สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ต้องใหญ่ระดับโลกถึงรอด

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...กองบรรณาธิการโพสต์ทูเดย์

ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงบนปัจจัยเสี่ยงที่มากขึ้น ทำให้ธุรกิจต้องใช้สารพัดวิธีรับมือ โดยหนึ่งในกลยุทธ์ที่กลุ่มทุนเลือกคือการขยายกิจการให้ใหญ่ ด้วยการเรียนลัด ซื้อกิจการ (Takeover) การควบรวมและเข้าซื้อกิจการ (Merger and Acquisition : M & A)

สำหรับปี 2557 ที่ผ่านมา บริษัทสายพันธุ์ไทย ทั้งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และที่อยู่นอกตลาดหุ้น มีการซื้อกิจการสูงเป็นประวัติการณ์อีกปีหนึ่ง โดยบริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ ได้รวบรวมการซื้อกิจการทั้งบริษัทไทยด้วยกันหรือออกไปซื้อกิจการต่างประเทศ มีจำนวนรวม 192 รายการ มูลค่ากว่า 5.02 แสนล้านบาท

ดีลการซื้อแห่งปีและถือว่าเป็นการซื้อกิจการที่ใหญ่สุด คือ กรณีบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น (WHA) ซื้อหุ้นบริษัท เหมราชพัฒนาที่ดิน (HEMRAJ) มูลค่า 54,848 ล้านบาท เพื่อดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับคลังสินค้าและโรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงนิคมอุตสาหกรรมที่ครบวงจรรายใหญ่ที่สุดรายหนึ่งของทวีปเอเชีย

รองลงมาเป็นบริษัท ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ (TUF) ประกาศเข้าซื้อกิจการโดยซื้อหุ้น 100% ของบริษัท บัมเบิลบี ซีฟู้ดส์ (Bumble Bee Seafoods) ผู้ผลิตอาหารทะเลสำเร็จรูปอันดับ 2 ในสหรัฐ และเป็นอันดับ 1 ในแคนาดา ที่ตราสินค้ามีอายุกว่า 115 ปี ด้วยเงินสด 1,510 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 5 หมื่นล้านบาท กำหนดซื้อขายเสร็จในปลายปี 2558 โดยใช้แหล่งเงินทุนจากการกู้ยืมเงินสถาบันการเงินในไทย 2 แห่ง

นอกจากการจะซื้อบัมเบิลบีแล้ว ในปี 2557 ทียูเอฟได้ซื้อกิจการยักษ์ใหญ่ในต่างประเทศ 2 แห่ง คือ การควบรวมกิจการกับ “คิง ออสการ์” แบรนด์อันดับ 1 ในหมวดปลาซาร์ดีนระดับพรีเมียมในนอร์เวย์ สหรัฐ และออสเตรเลีย แบรนด์อาหารทะเลติด 10 อันดับแรกของโลก การซื้อกิจการครั้งนี้เป็นผลดี เพราะซื้อในราคาที่ไม่แพง และจะหนุนการโตแบบ Inorganic โดยยอดขายหลังควบรวมของกลุ่มจะเพิ่มราว 28% ทำให้ทียูเอฟรุกเข้าตลาดแคนาดาและสหรัฐมากขึ้น และมีบัมเบิลบีจัดหาวัตถุดิบอาหารทะเลในแหล่งสำคัญเกือบทั่วโลก ทำให้การผลิต/ขนส่งของทั้งกิจการ สะดวกประหยัดรวมพลังกันมากขึ้น (Synergy) คาดจะสามารถสร้างมูลค่าได้ราว 30 ล้านเหรียญสหรัฐ/ปี ภายใน 3 ปีข้างหน้า

ธีรพงศ์ จันศิริ ประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทียูเอฟ คาดว่ากระบวนการซื้อกิจการบัมเบิลบีจะเสร็จช่วงครึ่งหลังปี 2558 หลังเข้าซื้อกิจการทียูเอฟ ตั้งเป้ารายได้ปี 2558 ที่ 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และปี 2563 อยู่ที่ 8,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และบริษัทจะมีความเข้มแข็งด้านนวัตกรรม การพัฒนาสินค้า การผลิตที่ดีขึ้น มีประสิทธิภาพ ต้นทุนลดลง มีการร่วมพัฒนาระบบไอที รวมทั้งทำให้ต้นทุนการเงินดีขึ้น ขณะการจัดซื้อวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตต้นทุนจะต่ำ ส่วนบัมเบิลบีคาดกำไรขั้นต้นจะเพิ่ม 17-18% จากปัจจุบันกำไรโตที่ 15-17%

ไม่เพียงยักษ์อาหารทะเลที่ทียูเอฟใช้วิธีเอ็มแอนด์เอขยายกิจการ จนขึ้นเป็นแชมป์ตลาดปลากระป๋องโลก กลุ่มทุนไทยที่ติดอันดับรวยระดับโลก อาทิ กลุ่มไทยเบฟของเสี่ยเจริญ สิริวัฒนภักดี กลุ่มเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพี ของเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ก็มีการทำเอ็มแอนด์เอมากขึ้นเช่นกัน เช่น กลุ่มไทยเบฟได้เข้าซื้อยักษ์เฟรเซอร์แอนด์นีฟ (เอฟแอนด์เอ็น) สิงคโปร์ ต่อยอดกลุ่มเครื่องดื่ม และอสังหาริมทรัพย์ ไปซื้อโรงแรม ซื้อโรงงานผลิตสุราที่ยุโรปและสหรัฐ ขณะที่กลุ่มซีพีมีการเข้าซื้อกิจการค้าส่งแม็คโคร เพื่อมาต่อยอดร้านค้าปลีกสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่น มีการเข้าซื้อธุรกิจประกันภัยอันดับ 2 ของจีน ผิงอัน เพื่อปูฐานบุกธุรกิจการเงิน อีกด้านหนึ่งเปิดให้ไชน่าโมบายล์เข้ามาถือหุ้นในทรูเพื่อบุกกิจการโทรคมนาคม

ทั้งนี้ บริษัทจดทะเบียนไทยส่วนใหญ่จะใช้วิธีซื้อกิจการการควบรวมเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในแผนธุรกิจแผนลงทุนว่าแต่ละปีจะใช้เงินเพื่อการออกไปซื้อกิจการเพื่อสนับสนุนการเติบโตชัดเจน กรณีของบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย หรือเอสซีจี ที่ดำเนินนโยบายซื้อกิจการมาอย่างต่อเนื่องทั้งในและต่างประเทศ เช่นเดียวกับบริษัท ปตท. บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม หรือ ปตท.สผ. บริษัท ไมเนอร์อินเตอร์เนชั่นแนล รวมถึงทียูเอฟ

เพ็ญจันทร์ จริเกษม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานการเงินและการบัญชี บริษัท ปตท.สผ. กล่าวว่า การเข้าควบรวมกิจการหรือซื้อกิจการ ถือเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญของการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ซึ่ง ปตท.สผ.เองได้เข้าซื้อกิจการครั้งใหญ่มาแล้ว 2-3 รายการ มูลค่าการซื้อเกิน 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เช่น การเข้าซื้อหุ้น COVE ENERGY การซื้อออยล์แซนด์ที่แคนาดา และล่าสุดซื้อ Hess Corporation ซึ่งการเข้าซื้อของ ปตท.สผ.ที่เพิ่มปริมาณปิโตรเลียมสำรองให้มีมากขึ้น แต่ยังไม่สามารถวัดผลกลับมาในแง่ของรายได้ที่เกิดขึ้นได้ เพราะต้องรอการสำรวจพิสูจน์

ก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส (ASP) กล่าวว่า การควบรวมและซื้อกิจการ (เอ็มแอนด์เอ) จะมีเพิ่มมากขึ้นอีกในอนาคต เพราะผลจากการเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ทำให้ธุรกิจเกิดการรวมตัวเพื่อรองรับการแข่งขัน และขนาดตลาดที่จะเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต และจะเห็นการควบรวมกระจายไปในหลายๆ ธุรกิจ เช่น บริการอุตสาหกรรม เทคโนโลยี และกลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เริ่มมีให้เห็นมากขึ้น มาจากการขยายเส้นทางรถไฟฟ้าและคมนาคม เกิดผู้ประกอบการรายใหม่เข้าสู่ธุรกิจมากขึ้น ส่งผลให้มีความต้องการระดมทุนรองรับการขยายตัวของธุรกิจ

สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดีสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ให้ความเห็นว่า การขยายธุรกิจลักษณะเอ็มแอนด์เอจะยังคงเป็นแนวโน้มต่อไป เพราะเป็นการบริหารความเสี่ยงธุรกิจ การลงทุน กระจายออกไปทั่วโลก ขยายฐานการลงทุนจากเศรษฐกิจไทย ที่ขยายเต็มที่ก็โตได้แค่ระดับหนึ่ง โดยตามหลักการทำธุรกิจที่ดีต้องมี 3 เรื่อง คือ 1.ต้องขยายธุรกิจ (Expansion) 2.ต้องกระจายการลงทุน (Diversification) และ 3.ต้องสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Added) แม้ปัจจัยทำธุรกิจจะเปลี่ยนไปทั้งต่างประเทศและในประเทศที่ผันผวน เช่น ราคาน้ำมันโลกที่ดิ่งลงมาก ยุโรปกลับมามีปัญหาเศรษฐกิจ หรือความเสี่ยงในประเทศจากเศรษฐกิจโตต่ำมาก การเมืองที่ส่อจะกลับมามีปัญหา

อย่างไรก็ตาม ยุทธศาสตร์ขยายธุรกิจให้ครบวงจรครั้งนี้คงไม่ทำให้กลุ่มทุนไทยต้องวนกลับไปเผชิญปัญหาเหมือนวิกฤตเมื่อปี 2540 ที่ช่วงนั้นทุกรายมุ่งขยายธุรกิจครบวงจรทั้งแนวราบและแนวดิ่ง เมื่อโดนวิกฤตต้มยำกุ้ง หลายธุรกิจต้องตัดธุรกิจที่ไม่ใช่ธุรกิจหลักหรือคอร์บิซิเนสขายทิ้ง เป็นการตัดอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต แต่ครั้งนี้กลุ่มทุนไทยมีเงินเยอะมีเงินล้น และสามารถระดมทุนด้วยวิธีต่างๆ

ดังนั้น ลักษณะการขยายธุรกิจเอ็มแอนด์เอจะยังเป็นลักษณะของการขยายกิจการของทุนไทยต่อไป ตามโลกที่อยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านหรือทรานซิชั่น พีเรียด ไปเป็น ไฟแนนซ์เบสอีโคโนมี ดิจิทัลเบสอีโคโนมี จากยุคเดิมเป็นโปรดักต์เบส ถัดมาเป็นมาร์เก็ตติ้งเบส และเปลี่ยนมาเป็นไฟแนนซ์เบส นอกจากนี้จากเขตการค้าที่กว้างขึ้นจากเปิดเออีซีปลายปี 2558 ยิ่งทำให้การขยายลงทุนไปในเขตกัมพูชา สปป.ลาว พม่า และเวียดนาม หรือซีแอลเอ็มวี ยิ่งเพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้ การขยายธุรกิจลักษณะเอ็มแอนด์เอยังเป็นการขยายแบบ 2 ทาง คือนอกจากกลุ่มทุนไทยไปลงทุนต่างประเทศ อีกด้านกลุ่มทุนต่างประเทศก็เข้ามาลงทุนในไทยด้วย เพื่อหวังให้ไทยเป็นประตูไปลงทุนในประเทศที่สาธารณูปโภคพื้นฐานยังไม่พร้อม เช่น เมนแลนด์ รวมถึงบางส่วนของจีนตอนใต้ กลุ่มประเทศเอเชียใต้ที่เปิดประเทศมากขึ้น เช่น อินเดีย สำหรับกลุ่มทุนไทยที่ใหญ่พอออกไปทำเอ็มแอนด์เอทั่วโลก เช่น กลุ่มไทยเบฟ กลุ่มซีพี กลุ่มเอสซีจี กลุ่ม ปตท. (พีทีที) กลุ่มเซ็นทรัล กลุ่มมิตรผล กลุ่มทียูเอฟ หรือกลุ่มที่เพิ่งเริ่มไป เช่น กลุ่มบุญรอด

จากภาพรวมทั้งหมดสะท้อนให้เห็นว่า ยุคปลาใหญ่กินปลาเล็ก วัฏจักรนี้กำลังเวียนกลับมาแรง


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน,สำนักงานบัญชี พี.เอ็ม.เอส.

Tags : ต้องใหญ่ ระดับโลก ถึงรอด

view