สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เอาผิดจนทรัฐทรมานอุ้มหายคุก 20 ปี

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ทีมข่าวในประเทศโพสต์ทูเดย์

เมื่อหนึ่งชีวิตถูกอุ้มหายโดยมิอาจพิสูจน์ทราบ และอีกหลายชีวิตต้องสูญสาบโดยไม่พบร่องรอย

นี่ไม่ใช่ความบังเอิญ และยิ่งไม่ใช่ชะตากรรมที่ใครต้องมาเผชิญ

ในนามแห่งความยุติธรรม...จำต้องมีผู้รับผิดชอบ

ปี 2550 ประเทศไทยร่วมเป็นภาคีในอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน และการปฏิบัติ หรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (ซีเอที)

ปี 2555 ประเทศไทยลงนามในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (ซีอีดี)

แต่แล้ว “บิลลี่” พอละจี รักจงเจริญ นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน และแกนนำชาวบ้านกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ก็หายตัวไปอีกคน เมื่อช่วงกลางปี 2557

เป็นอีกครั้ง อีกครั้ง และอีกครั้ง

“ที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายที่แยกประเด็นการซ้อมทรมาน อุ้มฆ่า ออกมาเป็นการเฉพาะ ทางสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ก็เสนอมาว่าเราควรจะมี และเราก็เห็นว่าควรแยกออกจากประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา” ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ระบุ

เป็นที่มาของ ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย พ.ศ. ... ซึ่งกรมคุ้มครองสิทธิฯ ร่วมกับคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) จัดทำขึ้น

ณรงค์ ใจหาญ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มธ. อธิบายว่า กฎหมายกำหนดให้เจ้าหน้าที่รัฐต้องทำบันทึกการควบคุมตัว การปล่อยตัว และการส่งต่อตัวผู้ต้องหาหรือผู้ต้องสงสัย ซึ่งหากเกิดการอุ้มหาย เราก็จะทราบว่าใครหรือหน่วยงานใดอยู่กับผู้ถูกอุ้มเป็นลำดับสุดท้าย บุคคลหรือหน่วยงานนั้นๆ ก็ต้องรับผิดชอบ

สำหรับกฎหมายฉบับนี้ไม่มีผลย้อนหลัง โดยสรุปสาระสำคัญพอสังเขปได้ดังนี้

มาตรา 5 เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำทรมาน ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5-20 ปี และปรับตั้งแต่ 1-4 แสนบาท หากผู้ถูกทรมานได้รับอันตรายสาหัส จำคุก 10-30 ปี ปรับตั้งแต่ 2-6 แสนบาท และหากถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต ปรับตั้งแต่ 6 แสน-1 ล้านบาท

มาตรา 6 เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการบังคับบุคคลให้สูญหาย ระวางโทษเทียบเท่ากับมาตรา 5

มาตรา 7 ผู้ที่ไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ แต่รู้เห็นเป็นใจกับเจ้าหน้าที่รัฐ ระวางโทษตามมาตรา 5 และ 6

มาตรา 9 ผู้บังคับบัญชาผู้ใดทราบหรือจงใจเพิกเฉย ไม่ดำเนินการเพื่อป้องกันหรือระงับ ต้องระวางโทษกึ่งหนึ่งของที่บัญญัติไว้ในมาตรา 5 และ 6

มาตรา 11 สถานการณ์ฉุกเฉินสงครามความไม่มั่นคง ไม่อาจนำมาอ้างเพื่อให้กระทำความผิด พ.ร.บ.ฉบับนี้ได้

มาตรา 15 ไม่ถือเป็นความผิดทางการเมืองตามกฎหมายว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดน

มาตรา 19 เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกจำกัดเสรีภาพใน 6 ประเด็นหลัก

มาตรา 20 ญาติสามารถขอดูข้อมูลดังกล่าวได้ หากเจ้าหน้าที่ปฏิเสธสามารถร้องต่อศาลได้

มาตรา 25 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย ประกอบด้วย รมว.ยุติธรรม (ยธ.) เป็นประธาน ปลัด ยธ.เป็นรองประธาน ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ อัยการสูงสุด อธิบดีดีเอสไอ นายกสภาทนายความ และผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิทธิมนุษยชน 4 คน ด้านการแพทย์ 1 คน ด้านจิตวิทยา 1 คน เป็นกรรมการ อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิฯ เป็นกรรมการและเลขานุการ

มาตรา 32 คณะกรรมการฯ มีหน้าที่สืบสวนข้อร้องเรียน

ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ เป็นกฎหมายที่ ยธ.ให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกๆ โดยคาดว่าจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาภายในเดือน ก.พ.นี้


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน,สำนักงานบัญชี พี.เอ็ม.เอส.

Tags : เอาผิด จนทรัฐ ทรมาน อุ้มหาย คุก 20 ปี

view