สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เงินหายไปไหน-ทำไมไม่พอจ่าย

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ชลลดา อิงศรีสว่าง

ตัวเลขการบริโภคของเอกชนที่หดหายไปมากในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา จนทำให้เศรษฐกิจฝืดเคือง พ่อค้าแม่ขายขายของไม่ออก แม้เศรษฐกิจจะแย่ แต่ก็ยังไม่รุนแรงถึงกับเลิกจ้างงาน และลดค่าตอบแทน อาจจะมีการลดชั่วโมงทำงานในบางธุรกิจ สภาพคล่องในตลาดเงินยังมี แต่คนกลับรู้สึกชักหน้าไม่ถึงหลัง

ทำไมจึงเกิดความรู้สึกเงินฝืดขึ้นในวงกว้าง ฉัตรพงศ์ วัฒนจิรัฏฐ์ รองผู้อำนวยการ ฝ่ายวางแผนและให้คำปรึกษาทางการเงินบุคคล ธนาคารกสิกรไทย มองว่า เกิดมาจากพฤติกรรมการใช้จ่ายของแต่ละบุคคล จากการให้คำปรึกษาลูกค้าพบว่าคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งทำงานมีทัศนคติต่อการเป็นหนี้ว่าไม่ใช่ความผิด หากเป็นหนี้บัตรเครดิตก็จะชำระขั้นต่ำ 10% ยอมจ่ายดอกเบี้ยส่วนที่เหลือ ซึ่งไม่ควรทำเพราะดอกเบี้ยคือค่าใช้จ่ายแฝงที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อไม่ชำระหนี้มีค่าปรับหากชำระช้า นอกจากนี้ ยังทำให้รู้สึกมีอำนาจการใช้จ่ายอยู่ก็จะยังคงใช้จ่ายไม่หยุด คนกลุ่มนี้จบปริญญาตรีมีเงินเดือน 1.5 หมื่นบาท จบปริญญาโท เงินเดือน 1.8  หมื่นบาท แต่ชอบเทคโนโลยีใหม่ๆ ซื้อโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต ราคาแพงคิดเป็น 10% ของรายได้ทั้งปี

ฉัตรพงศ์ บอกว่า อีกเหตุผลที่ทำให้รายได้ไม่เพิ่ม คือ คนส่วนใหญ่นิยมออมในผลิตภัณฑ์เงินฝาก มีความเสี่ยงต่ำ แต่ก็ให้ผลตอบแทนต่ำกว่าเงินเฟ้อเช่นกัน ไม่กล้าเสี่ยงลงทุนในกองทุนรวม

“ผู้เสียภาษี 2.6 ล้านคน ซื้อกองทุนรวมอาร์เอ็มเอฟประมาณ 3  แสนบัญชี ซื้อแอลทีเอฟ 9 แสนบัญชี แสดงว่าคนยังไม่รู้จักการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าเงินฝาก บางคนที่เข้ามาปรึกษามีอายุเข้าวัยกลางคนแล้ว ก็ไม่รู้จักว่ากองทุนรวมคืออะไร”ฉัตรพงศ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาในภาพรวม สภาพเศรษฐกิจซบเซา ทำให้อัตราการขึ้นเงินเดือนและการจ่ายโบนัสลดลง ขณะที่ราคาสินค้าอุปโภคและบริโภคเพิ่มขึ้น เป็นสาเหตุให้รายได้ไม่เพิ่ม คนรู้สึกจนลง จึงป้องกันตัวเองด้วยการลดรายจ่าย

คนไทยเผชิญปัญหาน้ำมันแพง ค่าแรงถูกมานานหลายปี แต่จู่ๆ กลายเป็นน้ำมันถูก ค่าครองชีพแพง แต่ราคาสินค้าและบริการไม่ได้ปรับลดราคาลงมาตามราคาน้ำมันที่ลดลง

สมพล เกียรติไพบูลย์ ที่ปรึกษา รมว.พาณิชย์ เห็นว่า ผู้ประกอบการที่ยื้อไม่ลดราคาสินค้าลงมาตามต้นทุนราคาน้ำมัน จะอ้างเรื่องสต๊อกสินค้าที่ผลิตในต้นทุนเดิม ไม่สามารถลดราคาได้ทันที บริษัทน้ำมันบางรายก็อ้างสต๊อกเช่นกัน ซึ่งเป็นเหตุผลที่รับไม่ได้ ในทางกลับกันหากราคาน้ำมันขึ้นราคาก็ปรับราคาขึ้นทันที ไม่ได้รอให้ของในสต๊อกหมดก่อน จึงต้องเชิญผู้ประกอบการมาหารือเพื่อให้นำต้นทุนและสต๊อกมาแจกแจงว่าทำไมจึงลดราคาสินค้าไม่ได้ รวมทั้งค่าโดยสาร
รถโดยสารสาธารณะต่างๆ ที่ควรจะลดราคาลง

สมพล บอกว่า สิ่งที่กระทบต่อผู้บริโภคมากที่สุดคืออาหารสำเร็จรูปหรืออาหารพร้อมรับประทาน การอ้างว่ารัฐบาลลอยตัวก๊าซแอลพีจีทำให้ต้องขึ้นราคายังไม่สมเหตุสมผล เพราะค่าก๊าซทำให้ต้นทุนขึ้นเพียง 5-10% แต่ขึ้นราคาอาหาร 5 บาท ซึ่งสูงกว่าต้นทุนอย่างเทียบกันไม่ได้

สมพลเห็นว่าอาหารสำเร็จรูปที่มีราคาสูงส่วนหนึ่งมีเรื่องของแฟรนไชส์ เรื่องการตลาดและแบรนด์เกี่ยวข้อง เช่น ข้าวขาหมู หากเป็นร้านมีชื่อเสียง ราคาจะสูงกว่าข้าวขาหมู ร้านทั่วไป รวมถึงร้านสะดวกซื้อที่ราคาสูงกว่าร้านค้าทั่วไป 10-20% แต่คนก็ยอมซื้อเพราะใช้บริการสะดวก

“ในต่างประเทศร้านสะดวกซื้อมีไว้บริการลูกค้ากลุ่มที่ทำงานกะดึก ซื้อของเล็กๆ น้อยๆ ไม่ได้ซื้อกันเป็นหลักอย่างคนไทย”ที่ปรึกษา รมว.พาณิชย์ กล่าว

น่าคิดว่าสิ่งที่ที่ปรึกษา รมว.พาณิชย์ กล่าวนั้นจริงหรือไม่ ค่าครองชีพที่สูงขึ้นนี้ส่วนหนึ่งเกิดจาก ไม่ฉลาดซื้อ ฉลาดใช้ และจากการสำรวจตลาดก็พบว่าพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปมาก เกิดค่านิยมในกลุ่มคนรุ่นใหม่ว่าของแพงคือของดี

“เคยถามผู้ผลิตน้ำปลาว่าต้นทุนอะไรบ้าง เขาบอกว่าทำของอย่างนี้ขายได้ราคายี่สิบกว่าบาท แต่ใส่ขวดธรรมดาขายได้ 12 บาท นั่นคือกลยุทธ์การทำการตลาด มีค่าโฆษณา ค่าใช้จ่ายอื่นแฝงในราคาสินค้า ทำให้ต้นทุนสูงเกินจำเป็น”สมพล กล่าว

ดังนั้น สิ่งที่ผู้บริโภคทั้งหลายควรทำก็คือ ต้องรู้ทันกลยุทธ์การตลาดรู้จักการเปรียบเทียบเลือกซื้อ และซื้อตามงบประมาณที่มี ควบคุมรายจ่ายไม่ให้สูงเกินรายได้ ซึ่งต้องรณรงค์อย่างต่อเนื่อง ขณะนี้เริ่มมีผู้ผลิตนำสินค้าแบบไม่ใส่กล่องออกมาขายในราคาถูกกว่า  เป็นทางเลือกให้ผู้ที่ต้องการคุณภาพไม่ใช่ความสวยงามของบรรจุภัณฑ์

ฉลาดซื้อ ฉลาดใช้ คือทางรอดในวิกฤตค่าครองชีพ

จานด่วน 10 บาท ที่พึ่งยุคเงินฝืด

แม้ผู้ประกอบการอาหารสำเร็จรูปหรือขายอาหารพร้อมรับประทานส่วนใหญ่จะพากันขึ้นราคา แต่ก็ยังมี
ผู้ประกอบการอีกจำนวนหนึ่งเลือกที่จะตรึงราคา ใช่เพียงเหตุผลแค่ความเห็นใจผู้มีรายได้น้อย แต่ของดีราคาถูกก็ย่อมทำให้ขายได้มากขึ้น การเกื้อกูลกันระหว่างผู้ประกอบการและผู้บริโภคทำให้ต่างฝ่ายต่างอยู่ได้ในภาวะเงินฝืด

รักษ์ สิริพฤกษา ซึ่งเปิดขายข้าวมันไก่ 10 บาท ในตลาดผาสุก เมืองกาญจนบุรี มากว่า 30 ปีไม่ว่าสถานการณ์เศรษฐกิจจะตกต่ำหรือราคาวัตถุดิบจะปรับขึ้นก็ตาม บอกว่า ราคาขายที่ถูกกว่าทำให้ขายได้รวมแล้ววันละกว่า 2,000 จานหรือห่อ

เช่นเดียวกับร้านเจ๊ตุ้ม ข้าวแกง 10 บาท ซึ่งเปิดขายในเขตเทศบาลเมืองราชบุรีมาถึง 15 ปี สุดธิษา เสาหงส์ เจ้าของร้านก็บอกว่า ข้าวแกงราคาถูกทำให้ขายได้วันละประมาณ 3,000-6,000 จานหรือห่อ ทำให้มีกำไรพออยู่ได้

วนิดา แซ่ลี้ หรือป้านาง เจ้าของร้านข้าวแกงแดงไทย หน้าเทศบาลนครราชสีมา ซึ่งยังขายข้าวแกงราดกับข้าวอย่างเดียว 15 บาท ทำให้มีลูกค้าเข้ามาอุดหนุนกันตลอดทั้งวันไม่ขาดสาย ก็ยืนยันว่าจะขายในราคานี้ต่อไป กำไรนิดหน่อย แต่ถ้ามีลูกค้าอุดหนุนจนแน่นร้านทุกวันก็พออยู่ได้

ด้าน จันทร์หอม กุลเกษ พนักงานบริษัทเอกชนที่เป็นลูกค้าประจำร้านป้านางก็บอกว่า ข้าวแกงราคาประหยัดช่วยประหยัดเงินได้มาก เพราะหากซื้อกับข้าวมาทำเองก็จะมีต้นทุนต่อมื้อมากกว่านี้


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เงินหายไปไหน ทำไมไม่พอจ่าย

view