สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ผ่า ปีศาจแดง

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ คิด วิเคราะห์ แยกแยะ โดย ชาย มโนภาส


มหาเศรษฐี Ron Baron ผู้บริหารกองทุน Baron มูลค่ารวมกันกว่า 26,800 ล้านเหรียญ โดยเน้นกลยุทธ์ "ซื้อกิจการที่ดี และถือมันไว้ตราบเท่าที่มันยังเป็นกิจการที่ดี" ได้ให้สัมภาษณ์สำนักข่าว CNBC ถึงหุ้นที่น่าจะสร้างผลตอบแทนได้ดีในระยะ 5 ปีขึ้นไปว่า เขาเชื่อว่าหุ้นของสโมสรฟุตบอลชื่อก้องโลก นาม "Manchester United" เป็นหนึ่งในหุ้นที่เขาเลือก

ประเด็นนี้ทำให้ผมสนใจที่จะหาข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อจะดูว่าเพราะเหตุใด Ron Baron จึงคิดเช่นนั้น ดังนั้นในบทความนี้ เราจะมาศึกษาจุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และความเสี่ยงของกิจการทีม "ปีศาจแดง" กัน

ตอนนี้หุ้นของทีมแมนฯยูฯมีการซื้อขายอยู่ในตลาดหุ้นนิวยอร์ก หลังจากที่ทำ IPO เป็นครั้งที่สอง เมื่อปี 2012 ที่ราคา 14$ ตอนนี้ราคาเคลื่อนไหวอยู่ราว 16$ มีมูลค่ากิจการสูงถึง 88,000 ล้านบาท เป็นทีมฟุตบอลที่มูลค่ากิจการสูงที่สุด ทิ้งห่างจาก Borussia Dortmund ของเยอรมนี และ Juventus ของอิตาลี เป็นอย่างมาก

ตอนนี้หุ้นแมนฯยูฯมี PE สูงถึง 72 เท่า PBV 3.46 เท่า กิจการมี ROE แค่ 5.04 และอัตราการทำกำไรสุทธิแค่ 5% เงินปันผลก็ไม่มี ดูภาพรวมในเชิงปริมาณอย่างไรก็รู้สึกว่าราคาหุ้นน่าจะเกินมูลค่าทางพื้นฐานไปมาก แต่เมื่อเราพิจารณาเชิงคุณภาพของกิจการ เราพบว่าทีมแมนฯยูฯมีแฟนเพจทาง Facebook มากที่สุดถึง 60 ล้านคน มากกว่าทีมฟุตบอลอื่น ๆ กว่าเท่าตัว มีการเก็บสถิติเรตติ้งคนดู เวลาทีมแมนฯ ยูฯลงแข่งเตะในแมตช์สำคัญ ๆ พบว่ายอดคนดูทั่วโลกมากกว่าจำนวนคนดู American Idol รอบตัดสิน บวกกับการแข่งขันอเมริกันฟุตบอลแมตช์คืนวันอาทิตย์คู่เปิดสนามถึง 2 เท่า

รายได้ของแมนฯ ยูฯ ปีล่าสุดอยู่ที่ 21,000 ล้านบาท แบ่งออกเป็นสามส่วน ส่วนใหญ่ที่สุด 44% เป็นรายได้ "เชิงพาณิชย์" ซึ่งมาจากค่าสปอนเซอร์เป็นหลัก รองลงมาเป็นรายได้จากส่วนแบ่งลิขสิทธิ์รายการทีวี คิดเป็น 31% และส่วนน้อยที่สุดคือส่วนแบ่งค่าตั๋วเข้าชมและรายได้จากสนาม คิดเป็น 25% รายได้ด้านค่าสปอนเซอร์ ซึ่งอยู่ในหมวดรายได้ "เชิงพาณิชย์" ของทีมแมนฯยูฯเฉลี่ยเติบโตปีละ 34.2% จากประมาณ 2,000 ล้านบาท ในปี 2010 มาอยู่ที่ 6,800 ล้านบาทในปี 2014 นับว่าเป็นการสร้างการเติบโตได้อย่างน่าประทับใจ แต่เมื่อดูรายได้โดยรวมทั้งหมดของทีมแมนฯ ยูฯปรากฏว่า ในช่วงปี 2010-2014 นั้นทำได้โตแค่ 10% เท่านั้น ในขณะที่ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ซึ่งรวมถึงเงินเดือนและสวัสดิการของนักเตะและสตาฟโค้ชก็พุ่งขึ้นปีละ 10% เช่นเดียวกัน จึงทำให้กำไรจากการดำเนินงานของแมนฯยูฯย่ำอยู่ที่เดิม ไม่ไปไหนมากว่าห้าปีแล้ว

Ron Baron ให้เหตุผลที่เขาชื่นชอบหุ้นแมนฯยูฯว่า รายการฟุตบอลเป็นรายการที่มีคนดูมากที่สุดในโลก และเป็นรายการที่ต้องดูสด ณ เวลานั้นถึงจะได้อรรถรส ประเด็นนี้ผมเข้าใจว่าแกอาจแฝงเป็นนัยว่าเพราะต้องดูสด รายการฟุตบอลคงไม่โดนพวก youtube แย่งรายได้ไป ซึ่งดูเหมือนว่ารายการฟุตบอลยังคงครองแชมป์รายการที่มีคนดูมากที่สุดในโลกไปได้อีกยาวนาน แบบที่หาคู่แข่งได้ยาก แมนฯ ยูฯซึ่งเป็นทีมที่มีฐานแฟนคลับมากที่สุด ก็น่าจะเป็นผู้ที่ได้ประโยชน์สูงสุด เมื่อมองในมุมนี้เราคงได้เห็น "ความสามารถในการแข่งขัน" ของกิจการอย่างทีมฟุตบอล แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ได้ชัดเจนขึ้น

แต่กระนั้นก็ตาม ผมคิดว่ากิจการอย่างทีมฟุตบอลนั้นมีความเสี่ยงอยู่มากที่จะสูญเสียศรัทธาของแฟนบอลไป หากทีมฟุตบอลนั้น ๆ มีผลงานการเล่นที่ตกต่ำ ไม่สามารถคว้าแชมป์ต่าง ๆ ได้เหมือนในอดีต ทำให้แฟนบอลติดตามน้อยลง สปอนเซอร์เริ่มถอนตัว สินค้าที่ระลึกขายไม่ออก มูลค่ากิจการอาจไม่สามารถยืนอยู่ได้ที่ PE สูง ๆ เหมือนแต่ก่อน

นอกจากนั้น การที่ Alex Ferguson ซึ่งเป็นผู้จัดการทีมของแมนฯ ยูฯ ซึ่งโด่งดังได้เกษียณตัวเองในปี 2013 ผมว่าไม่ต่างกับการที่บริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่เสีย CEO ที่เก่งกาจไป ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อผลประกอบการได้

สรุปแล้วผมคิดว่า หากสนใจที่จะลงทุนในหุ้นของแมนฯ ยูฯ นักลงทุนควรมีความสามารถพอที่จะอ่านออกว่า ทีมปีศาจแดงนี้จะสามารถรักษาฟอร์มการเล่นได้โดดเด่นดังเช่นอดีตหรือไม่ กิจการลักษณะนี้ผมเชื่อว่า คล้ายกับดารานักแสดงที่ยามมีชื่อเสียง ใคร ๆ ก็อย่างเป็นส่วนหนึ่งด้วย แต่พอชื่อเสียงเริ่มสั่นคลอน ค่าตัวและเพื่อนฝูงก็ลดลงไปด้วย ถ้าถึงเวลานั้นจริง ๆ นักลงทุนอาจจะไม่อยากถือหุ้นแมนฯยูฯ เหมือนในตอนนี้


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ผ่า ปีศาจแดง

view