สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ทีดีอาร์ไอ สับเละ แก้ พ.ร.บ.กสทช. เอื้อแจกคลื่นมือถือ

จากประชาชาติธุรกิจ

ค้าน ระงมปลดล็อกจัดสรรคลื่นความถี่ไม่ต้องประมูล "ทีดีอาร์ไอ" ฟันธง "บิวตี้คอนเทสต์" เปิดช่องใช้ดุลพินิจ "กสทช." ย้ำยึดเกณฑ์จัดสรรคลื่น 4G ด้วยวิธี "ประมูล" แจงร่างพ.ร.บ.ใหม่ยังมีโอกาสปรับแก้ฟาก "ค่ายมือถือ" ไม่เกี่ยงวิธี พร้อมร่วมวงชิงคลื่น

กลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมา โดยพลัน เมื่อร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่ ครม.เพิ่งอนุมัติ (6 ม.ค. 2558) เข้ามาจัดระเบียบคลื่นความถี่ใหม่ โดยคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ทั้งในมาตรา 6 และ 9 ยังระบุให้การจัดสรรคลื่นความถี่ ทั้งในกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และโทรคมนาคม ใช้วิธีการคัดเลือก ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ กสทช.กำหนด

ดร.สม เกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า การเปลี่ยนวิธีจัดสรรคลื่นจากประมูลเป็นวิธีคัดเลือกแทนนั้น ต้องดูว่าโจทย์ใหญ่ของอุตสาหกรรมคืออะไร ที่ผ่านมาคิดว่าคือความโปร่งใส จากที่เคยเปิดโอกาสให้มีการวิ่งเต้นแสวงหาผลประโยชน์ในทางไม่ชอบสืบทอดมา 20-30 ปี ตั้งแต่ยุคสัมปทาน การปรับเปลี่ยนแก้ไขต้องดูบริบทของประเทศไทย หากเปลี่ยนไปสู่รูปแบบอื่นต้องเห็นผลชัดเจนว่าทำไมต้องเปลี่ยน

"ยังไม่เห็นเหตุผลที่เป็นระบบชัดเจนว่าการประมูลทำให้ติดขัดอย่างไร ที่ผ่านมามีการคัดค้านจากกลุ่มที่ต่อต้านไม่ให้มีการประมูล แต่ยังไม่เคยเห็นเหตุผลที่ทำให้เชื่อได้จริง ๆ ว่าการประมูลเป็นอุปสรรคในการจัดสรรคลื่นความถี่ หากไม่ประมูลจะเปิดช่องให้ใช้ดุลพินิจได้เยอะมากส่วนวิธีคัดเลือกอื่นที่ นิยมใช้กันคือ คัดเลือกจากเงื่อนไขหรือบิวตี้คอนเทสต์ ซึ่งไม่น่าเหมาะกับประเทศไทย"

ส่วนแนวคิดที่จะให้ กสทช.กำกับดูแลเฉพาะคลื่นเชิงพาณิชย์ ให้คณะกรรมการดิจิทัลฯเป็นผู้จัดสรรคลื่นเพื่อความมั่นคงและบริการสาธารณะ เป็นประเด็นที่มีความวิตกกังวล เพราะจะแยกอย่างไรว่าส่วนไหนเป็นคลื่นเพื่ออะไร ประเทศที่มีการแยกแบบนี้ เช่น อเมริกา FCC จัดสรรคลื่นเชิงพาณิชย์ NTIA จัดสรรคลื่นที่ใช้ในภาครัฐ กรณีในไทยจะยิ่งมีปัญหามากว่าจะแบ่งคลื่นความมั่นคงกับพาณิชย์ออกจากกัน อย่างไร ที่ผ่านมามีตัวอย่างมากมายที่อ้างว่าใช้เพื่อความมั่นคง แต่สุดท้ายใช้เชิงพาณิชย์ส่งผลถึงการไม่เสมอภาคในการแข่งขัน ระหว่างกลุ่มที่ต้องประมูลกับกลุ่มที่ได้จัดสรร

ส่วนวิธีการบริการ เพื่อสังคมก็มีกลไกอื่นที่ไม่ต้องให้รัฐวิสาหกิจหรือผู้ประกอบการรายเดิมทำ เพราะเป็นวิธีที่บิดเบือนการแข่งขันมาก ตั้งแต่ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นฯ ปี 2543 จะมีกลไกกองทุน USO ที่ใช้เงินกองทุนพัฒนาโครงข่ายเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงได้ ดีกว่าแบ่งแยกคลื่นไปใช้เฉพาะ เป็นวิธีที่ไม่มีประสิทธิภาพในต่างประเทศ ส่วนในไทยมีความเสี่ยงที่จะเกิดการทุจริตคอร์รัปชั่นเกิดขึ้นได้

ที่ผ่านมารัฐวิสาหกิจมีประวัติไม่ดีเกี่ยวกับการนำคลื่นของภาครัฐที่ได้รับ จัดสรรมา แล้วไปปล่อยให้เอกชนนำไปใช้เชิงพาณิชย์อยู่เสมอ หากกลัวว่าตลาดจะกลายเป็นการผูกขาดคลื่นโดยเอกชน รัฐบาลต้องเปิดเสรี แต่รัฐบาลไม่คิดทำ ที่สำคัญคือเศรษฐกิจดิจิทัลจะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าปล่อยให้โครงสร้างตลาดผูกขาดแบบนี้

ด้านนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า การจัดสรรคลื่นที่ กสทช.กำลังเตรียมการยังใช้วิธี "ประมูล" แน่นอน เพราะกฎหมายใหม่ยังไม่ประกาศใช้ อีกทั้งร่าง พ.ร.บ.ใหม่ยังต้องเข้ากระบวนการของคณะกรรมการกฤษฎีกา เข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ ขณะที่หลายคนคัดค้านกรณีระบุให้จัดสรรคลื่นด้วยวิธีการคัดเลือก

"ผม ไม่เห็นด้วยกับการไม่ใช้วิธีประมูล เพราะมันจะมีปัญหาตามมาแน่นอน ต่อให้คัดเลือกดีอย่างไร คนก็ไม่เชื่อ จะมีปัญหาทุจริตตามมาอีก ผมเข้าใจว่าดีในต่างประเทศ แต่สังคมไทยมีเรื่องพรรคพวก กสทช.จะกลายเป็นเป้าโจมตีได้ ถ้าต้องไปชี้แจงผมจะยืนยันในหลักการว่าสังคมไทยเป็นแบบนี้ทำไปก็ไม่มีใคร เชื่อใคร ความเชื่อมั่นความเชื่อถือกันด้านนี้ไม่มี ฉะนั้น ประมูลดีกว่า"

ขณะนี้ได้ยื่นหนังสือไปยังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อขอเตรียมการประมูลคลื่นแล้ว หลังจาก คสช.มีคำสั่งให้ชะลอไป 1 ปี ตั้งแต่ 17 ก.ค. 2557 ที่ผ่านมา แต่ยังไม่ได้มีการตอบกลับแต่อย่างใด

"คำสั่งชะลอที่ คสช.ประกาศ ถือเป็นกฎหมาย ฉะนั้น กสทช.ก็ต้องขึ้นตรงกับ คสช.ถ้าจะทำอะไรต่อต้องไปขออนุมัติ ถ้ากฎหมายใหม่ออกมาแล้วต้องไปขึ้นตรงกับคณะกรรมการดิจิทัลอีโคโนมี แต่ระหว่างนี้ กสทช.ก็ต้องทำตามกฎ ส่วนเจตนารมณ์ของรัฐบาลที่จะให้ กสทช.มีอำนาจกำกับดูแลได้เฉพาะคลื่นความถี่เชิงพาณิชย์ก็ต้องแล้วแต่รัฐบาล พิจารณา"

ด้าน พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธาน กสทช.และประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) กล่าวว่า กทค.ยังเดินหน้าเตรียมการประมูลคลื่น 4G และขณะนี้กำลังรอหนังสือตอบกลับจาก คสช. ส่วนการจัดสรรคลื่นโทรคมนาคมเพื่อการพาณิชย์มีหลายวิธีขึ้นอยู่กับสภาวะ แวดล้อมของแต่ละประเทศ มีทั้งผสมระหว่างบิวตี้คอนเทสต์กับการประมูล หรือบิวตี้คอนเทสต์อย่างเดียว หรือประมูลอย่างเดียว ไม่มีวิธีไหนผิดหรือถูก ขึ้นอยู่กับประเทศมีวัตถุประสงค์อย่างไร สำหรับ กสทช. ตราบใดที่กฎหมายยังไม่ประกาศใช้ ยังใช้การประมูลจัดสรรคลื่น

ก่อนหน้านี้ นอกจากทั้ง 3 ค่ายมือถือ ได้แก่ เอไอเอส ดีแทค และทรูมูฟจะออกมาแสดงจุดยืนต้องการเห็นการประมูลคลื่นใหม่เพื่อนำมาพัฒนา บริการ 4G เกิดขึ้นโดยเร็วแล้ว ยังแสดงความเห็นเกี่ยวกับการจัดสรรคลื่นด้วยวิธี "บิวตี้คอนเทสต์"

โดย นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) กล่าวว่า อยากให้การจัดสรรคลื่นเปลี่ยนมาใช้วิธีบิวตี้คอนเทสต์เพราะวัดที่คุณสมบัติ และข้อเสนอของแต่ละราย แต่วิธีที่เหมาะสมที่สุดในการจัดสรรคลื่นในไทยคือ การประมูล เนื่องจากโปร่งใส และตรวจสอบย้อนหลังได้ แต่ไม่ว่าจะจัดสรรคลื่นด้วยวิธีใดก็พร้อมเข้าร่วมด้วย

เช่นกันกับนาย ซิคเว่ เบรคเก้ รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) กล่าวว่า ทั้งประมูลและบิวตี้คอนเทสต์ บริษัทรับได้ และยินดีให้ความร่วมมือ แต่บิวตี้คอนเทสต์อาจค่อนข้างเสี่ยงต่อข้อครหาว่าไม่โปร่งใส ต่างจากวิธีประมูลที่มีข้อพิสูจน์ชัดเจน ทั้งภาครัฐยังนำเงินจากการประมูลไปใช้บริหารประเทศได้

นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น เปิดเผยว่า วิธีบิวตี้คอนเทสต์มีการใช้ในหลายประเทศ ซึ่งประเทศเหล่านี้มีการร่างคุณสมบัติของโอเปอเรเตอร์ที่จะมาใช้คลื่นอย่าง ชัดเจน เช่น ญี่ปุ่นกำหนดให้ถ้าได้คลื่นไปต้องให้บริการได้ครอบคลุมทั่วประเทศใน 2 ปี และสุดท้ายก็ทำได้ อีกทั้งไม่เกิดข้อครหา จึงเป็นวิธีที่ทำให้โปร่งใสได้เช่นกัน ขึ้นอยู่ที่การตัดสินใจของภาครัฐว่าจะไปทางไหน และต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประเทศเป็นสำคัญ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน,สำนักงานบัญชี พี.เอ็ม.เอส.

Tags : ทีดีอาร์ไอ สับเละ พ.ร.บ.กสทช. เอื้อแจกคลื่น มือถือ

view