะเดินหน้าได้ต้องมีความยุติธรรม หวังว่าสนช.จะพิจารณาโดยไม่ตกเป็นเครื่องมือทางการเมืองของคนกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด ไม่อยากเห็นกระบวนการถอดถอนเป็นไปเพื่อประโยชน์ทางการเมือง เพราะเมื่อรัฐธรรมนูญ 50 ยกเลิกไปแล้ว การถอดถอนก็ต้องยุติไปด้วย หากดำเนินการโดยไม่มีหลักนิติธรรมการปฏิรูปเพื่อนำไปสู่การสร้างความปรองดองจะเกิดขึ้นได้อย่างไร

จากนั้น นายพรเพชร ได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า ในวันที่ 15 ม.ค. จะครบกำหนดที่ทั้ง 2 ฝ่าย จะต้องยื่นคำแถลงปิดคดี ซึ่งจะยื่นเป็นหนังสือหรือจะแถลงปิดสำนวนด้วยวาจาก็ได้ นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มีมติให้ตั้งกรรมาธิการซักถาม จำนวน 9 คน ประกอบด้วย พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร พล.อ.ดนัย มีชูเวท นายสมชาย แสวงการ พล.อ.อ.ชาลี จันทร์เรือง นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ นายสุธรรม พันธุศักดิ์ นายมหรรณพ เดชวิทักษ์ นายพรศักดิ์ เจียรณัย และพ.ต.ท.พงษ์ชัย วราชิต เพื่อเป็นตัวแทนซักถาม โดยสมาชิกสนช.สามารถยื่นญัตติคำถามได้ภายในวันที่ 13 ม.ค. ก่อนเวลา 12.00 น. พร้อมนัดประชุมสนช.ในวันที่16 ม.ค. เพื่อให้คณะกรรมาธิการได้ซักถามคู่กรณีต่อไป


วิชาแขวะปูแจงถอดถอนจำนำข้าวแค่ข้อมูลเก่า

จาก โพสต์ทูเดย์

“วิชา”หยัน“ยิ่งลักษณ์”แจงข้อมูลเก่า ลั่นติงหลายครั้งจำนำข้าวช่วยหรือฆ่าชาวนา เผยรอดูมติปปช.ชี้“นิวัฒน์ธำรง”ม.ค.นี้ตอกย้ำความจริง ย้ำอย่ามโนถอดถอนได้หรือไม่

นายวิชา มหาคุณ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)ในฐานะผู้รับผิดชอบสำนวนคดีไต่สวนโครงการรับจำนำข้าวของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังเสร็จสิ้นการแถลงเปิดสำนวนคดีว่า จากการรับฟังคำแถลงชี้แจงของน.ส.ยิ่งลักษณ์นั้น ยืนยันว่าเป็นข้อมูลเดิมที่ไม่มีอะไรใหม่ และเชื่อว่าเป็นการแถลงคัดค้านการเปิดคดีเพื่อเรียกร้องความเห็นใจจากสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ส่วนหลังจากนี้จะมีกระบวนการให้กรรมการซักถาม ส่วนตัวพร้อมตอบทุกข้อสงสัยทุกประเด็นจากสมาชิก

ส่วนกณีที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ แถลงต่อสู้กระบวนการถอดถอนโดยอ้างว่าป.ป.ช.อาจปิดความหวังของชาวนา ที่จะได้รับประโยชน์จากโครงการรับจำนำข้าวนั้น ต้องขอให้ดูข้อเท็จจริงที่มีชาวนาฆ่าตัวตายแล้วหลายคน กลับมาฟื้นได้หรือไม่ ทางป.ป.ช.พยายามเตือนหลายครั้ง หากดำเนินการต่อจะสร้างความเสียหาย ไม่ใช่ดำเนินโครงการไม่ได้ แต่พบว่ามีการบิดเบือนกลไกตลาด โดยมีการเก็บข้าวไว้เพื่อทำให้ข้าวมีราคาสูงขึ้น ส่งผลให้ชาวนาไม่กล้าไปถอนข้าวคืน และโอกาสในการส่งออกก็ไม่เกิดขึ้นเพราะราคาสูงกว่าราคาตลาดโลก

“มีข้อมูลยืนยันเรื่องเหล่านี้อีกครั้งในการชี้มูลความผิดคดีทุจริตของ นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตรมว.พาณิชย์ ในเดือนม.ค.นี้ ซึ่งเหลือเพียงขั้นตอนนำเข้าสู่ที่ประชุมป.ป.ช.ชุดใหญ่รอลงมติเท่านั้น ซึ่งขณะนี้มีรายละเอียดไว้ทั้งหมดแล้วในเรื่องความเสียหายของโครงการระดับโลก และยืนยันว่าให้ความเป็นธรรมน.ส.ยิ่งลักษณ์ถึงที่สุด ให้เกียรติสูงสุดและทำคดีต่างๆ เพื่อให้พิสูจน์ข้อเท็จจริง ทั้งในกระบวนการถอดถอนของสนช.รวมถึงต่อสู้คดีอาญาในศาลฎีกาอีกด้วย”นายวิชา กล่าว

ส่วนกระบวนการถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่สำเร็จ ป.ป.ช.จะเสียกำลังใจหรือไม่ นายวิชา กล่าวว่า อย่าไปคิดอะไรมากมาย เพราะทำตามหน้าที่ และต้องเข้าใจว่าเรื่องนี้เป็นกระบวนการทางการเมือง ซึ่งกระบวนการถอดถอนไม่ต้องพิสูจน์หลักฐานเหมือนในคดีอาญา แต่ดูความน่าเชื่อถือเท่านั้น  ซึ่งส่วนตัวไม่อยากให้คาดการณ์หรือฟังกระแสล่วงหน้า เพราะยังไม่จบกระบวนการถอดถอน ซึ่งภาษาสมัยใหม่เขาเรียกว่า “อย่ามโน”


วิชา-แจง-ปู-ส่อจงใจใช้อำนาจขัดรธน

จาก โพสต์ทูเดย์

วิชา” แถลงเปิดคดีโต้2มาตรฐาน แฉ ตัวเลขจำนำข้าวเจ๊งยับเยิน ซัด เมินคำเตือนเสี่ยงขาดทุน-ทุจริต ลาก “ยิ่งลักษณ์” ร่วมรับผิดชอบความเสียหาย

นายวิชา มหาคุณ กรรมการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แถลงเปิดสำนวนข้อกล่าวหาการถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในคดีโครงการรับจำนำข้าว ว่า ว่า ป.ป.ช.ไม่ได้เริ่มไต่สวนโครงการจำนำข้าว เมื่อมีผู้มาร้องเรียน แต่ศึกษาโครงการมาก่อนหน้านี้นานแล้ว จึงไม่ใช่การเร่งรีบ รวบรัด ดำเนินการแบบสองมาตรฐานตามที่กล่าวหากัน ส่วนที่ระบุว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่ได้ทุจริตแล้วมาถอดถอนได้อย่างไรนั้น การกระทำของน.ส.ยิ่งลักษณ์เข้าข่ายส่อไปในทางทุจริต ซึ่งการทุจริตสมัยใหม่มิใช่เพียงการรับสินบน ฉ้อราษฎรบังหลวง แต่รวมถึงความประพฤติที่ขัดต่อหลักคุณธรรมจริยธรรมด้วย ยืนยันว่า ป.ป.ช.อำนวยความยุติธรรมให้น.ส.ยิ่งลักษณ์เต็มที่ ให้โอกาสอย่างถึงที่สุด ถึงขั้นให้ทีมทนายความมาตรวจสอบพยานหลักฐานของป.ป.ช.แทนผู้ถูกกล่าวหาได้ ซึ่งไม่เคยมีในประวัติศาสตร์มาก่อน

นายวิชา กล่าวว่า หลังจากเริ่มต้นโครงการจำนำข้าว 2 ปี เริ่มเห็นผลเสียของโครงการดังกล่าว โดยรัฐบาลใช้ 2 วิธีหลักในการขายข้าวในสต๊อกในราคาถูกคือการขายข้าวแบบจีทูจีที่พิสดาร และการขายข้าวเพื่อทำข้าวถุงขายประชาชน ซึ่งเป็นที่รู้กันในวงการข้าวว่า ข้าวเหล่านี้ถูกนำมาขายให้คนสนิทของผู้มีอำนาจในราคาถูก เพื่อนำไปขายต่อในราคาสูงกว่าเป็นเท่าตัว โดย 2 ปี ที่ผ่านรัฐบาลใช้เงินในโครงการจำนำข้าวไปทั้งสิ้น 777,000  ล้านบาท  แต่ขายข้าวและเก็บเงินได้เพียง 139, 400 ล้านบาท หรือ 18 %  ของจำนวนเงินที่ใช้ไปทั้งหมด โดยรัฐบาลระบายข้าวไป 12.75 ล้านตัน ขาดทุน 229,500 ล้านบาท เพราะตั้งราคาขายข้าวเฉลี่ย 11 บาทต่อกก. ขณะที่ราคาต้นทุนเฉลี่ย 29 บาทต่อกก. หากรัฐบาลขายข้าวในสต็อกที่เหลือในราคา 11 บาทต่อกก.โครงการจำนำข้าวจะขาดทุนทั้งหมด 481,500 ล้านบาท โดยในปี 54 ที่ไทยส่งออกข้าวในปริมาณมากที่สุด แต่กลับมีรายได้จากการส่งออกข้าวเพียง 192,956 ล้านบาท จะเห็นว่าตัวเลขการขาดทุนจากข้าวในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ สูงกว่ารายได้การส่งออกข้าวในปี 54 นอกจากนี้ผลจากการรับจำนำข้าวในราคาสูง ทำให้การส่งออกข้าวของไทยลดลง 35 %  จนตกอันดับการส่งออกข้าวมาอยู่อันดับ 3 ของโลก รองอินเดีย เวียดนาม เป็นการเสียแชมป์ส่งออกครั้งแรกในรอบ 30 ปี

นายวิชากล่าวว่า  การดำเนินการโครงการจำนำข้าว  2 ปี ทำให้รัฐบาลไม่มีงบประมาณดำเนินโครงการต่อ เพราะระบายข้าวในราคาต่ำมาก และไม่สามารถระบายข้าวได้ทั้งหมด มีข้าวขายไม่ออก 14 ล้านตัน ผนวกกับข้าวที่จะเก็บเกี่ยวอีกจำนวนมาก ทำให้ชาวนาไม่อิสระปลูกข้าวตามอำเภอใจได้เป็นครั้งแรกในชีวิต เพราะจะมีปริมาณข้าวมากกว่าความต้องการของตลาด ดังนั้นการที่รัฐบาลประกาศว่า การจำนำข้าวทำให้ราคาข้าวในตลาดโลกสูงขึ้น แต่เหตุการณ์ไม่เป็นเช่นนั้น เพราะตั้งแต่เริ่มโครงการจำนำข้าว ราคาเอฟโอบีข้าวขาว 5 % ของไทยไม่เคยได้เกิน 620 เหรียญสหรัฐต่อตัน และยังลดลงเรื่อยๆ จนปัจจุบันอยู่ที่ 400 เหรียญสหรัฐต่อตัน ต่ำกว่าตอนเริ่มโครงการใหม่ๆด้วยซ้ำ โดยการที่มีผู้แอบนำข้าวไปขายในราคาถูกให้พรรคพวก เป็นการตัดโอกาสให้ราคาข้าวไทยมีราคาสูง ซึ่งผู้ส่งออกเห็นว่า การผูกขาดเรื่องข้าวของรัฐบาลต้องยุติ เพราะเป็นภัยต่ออุตสาหกรรมข้าวไทยอย่างมาก ขณะเดียวกันพยานที่เป็นชาวนาเข้าร่วมโครงการ ระบุว่ามีการทุจริตของโรงสีสวมสิทธิเข้าร่วมโครงการแทนชาวนา โดยระบุว่า สาเหตุที่รัฐบาลไม่มีเงินจ่ายชาวนา เนื่องจากวงเงินที่รัฐบาลเตรียมไว้ 5 แสนล้านบาท ตั้งแต่ปี 54 หมดลงแล้ว ทำให้ไม่มีเงินหมุนเวียน แต่กลับให้เหตุผลว่า เป็นรัฐบาลรักษาการไม่สามารถกู้เงินมาจ่ายชาวนาได้  ซึ่งพยานบอกว่า รัฐบาลโกหก เพราะในเดือนต.ค.-พ.ย.56 รัฐบาลยังมีอำนาจกู้เงินได้ แต่ไม่ดำเนินการ ทำให้ชาวนาไม่รับเงิน ซึ่งโรงสีพร้อมรับซื้อข้าวจากรัฐบาล แต่ต้องแยกคุณภาพข้าวก่อน จุดนี้เป็นจุดตายโครงการรับจำนำข้าว

นายวิชากล่าวว่า การถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ เนื่องจากมีพฤติการณ์ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย กรณีไม่ยับยั้งความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว โดยเมื่อวันที่ 23 ส.ค. 54  น.ส.ยิ่งลักษณ์แถลงนโยบาย ต่อรัฐสภาว่า เรื่องเร่งด่วนที่จะดำเนินการในปีแรกจะนำระบบจำนำสินค้าเกษตรมาใช้สร้างความมั่นคงด้านรายได้แก่เกษตรกร เริ่มจากการรับจำนำข้าวเปลือกเจ้าและข้าวเปลือกหอมมะลิ เกวียนละ 1.5 หมื่นบาท และ 2 หมื่นบาท ตามลำดับ ซึ่งป.ป.ช.มีหนังสือแจ้งไปยังผู้ถูกกล่าวหาสองครั้งในวันที่ 7 ต.ค. 54 และ 30 เม.ย.55 ให้แก้ปัญหาการทุจริตจากโครงการรับจำนำข้าวที่เป็นการแทรกแซงตลาดข้าว  ขณะที่คณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวที่กขช.ตั้งขึ้น ได้รายงานผลการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าว  และแจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบถึง 3 ครั้งว่า โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปีตั้งแต่ปี 2554 ถึง 2556 สิ้นสุด ณ วันที่ 31 พ.ค. 56 มีผลขาดทุนสะสม  332,372  ล้านบาท แม้ผู้ถูกกล่าวหาจะรับทราบข้อเท็จจริงทั้งสามครั้ง แต่ยังดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกในฤดูกาลผลิตต่อมา ขณะเดียวกัน สตง.ยังมีหนังสือแจ้งผลการตรวจสอบโครงการถึงผู้ถูกกล่าวหาว่า โครงการมีความเสี่ยงทุกขั้นตอนนำไปสู่การสวมสิทธิการจำนำ และการทุจริตในโครงการ อีกทั้งยังสร้างความเสียหายต่องบประมาณแผ่นดิน แต่ผู้ถูกกล่าวหายืนยันดำเนินโครงการต่อ ทำให้เกิดความเสียหายมากขึ้นเรื่อยๆ

นายวิชากล่าวว่า แม้ในขั้นนี้พยานหลักฐานยังไม่ปรากฏชัดเจนว่า ผู้ถูกกล่าวหามีส่วนร่วมในการทุจริต หรือสมยอมให้เกิดการทุจริต แต่การที่ผู้ถูกกล่าวหาไม่บริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปตามนโยบายที่แถลงไว้ต่อรัฐสภา โดยยุติหรือยกเลิกโครงการเพื่อยับยั้งมิให้เกิดการทุจริตและความเสียหาย ซึ่งเป็นสภาพความเสียหายที่เกิดจากโครงการรับจำนำข้าวที่ร้ายแรงที่สุดของประเทศ  ทั้งที่ผู้ถูกกล่าวหามีอำนาจหน้าที่ตามพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 มาตรา 11(1)  ที่จะยับยั้งโครงการรับจำนำข้าวได้ พฤติการณ์ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์จึงมีมูลความผิดฐานส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญมาตรา 178 และส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อพ.ร.บ.ระเบียบการบริหารราชการแผ่นดิน มาตรา 11 (1) เป็นมูลเหตุให้ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งได้  ทั้งนี้นายกฯซึ่งมีอำนาจสูงสุดในการบริหารแผ่นดิน ต้องนึกถึงประโยชน์ และไม่ทำลายประโยชน์สุขของประชาชน แต่การที่นายกฯจะปฏิเสธไม่รับผิดชอบใดๆ เพราะเห็นว่า เป็นเรื่องครม.ทั้งชุดนั้น แม้จะอ้างได้ แต่ตัวนายกฯก็ต้องรับผิดและรับชอบด้วย เพราะถือว่า เมื่อมีโอกาสที่จะแก้ไขเพื่อหยุดยั้งความเสียหาย ไม่ให้ลุกลามก็ต้องทำทันที อย่างที่นายกฯในปัจจุบันมีนโยบายป้องกันทุจริต โครงการใดที่กระทบต่อการทุจริตอย่างเป็นกระบวนการ หรือเงินที่ต้องใช้จ่ายมโหฬารเรื่องงบประมาณ ท่านก็ไม่ดำเนินการต่อไป จึงจะเรียกได้ว่า สมกับเป็นผู้บริหารราชการแผ่นดินสูงสุด


'วิชา'โต้'ยิ่งลักษณ์'ชาวนาที่ตายฟื้นได้หรือไม่

"วิชา"โต้คำแถลง"ยิ่งลักษณ์"ชาวนาที่ตายฟื้นได้หรือไม่ ย้ำให้ความเป็นธรรมที่สุด ลั่นไม่กระทบปรองดอง

นายวิชา มหาคุณ กรรมการป.ป.ช. ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการไต่สวนโครงการรับจำนำข้าว และผู้รับผิดชอบแถลงเปิดสำนวนคดีถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กรณีไม่ระงับยับยั้งความเสียหายโครงการรับจำนำข้าว โดยหลังจากเสร็จสิ้นแถลงเปิดคดี นายวิชา ได้ให้สัมภาษณ์ โดยตอบข้อซักถามที่ว่า คำโต้แย้งของน.ส.ยิ่งลักษณ์ นั้นฟังขึ้นหรือไม่ ว่า ท่านก็อ่านตามโพยก็เรียกร้องความเห็นใจ ซึ่งคำโต้แย้งส่วนใหญ่ก็เป็นคำโต้แย้งเดิมๆ เท่ากับว่าท่านยอมรับแล้วว่า เก็บข้าวเอาไว้เพื่อให้ราคาสูงขึ้น ส่วนที่อ้างว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากป.ป.ช. ตนก็ได้แถลงชี้แจงไปหมดแล้วตั้งแต่แรก ว่า ให้ความเป็นธรรมทุกอย่าง โดยเฉพาะคณะกรรมการป.ป.ช.ทั้งชุดให้ความเป็นธรรมที่สุด เพราะเรามีกฏหมายอยู่แล้วหากเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะต้องให้คณะกรรมการป.ป.ช.ทั้งชุดเป็นผู้ดำเนินการ เป็นการให้เกียรติสูงสุด

ผู้สื่อข่าวถามว่า การถอดถอนครั้งนี้จะเป็นการถอดถอนซ้ำซ้อนกับที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยให้น.ส.ยิ่งลักษณ์พ้นจากตำแหน่งไปแล้วหรือไม่ นายวิชา กล่าวว่า เป็นคนละเรื่อง การถอดถอนของสภาซึ่งตนชี้แจงไปตั้งแต่เมื่อวาน (แถลงเปิดคดีถอนถอนนายนิคม-สมศักดิ์) ว่าต้องดำเนินการ เพราะยังมีโทษที่เกี่ยวกับเรื่องที่ไม่ให้มีการดำรงใด ๆ 5 ปี มันยังติดอยู่ตรงนี้ ส่วนถ้าสมาชิกสนช.มีความเห็นอย่างไรก็คงต้องดูในขั้นตอนของการซักถาม คณะกรรมาธิการซักถามที่ตั้งขึ้นยังมีโอกาสซักถามในรายละเอียด เรายินดีตอบทุกเรื่องที่สงสัย

นอกจากนี้ นายวิชา กล่าวถึงกรณีที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ โต้แย้งว่าหากต้องยุติโครงการรับจำนำข้าวถือเป็นการตัดความหวังชาวนา ว่า ก็ตายไปแล้วหลายคนฟื้นได้หรือไม่ เราได้พยายามเตือนแล้วว่าโครงการนี้จะทำให้เกิดปัญหาอย่างไร ไม่ได้บอกว่าโครงการนี้ไม่ดีทั้งหมด แต่จุดที่ไม่ดีคือว่ามันบิดเบือนตลาด การรับจำนำเหมือนการซื้อขาด เพราะเมื่อราคารับจำนำสูงกว่าราคาตลาด เรื่องอะไรชาวนาจะต้องไปเอาข้าวคืน ทำให้ข้าวตกอยู่ในมือของรัฐทั้งหมด โอกาสในการส่งออกก็ไม่มี

"อีกไม่นาน คอยดูที่ป.ป.ช.จะชี้มูลคดีนายบุญทรง ที่จะมีรายละเอียดเหล่านี้ทั้งหมด ว่าเป็นกระบวนการในระดับสากล ระดับโลก" นายวิชา กล่าว และว่า คดีการระบายข้าวแบบจีทูจี ที่มีนายบุญทรงกับพวกนั้น

ก็กำหนดไว้แล้วว่าจะเสร็จสิ้นภายในเดือนนี้ ตอนนี้เหลือเพียงนำสำนวนเข้าที่ประชุมคณะกรรมการป.ป.ช.ชุดใหญ่ ซึ่งจะสามารถชี้มูลได้เลย หากคณะกรรมการชุดใหญ่เห็นว่าไม่ต้องแสวงหาพยานหลักฐานเพิ่มเติม

ต่อข้อถามที่ว่า หากมติสนช.เห็นสมควรไม่ถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ ป.ป.ช.จะเสียกำลังใจหรือไม่ นายวิชา กล่าวว่า ไม่หรอก อย่าไปคิดอะไรมากมาย เราก็ทำตามหน้าที่ ต้องเข้าใจว่ากระบวนการนี้เป็นกระบวนการทางการเมือง กระบวนการถอดถอนมันไม่เหมือนกระบวนการส่งขึ้นสู่ชั้นศาล กระบวนการนี้จะดูว่าผู้ถูกกล่าวหามีความน่าเชื่อถืออยู่หรือไม่เท่านั้น

ส่วนจะกระทบต่อกระบวนการปรองดองหรือไม่ นายวิชา กล่าวว่า มันไม่เกี่ยวกัน เรื่องการปรองดองหมายความว่า ถ้ามีปัญหาอะไรก็มาเคลียร์กัน ซึ่งการถอดถอนไม่ใช่ปัญหา แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องของกระบวนการตามกฏหมาย


'ยิ่งลักษณ์'ย้ำไม่เครียดทำดีที่สุดตอบทุกประเด็น

"ยิ่งลักษณ์"เผยไม่เครียด ทำดีที่สุด ตอบครบทุกประเด็นให้สนช.รับทราบแล้ว เชื่อประชาชนจะได้รับฟังข้อเท็จจริง

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังแถลงคัดค้านโต้แย้งคำแถลงเปิดสำนวนหรือรายงานพร้อมความเห็นของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)ว่า รู้สึกสบายใจที่ได้ชี้แจงข้อมูลทั้งหมดให้สนช.รับทราบ และได้ทำดีที่สุดแล้ว ส่วนจะเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาหรือไม่นั้นคงขึ้นอยู่กับสมาชิกสนช.

ทั้งนี้ได้ตอบคำถามไปครบทุกประเด็นแล้ว และเชื่อว่าประชาชนคงจะได้รับฟังข้อเท็จจริง อย่างไรก็ตาม ไม่ได้รู้สึกเครียดกับเรื่องดังกล่าว เพราะถือว่าเป็นเรื่องที่เคยทำมาแล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้แถลงคัดค้านโต้แย้งคำแถลงเปิดสำนวนหรือรายงานพร้อมความเห็นของป.ป.ช.ต่อสนช.เสร็จสิ้นแล้ว ได้นั่งพักอยู่ภายในห้องรับรองที่บริเวณชั้น 2 ของรัฐสภาก่อนที่จะลงมาให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน โดยมีอดีตรัฐมนตรีและอดีตส.ส.พรรคเพื่อไทยคอยให้กำลังใจ อาทิ นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย อดีตรมช.คลัง นายวิชาญ มีนชัยนันท์ อดีตส.ส.กทม. นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อ และนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ รักษาการโฆษกพรรคเพื่อไทย ทั้งนี้ หลังจากที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ให้สัมภาษณ์เสร็จนั้นก็ได้เดินทางกลับทันที ทำให้ทีมทนายความที่เดินทางมาด้วยขึ้นรถไม่ทันเพราะติดบรรดาสื่อมวลชนที่ตามไปสัมภาษณ์และถ่ายรูปถึงรถยนต์ส่วนตัวของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ทำให้ต้องอาศัยรถยนต์ส่วนตัวของนายพร้อมพงศ์เดินทางออกไปจากรัฐสภาแทน


'นพ.วรงค์'ชี้คำแถลง'ยิ่งลักษณ์'ทำจำนำข้าวเจ๊ง

“นพ.วรงค์”ชี้คำแถลง“ยิ่งลักษณ์”ทำจำนำข้าวเจ๊ง ขุดของเก่าเล่าใหม่ ไม่สามารถหักล้างข้อกล่าวหาป.ป.ช. ยกปรองดองขู่

นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีตส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงคำชี้แจงของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ต่อที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กรณีถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดให้ถอดถอนจากตำแหน่งฐานละเว้นปฏิบัติหน้าที่ ไม่ยับยั้งความเสียหายจากโครงการจำนำข้าวว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่สามารถชี้แจงประเด็นสำคัญที่ ป.ป.ช. กล่าวหาได้ สิ่งที่แถลงต่อ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นเรื่องเก่าคือการเอาชาวนามาอ้าง ซึ่งเป็นความพยายามหาเสียงกับชาวนาเพื่อปกป้องตัวเอง และโยนความผิดให้กับคนที่ทักท้วงว่าขัดขวางการช่วยเหลือชาวนา

“ความจริงแล้วไม่มีใครปฏิเสธการช่วยเหลือชาวนาแต่ประเด็นที่เป็นความผิดของนางสาวยิ่งลักษณ์คือการไม่ระงับความเสียหายมหาศาลที่เกิดขึ้นจากโครงการจำนำข้าว” นพ.วรงค์ กล่าว

นพ.วรงค์ กล่าวว่า ตอนจบของคำชี้แจงยังมีการนำประเด็นการเมือง เรื่องความปรองดองมาอ้าง เหมือนขู่สังคมไทยโดยที่คนทำผิดยังไม่ยอมรับความผิดของตัวเองกลับใช้วิธีข่มขู่ ดังนั้น สนช.ต้องตัดสินใจให้รอบคอบ ถ้าสนช.ไม่กล้าตัดสินใจถอดถอน ประเทศจะจมปลักกับการคอร์รัปชั่น ผู้มีอำนาจไม่เคารพกฎหมาย จึงหวังว่าสุดท้ายแล้วสนช.จะลงมติถอดถอนนางสาวยิ่งลักษณ์

“ถ้าสนช.เกี้ยเซี้ยไม่ถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ คนเสียหายคือ สนช.และอาจลามไปถึงรัฐบาลด้วยผมหวังว่าสนช.จะไม่ปล่อยคนทำผิด สุดท้ายน่าจะถูกถอดถอน เนื่องจากคำชี้แจงฟังไม่ขึ้นไม่สามารถแก้ข้อกล่าวหาใด ๆ ได้เลย จะอ้างปรองดองเพื่อให้คนทำผิดอยู่เหนือกฎหมายไม่ได้ ถ้าสนช.ต้องการปฏิรูปการเมืองจริงต้องใช้กรณีนี้เป็นตัวอย่างเอาคนมีอำนาจที่ทำผิดมาลงโทษได้ ถ้าทำไม่ได้ก็ไม่ต้องหวังเรื่องการปฏิรูปประเทศ แต่จะเลวร้ายลงเพราะคนทำผิดจะข่มขู่เพื่อให้พ้นผิด กฎหมายจะไม่สามารถบังคับใช้ได้กับคนที่มีอำนาจ” นพ.วรงค์ กล่าว

ส่วนกรณีที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ระบุว่า ถูกถอดถอนมาแล้วถึง 3 ครั้ง จากการยุบสภา , คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จนไม่เหลือตำแหน่งอะไรให้ถอดถอนอีกแล้วนั้น นพ.วรงค์ กล่าวว่า ข้ออ้างของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ตรงนี้เป็นแค่การขอความเห็นใจ แต่ต้องอย่าลืมว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องต่างกรรมต่างวาระเพราะการกระทำความผิดของแต่ละคน ถ้าหากทำความผิดมาหลายครั้ง ก็ต้องติดคุกหลายครั้ง แต่ไม่ใช่ว่าคนที่เคยทำความผิดแล้วและติดคุกแล้ว แต่เมื่อกระทำความผิดอีก ก็มาอ้างว่าได้ติดคุกไปแล้ว แบบนี้มันไม่ใช่

“กรณีของ ป.ป.ช. เป็นเรื่องจำนำข้าว ที่สร้างความเสียหาย ซึ่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้ปล่อยปละละเลย ไม่เกี่ยวกับเรื่องอื่น นักการเมืองคนอื่น แม้แต่นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา และนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา ก็โดนแบบนี้ แม้ว่าจะหลุดจากตำแหน่งไปแล้ว แต่ถ้าหากยังเป็นประเด็นอยู่ คุณก็ต้องถูกดำเนินคดีให้จบ ซึ่งนักการเมืองในอดีตที่ผ่านมาก็ทำแบบนี้ทั้งนั้น ไม่ใช่ เฉพาะ น.ส.ยิ่งลักษณ์เพียงคนเดียว” นพ.วรงค์กล่าว


ปู-โต้ทุกข้อหาปปช-โวยไม่มีตำแหน่งให้ถอดถอนแล้ว

จาก โพสต์ทูเดย์

"ยิ่งลักษณ์" แถลงปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ป.ป.ช. ชี้มีวาระซ่อนเร้นการเมืองยืนยันไม่เคยทุจริต ลั่นไม่มีตำแหน่งให้ถอดถอนแล้ว

วันที่ 9 ม.ค. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี แถลงต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)โต้แย้งสำนวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ในคดีถอดถอดจากตำแหน่งจากกรณีที่ไม่ระงับยับยั้งจนทำให้เกิดความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว ฐานความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 โดยได้ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาของทั้ง ป.ป.ช. และอดีตฝ่ายค้าน  พร้อมทั้งยืนยันว่าบริหารราชการแผ่นดินด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและดำเนินการตามอำนาจหน้าที่อย่างครบถ้วนถูกต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ กฎหมาย ตลอดจนกฎระเบียบข้อบังคับของทางราชการ และแนวทางการบริหารที่ดีโปร่งใสและเป็นธรรม

"หากคิดจะดำเนินการต่อดิฉันอยากจะฝากข้อพิจารณาว่าการปฏิรูปทางการเมือง ที่รัฐบาลชุดปัจจุบันและสมาชิกสภานิติบัญญัติทุกท่านต้องการเห็นหากมีการดำเนินการที่ไม่มีหลักนิติธรรมไม่มีกฎหมายรองรับสังคมจะเห็นว่าไม่ยุติธรรมการปฏิรูปอันจะนำไปสู่ความปรองดองในสังคมจะเกิดขึ้นได้อย่างไร"น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าว

ทั้งนี้ อดีตนายกรัฐมนตรี เห็นว่าการยื่นสำนวนถอดถอนของ ป.ป.ช.ในครั้งนี้เป็นความซ้ำซ้อน และอาจสร้างบรรทัดฐานทางการเมืองที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากปัจจุบันไม่ได้ดำรงตำแหน่งใดๆ ให้ถอดถอนแล้ว หลังจากพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ไม่ว่าจะเป็นจากการประกาศยุบสภา, คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และประกาศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)

"ที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นการยุบสภา คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และจากประกาศ คสช. ทั้งหมดก็มีผลสมบูรณ์แล้ว และจนถึงวันนี้ดิฉันก็ไม่เหลือตำแหน่งอะไรที่จะให้ถอดถอนอีก ซึ่งหากยังมีการดำเนินการดังกล่าว ก็จะถือเป็นการซ้ำซ้อน และสร้างบรรทัดฐานทางการเมืองที่ไม่ถูกต้อง เรื่องที่ ป.ป.ช. นำมาดำเนินคดี ไม่ใช่การตรวจสอบตามปกติ แต่ขอให้มีดำเนินการเป็นธรรมตามหลักนิติธรรม ตลอดเวลาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มีความซื่อสัตย์สุจริต สภาแห่งนี้พิจารณาด้วยความเป็นธรรม ไม่ตกเป็นเครื่องมือทางการเมือง ทำลายกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งอีกต่อไป " อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าว

น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า โครงการรับจำนำข้าว เป็นแนวคิดของพรรคเพื่อไทยที่พัฒนาจนเป็นนโยบายในการหาเสียงหลักซึ่งได้รับการตอบรับอย่างท่วมท้นจากพี่น้องประชาชน ด้วยเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรจึงถือว่าโครงการรับจำนำข้าวเป็นสัญญาประชาคมที่รัฐบาลมีต่อชาวนาไทยและประชาชนคนไทยทุกคน

ส่วนเนื้อหาของโครงการรับจำนำข้าว นโยบายเป็นของเพื่อไทยจนเป็นนโยบายหาเสียง และได้รับการตอบรับจากประชาชน แนวคิดนโยบายมาจากความเข้าใจปัญหาความยากจน ให้ชาวนาได้ลืมตาอ้าปาก ไม่ถูกเอาเปรียบ และเล็งเห็นว่านโยบายที่เป็นประโยชน์ ซึ่งไม่ใช่โครงการประกันราคาข้าว ยืนยันโครงการจำนำข้าวไม่ใช่โครงการใหม่ แต่เคยได้ปฏิบัติมาแล้ว ยืนยันโครงการไม่ปรากฏหลักฐานทุจริต และรัฐบาลทำงานอย่างโปร่งใส

สำหรับข้อกล่าวหาข่าวไทยเสียแชมป์ เพราะการระบายข้าวสารตามราคาตลาดโลก ไม่ได้อ้างอิงตามราคาข้าวเปลือก 2554/2555 ไทยเป็นแชมป์ในการส่งออก มีนโยบายเก็บสำรองข้าวไว้กินเอง 2554/2555 อินเดียเปลี่ยนนโยบายลดราคาข้าว แข่งขันราคาอย่างรุนแรง ทั้งอินเดียและเวียดนาม จำนำข้าวไม่ได้ทำให้เสียแชมป์ อีกทั้งปี 2557 ไทยจะเป็นแชมป์ส่งออกข้าว จากโครงการรับจำนำข้าวทั้งสิ้น

ส่วนการป้องกันและปราบปรามการทุจริตทุกขั้นตอน ขอปฏิเสธ ข้อกล่าวหาการทุจริตเชิงนโยบาย ทุจริตทุกขั้นเลย และละเลยไม่ยับยั้งจำนำข้าว เป็นข้อกล่าวหาวาระซ่อนเร้นทางการเมือง ตนได้กำชับทุกระดับ จัดมีกิจกรรมต่างๆ ประชุมผู้บริหาร ส่วนราชการและสื่อมวลชน ป้องกันและปราบปรามทุจริต ตนและ รมต.ไม่ได้ละเลย ที่แนะนำมา มอบหมาย รมต.ที่เกี่ยวข้องไปพิจารณา เข้มงวดกับการตรวจสอบทุจริต

"เสียใจที่เอาเรื่องนอกสำนวนจีทูจี มอบหมายให้ทนายความเข้าตรวจสอบ ข้อกล่าวหาไม่ยกเลิกโครงการ นายกรัฐมนตรีจะยกเลิกนโยบายโดยพลการไม่ได้ ไม่ได้ดำเนินการโดยลำพัง" น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าว

ทั้งนี้ ภายหลัง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้แถลงคัดค้านคำแถลงเปิดสำนวนเรียบร้อยแล้ว ที่ประชุม สนช.ได้มีการตั้งคณะกรรมาธิการซักถามขึ้น 9 คน โดยนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า หากสมาชิก สนช.คนใดมีความประสงค์จะซักถามเพิ่มเติมให้ยื่นประเด็นซักถามมาภายในเวลา 12.00 น. ของวันที่ 13 ม.ค.58 ขณะเดียวกันได้กำหนดวันนัดประชุมเพื่อตอบข้อซักถามในวันที่ 16 ม.ค.58 เวลา 10.00 น.


ทีมทนายเผย-ยิ่งลักษณ์-แจงทุกประเด็นแล้ว

“พิชิต”ยันอดีตนายกฯตอบครบทุกประเด็นถอดถอน เตรียมประชุมทีมทนาย 12 ม.ค.นี้วางแผนต่อสู้ต่อไป

นายพิชิต ชื่นบาน  อดีตสส. พรรคเพื่อไทย หัวหน้าทีมทนายความน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังแถลงคัดค้านการเปิดสำนวนถอดถอนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โครงการรับจำนำข้าว ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้ชี้แจงข้อมูลครบคลุมครบถ้วนในประเด็นโครงการรับจำนำข้าว ทั้งในข้อเท็จจริง และในข้อกฎหมาย โดยเฉพาะเรื่องขาดทุนและสร้างความเสียหายของอนุกรรมการปิดบัญชีที่ยังไม่สิ้นกระแสความ

“ป.ป.ช.ก็ยังไม่มีข้อยุติและตอบสังคมได้ อาทิ เรื่องการไม่บันทึกบัญชี ในเรื่องการคิดมูลค่าที่ต่างกัน และการคิดค่าเสื่อมที่ต่างกัน ตกลงข้อยุติ อีกทั้ง ข้าว 3 ล้านตันไม่หายไป แต่ป.ป.ช.ไม่ตัดตัวเลขความเสียหายในบัญชี ถามว่าป.ป.ช.รับผิดชอบต่ออดีตนายกฯอย่างไร เพราะข้าวก็ไม่ได้หายไปไหน”นายพิชิต กล่าว

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่กังวลตอนนี้มีเรื่องเดียว คือ การสร้างความกดดันจากกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับอดีตนายกฯ ที่จะมีต่อ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เท่านั้น  โดยหลังจากนี้ทีมทนายความจะประชุมกันวันที่ 12 ม.ค. เพื่อวางแนวทางการต่อสู้คดีให้แก่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ต่อไป


วรชัย'ชี้'ยิ่งลักษณ์-นิคม'สอบผ่าน

“วรชัย” อดีตส.ส.สมุทรปราการ ชี้ “ยิ่งลักษณ์-นิคม” สอบผ่าน เชื่อมติสนช.ไม่ถอดถอน

นายวรชัย เหมะ อดีตส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า หลังจากที่ได้ฟังการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาป.ป.ช.ของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และนายนิคม ไวยรัชพานิช นั้น พูดได้เลยว่าทั้งคู่สอบผ่าน ขณะที่นายวิชา มหาคุณ กรรมการป.ป.ช. ในฐานะผู้แจ้งข้อกล่าวหานั้น ถือว่าสอบตก ทั้งนี้ เมื่อดูจากการชี้แจงด้วยท่าทีที่มั่นใจของน.ส.ยิ่งลักษณ์ การตอบโต้นายวิชาด้วยข้อมูล ข้อเท็จจริง และเหตุผลที่ชัดเจนครบถ้วน ถือว่าสามารถหักล้างข้อกล่าวหาของนายวิชาได้ทั้งหมด ขณะที่นายนิคมก็ชี้แจงได้ชัดเจนว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มาส.ว.นั้น เป็นกระบวนการทางประชาธิปไตยที่รัฐธรรมนูญให้อำนาจไว้ เมื่อมีสมาชิกเสนอเรื่องขึ้นมาในฐานะประธาน นายนิคมต้องทำตามหน้าที่โดยที่ไม่ได้ไปร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วย ดังนั้น หากเปรียบเหมือนการชกมวย ทั้งคู่ถือว่าชนะน็อก อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าสนช.มีความคิดมากพอ เมื่อได้รับฟังการชี้แจงจากผู้ถูกกล่าวหาแล้วจะเข้าใจว่าป.ป.ช.มีเจตนาแอบแฝงกับน.ส.ยิ่งลักษณ์หรือพรรคเพื่อไทยหรือไม่ ขอให้สนช.ใช้วิจารณญาณและให้ความเป็นธรรมกับน.ส.ยิ่งลักษณ์ด้วย อย่าไปฟังใคร หากพิจารณาจากข้อมูลและหลักฐานต่างๆ เชื่อว่าสนช.จะลงมติไม่ถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ นายนิคม และนายสมศักดิ์อย่างแน่นอน

นายวรชัย กล่าวด้วยว่า สำหรับกรณีที่มีประชาชนเดินทางไปให้กำลังใจน.ส.ยิ่งลักษณ์ที่บริเวณหน้ารัฐสภานั้น ยืนยันว่ากลุ่มนปช.ใม่ได้จัดตั้งกลุ่มบุคคลไปเคลื่อนไหว กลุ่มนปช.ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ อย่าใส่ร้ายป้ายสีกัน หากมีคนที่รักและชื่นชมน.ส.ยิ่งลักษณ์อยากจะไปให้กำลังใจก็ถือเป็นสิทธิส่วนบุคคล


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน,สำนักงานบัญชี พี.เอ็ม.เอส.

Tags : หมัดต่อหมัด วิชา ยิ่งลักษณ์ จำนำข้าว เจ๋ง หรือ เจ๊ง

view