สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

แนวโน้มเศรษฐกิจปีนี้

แนวโน้มเศรษฐกิจปีนี้

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




แนวโน้มเศรษฐกิจปีนี้ดูไม่ง่าย เพราะ หนึ่ง เศรษฐกิจโลกปีนี้ดูจะมีปัญหาพอควร มีความไม่แน่นอนในหลายจุด

ทำให้คาดเดายากว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกปีนี้จะออกมาอย่างไร สอง เศรษฐกิจไทยปีที่แล้วก็ค่อนข้างผิดหวัง อัตราการขยายคงตัวอยู่ระหว่าง 0.5-0.8 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือว่าต่ำมาก ทำให้แรงส่งของเศรษฐกิจที่จะมีโมเมนตั้มขับเคลื่อนเศรษฐกิจปีนี้มีน้อย สาม บทบาทภาครัฐจะจำเป็นมากต่อเศรษฐกิจปีนี้ แต่เมื่อดูจากปีที่แล้ว บทบาทภาครัฐในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจก็ยังไม่เห็นผลชัดเจน ทำให้นักธุรกิจประเมินได้ยากว่าปีนี้จะหวังจากบทบาทภาครัฐในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้มากน้อยแค่ไหน ทำให้ภาครัฐอาจเป็นความไม่แน่นอนสำหรับเศรษฐกิจปีนี้

ด้วยเหตุนี้ มุมมองเศรษฐกิจไทยขณะนี้จึงแบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกจะเน้นข้อเท็จจริงเป็นตัวนำว่าเศรษฐกิจขณะนี้ขาดกำลังซื้อ ภาวะการลงทุนยังซบเซา และถ้าเศรษฐกิจโลกมีปัญหามาก ขณะที่การทำงานของรัฐบาลเรื่องเศรษฐกิจจยังไปเรื่อยๆ แบบเรือแป๊ะ โอกาสที่เศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้เข้มแข็งปีนี้คงมีน้อย ทำให้ปีนี้อาจเป็นอีกปีที่เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวต่ำ

กลุ่มที่สองมองว่า แม้ภาวะเศรษฐกิจโลกจะดูวุ่นวาย และมีปัญหามากขึ้นเทียบกับปีที่แล้ว แต่ปัจจัยบวกที่สำคัญของเศรษฐกิจโลกปีนี้ ก็คือ การปรับลดลงอย่างมากของราคาน้ำมัน ล่าสุดราคาน้ำมันได้ลดลงต่ำกว่า 50 ดอลลาร์ต่อบาเรล และราคาน้ำมันที่ปรับลดลงนี้ ถ้าสามารถยืนในราคาที่ต่ำได้ตลอดทั้งปีก็จะส่งผลดีอย่างมากต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และถ้าความไม่แน่นอนในจุดต่างๆ ของเศรษฐกิจโลกที่มีอยู่สามารถควบคุมได้ ไม่ให้มีผลทางลบต่อเศรษฐกิจโลกมากเกินไป การประหยัดที่เกิดขึ้นจากราคาน้ำมันที่ลดลงก็น่าจะเป็นตัวบวกสำคัญที่จะช่วยเศรษฐกิจโลกให้ฟื้นตัวได้มากขึ้นปีนี้ และถ้าเศรษฐกิจโลกขยายตัวดีขึ้น เศรษฐกิจเปิดอย่างไทยก็จะได้ประโยชน์ ทำให้ปีนี้เศรษฐกิจไทยจะมีปัจจัยบวกจากราคาน้ำมันที่จะช่วยฟื้นเศรษฐกิจ

มุมมองทั้งสองด้านมีเหตุผล มุมมองแรกสะท้อนแนวคิดนักวิเคราะห์ในประเทศที่เกาะติดและให้ความสำคัญกับภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันของประเทศ คือการชะลอตัวของอำนาจซื้อ นโยบายเศรษฐกิจที่ยังไม่ส่งผล และการปฏิรูปที่ยังไม่มีอะไรจับต้องได้ ทำให้ไม่ได้หวังมากจากบทบาทภาครัฐต่อเศรษฐกิจปีนี้ อีกมุมมองหนึ่งเป็นมุมมองนักลงทุนต่างประเทศ ที่ให้ความสำคัญอย่างมากกับการปรับลดลงของราคาน้ำมัน ที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจโลกให้ฟื้นตัว ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทย ทั้งการส่งออกและการท่องเที่ยว ขณะที่การประหยัดในประเทศไทยจากราคาน้ำมันที่ลดลง ก็จะสร้างอำนาจซื้อให้กับผู้บริโภคซึ่งจะช่วยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

ผมเองคล้อยตามแนวคิดหลัง เพราะเศรษฐกิจไทยพึ่งพาและใช้น้ำมันเป็นพลังงานมาก ดังนั้นเศรษฐกิจควรได้ประโยชน์อย่างมากจากการปรับลดลงของราคาน้ำมัน และถ้ารัฐบาลสามารถใช้โอกาสนี้ให้เป็นประโยชน์โดยปรับนโยบายเศรษฐกิจมาให้ความสำคัญกับความเป็นอยู่ของประชาชน และสร้างอำนาจซื้อให้กับคนในระดับกลางและระดับล่างมากขึ้น โอกาสที่เราจะใช้ราคาน้ำมันที่ลดลงผลักดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจปีนี้ก็มีสูง นี้คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้

แนวคิดว่าราคาน้ำมันลดลงจะเป็นปัจจัยกระตุ้นเศรษฐกิจปีนี้ ตั้งอยู่บนเงื่อนไขสำคัญสองเงื่อนไข เงื่อนไขแรก ราคาน้ำมันต้องปรับลดลงและยืนราคาในระดับที่เฉลี่ยต่ำกว่า 50 เหรียญสหรัฐต่อบาเรลได้ทั้งปี เพื่อให้เศรษฐกิจได้ประโยชน์จากการประหยัดที่จะเกิดขึ้น เพื่อสร้างอำนาจซื้อให้กับเศรษฐกิจ สอง ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศต้องปรับลดลงในอัตราเดียวกับตลาดโลก เพื่อให้ผู้บริโภคและบริษัทเอกชนได้ประโยชน์จากราคาที่ลดลง ตรงกันข้าม ถ้าราคาน้ำมันในประเทศไม่ลด หรือลดลงไม่เต็มที่ตามราคาตลาดโลก โอกาสจากราคาน้ำมันก็จะไม่เกิดขึ้น เศรษฐกิจก็จะไม่มีตัวช่วย เพราะจะไม่ได้ประโยชน์จากราคาน้ำมันที่ลดลง ซึ่งจะเป็นการทำนโยบายที่ผิดพลาด

แต่ถ้าราคาน้ำมันในประเทศปรับลดลงได้ตามราคาในตลาดโลก ประโยชน์ต่อเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นทันทีในสามด้าน หนึ่ง เศรษฐกิจประหยัดจากรายจ่ายน้ำมันที่เคยจ่าย นำไปสู่การเพิ่มอำนาจซื้อให้กับประชาชนและบริษัทธุรกิจ สอง ราคาน้ำมันที่ลดลงทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าลดลง กระตุ้นให้ผู้ผลิตปรับลดราคาสินค้า เมื่อราคาสินค้าลดความต้องการใช้จ่ายในประเทศก็จะขยายตัว สาม แรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อจะลดลงตามราคาสินค้าที่ลดลง ทำให้นโยบายการเงินจะสามารถอยู่ในภาวะผ่อนคลายได้ต่อไป เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

ดังนั้นคำถามสำคัญปีนี้ ก็คือ เศรษฐกิจไทยจะสามารถใช้โอกาสจากราคาน้ำมันที่ลดลงได้อย่างไร เพื่อให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศเกิดขึ้นอย่างเข้มแข็ง คำตอบในเรื่องนี้จะอยู่ที่บทบาทของภาครัฐว่าจะใช้ประโยชน์จาก “โอกาสทอง” ที่จะเกิดขึ้นนี้อย่างไรในแง่นโยบาย และที่นโยบายเศรษฐกิจรัฐบาลเป็นคำถามปีนี้ก็เพราะปีที่แล้วแม้รัฐบาลจะมีนโยบายเศรษฐกิจที่ดี มีความตั้งใจสูงแต่นักลงทุนมองว่าตัวนโยบายในบางเรื่องและการขับเคลื่อนนโยบายยังมีปัญหา เช่น หนึ่ง นโยบายเศรษฐกิจดูจะให้ความสำคัญหรือ Pro ธุรกิจขนาดใหญ่ หรือ Big Business เป็นพิเศษ สอง การขับเคลื่อนนโยบายในทางปฏิบัติยังถูกกำกับโดยแนวคิดและวิธีการทำงานแบบราชการ ทำให้การขับเคลื่อนไม่สามารถฉกฉวยโอกาสที่เกิดขึ้น จากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้อย่างเต็มที่ และ สาม การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน การแก้ไขการทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งเป็นประเด็นที่ภาคธุรกิจให้ความสำคัญยังไม่มีความก้าวหน้าในเชิงรูปธรรม ทำให้ไม่ชัดเจนว่าทั้งสองเรื่องนี้จะมีความก้าวหน้าได้มากแค่ไหนในปีนี้

ดังนั้น ในภาวะที่เศรษฐกิจมีความไม่แน่นอน และหลายอย่างจะขึ้นอยู่กับบทบาทภาครัฐ การสื่อสารอย่างเป็นกิจจะลักษณะกับนักลงทุน โดยเฉพาะนักธุรกิจในประเทศ จึงสำคัญที่จะช่วยสร้างความมั่นใจในประเด็นเหล่านี้ ปัจจุบันต้องยอมรับว่าความเชื่อมั่นของนักธุรกิจต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและต่อนโยบายยังไม่ดีขึ้นมาก ต่างกับความมั่นใจของผู้บริโภค ที่ตัวเลขกลับมาดีขึ้นทันทีจากราคาน้ำมันในประเทศที่ลดลง ทำให้ปีนี้บทบาทภาครัฐในการสร้างความมั่นใจให้กับภาคธุรกิจจึงสำคัญ

เพื่อให้ภาคธุรกิจและกรรมการบริษัทสามารถได้รับฟังความคิดเห็นในเรื่องเหล่านี้ได้โดยตรงจากผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการวางแผนธุรกิจปีนี้ สถาบันกรรมการบริษัทไทยหรือไอโอดีจึงได้จัดงานสัมมนาแนวโน้มเศรษฐกิจประจำปีขึ้นในวันจันทร์ที่ 19 มกราคม คือวันนี้ตั้งแต่เวลาเที่ยงตรงเป็นต้นไป ภายใต้หัวข้อ “เศรษฐกิจปี 2015 ทางที่จะเดินต่อ” หรือ “Thai Economy 2015 : The Way Forward” จัดที่ โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ ซึ่งองค์ปาฐกของงานนี้ ก็คือ หม่อมราชวงศ์ ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ต่อด้วยการเสวนาในหัวข้อดังกล่าว โดยผู้ทรงคุณวุฒิสามท่าน คือ คุณสนั่น อังอุบลกุล รองประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย คุณบุญทักษ์ หวังเจริญ กรรมการผู้จัดการธนาคารทหารไทย และประธานสมาคมธนาคารไทย และ ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการฝ่ายวิจัยบริษัทหลักทรัพย์ภัทรจำกัด โดยมีผมเป็นผู้ดำเนินการสัมมนา


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : แนวโน้มเศรษฐกิจปีนี้

view