สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

4 เรื่องสั้นเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์

4 เรื่องสั้นเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ผมคิดว่ามีบางประเด็นทางเศรษฐศาสตร์ที่น่าสนใจและสามารถตอบได้อย่างสั้นๆ ดังนี้

1. ประเทศไทยจะลดค่าเงินบาทจาก 32 เป็น 36 บาทต่อดอลลาร์ได้หรือไม่และควรทำหรือไม่?



ประเทศไทยลดค่าเงินบาทได้โดยการพิมพ์เงินออกมาในจำนวนที่มากขึ้นเช่นที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นได้ทำมาเป็นปีแล้ว เป็นผลให้เงินเยนอ่อนค่าจาก 80 เยนต่อ 1 ดอลลาร์เป็น 118 เยนต่อ 1 ดอลลาร์ ในขณะนี้เพราะญี่ปุ่นต้องการขจัดภาวะเงินฝืด (เงินเฟ้อติดลบ) โดยตั้งเป้าไว้ว่าต้องการให้เงินเฟ้อขยับขึ้นไปที่ 2% หากประเทศไทยลดค่าเงินบาทก็น่าจะทำให้การส่งออกเพิ่มขึ้นและจีดีพีขยายตัวสูงขึ้นเช่นกัน แต่เงินเฟ้อก็จะปรับเพิ่มขึ้นด้วย ดังนั้นหากเงินเฟ้อของไทยปรับลดลงไปใกล้ศูนย์ก็อาจเห็นการเรียกร้องเช่นนี้ แต่คงจะถูกคัดค้านจากธนาคารแห่งประเทศไทยเพราะวัตถุประสงค์หลักของนโยบายการเงินคือการรักษาเสถียรภาพของราคา


2. การเก็บภาษีมรดกทำไปเพื่ออะไร?

การเก็บภาษีมรดกนั้นผมเข้าใจว่ามีวัตถุประสงค์หลัก 2 ประการคือเพิ่มรายได้ของรัฐโดยรัฐจะนำเงินภาษีดังกล่าวมาจัดสรรให้คนจนและ/หรือพัฒนาประเทศเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวม ตรงนี้ผมเห็นรายงานข่าวว่ากระทรวงการคลังประเมินว่าการเก็บภาษีมรดกจะทำให้ในระยะยาวรายได้ของรัฐบาลจะเพิ่มขึ้นจาก 18% ของจีดีพีเป็น 22% ของจีดีพี ซึ่งรัฐมนตรีคลังบอกว่ายังต่ำเพราะประเทศพัฒนาแล้วเก็บภาษีเท่ากับ 35-40% ของจีดีพี (ซึ่งประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่เก็บภาษีมูลค่าเพิ่มประมาณ 20% ของราคาสินค้า) แต่หากภาษีมรดกทำให้เก็บเพิ่มได้อีก 4% ของจีดีพีจริงก็แปลว่าจะเป็นเม็ดเงินประมาณ 5 แสนล้านบาทซึ่งไม่น้อยเลย แต่ก็เป็นไปได้เพราะหากกำหนดมรดกมูลค่าขั้นต่ำเอาไว้ที่ 50 ล้านบาท ภาษีมรดกเพิ่มขึ้นหนึ่งเท่าตัวได้ภายในประมาณ 30-35 ปีข้างหน้า เพราะ 50 ล้านบาทใน 30-35 ปีข้างหน้าจะมีกำลังซื้อที่แท้จริงเท่ากับ 25 ล้านบาทในวันนี้ อีกวัตถุประสงค์ของการเก็บภาษีมรดกคือการกระจายทรัพย์สินและทรัพยากรของประเทศไม่ให้กระจุกตัวอยู่กับไม่กี่ครอบครัว (ทำลายระบบกงสี) ซึ่งหากต้องการเช่นนั้นจริงก็ควรเขียนกฎหมายว่าผู้ให้มรดกสามารถกระจายมรดกให้กับใครก็ได้และเมื่อไหร่ก็ได้ในมูลค่าต่ำกว่า 50 ล้านบาท กล่าวคือไม่ต้องรอให้ผู้ให้ต้องตายก่อนจะได้มีการเร่งกระจายทรัพย์สินและทรัพยากรในทันที


3. ประเทศไทยควรเร่งขายข้าวที่อยู่ในสต็อกของรัฐเพื่อให้จีดีพีเพิ่มขึ้น

รัฐบาลให้ข่าวว่ารัฐบาลมีข้าวอยู่ในสต็อกเกือบ 18 ล้านตัน (จากปกติ 5-6 ล้านตัน) ทำให้บางคนมองว่าการเร่งส่งออกข้าวจากสต็อก (ซึ่งเพิ่มการส่งออก) ก็ย่อมจะช่วยเพิ่มจีดีพีไปด้วย ตรงนี้ต้องบอกว่าการส่งออกข้าวจากสต็อก 5 ล้านหรือ 10 ล้านตันจะไม่ทำให้จีดีพีของประเทศเพิ่มขึ้น แต่อาจทำให้ลดลงก็ได้ด้วยเหตุผลดังนี้คือข้าวที่อยู่ในสต็อกของรัฐบาลนั้นเป็นข้าวที่ผลิตมานานหลายปีและรัฐบาลได้ซื้อจากชาวนาไปแล้วจึงได้ถูกนำไปบันทึกผลผลิตหรือจีดีพีไปแล้ว หากนำมาขายในวันนี้โดยการส่งออกก็จะทำให้ตัวเลขการส่งออกเพิ่มขึ้นจริงซึ่งจะทำให้จีดีพีสูงขึ้น แต่สต็อกข้าวที่ลดลงก็จะต้องถูกนำไปหักออกจากจีดีพีในมูลค่าที่เท่ากัน ดังนั้น หากรีบเร่งระบายข้าวออกไปก็อาจส่งผลกระทบข้างเคียงทำให้ราคาข้าวไทยโดยรวมปรับลดลง ซึ่งจะทำให้ข้าวที่เพิ่งผลิตใหม่ขายได้ในราคาที่ต่ำลงเป็นผลให้จีดีพีลดลงไปด้วย นอกจากนั้นหากรายได้จากการส่งออกข้าวจากสต็อกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในเวลาอันสั้นก็อาจทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นในช่วงหนึ่งและลดรายได้เมื่อคำนวณเป็นเงินบาทของสินค้าส่งออกอื่นๆ อีกด้วย

4. เมื่อไหร่ซาอุดีอาระเบียและโอเปกจะลดการผลิตเพื่อรักษาเสถียรภาพของราคาน้ำมัน

สมัยก่อนโอปกเคยลดการผลิตน้ำมันดิบทำให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับเพิ่มขึ้น 3-4 เท่า ในบางกรณีก็จะลดการผลิตเพื่อชะลอการลดลงของราคาน้ำมัน กล่าวคือทำตัวเป็นกลุ่มที่ปรับการผลิตของตนเพื่อทำให้เกิดความสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทาน แต่ครั้งนี้โอเปกกลับหันหลังให้กับบทบาทดังกล่าวทำให้เกิดคำถามว่าเมื่อไหร่โอเปกจะกลับมาทำหน้าที่เช่นเดิมอีก หากอาศัยหลักทฤษฎีเศรษฐศาสตร์จุลภาคก็ต้องตอบว่าโอเปกจะปรับลดการผลิตก็ต่อเมื่อเส้นอุปสงค์มีความยืดหยุ่นต่ำกว่าหนึ่ง (demand elasticity less than 1) แปลว่าโอเปกต้องคำนวณว่าเมื่อลดการผลิตลง 5% ราคาน้ำมันจะต้องปรับเพิ่มขึ้น 10% เป็นต้น (ความยืดหยุ่นเท่ากับ 0.5) แต่หากปรับลดการผลิตลง 5% แล้วราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นเพียง 2.5% (ความยืดหยุ่นเท่ากับ 2) โอเปกก็จะไม่ลดการผลิตเนื่องจากจะทำให้รายได้รวมจากการขายน้ำมันลดลง

ในทางปฏิบัตินั้นผู้ผลิตที่เป็นรายใหญ่เพียงพอก็จะเผชิญกับเส้นอุปสงค์ที่มีความยืดหยุ่นต่ำ (ผู้ซื้อต้องพึ่งพาผู้ขายมาก) ผู้ผลิตที่เป็นรายเล็ก (มีส่วนแบ่งตลาดน้อย) ก็มักจะเผชิญกับเส้นอุปสงค์ที่ความยืดหยุ่นสูง (ทำให้สมาชิกโอเปกรายเล็กจึงมักจะแอบผลิตเกินโควตาอยู่เรื่อยไป) สำหรับสภาวะปัจจุบันโอเปกผลิตน้ำมัน 30 ล้านบาร์เรลต่อวันหรือ 30% ของการผลิตทั้งโลกนั้นมองได้ว่าเป็นส่วนแบ่งตลาดที่เล็กเกินไป โดยเฉพาะเมื่อเผชิญกับ Shale oil ของสหรัฐที่มีอยู่หลายร้อยรายที่กำลังแข่งกันเร่งเพิ่มการผลิต โอเปกจึงน่าจะมองว่าหากลดการผลิตลง 10% ราคาน้ำมันก็คงเกือบไม่เพิ่มขึ้นเลยเพราะ Shale oil เข้ามาทดแทนทั้งหมด ดังนั้นจึงต้องยอมให้ราคาน้ำมันลดลงจน Shale oil ล้มหายตายจากไปบ้างและอุปสงค์โดยรวมเพิ่มขึ้น ซึ่งในภาษาเศรษฐศาสตร์แปลว่าจะทำให้เสนออุปสงค์ของโอเปกมีความยืดหยุ่นต่ำและเมื่อนั้นจึงจะเป็นโอกาสที่จะลดการผลิตเพื่อดันให้ราคาน้ำมันสูงขึ้นและส่งผลให้รายได้โดยรวมเพิ่มขึ้นแม้ว่าจะขายน้ำมันในปริมาณที่ลดลง


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน,สำนักงานบัญชี พี.เอ็ม.เอส.

Tags : เรื่องสั้น เกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์

view