สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ผ่ากลโกงล้วงเงินสจล.พันล้าน

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์



 ผ่ากลโกงล้วงเงินสจล.พันล้าน แกะรอยเครือข่ายถึงจอมบงการ

คดีลักเงินคลังสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) จากบัญชีธนาคารที่สถาบันฯ เปิดไว้ เกือบ 1.5 พันล้านบาท ผ่านการสืบสวนสอบสวนมาใกล้จะครบหนึ่งเดือนแล้ว แต่ยิ่งนานวัน การสอบสวนก็พบตัวละครต้องสงสัยเกี่ยวโยงเป็นเครือข่ายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ล่าสุดพนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) ได้ออกหมายเรียกบุคคลพัวพันกับการรับโอนเงินมาสอบสวนเพิ่มเติมอีกถึง 26 คน ขณะที่ฝ่ายสืบสวนก็ระดมกำลังไล่ล่าผู้ต้องหาตามหมายจับที่ยังหลบหนี

โดยเฉพาะ นายกิตติศักดิ์ มัทธุจัด ผู้ต้องหาที่เชื่อว่าเป็นกุญแจสำคัญที่จะสาวไปถึงตัวผู้บงการที่อยู่เบื้องหลังคดีนี้ เนื่องจากเขาเป็นตัวการสำคัญในการผ่องถ่ายและกำหนดความเคลื่อนไหวทางการเงินในแต่ละบัญชีธนาคารที่นายกิตติศักดิ์นำมาเป็นถังรองรับเงินที่ขโมยออกมาจากบัญชีธนาคารของ สจล.

ประเด็นสำคัญ ที่หลายคนยังค้างคาใจ คือ "มูลเหตุจูงใจ" ในการกระทำผิด และเหตุใดเงินคลังจำนวนมโหฬารหายไปจึงไม่มีใครในสถาบันฯ ระแคะระคาย

พ.ต.อ.ณษ เศวตเลข รอง ผบก.ป. ในฐานะหัวหน้าฝ่ายสอบสวนคดีนี้ เล่าให้ "กรุงเทพธุรกิจ" ฟังถึงเบื้องหน้าเบื้องหลังคดีนี้ว่า จุดเริ่มต้นเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 18 ธ.ค.2557 ที่ผ่านมา เมื่อ รศ.ดร.โมไนย ไกรฤกษ์ อธิการบดี สจล. มอบหมายให้ทนายความ เข้าแจ้งความกับพนักงานสอบสวนกองปราบ ให้ตรวจสอบบัญชีเงินฝากของ สจล.ที่ถูกถอนปิดบัญชี ตามที่นางสาวอำพร น้อยสัมฤทธ์ ผู้อำนวยการการคลัง สจล. หนึ่งในผู้ต้องหา เสนอแนะให้โอนเงิน 80 ล้านบาทในบัญชีดังกล่าวไปเข้าบัญชีใหม่ของธนาคารกรุงศรีอยุธยา สาขาบิ๊กซี ศรีนครินทร์ ที่มีนายทรงกลด ศรีประสงค์ ผู้ต้องหาอีกคน ซึ่งเป็นผู้จัดการธนาคารสาขาดังกล่าว โดยอ้างเหตุผลอัตราดอกเบี้ยพิเศษที่สูงกว่าบัญชีธนาคารทั่วไป แต่เงินจำนวนดังกล่าวได้สูญหายไป

"ทางสถาบันฯ ก็ออกมายอมรับแล้วว่า เป็นความบกพร่องของหน่วยงานที่ขาดความรัดกุม ไม่มีขั้นตอนการตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ ปล่อยและให้ความไว้วางใจนางสาวอำพรที่ทำงานอยู่ใน สจล.มากว่า 10 ปี เป็นเพียงบุคคลเดียวที่ดำเนินธุรกรรมทางการเงิน แม้ สจล.จะพยายามชี้แจงมาบ้างแล้ว แต่นั่นยังเป็นความคลุมเครือเรื่องแรกๆ ที่ตำรวจต้องรวบรวมข้อมูลกันต่อไป เพราะไม่ปักใจเชื่อว่าจะมีการปล่อยปละละเลยขนาดนั้น"

สำหรับความสัมพันธ์ของผู้ต้องหากลุ่มนี้ ส่วนใหญ่เป็นที่ทราบกันดีถึงพฤติกรรมและความสัมพันธ์ลึกซึ้งระหว่างนายกิตติศักดิ์ นายทรงกลด นายพูลศักดิ์ และนายภาดา แต่นั่นก็ยังไม่สำคัญเท่ากับความสนิทสนมของผู้ต้องหาคนสำคัญอย่างนายกิตติศักดิ์ นายทรงกลด และนางสาวอำพร

"นางสาวอำพร เริ่มต้นทำงานอยู่ในฝ่ายการคลังของ สจล. ตั้งแต่ระดับพนักงานทั่วไป เป็นระยะเวลากว่า 10 ปี จนได้ทำงานในระดับผู้อำนวยการกองคลัง ส่วนนายทรงกลด เริ่มต้นเป็นนายธนาคารและเติบโตจากตำแหน่งพนักงานหน้าเคาน์เตอร์ ของธนาคารแห่งหนึ่ง ซึ่งชีวิตการทำงานวนเวียนอยู่ในสาขาต่างๆ ในพื้นที่ที่ สจล. ตั้งอยู่ เช่น สุวินทวงศ์ ท่าอากาศสุวรรณภูมิ จนเติบโตเป็นผู้จัดการธนาคาร ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมาทั้งสองมีการติดต่อกันมาอย่างต่อเนื่องทำให้ต่างไว้เนื้อเชื่อใจกันเป็นอย่างดี"

ขณะที่การแกะรอยเส้นทางการเงินนั้น เขา บอกว่า นางสาวอำพร เป็นเสมือนกุญแจไขเงินถ่ายเทออกจาก สจล.และมีนายทรงกลด อาศัยหน้าที่การงานในฐานะผู้จัดการธนาคาร เป็นเสมือนกุญแจอีกดอก คอยทำหน้าที่ด้านธุรกรรมของธนาคารให้ลุล่วงเป็นสเต็ปแรก

จากนั้นเงินที่ออกจากบัญชีจะไหลไปสู่บัญชีเงินฝากอย่างน้อย 5 บัญชี ของนางสาวจันจิรา โสประเสริฐ นายพูลศักดิ์ บุญสวัสดิ์ นายสมพงศ์ สหพรอุดมการ นายจริวัฒน์ สหพรอุดมการ และนายภาดา บัวขาว

ก่อนจะยักย้ายกระจายเงินออกไปสู่บัญชีต่างๆ ที่เปิดรอไว้เพื่อหลบเลี่ยงธุรกรรมการโอนเงินที่ผิดสังเกต ทำให้เงินถูกทยอยโอนเข้าบัญชีต่างๆ โดยเบื้องต้นเชื่อว่า นายกิตติศักดิ์ ทำหน้าที่กำกับเส้นทางการเงินไว้ทุกอย่าง ซึ่งราบรื่นไม่มีปัญหาอะไรมากว่า 10 ปี

"นั่นทำให้สมุดบัญชีธนาคารที่กลุ่มผู้ต้องหา ใช้แสดงสถานะการเงินเพื่อตบตา สจล. โดยหลังถอนเงินปิดบัญชี มีการปกปิดหน้ากระดาษที่แสดงรายการฝากถอนที่แท้จริง เพียงประกบแผ่นหน้ากระดาษบนล่างเข้าด้วยกัน ส่วนแผ่นต่อมาก็ใช้เครื่องพิมพ์ดีดไฟฟ้า บันทึกรายการฝากถอนอันเป็นข้อมูลเท็จลงหน้ากระดาษที่แสดงรายการฝากถอนที่ยังเหลืออยู่ ด้วยยอดจำนวนเงินที่แจ้งไว้กับ สจล."

เขาบอกว่า ฝ่ายสืบสวนสอบสวนยังคงต้องคอยแกะรอยต่อไปว่า หลังจากเงินที่โอนออกจาก 5 บัญชีดังกล่าวแล้ว เส้นทางการเงินต่อไปนั้นเป็นเช่นไร มีอีกกี่บัญชีที่รับโอนต่อ มีอีกกี่สเต็ปของการกระจายเงิน มีบุคคลใดเข้าไปเกี่ยวข้องบ้าง แม้ว่าเบื้องต้นจะพบว่า ในทุกบัญชีของเครือข่ายผู้ต้องหามีการไหลไปเข้าบัญชีนายกิตติศักดิ์

"มีเงินจำนวนหนึ่งไหลไปสู่บัญชีของนายกิตติศักดิ์ ซึ่งพบว่าในช่วงปี 2555 จนถึงปัจจุบัน มีการนำเงินไปซื้อทรัพย์สินต่างๆ ทั้งบ้าน ที่ดิน รถหรูหรา ใช้ชีวิตฟุ้งเฟ้อ และลงทุนอีกมากมาย เช่น สถานบันเทิง สตีทผับ มีนายกิตติศักดิ์ ร่วมลงทุนในช่วงที่มีการตรวจสอบการเงิน สจล."

พ.ต.อ.ณษ กล่าวทิ้งท้ายว่า นอกจากสมุดบัญชีธนาคารที่ใช้ตบตาการยักยอก จะเป็นเพียงหลักฐานเดียวที่สามารถตรวจสอบได้ง่ายดายเพียงมองดูด้วยตาเปล่าก็สามารถทราบได้ทันทีว่า เป็นพิรุธสำคัญของการบิดเบือนบัญชีธนาคาร แต่ทุกอย่างกลับราบรื่นไม่มีใครพบพิรุธนี้มานานหลายปี และยังมีอีกหลายประเด็นที่ต้องสอบสวนคลี่คลายข้อเท็จจริงให้ได้

"ยังมีความคลุมเครืออีกหลายประเด็นที่ทำให้เรื่องการโยกย้ายเงินของหน่วยงานแห่งนี้ จำเป็นต้องใช้เวลาในการรวบรวมข้อมูลหลายฝ่าย โดยเฉพาะนายกิตติศักดิ์ที่อดีตเป็นเพียงโมเดลลิ่งวงการบันเทิง เพียงแค่มีเงินที่ยักยอกจาก สจล.ก็ทำให้เขามีเงินมาเปิดบริษัทจัดหาตัวนักแสดง บริษัทผลิตรายการโทรทัศน์ ใช้ชีวิตหรูหราเกินฐานะที่ควรจะเป็น ซึ่งไม่น่าจะเป็นบุคคลเดียวที่สามารถกำหนดทิศทางการก่อคดีได้"

ข้อสงสัยต่างๆ เหล่านี้ แม้กระทั่ง พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการสอบสวนคดีฟอกเงิน ก็ยังตั้งคำถาม

"ส่วนตัวก็สงสัยเหมือนกันว่ามีอะไรเป็นมูลเหตุ เพราะธุรกรรมการเงินไม่ได้มีความซับซ้อนอะไร แต่ ปปง.ทำได้เพียงอายัดทรัพย์ตามความผิดมูลฐานที่มีการร้องขอมาเท่านั้น ส่วนการสืบหาสาเหตุคงต้องให้พนักงานสอบสวนตรวจสอบต่อไป"

เลขาธิการ ปปง. บอกว่า สำหรับการอายัดทรัพย์คดีนี้ได้ดำเนินการกับบุคคลและนิติบุคคลไปกว่า 20 ราย มีทรัพย์สินที่อายัด 178 รายการ มูลค่ากว่า 100 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี เขาบอกว่า การตรวจสอบธุรกรรมการเงินคดีนี้มีความยากพอสมควรเนื่องจากเหตุเกิดมานานแล้ว ทำให้กระแสเงินที่ได้มาจากการกระทำผิดถูกนำไปใช้จ่ายในเรื่องต่างๆ แต่ทั้งนี้จากการตรวจสอบก็ยังไม่การถ่ายโอนเงินออกนอกประเทศ

หลังจากนี้คงต้องติดตามต่อไปว่า ตำรวจกองปราบปรามจะติดตามจับกุมนายกิตติศักดิ์มาดำเนินคดีได้หรือไม่ เนื่องจากผู้ต้องหารายนี้เป็นเพียงเบาะแสเดียวในขณะนี้ที่จะไขข้อเคลือบแคลงสงสัยในคดี และที่สำคัญเขาเป็นผู้เดียวที่จะสาวไปถึงเบื้องหลังเพื่อกระชากหน้ากาก เปิดโปงตัวผู้บงการที่แท้จริงออกมาได้


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ผ่ากลโกง ล้วงเงินสจล. พันล้าน

view