สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ปีมะแม ปีแห่งความท้าทาย

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ชั้น 5 ประชาชาติ โดย วิไล อักขระสมชีพ

คอลัมน์ชั้น 5 ประชาชาติ โดย วิไล อักขระสมชีพ oilday@yahoo.com

เปิดต้นศักราชใหม่ปี 2558 ตลาดการเงินทั่วโลกก็เผชิญความท้าทายจากปัจจัยลบรุมเร้าเสียแล้ว สะท้อนผ่านตลาดเงินและตลาดหุ้นที่ซวนเซกันตั้งแต่ต้นปีทีเดียว ซึ่งปัจจัยหลัก ๆ ยังหนีไม่พ้นเรื่องราคาน้ำมันตลาดโลกที่ดิ่งลงอย่างต่อเนื่องจากปลายปีที่แล้ว และยังมีปัญหาเรื่องการเมืองระหว่างประเทศอีก โดยเฉพาะปัญหารัสเซีย ความขัดแย้งของประเทศมหาอำนาจ เพียง 2 เรื่องใหญ่นี้ ซึ่งก็หนีไม่พ้นที่จะส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจ ปีนี้จึงถือเป็นอีกปีที่ท้าทายของแต่ละประเทศที่จะประคับประคองเศรษฐกิจให้ไม่ซวนเซ

แถมปัญหาที่หน่วงประเทศไทยในช่วงปีนี้ก็ยังคงเป็นเรื่องการเมือง ที่ทุกฝ่ายต่างจด ๆ จ้อง ๆ การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ที่จะนำมาสู่การเลือกตั้งปลายปีนี้ด้วย ผู้เขียนได้มีโอกาสฟังเสียงสะท้อนจากผู้บริหารทั้งฝั่งภาคเอกชนและภาครัฐบาลต่างก็ยอมรับว่า ปีนี้กลายเป็นปีที่มีความเสี่ยงหนักกว่าปีก่อน ๆ เสียแล้ว และอะไรจะเกิดขึ้นก็ยากจะคาดเดาจากนี้ จึงเป็นอีกประเด็นที่ทั้งภาคเอกชนยังกังวลใจและนึกไม่ออกว่า จะขยับขยายการลงทุนหรือกำลังการผลิตอย่างไรดี มีจังหวะและโอกาสหรือไม่

แม้แต่ภาครัฐบาลเอง ขุนคลัง "สมหมาย ภาษี" ก็ออกตัวว่า การใช้นโยบายการคลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นก็ทำได้จำกัด แต่สิ่งที่จะทำให้คือการลงทุนระยะกลางที่จะเห็นการขับเคลื่อนในปีนี้ ซึ่งไม่ได้เกิดผลสะท้อนกลับทางบวกต่อเศรษฐกิจในทันที แม้แต่รายได้ที่รัฐบาลจะจัดเก็บในปีงบประมาณ 2558 ก็ไม่สามารถเบ่งรายได้ได้มากนัก

ดังนั้น เศรษฐกิจไทยในปีมะแมคงไม่ได้สดใสอย่างที่คาดหวังกันเมื่อปลายปีก่อนเสียแล้ว เพราะเพียงต้นปีก็มีทั้งอิทธิพลจากภายนอกและภายในประเทศหมุนเวียนเข้ามา ซึ่งยังไม่นับรวมปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจจะเกิดอีกในช่วงที่เหลือของปีนี้ ซึ่งผู้บริหารจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็ให้ข้อสังเกตว่า ตอนนี้มีปัจจัยที่คาดกันไปแล้ว แต่อย่าลืมว่าช่วงที่เหลือจะมีอะไรเข้ามาอีกก็ยากจะคาดเดาได้ ดังนั้นจึงเป็นโจทย์เหนื่อยอีกปีของคนไทย โดยเฉพาะชาวรากหญ้า มนุษย์เงินเดือนที่มีหนี้มีสินผูกมัดอยู่ จำเป็นบริหารสภาพคล่อง เพื่อรับมือกับภาวะเศรษฐกิจที่ยังฝืดเคืองอยู่

อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐเกือบราว ๆ 2 ล้านคน ยังถือเป็นกลุ่มที่โชคดี ที่รัฐบาลปรับขึ้นเงินเดือนให้ ทำให้สภาพคล่องยังพอหมุนได้ดีขึ้น

แต่พอได้พูดถึงกลุ่มข้าราชการ ทำให้นึกขึ้นมาได้ถึงเรื่องฝากมาชี้แจงของเลขาธิการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) "สมบัติ นราวุฒิชัย" เกี่ยวกับข้าราชการที่เป็นสมาชิกของ กบข. ที่เข้ารับราชการก่อนวันที่ 27 มีนาคม 2540 หากต้องการกลับไปใช้สิทธิบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ตามกฎหมายเดิม หรือที่เรียกกันว่า Undo นั้น ก็ขอให้พิจารณาให้รอบคอบก่อนตัดสินใจ เพราะมีเวลาจากนี้ไปจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2558 นี้

โดยข้อมูลเบื้องต้น คาดว่ามีข้าราชการที่มีสิทธิกลับไปตามกฎหมายเดิมได้ จะมีจำนวนประมาณ 7.33 แสนคน เลขาฯ กบข.ก็ได้ฝากมาบอกว่า ข้าราชการที่มีอายุราชการสะสมเป็นเวลานาน เช่น ทหาร ตำรวจ ถ้ากลับไปใช้ระบบบำเหน็จบำนาญแบบเดิม ก็จะได้เงินมากกว่าการเป็นสมาชิก กบข. เพราะว่ากลุ่มพวกนี้มีการคำนวณอายุราชการแบบสมทบเข้ามาด้วย อันนี้ก็ยอมรับว่าถ้าลาออกจากโครงการนี้ก็อาจจะคุ้ม เพราะประเมินตัวเลขที่ได้รับจะออกมาดีกว่า

แต่สำหรับสมาชิกที่มีอายุราชการเหมือนปกติ คือไม่เกิน 45 ปี ถ้าอยู่เป็นสมาชิก กบข.ต่อไป ก็จะได้รับเงินก้อนเมื่อเกษียณอายุ ซึ่งมีทั้งเงินสมทบของตัวเอง เงินประเดิมก้อนแรก เงินสมทบภาครัฐ และเงินชดเชยที่รัฐสะสมให้ ซึ่งรวมแล้วสูงกว่าแน่ เมื่อเทียบกับการเลือกลาออก สมาชิก กบข.จะได้รับเพียงเฉพาะเงินสมทบของตัวเองเท่านั้น ส่วนเงินสมทบอื่นจะไม่ได้รับ เพราะจะได้รับตามสูตรบำนาญเดิมเท่านั้น เลขาฯ กบข.จึงฝากย้ำข่าวสารมาถึงสมาชิก กบข. พิจารณาให้รอบคอบก่อนตัดสินใจแสดงความประสงค์ เพราะหากลาออกจากการเป็นสมาชิก กบข.แล้วจะไม่สามารถกลับมาเป็นสมาชิกใหม่ได้

แต่ถ้าสมาชิก กบข.ยังไม่แน่ใจ ว่าหากลาออกหรืออยู่เป็นสมาชิก กบข.ต่อ แล้วจะได้มากหรือน้อยกว่ากัน เรื่องนี้ทางกรมบัญชีกลาง และ กบข.ได้ให้บริการคำนวณเงินผ่านเว็บไซต์ Undo คือ www.undo.in.th ดังนั้น อย่าเสียโอกาสใช้โปรแกรมนี้รักษาผลประโยชน์ของตัวเอง เพราะเป็นเงินเกษียณ ก้อนที่สำคัญของชีวิตบั้นปลาย

ที่สำคัญ ผู้บริหารหนุ่มยืนยันอีกว่า ในข่วงที่่บริหารเงินกองทุนของ กบข.จะสร้างผลตอบแทนที่ดีให้แก่สมาชิก ซึ่งตัวเลขผลตอบแทนเฉลี่ยตั้งแต่ตั้งกองทุน-30 พฤศจิกายน 2557 อยู่ที่ 6.9%

นอกจากนี้ เลขาฯกบข.ยังฝากบอกข่าวดี ๆ มาให้สมาชิก กบข. อีกว่า ปีนี้ กบข.จะจัดโครงการมหกรรม กบข.พบสมาชิกอย่างเต็มรูปแบบใน 6 ภูมิภาค โดยร่วมมือกับบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) อีก 6 แห่งที่จะเดินสายให้ความรู้การวางแผนทางการเงินและการลงทุน เพื่อให้บริหารเงินออมเพิ่มความมั่งคั่งยามเกษียณ

และเพื่อให้ใกล้ชิดมากขึ้น กบข.ยังได้เปิดช่องทางบริการ "GPF Mobile App" ผ่านทางสมาร์ทโฟน ทั้งระบบ IOS และระบบ Android ซึ่งมีสมาชิกดาวโหลดแอปพลิเคชั่นนี้กันมากกว่า 2 หมื่นรายแล้ว และมีการใช้บริการมากกว่า 580.000 รายการ (ข้อมูล ณ 15 ธันวาคม 2557) ซึ่งบริการที่ได้รับความนิยม คือ การเช็กดูยอดเงินปัจจุบันของตนเอง


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน,สำนักงานบัญชี พี.เอ็ม.เอส.

Tags : ปีมะแม ปีแห่งความท้าทาย

view