สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เศรษฐกิจโลกปีนี้วุ่นวายแต่ก็เป็นประโยชน์

เศรษฐกิจโลกปีนี้วุ่นวายแต่ก็เป็นประโยชน์

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




เริ่มอาทิตย์แรกของปี ตลาดหุ้นทั่วโลกก็ผันผวนมากสะท้อนความห่วงใยของนักลงทุนต่อสถานการณ์เศรษฐกิจโลกปีนี้

ที่ส่อเค้าจะวุ่นวายจากความไม่แน่นอนที่มีอยู่หลายจุด เริ่มจากราคาน้ำมันที่ปรับลดลง เศรษฐกิจรัสเซีย ปัญหาการเมืองในยูเครน เศรษฐกิจยุโรปที่ถดถอย ความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเงินฝืด การอ่อนค่าของเงินยูโร การเลือกตั้งในกรีซ ความเสี่ยงที่กรีซอาจออกจากกลุ่มยูโรโซน การเลือกตั้งในสเปนที่อาจวุ่นวายตามกรีซ นโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรปว่าจะทำมาตรการคิวอีหรือไม่ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ เงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่า แนวโน้มที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย การชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศตลาดเกิดใหม่ รวมถึงจีน ภาวะเงินทุนไหลออกการอ่อนค่าของสกุลเงินประเทศตลาดเกิดใหม่ ความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ในประเทศตลาดเกิดใหม่ เช่น บราซิล เวเนซุเอลา และรัสเซียที่อาจปะทุเป็นวิกฤติ และราคาสินค้าเกษตรที่ปรับลดลง นับแล้วก็ประมาณยี่สิบจุดที่เป็นความห่วงใยของนักลงทุนที่ไม่มีใครพูดได้อย่างมั่นใจว่าแต่ละเรื่องผลจะออกมาอย่างไร นี่คือความไม่แน่นอนที่มีในเศรษฐกิจโลกขณะนี้

วันนี้จึงอยากจะปะติดปะต่อสถานการณ์เหล่านี้เป็นภาพเพื่อให้เข้าใจว่าอะไรกำลังเกิดขึ้นในเศรษฐกิจโลก เพื่อผู้อ่านจะได้มีกรอบวิเคราะห์ที่จะสามารถติดตามเรื่องต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้น เพื่อความสนุกของการติดตามเศรษฐกิจโลกปีนี้

ภาวะเศรษฐกิจเป็นพลวัตของการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์เศรษฐกิจจากเวลาหนึ่งไปสู่อีกเวลาหนึ่ง ในลักษณะเดียวกันเศรษฐกิจโลกปีนี้ก็เป็นพลวัตของสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่มีอยู่ปีที่แล้วบวกกับนโยบายและปัจจัยอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นปีนี้ หลังเกิดวิกฤติเศรษฐกิจโลกปี 2008 เศรษฐกิจประเทศอุตสาหกรรมหลัก คือ สหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่น เข้าสู่ภาวะถดถอย ขณะที่เศรษฐกิจประเทศตลาดเกิดใหม่รวมถึงจีนขยายตัวได้ดีจากการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ตั้งแต่ปีที่แล้ว เศรษฐกิจประเทศตลาดเกิดใหม่เริ่มชะลอ เพราะหลายประเทศได้ลดทอนการกระตุ้นเศรษฐกิจหลังจากที่ระดับหนี้ได้เพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมหลักก็มีสหรัฐประเทศเดียวที่เศรษฐกิจฟื้นตัวชัดเจน ขณะที่ประเทศอื่น เช่น ยุโรป และญี่ปุ่น เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว แต่แม้สหรัฐจะฟื้นตัว การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในภาพรวมยังอ่อนแอ เพราะประเทศตลาดเกิดใหม่เศรษฐกิจเริ่มชะลอ ทำให้การใช้จ่ายในเศรษฐกิจโลกโดยรวมชะลอ สร้างแรงกดดันให้ราคาสินค้าปรับลดลง สวนทางกับราคาสินทรัพย์ที่ปรับสูงขึ้นจากสภาพคล่องในระบบการเงินที่มีมาก ซึ่งเป็นผลของมาตรการคิวอี ทั้งของธนาคารกลางสหรัฐและญี่ปุ่น ดังนั้น สิ่งที่เราเห็นปีที่แล้ว ก็คือ เศรษฐกิจโลกไม่ฟื้นตัว ราคาสินค้าปรับลดลง แต่ราคาสินทรัพย์ปรับสูงขึ้น

ปีนี้ประเด็นหลักของเศรษฐกิจโลกก็คือ การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงในสามเรื่องสำคัญที่จะเกิดขึ้นพร้อมกันปีนี้ การเปลี่ยนแปลงในสามเรื่องนี้ ก็คือ หนึ่ง ราคาน้ำมันที่ได้ลดลงมากเป็นประวัติการณ์ ทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ ต้องลดลงตาม สอง การปรับทิศทางนโยบายการเงินสหรัฐ ที่จะเริ่มปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น ทำให้ต้นทุนการเงินโลกจะกลับมาสูงขึ้นเป็นครั้งแรก หลังจากที่อยู่ในระดับใกล้ศูนย์มากว่า 7 ปี และสาม การปรับราคาและความเสี่ยงของสินทรัพย์ทางการเงิน (Repricing of asset and risk) ซึ่งจะมีผลต่อเงินทุนไหลเข้าออก นี่คือการปรับตัวในสามเรื่องที่จะเป็นพลวัตขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกปีนี้

ในประเด็นแรก การชะลอตัวของการใช้จ่าย (รวมถึงจีนและประเทศตลาดเกิดใหม่ แม้เศรษฐกิจสหรัฐจะดีขึ้น) ทำให้ความต้องการสินค้าวัตถุดิบโดยเฉพาะน้ำมันลดลง เกิดอุปทานส่วนเกินมีผลให้ราคาน้ำมัน ราคาสินค้าโภคภัณฑ์และสินค้าเกษตรปรับลดลง ในกรณีของน้ำมันราคาได้ปรับลดลงไปแล้วกว่าครึ่งแต่อุปทานส่วนเกินยังมีอยู่ ทำให้คาดว่าราคาน้ำมันคงจะยังลดลงได้อีก และจะเข้าสู่เสถียรภาพเมื่ออุปสงค์และอุปทานกลับสู่ภาวะสมดุล ซึ่งอาจใช้เวลาปีนี้ทั้งปีในการปรับตัว กรณีของสินค้าเกษตรและสินค้าโภคภัณฑ์ก็กำลังปรับตัวเช่นกัน กรณีของน้ำมัน ราคาที่ลดลงจะหมายถึงการเคลื่อนย้ายรายได้ และอำนาจซื้อออกจากประเทศผู้ผลิตน้ำมันไปสู่ประเทศผู้นำเข้าน้ำมัน ทำให้เศรษฐกิจประเทศที่ส่งออกน้ำมัน จะถูกกระทบมากทั้งในแง่อัตราการขยายตัวและดุลการชำระเงิน ขณะที่ประเทศที่นำเข้าน้ำมัน (เช่นไทย) เศรษฐกิจจะได้ประโยชน์จากต้นทุนที่ลดลง ซึ่งเป็นปัจจัยบวกต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ

สำหรับด้านที่สองคือ นโยบายการเงิน ประเทศที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว เช่น สหรัฐจะเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ขณะที่ประเทศที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวและมีความเสี่ยงต่อภาวะเงินฝืด เช่น กลุ่มยูโรโซนและญี่ปุ่น ก็คงดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อไป รวมถึงการใช้มาตรการคิวอีเพิ่มเติม ทำให้ปีนี้เราคงเห็นธนาคารกลางยุโรปเริ่มใช้มาตรการคิวอี เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะเงินฝืด ความแตกต่างของทิศทางนโยบายการเงินระหว่างสหรัฐ กับยุโรป และญี่ปุ่น จะมีผลให้เงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า เทียบกับเงินยูโรและเงินเยน สำหรับยุโรปก็มีความไม่แน่นอนเพิ่มเติมจากกรณีกรีซว่าภายใต้รัฐบาลใหม่ กรีซจะออกระบบเงินสกุลยูโร หรือไม่ ซึ่งความไม่แน่นอนนี้จะกดดันเงินยูโรให้อ่อนค่าลงมากขึ้น จนกว่าประเด็นนี้จะชัดเจน

ด้านที่สามก็คือ การปรับตัวของราคาสินทรัพย์ทางการเงินและราคาความเสี่ยง (Repricing) ตามราคาน้ำมันที่ลดลง เพื่อลดความเสี่ยงและสร้างผลตอบแทนต่อนักลงทุน ซึ่งแนวโน้มที่สหรัฐจะขึ้นอัตราดอกเบี้ย และเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าก็จะกระตุ้นให้เงินลงทุนไหลออกจากประเทศตลาดเกิดใหม่กลับเข้าสหรัฐ ซึ่งทั้งเงินทุนไหลออก อัตราดอกเบี้ยดอลลาร์สหรัฐที่จะปรับสูงขึ้น และค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่า ทั้งหมดนี้จะสร้างแรงกดดันอย่างมากต่อประเทศตลาดเกิดใหม่ โดยเฉพาะประเทศที่มีหนี้สูง และมีภาระต้องชำระหนี้ เช่น บราซิล เวเนซุเอลา รวมถึงรัสเซีย ถ้าประเทศเหล่านี้ไม่สามารถรักษาความเชื่อมั่นของตลาดว่าจะสามารถดูแลภาระการชำระหนี้ได้ ความเสี่ยงที่ความห่วงใยจะปะทุขึ้นเป็นวิกฤติก็มีมาก ซึ่งถ้าเกิดขึ้นก็จะส่งผลกระทบไปทั่ว

นี่คือพลวัตของการปรับตัวในสามด้านที่กำลังเกิดขึ้นในเศรษฐกิจโลกขณะนี้ ทำให้ปีนี้เศรษฐกิจโลกมีความไม่แน่นอนและล่อแหลมเป็นพิเศษต่อการเกิดปัญหาเชิงวิกฤติ แต่ผลจะออกมาอย่างไรคงจะขึ้นอยู่อย่างสำคัญกับความสามารถของผู้ทำนโยบายว่าจะสามารถประคับประคองการปรับตัวและรักษาความเชื่อมั่นของนักลงทุนได้หรือไม่ ซึ่งผมมั่นใจว่าผู้ทำนโยบายทั้งในประเทศอุตสาหกรรมและประเทศตลาดเกิดใหม่เข้าใจความเสี่ยงเหล่านี้เป็นอย่างดี และคงพยายามหาทางปลดชนวนความไม่แน่นอนต่างๆ ที่มีอยู่ โดยการหารือของผู้เกี่ยวข้องเพื่อหาทางออก เช่น กรณียูเครน ก็มีข่าวว่าจะมีการหารือระหว่าง ยูเครน เยอรมนี และฝรั่งเศส ในวันที่ 15 มกราคมนี้ ในกรณีกรีซก็มีความพยายามที่จะสร้างความเข้าใจว่า รัฐบาลใหม่ของกรีซต้องการอะไร ในแง่การผ่อนคลายเงื่อนไขการกู้ยืม เพื่อลดความเสี่ยงของการออกจากระบบยูโรโซน สำหรับธนาคารกลางสหรัฐก็แสดงท่าทีชัดเจนว่าพร้อมจะรอ และไม่รีบร้อนที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ย ขณะที่จีนซึ่งเป็นเศรษฐกิจอันดับสองของโลกก็แสดงท่าทีว่าจะมีมาตรการเร่งการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานอีกรอบ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ สิ่งเหล่านี้ชี้ชัดเจนว่า ผู้ทำนโยบายพยายามประคับประคองการปรับตัวให้เปลี่ยนผ่านความไม่แน่นอนต่างๆ ไปให้ได้ โดยไม่เกิดปัญหาใหญ่ เพื่อให้เศรษฐกิจโลกสามารถฟื้นตัวได้อย่างเข้มแข็ง ภายใต้ราคาน้ำมันที่ปรับลดลง

สำหรับเศรษฐกิจไทยปีนี้ ก็คงจะได้รับผลกระทบจากการปรับตัวที่กำลังเกิดขึ้น ซึ่งเราคงได้ประโยชน์จากราคาน้ำมันที่ลดลง ต่อทั้งการส่งออกและการท่องเที่ยว แต่อัตราดอกเบี้ยสหรัฐที่จะปรับสูงขึ้น เงินทุนต่างประเทศที่จะไหลออก และความเสี่ยงของการเกิดปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจในประเทศอื่น ก็เป็นประเด็นที่ต้องตระหนักและควรวางนโยบายเพื่อตั้งรับ ขณะเดียวกันก็ต้องปรับนโยบายเศรษฐกิจ ให้เศรษฐกิจสามารถได้ประโยชน์อย่างเต็มที่ จากการลดลงของราคาน้ำมันนำไปสู่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เพื่อไม่ให้เหมือนหรือซ้ำรอยปีที่แล้ว


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน,สำนักงานบัญชี พี.เอ็ม.เอส.

Tags : เศรษฐกิจโลก ปีนี้วุ่นวาย เป็นประโยชน์

view