สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ลมหายใจค้าปลีกว่าด้วยวิวัฒนาการ

จากประชาชาติธุรกิจ

ธุรกิจค้าปลีกไทยมองผ่านกลุ่มเซ็นทรัลมีวิวัฒนาการอย่าง น่าทึ่ง พลิกโฉมหน้าจากความหมายและโมเดลธุรกิจดั้งเดิมเมื่อครึ่งศตวรรษที่แล้ว โดยใช้เวลาเพียงสองทศวรรษ

กลุ่มเซ็นทรัล เป็นต้นแบบการบริหารธุรกิจครอบครัวสมัยใหม่ จากบทสนทนาตกลงกันอย่างไม่ทางการ แล้วค่อย ๆ สร้างกฎเกณฑ์และระบบขึ้นมาตามลำดับ เรื่องการแบ่งกลุ่มธุรกิจดำเนินต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงเปลี่ยนผ่านผู้นำคนสำคัญ (สัมฤทธิ์ จิราธิวัฒน์) ตั้งแต่ปี 2535 เริ่มต้นด้วยการแบ่งคร่าว ๆ เป็นกลุ่มค้าปลีก กลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ กลุ่มโรงแรม กลุ่มธุรกิจการค้าและการตลาด (ส่วนใหญ่ดูแลสินค้าลิขสิทธิ์) และกลุ่มแฟรนไชส์ฟาสต์ฟู้ด (ชื่ออย่างเป็นทางการก็ปรับเปลี่ยนไปบ้างในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา) เมื่อเข้าสู่ยุคปัจจุบัน การแบ่งกลุ่มธุรกิจได้ซอยย่อยมากขึ้นอีก

จากนั้นตั้งบริษัทแกนขึ้นมา บางบริษัทที่ต้องการเงินลงทุนครั้งละมาก ๆ นำเข้าตลาดหุ้นเพื่อแสวงหาโอกาสระดมทุนให้ยืดหยุ่นมากขึ้น ส่วนการตั้งโฮลดิ้งคอมปะนีซึ่งถือเป็นบริษัทแกนกลางของกลุ่มที่ชื่อว่า เซ็นทรัลกรุ๊ป (2544) ตั้งมาอย่างเป็นจริงเป็นจังในช่วงหลังวิกฤตครั้งใหญ่

พึงสังเกตว่ายามปกติการบริหารกิจการครอบครัวก็ดำเนินไปด้วยบทสนทนาถือเป็นลักษณะพิเศษของการบริหารธุรกิจที่มีความคล่องตัวสูง แต่ในยามเผชิญวิกฤตการณ์ก็ต้องมานั่งประชุมกันเพื่อสร้างกฎเกณฑ์ กติกาและระบบ กลุ่มเซ็นทรัลก็เป็นเช่นนี้ แม้ว่าการจัดระบบการบริหารธุรกิจครอบครัว ถือว่าเป็นต้นแบบอย่างเป็นเรื่องราวมีมานานพอสมควร แต่ได้ยกระดับขึ้นอย่างเข้มข้นในช่วงวิกฤตการณ์เช่นกัน (2540)


ทศ จิราธิวัฒน์

อีกมิติหนึ่งว่าด้วยธรรมชาติครอบครัวขยาย ในรุ่นบุกเบิกพี่น้องไม่กี่คน สนทนากันอย่างไม่เป็นทางการก็แก้ปัญหา ครั้นเมื่อครอบครัวขยายมากขึ้น มีบุคคลเกี่ยวข้องมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ ทำงานอยู่ในเครือข่ายธุรกิจครอบครัวเดียวกัน มีประสบการณ์ มีความรู้มากขึ้น จำเป็นต้องมีระบบที่ดีขึ้น เป็นผลึกประสบการณ์ธุรกิจครอบครัวที่สามารถจัดการกับระบบและเครือข่ายธุรกิจที่ใหญ่และซับซ้อนมากที่สุดแห่งหนึ่งในสังคมไทย

กลุ่มธุรกิจค้าปลีกสร้างพัฒนา และบริหารช่องทางการจัดหน่ายสินค้าต่าง ๆ ห้างเซ็นทรัลมีสาขาเพิ่มขึ้นอยู่ตลอดเวลา จากอยู่ที่อาคารเดี่ยว ตึกใหญ่ขึ้น จนมาถึงเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของศูนย์การค้า และกลายเป็นคำนิยามกว้าง ๆ ของเครือข่ายค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย ภายใต้คำนิยามใหม่ ๆ สาขาเพิ่มขึ้น ๆ กระจายออกจากใจกลางเมืองหลวง สู่ชานเมือง สู่หัวเมืองสำคัญ ฯลฯ

ในอีกด้านหนึ่งกลุ่มธุรกิจค้าปลีก มีรายได้ครองส่วนแบ่งประมาณสามในสี่ของกลุ่มเซ็นทรัลโดยรวม มีผู้คนที่เกี่ยวตั้งแต่ผู้บริหารและพนักงานจำนวนหลายหมื่นคน ที่สำคัญคนในตระกูลจิราธิวัฒน์เกือบทุกคนผ่านประสบการณ์ทำงานธุรกิจค้าปลีกนี้เสมอ อย่างไรก็ตาม ธุรกิจครอบครัวมักมีระบบสืบทอดอย่างไม่เป็นทางการเป็นวิญญาณซ่อนไว้ เป็นที่ยอมรับได้ เช่นว่า บุตรชายจะต้องเป็นผู้นำ และบุตรของพี่ใหญ่จะต้องดูแลธุรกิจสำคัญ กรณี ทศ จิราธิวัฒน์ ผู้นำคนปัจจุบัน อาจตีความได้เป็นเช่นนั้น แต่เชื่อว่าคงมิใช่ทั้งหมด เขาเป็นบุตรชายของสัมฤทธิ์ จิราธิวัฒน์ ผู้นำรุ่นที่สอง ผู้บุกเบิกธุรกิจห้างสรรพสินค้าในเมืองไทย

หากศึกษาสังคมธุรกิจยุคใหม่ คงต้องศึกษาพัฒนาธุรกิจค้าปลีกของกลุ่มเซ็นทรัล และเป็นที่น่าสนใจอย่างยิ่งว่า ธุรกิจค้าปลีกพัฒนาอย่างก้าวกระโดดอย่างมากในช่วง 20 ปีมานี้เอง

ทศ จิราธิวัฒน์ เข้ามามีบทบาทในกลุ่มเซ็นทรัลในช่วงจังหวะหัวเลี้ยวหัวต่อ ในช่วงบิดาของเขายังอยู่ ด้วยวัยเพียง 25 ปี หลังผ่านการศึกษามาอย่างดี

เขาเริ่มต้นการศึกษาตามสูตรตระกูลจิราธิวัฒน์ เดินทางไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกาด้วยวัย 14 ปี ตั้งแต่ระดับมัธยม จนจบปริญญาตรีทางเศรษฐศาสตร์ (Wesleyan University) และ MBA (Columbia University) อยู่ที่นั่นนานถึงประมาณ 10 ปี รวมทั้งช่วงเวลาได้ทำงานหาประสบการณ์เกี่ยวข้องกับธุรกิจครอบครัว (ที่ห้าง Macy′s-Department Store ชื่อดังที่นิวยอร์ก) ในช่วงสั้น ๆ เมื่อกลับเมืองไทย เขามีประสบการณ์สำคัญอื่น ๆ ก่อน ในธุรกิจการเงิน (ที่ Citibank) ว่าด้วยผลิตภัณฑ์ใหม่ และดีลใหญ่ จะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ถือเป็นกระบวนการสร้างผู้นำในอนาคต

ในช่วงนั้น สังคมไทยกำลังเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจเติบโตก้าวกระโดด สัญญาณแสดงที่ตลาดหุ้น กระแสเงินจากต่างประเทศไหลเข้ามาอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ภาพสะท้อนถึงวิถีชีวิตสมัยใหม่ ก้าวไปครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง หลังสงครามเวียดนาม ธุรกิจเชื่อมโยงกับวิถีชีวิตสมัยใหม่เติบโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะธุรกิจสื่อสาร และค้าปลีก แม้เผชิญวิกฤตการณ์เศรษฐกิจครั้งใหญ่ในปี 2540 สังคมธุรกิจไทยต้องใช้เวลาช่วงหนึ่งในการปรับตัวครั้งใหญ่ แต่วิถีชีวิตสมัยใหม่คงดำเนินต่อไปอย่างแข็งขัน

ธุรกิจค้าปลีกกำลังเผชิญการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญ

พื้นที่และทำเล-กลยุทธ์ของเซ็นทรัลในมุมมองการบริหารสมัยใหม่ ว่าด้วยสร้างช่องทางเข้าถึงผู้บริโภคโดยการแบ่งตลาดให้ย่อยลง แบ่งประเภทสินค้า และการลงทุนใหม่ด้วยทั้งกู้เงิน ร่วมทุนและซื้อกิจการ ที่แท้คือความพยายามเข้าใจกฎของธรรมชาติของธุรกิจค้าปลีก ว่าด้วยการขยายพื้นที่ให้มากขึ้น รองรับสินค้าสมัยใหม่มากขึ้น เข้าถึงผู้โภคมากขึ้น ด้วยการเลือกสถานที่ให้เหมาะกับตลาดที่มีขนาดแตกต่างกัน

ภายใต้แรงจูงใจสำคัญ เพื่อสร้างความเป็นผู้นำตลาด รักษาส่วนแบ่งตลาด ซึ่งต้องยอมรับในช่วงทศวรรษพื้นที่และทำเลได้ขยายไปอย่างมากหลายเท่า ในบางมิติเป็นแรงปะทะสังคมและชุมชนที่ค่อย ๆ เปลี่ยนบุคลิกโดยรวม

ขณะที่เซ็นทรัลมีเครือข่ายธุรกิจค้าปลีกมากที่สุดในสังคมไทย แต่ต้องยอมรับว่าในบางภูมิศาสตร์ที่เป็นยุทธศาสตร์ เซ็นทรัลไม่ได้อยู่ในตำแหน่งที่ดี โดยเฉพาะพื้นที่ใจกลางกรุงเทพฯ ยึดครองโดย กลุ่มสยามพิวรรธน์ และ เดอะมอลล์

ปะทะและหลอมรวม-การแข่งขันทางธุรกิจอันเข้มข้น ยิ่งขยายยิ่งแข่งขันกันมากขึ้น การขยายพื้นที่และทำเลยิ่งรวดเร็วและรุนแรงมากขึ้น ในที่สุดธุรกิจค้าปลีก กลายพันธุ์เป็นธุรกิจที่เผชิญหน้ากับธุรกิจอื่น ๆ สร้างแรงปะทะกัน และหลอมเข้ากันเอง ข้ามพรมแดนจากสินค้าคอนซูเมอร์ สู่สินค้าอื่น มีคู่แข่งมากขึ้น ไม่จำกัดวงเฉพาะค้าปลีกในความหมายเดิม กลุ่มเซ็นทรัลกำลังเผชิญหน้ากับคู่แข่งรายใหม่ ๆ มากขึ้นทุกขณะ กลุ่มธุรกิจใหญ่ในสังคมไทยล้วนเข้าสู่ธุรกิจค้าปลีกกันอย่างเป็นขบวนในหลากหลายระดับและรูปแบบ ไม่ว่า ซี.พี. สหพัฒน์ ไทยเจริญ รวมทั้ง ปตท.

ร่วมมือกับแข่งขัน-เครือข่ายค้าปลีกระดับโลกเข้ามาเมืองไทยมากขึ้น ย่อมคุกคาม ท้าทาย ธุรกิจค้าปลีกไทยมากขึ้น กลุ่มเซ็นทรัลปรับตัวครั้งใหญ่ ในช่วงเวลาที่ถือว่าเหมาะสม พยายามแสวงหาความร่วมมือกับเครือข่ายค้าปลีกระดับโลกมากขึ้น ความร่วมมือ-แข่งขันในธุรกิจค้าปลีกเป็นพัฒนาการที่น่าติดตาม

ผู้นำ-ผู้ตาม-ในภาพใหญ่กลุ่มเซ็นทรัลเป็นผู้นำธุรกิจค้าปลีกในสังคมไทย แต่ในภาพย่อย ในหลายรูปแบบธุรกิจค้าปลีก กลุ่มเซ็นทรัลกลายเป็นผู้ตามไปแล้ว ว่าไปแล้วเริ่มต้นตั้งแต่กลุ่มเซ็นทรัลปรับตัวครั้งใหญ่ นิยามธุรกิจใหม่ (2536) ด้วยการเปิดตัว Big C Super Center ซึ่งทศ จิราธิวัฒน์ เขียนไว้ใน CV ว่าเขาเป็นผู้ก่อตั้ง ในอีกมิติหนึ่งคือการปรับตัวยอมรับบทบาทในฐานะ "ผู้ตาม" ตามมาด้วยเครือข่ายค้าปลีกขนาดเล็ก สินค้าเฉพาะอย่าง ซึ่งเริ่มต้นเป็นผู้ตามในตลาด อาทิ Power Buy, B2S และ Homework ว่ากันว่า เป็นผลงานการสร้างสรรค์ของทศ จิราธิวัฒน์ ในช่วงเพิ่งก้าวขึ้นเป็น Chief Operational Officer และกรรมการผู้จัดการใหญ่ เซ็นทรัลรีเทล (2539) เชื่อว่าจาก "ผู้ตาม" ยกระดับเป็น "ผู้นำ" จะเป็นประสบการณ์ใหม่ของกลุ่มเซ็นทรัล

ธุรกิจค้าปลีกเผชิญแรงเสียดทานมากขึ้น ทั้งทางธุรกิจและสังคม ขณะเดียวกันเป็นธุรกิจที่มีสีสัน และน่าติดตาม โดยเฉพาะบทบาทผู้นำคนล่าสุดของกลุ่มเซ็นทรัล


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ลมหายใจค้าปลีก ว่าด้วยวิวัฒนาการ

view