สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ถอยหลังลงคลอง

ถอยหลังลงคลอง

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




เป็นความน่าเศร้าของประเทศไทยอีกครั้ง เมื่ออุตสาหกรรมด้านการสื่อสารเทคโนโลยีของประเทศกำลัง "ถอยหลัง"

ไปสู่อดีตที่เคยพบกับความ "เจ็บช้ำ" มาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน เมื่อในที่สุด "องค์กรอิสระ" ผู้กำกับดูแลอุตสาหกรรมที่เป็นอนาคตของประเทศอย่าง "กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม" กำลังกลับเข้าไปอยู่ภายใต้อำนาจของ "รัฐ" อีกครั้งหนึ่งสืบเนื่องจากการแก้ไข พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 (พ.ร.บ.กสทช.) โดย "อ้างว่า" เป็นส่วนหนึ่งของการเริ่มต้นการบูรณาการทำงาน และปฏิรูปการทำงานด้านไอซีทีของประเทศอย่างจริงจัง เพื่อรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลหรือดิจิทัล อีโคโนมี ของประเทศ

ที่ผ่านมา เรามีบทเรียน "ช้ำช้ำ" มากมาย โดยเฉพาะยุคที่อุตสาหกรรมโทรคมนาคมถูกผูกขาดโดยอำนาจของรัฐ ยุคของสัมปทาน ที่ต้องรอคอยการกำกับดูแล การตัดสินใจที่ "เชื่องช้า" และ "ไม่โปร่งใส" ทุกอย่างต้องอิง "การเมือง" อุตสาหกรรมไม่เกิดการพัฒนา หยุดนิ่ง วิ่งตามเพื่อนบ้านไม่ทัน

ทั้งๆ ที่ธรรมชาติของอุตสาหกรรมนี้ หัวใจสำคัญ คือ "เทคโนโลยี" ซึ่งเปลี่ยนแปลงทุกนาที "วิธีคิด" ที่ทันสมัย ฉับไว ของนักบริหารในการขับเคลื่อนจึงเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าทำได้ก็จะสร้าง "ประโยชน์" ให้ประชาชนรวมถึงประเทศชาติได้มากมาย

ดังนั้น หน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแล ตามหลักแล้ว ต้องมีความเป็นอิสระ ไม่ควรอยู่ภายใต้การกำกับของรัฐ เพราะจะมีปัญหาเรื่องการถ่วงดุลตรวจสอบได้ การแก้ปัญหาจึงน่าจะเป็นการสร้างกลไกตรวจสอบที่เข้มแข็ง มากกว่านำไปรวมอยู่ใต้อำนาจสั่งการของรัฐ

....แต่ก็ดูเหมือนบทเรียนที่เกิดขึ้นในอดีต ไม่ได้ช่วยทำให้มุมมอง หรือวิสัยทัศน์ของผู้บริหารยุคปัจจุบัน "สำเหนียก" เลยแม้แต่น้อย ยังคงมี "วิธีคิด" แบบเชยๆ ออกมาได้อย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ คณะกรรมการ กสทช.ที่ผ่านมา ก็ยังไม่สามารถแสดง "ศักยภาพ" ได้เต็มที่ ในการกำกับดูแลกิจการที่มีมูลค่าเป็น "แสนๆ ล้าน" ดูอิหลักอิเหลื่อ ขาดๆ เกินๆ

ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ตัวระบบ เพราะระบบเดินมาดีแล้ว องค์กรอิสระที่ควรต้องปราศจากการแทรกแซงทางการเมือง ทำหน้าที่เข้ามากำกับดูแล เป็นเรื่องที่นานาอารยประเทศเขาก็ทำกัน และ "ได้ผล" ซึ่งแตกต่างจากประเทศไทย ที่ปัญหาอยู่ที่ "ตัวบุคคล" ในองค์กรอิสระที่ยังไม่ปราศจากการแทรกแซง ยังไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของสังคมได้อย่างแท้จริง

เป็นเหตุผลหนึ่งที่ "เปิดช่อง" ให้รัฐ "เรียกคืนอำนาจ" เอามาร่วมกำกับดูแลเอง

กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือกระทรวงไอซีที ก็ไม่สามารถทำหน้าที่ "ขับเคลื่อน" องคาพยพอันจะก่อให้เกิดประโยชน์ ต่ออุตสาหกรรมไอซีทีของประเทศได้มากเท่าที่ควร หรือจะบอกว่า ไม่ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงใดๆ ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมเลย ...ก็คงไม่ผิดนัก

และแม้ล่าสุด นายพรชัย รุจิประภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที จะออกมายืนยันว่า การประมูล 4 จี ที่เดิมกำหนดไว้ในปีนี้ ก็ยังคงเป็นไปตามกรอบเดิม แต่..ใครจะรู้ในระหว่างทางที่ยังขรุขระ เป็นหลุมเป็นบ่อแบบนี้ อะไรๆ ก็เปลี่ยนแปลงได้ เพราะอำนาจของ กสทช.ไม่ได้มีเท่าเดิม 100% อีกแล้ว และก็ยังไม่รู้ว่าจะถูกเรียกคืนอำนาจอื่นๆ เพิ่มเติมอีกหรือไม่ หรือจะถูกยุบในที่สุดหรือเปล่า?

เป็นเรื่องราวของประเทศไทยที่ "ไม่ไหวจะเคลียร์" จริงๆ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน,สำนักงานบัญชี พี.เอ็ม.เอส.

Tags : ถอยหลังลงคลอง

view