สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เปิดคำแถลง ปปช.-ยิ่งลักษณ์ ปิดคดีจำนำข้าว

เปิดคำแถลง'ปปช.-ยิ่งลักษณ์'ปิดคดีจำนำข้าว

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

 คำแถลงปิดคดีถอดถอน "วิชา" ยันป.ป.ช.ให้ความเป็นธรรม ด้าน"ยิ่งลักษณ์"ปฏิเสธทุกข้อหา

การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) โดยมี นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ทำหน้าที่ประธานการประชุม โดยมีการพิจารณากระบวนการถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ออกจากตำแหน่ง ตามมาตรา 6 วรรคสองของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ชั่วคราว) พ.ศ.2557 ประกอบมาตรา 64 ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ.2542 โดยวันนี้เป็นขั้นตอนการรับฟังคำแถลงการณ์ปิดสำนวนคดีของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ผู้กล่าวหา และน.ส.ยิ่งลักษณ์ ผู้ถูกกล่าวหา โดยนายพรเพชรได้เชิญทั้งสองฝ่ายเข้าสู่ห้องประชุม มีนายวิชา มหาคุณ กรรมการป.ป.ช. เป็นตัวแทนจากฝ่ายป.ป.ช. ขณะที่ฝ่ายผู้ถูกกล่าวหา นำโดยน.ส.ยิ่งลักษณ์ โดยมีทีมทนายความ 4 คน และอดีตรัฐมนตรี 5 คน นั่งประกบ

นายวิชา แถลงเปิดคดีว่า ขอยืนยันว่า สนช.มีอำนาจเต็มที่ในการถอดถอนผู้ถูกกล่าวหาออกจากตำแหน่ง และตัดสิทธิการเมือง 5 ปี และยืนยันว่า ป.ป.ช.ให้ความเป็นธรรมอย่างเต็มที่ ไม่ได้ละเว้นหลักนิติธรรม โครงการจำนำข้าวเป็นการกำหนดราคารับจำนำข้าวสูงกว่าตลาด มีการรับจำนำราคาตันละ 15,000 บาท จากราคาตลาด 7,500 บาท เป็นการใช้กลไกการเมืองซื้อใจชาวนา จนชนะการเลือกตั้ง แต่มีวาระซ่อนเร้นในการทุจริตเชิงนโยบาย จากการไต่สวนโครงการนี้ในทุกระดับจะมีผู้ชักโยอยู่เบื้องหลังเพื่อหาผลประโยชน์ให้พวกพ้อง เล่นแร่แปรธาตุกันมากมาย ไม่เกรงกลัวกฎหมาย ป.ป.ช. ตรวจสอบยากที่สุด โดยพบว่า มีการระบายข้าวของรัฐในราคาถูก อ้างว่า เป็นการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ แต่ความจริงเป็นการนำไปขายต่อให้พวกพ้องภายใน ประเทศ

นายวิชา กล่าวว่า ที่ผ่านมาป.ป.ช. สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน และคณะอนุกรรมการปิดบัญชีได้มีคำเตือนถึงผู้ถูกกล่าวให้ยกเลิกโครงการ ด้วยความเป็นห่วงการใช้งบประมาณในโครงการดังกล่าว และมีการทุจริตเกิดขึ้น แต่ผู้ถูกกล่าวหายืนยันต้องดำเนินโครงการต่อไป เพราะเป็นสัญญาประชาคม ยกเลิกไม่ได้ แต่ป.ป.ช.สามารถจับทุจริตเชิงนโยบายโครงการนี้ได้ชัดเจนที่สุด เท่าที่ประเทศนี้เคยมีการจับทุจริตมา แม้จะผู้กล่าวหาจะอ้างว่า มีกลไกตรวจสอบการทุจริต แต่เป็นเพียงเครื่องบังหน้าว่า ผู้ถูกกล่าวหาไม่มีเกี่ยวข้องการทุจริต ทั้งนี้ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดว่า ผู้ถูกกล่าวหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ไม่ยับยั้งความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยมีใบเสร็จเป็นหลักฐานเรียบร้อย คือ รายงานคณะอนุกรรมการปิดบัญชี ที่สรุปว่า โครงการมีการขาดทุนจำนวนมาก อยากถามว่า น่าเชื่อถือหรือไม่ เพราะคณะอนุกรรมการชุดนี้ประกอบด้วยปลัดกระทรวงการคลัง ผอ.สำนักงบประมาณ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ

นายวิชา กล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีความเสียหายจากการจัดเก็บข้าวในโกดัง จนปลัดพาณิชย์ต้องแจ้งความเอาผิดกับคู่สัญญาโครงการรับจำนำข้าว สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ข้อหาฉ้อโกง ที่นำข้าวไม่ได้มาตรฐานมาเข้าร่วมโครงการ รวมทั้งหมด 3.6 ล้านตัน วงเงิน 6.5 หมื่นล้านบาท จากความเสียหายในการระบายข้าวขาดทุนและการจัดเก็บข้าวในโกดังส่งผลเสียต่อประเทศ โดยรมว.คลังเปิดเผยว่า ภาวะหนี้จากโครงการจำนำข้าว คาดว่า ขาดทุน 7 แสนล้านบาท จะต้องใช้หนี้เป็นเวลากว่า 30 ปี จนถึงรุ่นหลาน แม้ผู้ถูกกล่าวหาได้โต้แย้งข้อมูลของคณะอนุกรรมการปิดบัญชี แต่บุคคลที่เป็นคณะอนุกรรมการปิดบัญชีไม่มีส่วนได้เสียหรือผลประโยชน์ทับซ้อนจากโครงการรับจำนำข้าว ถ้าคณะอนุกรรมการชุดนี้มีเจตนาปิดบัญชีไม่ถูกต้อง ผู้ถูกกล่าวหาในฐานะผู้บังคับบัญชาก็ต้องดำเนินการทางวินัย อาญา จะปล่อยไว้ทำไม แต่ผู้ถูกกล่าวหาตระหนักว่า คณะอนุกรรมการชุดนี้ทำโดยถูกต้องตามอำนาจหน้าที่

นายวิชา กล่าว่า จากการไต่สวนของป.ป.ช.ยังพบว่า มีชาวนารวมตัวกันเรียกร้องเงินค่าจำนำข้าว มีชาวนาหลายรายไม่สามารถรอคอยเงินค่าจำนำข้าวได้ จนตัดสินใจฆ่าตัวตาย ขณะนี้มีข้าวค้างอยู่ในโกดังจำนวนมาก ส่งผลกระทบต่อการผลิตข้าวในฤดูกาลถัดไป ทำให้ชาวนาถูกกดราคาข้าว แต่ไม่มีผู้ใดรับผิดชอบ และผู้ถูกกล่าวหาก็ยังไม่เคยขอภัยต่อชาวนา เพียงแต่กล่าวว่า โครงการนี้เป็นที่ชื่นชอบของชาวนา ซึ่งเหมือนกับรัฐบาลจำนำข้าว ชาวนาจำนำชีวิต สุดท้ายประเทศจำนำหนี้ ป.ป.ช.ยืนยันว่า ผู้ถูกกล่าวหาทราบว่า ขั้นตอนของโครงการได้สร้างความเสียหายตลอดมา

“ ป.ป.ช. จึงเห็นว่า ผู้ถูกกล่าวหามีความผิด ฐานจงใจไม่ใช้อำนาจหน้าที่นายกรัฐมนตรียับยั้งความเสียหาย ทั้งนี้เรื่องคุณธรรม จริยธรรมมีความสำคัญที่สุดในการบริหารราชการแผ่นดิน มีคำกล่าวว่า บุคคลที่ขาดสติปัญญา แต่มีคุณธรรม จริยธรรม พอจะชดใช้ให้เห็นว่า เป็นคนดี และทำประโยชน์แก่แผ่นดิน แต่คนมีสติปัญญา เฉลียวฉลาด แต่ขาดคุณธรรม จริยธรรม จะก่อให้เกิดความเสียหายรุนแรง ความเสื่อมทรามในบ้านเมือง กระบวนการถอดถอนเป็นการเริ่มต้นให้เห็นว่า ผู้ใดจะมารับผิดชอบในฐานะผู้นำสูงสุด โดยเฉพาะตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต้องมีคุณธรรม จริยธรรมสูงสุดกว่าคนอื่น เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีให้คนอื่นประพฤติปฏิบัติตาม ขอคาราวะบุคคลที่อยู่เบื้องหน้าให้ช่วยทำประวัติศาสตร์การถอดถอนครั้งนี้ให้ปรากฎผลเป็นจริง “นายวิชา กล่าว

น.ส.ยิ่งลักษณ์ แถลงปิดคดี ว่า มาวันนี้เพื่อยืนยันความบริสุทธิ์ และขอความเป็นธรรมของสภา หวังว่า สนช.ทุกท่านจะใช้ดุลยพินิจถูกต้องเที่ยงธรรมเป็นประจักษ์ต่อสาธารณชน ไม่จำยอมจากการชี้นำของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง การที่ไม่ได้มาตอบข้อซักถามด้วยตนเองนั้น ก็เพราะข้อบังคับการประชุมระบุว่าผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถมาชี้แจงแทนได้ ตนในฐานะนายกฯที่กำกับนโยบายได้มอบหมายให้รัฐมนตรีไปขับเคลื่อนให้นโยบายเกิดขึ้น ดังนั้นรัฐมนตรีจะมีข้อมูลสามารถมาตอบข้อซักภามของสมาชิกได้อย่างเข้าใจกว่าตน

น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวอีกว่า ขอโต้แย้งรายงานสำนวนและความเห็นของป.ป.ช.ที่กล่าวหาตน ซึ่งมีข้อสังเกตุที่เป็นพิรุธไม่สมควรที่จะเป็นสาเหตุให้ตนถูกถอดถอนคือรัฐธรรมนูญปี 50 สิ้นสุดแล้วได้เหลือเพียง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ป.ป.ช ที่มิอาจถอดถอนได้ เพราะไม่มีรัฐธรรมนูญให้อำนาจไว้ การที่กล่าวหาว่า ตนมีพฤติกรรมส่อว่าจงใจใช้อาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ นำไปสู่การถอนถอนและตัดสินทางการเมือง 5 ปี ถือป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของตน ซึ่งต้องมีอำนาจรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ จะอาศัยเพียงพ.ร.บ.ป.ป.ช.ไม่ได้ ขอยืนยันว่าตนไม่เหลือตำแหน่งอะไรให้ถอดถอนอีกแล้ว เป็นการถอดถอนที่ซ้ำซ้อน ทั้งนี้ เป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่9/2557 ที่วินิจฉัยให้สถานะความเป็นนายกฯ สิ้นสุด ซึ่งรัฐธรรมนูญได้ถูกยกเลิกไปแล้ว ปปช.จึงไม่มีอำนาจในการส่งเรื่องนี้มายังสภา หากจะมาถอดถอนซ้ำจะเป็นการทำผิดรธน.เสียเอง

น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวต่อว่า การอ้างว่าใช้เวลาไต่สวนตน 1 ปี 10 เดือน ไม่เป็นความจริง เพราะการแจ้งข้อกล่าวหาคดีนี้ใช้เวลาเพียง 21 วัน เพราะคำสั่งของป.ป.ช.ที่แจ้งข้อกล่าวหาตนเมื่อวันที่ 28 ม.ค.57 จากนั้น 19 ก.พ.57 ได้รับหนังสือแจ้งให้ไปรับทราบข้อกล่าวหา จากนั้นอีก 80 วัน ก็มีมติชี้มูลความผิดรวมเวลา 101 วัน ไม่ใช่ 1 ปี 10 เดือน นอกจากนี้หลายสำนวนไม่ได้เกี่ยวข้องกับคดีที่กล่าวหาแต่กลับมารวมในคดี เช่น กรณีการระบายข้าวแบบทีทูจี โดยเฉพาะการที่นายวิชาไปกล่าวในการเสวนา เมื่อวันที่ 5 เม.ย.57 ซึ่งกล่าวหาว่าข้าวในโครงการ 2 ล้านตันได้หายไป เป็นการกล่าวที่เลื่อนลอย และชี้นำสังคมเพื่อให้สาธารณะเข้าใจผิดว่า ตนละเว้นไม่ระงับยับยั้งความเสียหายที่เกิดขึ้น ซึ่งไม่พึงกระทำในฐานะที่นายวิชาเป็น กก.ป.ป.ช. ที่รับผิดชอบในสำนวนที่ต้องอำนวยความยุติธรรม ทั้งที่จริงกรณีข้าวหาย 2 ล้านตันไม่เป็นจริง เพราะอตก. และอคส. ยืนยันความมีอยู่จริง แม้จะนำหลักฐานมายืนยันต่อป.ป.ช. แต่ป.ป.ช.ไม่รับฟัง บางคดีอยู่นอกสำนวน ก็มากล่าวผสมปนเปในสำนวนถอดถอน ทำให้เข้าใจผิดน อกจากนี้รายงานคณะอนุกรรมการปิดบัญชี ครั้งที่ 4 ระบุ ขาดทุน 5 แสนกว่าล้านบาทนั้น ไม่เป็นจริง เพราะมีการคิดการเสื่อมราคาไม่ตรง การคิดปริมาณข้าวค้างในสต๊อกมีการบันทึกไม่ตรงกัน อีกทั้งเอกสารคำวินิจฉัยป.ป.ช ก็ยืนยันในสำนวนนี้ว่าในชั้นนี้ยังไม่รากฎชัดเจนว่าผู้ถูกกล่าวหามีส่วนร่วมในการทุจริต หรือสมยอมให้เกิดการทุจริต

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังกล่าวต่อว่า ไม่มีคำสั่งหรือรายงานใดของคณะอนุกรรมการปิดบัญชีที่ให้ยุติโครงการรับจำนำข้าว มีเพียงการแจ้งความของปลัดกระทรวงพาณิชย์ที่ดำเนินคดีกับบริษัทคู่สัญญาเดิมที่ทำไว้ เพื่อป้องกันความเสียหายที่ทำกับรัฐ หากมีการทำผิดสัญญาก็ต้องชดใช้ร้อยละ 100 ส่วนที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.)ส่งหนังสือมาให้ 3 ฉบับแรก ไม่ปรากฎรายงานความเห็นของป.ป.ช. และไม่มีการเสนอให้รัฐบาลยกเลิกโครงการ มีเพียงฉบับที่ 4 ในวันที่ 30 ม.ค. 57 ที่ให้รัฐบาลทบทวนโครงการรับจำนำข้าวเปลือกในฤดูกาลต่อไป ซึ่งก็เป็นช่วงที่รัฐบาลประกาศยุบสภา จึงมีฐานะเป็นรัฐบาลรักษาการ จึงไม่สามารถดำเนินการใดๆได้ จึงอยู่นอกเหนือสำนวน

น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ป.ป.ช.ยังตัดพยานที่ได้ตนเสนอไปจำนวน 18 ราย เหลือ 6 ราย โดยพยานที่ตัดไปล้วนเกี่ยวข้องกับประเด็นสำคัญ และมีการใช้พยานที่เป็นปฏิปักษ์ทางการเมืองกับรัฐบาลจำนวน โดย 4 ใน 7 ปากของป.ช.ช. เช่น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม นายนิพนธ์ พัวพงศ์กร ซึ่งเป็นผู้รับจ้างทำงานวิจัยให้กับป.ป.ช.และมีชื่อไปร่วมประชุมกับนายอภิสิทธิ์ที่ริเริ่มโครงการประกันรายได้ และนายระวี รุ่งเรือง ประธานเครือข่ายชาวนาไทย ที่เพิ่งตั้งขึ้นเมื่อเดือนก.พ.57 และร่วมชุมนุมกับกปปส.ในการขับไล่รัฐบาล ซึ่งสนช.จะเชื่อความเห็นป.ป.ช.ได้อย่างไร

น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ข้อกล่าวหาที่ว่า โครงการจำนำข้าวทำให้เป็นภาระ มีการนำภาษีมาใช้และกระทบต่อระบบการเงินการคลังประเทศ ยืนยันไม่จริง แต่ก่อให้เกิดรายได้ต่อชาวนา นำไปสู่การใช้จ่ายต่อเนื่อง ทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นจำนวน 3.1 แสนล้านบาทคิดเป็น 2.7 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีของประเทศ และสามารถดูแลชาวนาถึง 23 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งประเทศ รวมทั้งหนี้สาธารณะของประเทศอยู่ในระดับเพียง 45 เปอร์เซ็นต์ซึ่งต่ำกว่าเพดาน 60 เปอร์เซ็น สรุปได้ว่า วินัยการคลังรัฐบาลช่วงที่ตนเป็นนายกฯ มีความเข้มแข็งมั่นคง ไม่ใช่เรื่องความเสียหาย ยืนยันว่า โครงการนี้มีประโยชน์มากกมายกว่าเงินลงทุนในโครงการ จึงไม่มีเหตุผลใดๆที่ต้องยุติโครงการ

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังกล่าวว่า ยืนยันรัฐบาลมีความจริงใจปราบทุจริตโครงการจำนำข้าว ไม่เคยละเลยการป้องกันทุจริตเพราะเป็นวาระแห่งชาติ มีการตั้งคณะกรรมากาชุดต่าง เช่น อนุกรรมการติดตามโครงการ คณะกรรมการตรวจสอบสต๊อกข้า คณะกรรมการปราบปรามทุจริตจนฟ้องคดีได้ 276 คดี นอกจากนี้รัฐบาลไม่ได้บิดเบือนกลไกการตลาดเพราะข้าวที่ชาวนามาจำนำกับรัฐบาลเป็นแค่ครึ่งหนึ่งชองผลผลิตทั้งหมด อีกครึ่งหนึ่งก็อยู่ในตลาดเอกชนและการระบายข้าวก็มีการเปิดประมูลซึ่งพ่อค้าก็เข้าร่วมประมูลได้ ซึ่งทำให้ราคาตลาดข้าวโลกเข้มแข็ง และเมื่อโครงการมีปัญหาและมีหน่วยงานท้วงติงทางรัฐบาลก็มีการปรับปรุงโครงการ เช่น การปรับราคาจำนำข้าวจากตันละ 1.5 หมื่นบาทเป็น 1.2 หมื่นบาท และมีการจำกัดวงเงินไม่เกินครัวเรือนละ 5 แสนบาทต่อครัวเรือนรวมทั้งยังรักษากรอบวงเงินการรับจำนำข้าวอยู่ที่ 5 แสนล้านบาท

น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า มีข้อสงสัยในการกล่าวหาว่า เพราะเหตุใดโครงการรับจำนำข้าวที่ดำเนินการในรูปแบบของคณะบุคคล โดยมีมติครม.และมติคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.)ซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ตนไม่ได้ดำเนินการเพียงลำพังในฐานะนายกฯหรือประธานกขช. แต่เหตุใดจึงถูกดำเนินคดีโดยลำพัง ทั้งที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายไม่ได้บัญญัติรับความผิดชอบ การดำเนินคดีสกับตนเป็นวาระซ่อนเร้นภายใต้การดำเนินคดีที่ไม่เป็นธรรม เป็นวาระการเมืองที่เห็นชัดเมื่อมีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญให้พ้นจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 7 พ.ค.57 แล้ววันรุ่งขึ้นวันที่ 8 พ.ค.จะเป็นการบังเอิญหรือไม่ที่ปปช.ชี้มูลทันที วันนี้ปปช.ก็มาอ้างความบังเอิญชี้มูลการระบายข้าวแบบจีทูจี เพื่อชี้นำสังคม และกดดันสนช.ว่าตนมีพฤติกรรมส่อไปในทางทุจริต ขอยืนยันว่าได้ปฏิบัติหน้าที่นายกฯและประธานกขช.ครบถ้วนเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย และบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญทุกประการ และขอปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาของปปช.และขอคัดค้านคำแถลงเปิดและปิดสำนวนตลอดจนรายงานของปปช.

“ดิฉันไม่เคยคิดโกง ไม่ปล่อยปละละเลย หรือพฤติกรรมใดๆที่ส่อไปในทางทุจริต วันนี้มาเพื่อขอความเป็นธรรมต่อสนช.ไม่ใช่ต่อตัวดิฉัน แต่ขอโอกาสให้คนจนได้มีชีวิตที่ดีขึ้นเหมือนคนอื่น ๆให้ชาวไร่ชาวนาได้ลืมตาอ้าปาก มีรายได้ที่เป็นธรรม คุ้มค่าเหนื่อย และมีคุณภาพชีวิตที่ดี ชาวนาเป็นกระดูกสันหลังของชาติ จะให้ชาวนาหลังหักไม่ได้ ไม่ควรปล่อยให้เขาเหล่านั้นใช้ชีวิตตามยะถากรรม อย่ามองเหรียญเพียงด้านใดด้านหนึ่งโดยไม่มองให้ครบทุกมิติเรื่องรายได้ และโอกาสที่หายไปของชาวนา ตลอดจนเศรฐกิจของประเทศ หากเทียบกับโครงการรับจำนำข้าวกับการแจกเงินโดยตรงนอกจากจะไม่ส่งเสริมอาชีพการปลูกข้าวแล้วกลับไปการให้คนรอรับการช่วยเหลือเพียงเพื่อบอกว่าไม่ยอมที่จะขาดทุนกับคนจน ดังนั้นการคิดเช่นนั้นเมื่อไหร่พี่น้องชาวนาจะยืนบนขาตัวเองได้ ดิฉันเป็นเด็กที่เติบโตจากต่างจังหวัด ได้รับการศึกษาจนมีอาชีพและประสบความสำเร็จ ขันอาสาเข้ามาทำงานรับใช้ประเทศ เมื่อได้รับโอกาสจากพี่น้องประชาชนก็ตั้งใจที่จะเข้ามาทำงาน อย่างซื่อสัตย์สุจริต ที่สำคัญไม่ต้องการเห็นประเทศมีความขัดแย้งทางการเมืองจนต้องใช้วิธีการทำลายล้างที่ไร้หลักการ และขาดความเป็นธรรมอย่างที่ดิฉันประสบอยู่ ดิฉันพร้อมที่จะพิสูจน์ตัวเองในการทำงาน แต่ขอความเป็นธรรมเพื่อที่ทุกคนจะได้เห็นว่าบ้านเมืองมีกฎหมาย บังคับใช้เป็นธรรม อันเป็นพื้นฐานสำคัญของความเป็นนิติธรรม และเพื่อให้การปฏิรูปและการปรองดองที่แท้จริงเกิดขึ้น เพื่อความสุข สันติกับคนไทย”น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าว


“วิชา” ปิดคดีถอด “ปู” ย้ำ “ชาวนาจำนำชีวิต-ประเทศจำนำหนี้” ปลุกสำนึก สนช. ตามรอยพระบรมราโชวาท

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์

กรรมการ ป.ป.ช.แถลงปิดคดีถอดถอน “ยิ่งลักษณ์” ละเลยจำนำข้าว ย้ำจากนโยบายประชานิยมหาเสียงกลายเป็นทุจริตเชิงนโยบายชัดเจนที่สุด ชาติขาดทุน 5 แสนล้าน เป็นหนี้อีก 30 ปี ซัดพยายามไขว้เขวโต้กลับไม่น่าเชื่อถือ ชาวนารอไม่ได้ฆ่าตัวตายเป็นแถว ถึงยุค คสช.ยังทุกข์ไม่จบ ตอก “รัฐจำนำข้าว ชาวนาจำนำชีวิต ประเทศจำนำหนี้” ย้ำพระบรมราโชวาท “ส่งเสริมคนดีปกครองบ้านเมือง-ไม่ให้คนไม่ดีมีอำนาจ” ปลุกจิตสำนึก สนช. สร้างประวัติศาสตร์
       
       

       
       วันนี้ (22 ม.ค.) การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.ทำหน้าที่ประธาน เพื่อพิจารณาดำเนินกระบวนการถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ออกจากตำแหน่ง ตามมาตรา 6 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 ประกอบมาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 เพื่อรับฟังคำแถลงการณ์ปิดสำนวนด้วยวาจาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ผู้กล่าวหา นำโดยนายวิชา มหาคุณ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ผู้ถูกกล่าวหา โดยนายวิชา แถลงปิดสำนวน โดยขอยืนยันว่า สนช. มีอำนาจถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ออกจากตำแหน่ง และตัดสิทธิ์ทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี ซึ่งไม่มีข้อโต้แย้ง เพราะดำเนินการตามกฎหมายอย่างถูกต้อง และยืนยันว่า ป.ป.ช.ให้ความเป็นธรรมในการต่อสู้คดีแก่ผู้ถูกร้องอย่างเต็มที่เป็นไปตามหลักนิติธรรมโดยชอบ ด้วยกฎหมายทุกประการ
       
       สำหรับโครงการรับจำนำข้าว ที่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์เลือกดำเนินการโดยกำหนดราคาข้าวสูงกว่าตลาดและรับจำนำข้าวทุกเมล็ด ทั้งที่ ป.ป.ช.เสนอให้ประกันราคาเพราะมีความเสี่ยงน้อยกว่ามาก แต่ผู้ถูกร้องก็ใช้เป็นโครงการหาเสียงของพรรคเพื่อไทยในรูปแบบประชานิยมจนได้เป็นรัฐบาล โดยใช้กลซื้อใจชาวนา และดำเนินโครงการเรื่อยมา โดยให้ราคาข้าวสูงกว่าท้องตลาดกว่าเท่าตัว จนมีข้าว 10 ล้านตัน อยู่ในโกดังรัฐบาลและโรงสีที่เช่า และทำให้รัฐบาลกลายเป็นผู้ค้ารายใหญ่ ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้ตรวจสอบและพบว่ามีผู้ชักใยอยู่เบื้องหลัง เล่นแร่แปรธาตุ ทำกันเป็นกระบวนการ เพื่อเอื้อประโยชน์ ให้ตัวเองและพวกพ้อง เรียกได้ว่าเป็นการทุจริตเชิงนโยบาย คือการขายให้พวกพ้องในราคาถูก และนำไปขายในราคาแพงมหาศาล โดยอ้างว่าเป็นการขายแบบรัฐต่อรัฐ ซึ่งไม่เป็นความจริง จนกระทั่งมีการชี้มูลความผิดผู้เกี่ยวข้องเมื่อวันที่ 20 ม.ค.ที่ผ่านมา
       
       นายวิชากล่าวว่า ที่ผ่านมา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยืนยันว่าเป็นโครงการที่ดีและไม่ก่อให้เกิดความเสียหาย ทั้งที่ ป.ป.ช.ได้ทำหนังสือแจ้งเตือนไป 2 ครั้ง สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ทำหนังสือเตือนไป 4 ครั้งเพราะเป็นห่วงงบประมาณที่เสียหายอย่างไม่ที่สิ้นสุด พร้อมด้วยคณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯ ยังได้พบความผิดปกติ ก็ให้ข้อเสนอแนะเพราะมีความเสี่ยงมากมาย แต่ผู้ถูกกล่าวหาและผู้เกี่ยวข้อง ยืนยันหัวเด็ดตีนขาดว่าจะต้องทำต่อไป เหมือนกับการท่องบทจนขึ้นใจ และตอบเหมือนกันหมดว่า เป็นนโยบายของรัฐบาล เป็นสัญญาประชาคมเลิกไม่ได้ จนหลังการตรวจสอบจึงพบว่า เป็นโครงการที่สามารถตีแผ่และจับทุจริตเชิงนโยบาย ที่กล่าวได้ว่าเป็นเรื่องทุจริตเชิงนโยบายที่ชัดเจนที่สุดเท่าที่ประเทศนี้ได้เคยจับทุจริตมา มีการกล่าวอ้างว่าชาวนาจะได้ลืมตาอ้าปาก และอ้างว่าได้ดำเนินการป้องกันเรื่องทุจริต ด้วยการแต่งตั้งอนุกรรมการขึ้นมาหลายชุด แต่กระบวนการตรวจสอบเหล่านั้น เป็นเพียงเครื่องบังหน้า และแสดงว่าผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้เกี่ยวข้อง ไม่รู้ ไม่ทราบเพราะได้สั่งการไปแล้ว และตรวจสอบแล้ว จะได้ดำเนินโครงการต่อไปและเป็นการกล่าวอ้างให้พ้นความรับผิด
       
       “เวลา ป.ป.ช.จะกล่าวหาใครต้องมีข้อมูลหลักฐานชัดเจน เพราะผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในประเทศเราเขาจะอ้างว่ามีใบเสร็จหรือไม่ ยืนยันว่าขณะนี้ ป.ป.ช. มาพร้อมใบเสร็จเรียบร้อย อันดับแรกคือรายงานการปิดบัญชีของคณะอนุกรรมการปิดบัญชี เมื่อเดือน ต.ค. 54 ถึง 22 พ.ค. 57 รวมระยะเวลา 2 ปี 6 เดือน ปรากฎว่ามีผลขาดทุนสะสมจากการระบายข้าว 5.18 แสนล้านบาท คิดเป็นผลขาดทุนปีละ 2 แสนล้านบาท หรือเดือน 1.7 หมื่นล้านบาท อยากถามว่าน่าเชื่อถือหรือไม่ เพราะคณะอนุกรรมการชุดนี้ ประกอบไปด้วย ปลัดกระทรวงการคลัง และผู้ทรงคุณวุฒิในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องและแต่งตั้งโดย ครม.และนายกฯ และรายงานให้นายกฯ ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติทราบยังมีความเสียหายในการจัดเก็บข้าว โดยเมื่อวันที่ 12 ม.ค. 58 ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ก็แจ้งความดำเนินคดีต่อกองปราบปราม แก่คู่สัญญาในโครงการรับจำนำข้าว ในฐานความผิดลักทรัพย์ ยักยอก และฉ้อโกง สร้างความเสียหาย 6 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ เมื่อรวมความเสียหายจากการระบายข้าวและจัดเก็บข้าว ส่งผลให้เกิดความเสียหายและภาระการใช้หนี้ในโครงการรัฐบาลที่ผ่านมา คาดว่าจะขาดทุน 7 แสนล้านบาท และตกเป็นเงินภาษีของประชาชนซึ่งมีทางแก้ทางเดียวคือใช้หนี้เป็นเวลา 30 ปี หรือใช้หนี้กันถึงรุ่นหลาน ซึ่งกระทรวงการคลังต้องบริหารหนี้ ด้วยการกู้ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กู้ไปพร้อมๆ กันและรัฐบาลปัจจุบันจะต้องออกพันธบัตรหาเงินมาใช้หลายแสนล้านบาท ดังนั้นต้องคิดให้จงหนักว่ารัฐบาลที่แล้วได้ทิ้งอะไรไว้ในกลับลูกหลานของเราบ้าง” นายวิชากล่าว
       
       ส่วนที่ผู้ถูกกล่าวหา อ้างว่าข้อมูลการปิดบัญชีของอนุกรรมการปิดบัญชีฯ ไม่น่าเชื่อถือ ขอชี้แจงว่าคนที่ทำหน้าที่ เป็นผู้คุณวุฒิทั้งสิ้น และไม่ได้มีส่วนได้เสียและผลประโยชน์ทับซ้อนในโครงการแต่อย่างใด หากอนุกรรมการชุดนี้ มีเจตนาปิดบัญชีไม่ถูกต้อง ผู้ถูกกล่าวหาต้องดำเนินการทางวินัยและอาญากับพวกเขา แต่ไม่เคยทำเพราะตระหนักรู้ว่า คณะอนุกรรมการชุดนี้ทำโดยถูกต้อง สุจริต ตามอำนาจ และการปิดบัญชีครั้งแรกผู้ถูกกล่าวหาไม่เคยคัดค้าน แต่เมื่อแถลงปิดบัญชีครั้งที่สอง พบว่าขาดทุน 2.2 แสนล้านบาท ผู้ถูกกล่าวหาพยายามโต้แย้งให้เกิดความสับสน ไขว้เขวว่า การปิดบัญชีดังกล่าวไม่มีอำนาจหน้าที่ และทำไม่ถูกต้อง เพื่อแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลของผู้กล่าวหาไม่ได้ทำให้ขาดทุน ชาวนาได้รวมกลุ่มกันภายใต้ชื่อเครือข่ายชาวนาไทย เพื่อเรียกร้องค่าจำนำข้าว ภายหลังรัฐบาลที่แล้วให้ไม่ครบถึง 1 ล้านครอบครัวหรือเป็นเงินประมาณ 1.1 แสนล้านบาท และทำให้พวกเขาไปกู้เงินเพื่อดำเนินชีวิตเพราะไม่ได้รับเงินจากโครงการรับจำนำข้าว
       
       “นี่คือความเศร้าสลดใจของชาวนาไทย มีหลายรายไม่อาจทนรอเงินจากรัฐบาล จึงได้ตัดสินใจฆ่าตัวตายเพื่อลาโลกนี้ไป ถือเป็นความเศร้าสลดใจอันสุดแสนทนทานได้ของพี่น้องร่วมชาติ แม้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยึดอำนาจและจ่ายเงินให้ชาวนาแล้ว แต่ความทุกข์ของพวกเขาก็ยังไม่จบ ผลของโครงการรับจำนำข้าว ยังติดตามเหมือนภาพมายาหลอกหลอนชาวนาต่อไป เพราะข้าวที่รับจำนำ ยังอยู่ในโกดัง 17 ล้านตัน จึงเป็นภาระของรัฐบาลปัจจุบัน ที่ต้องกระเสือกกระสนระบายข้าวทั้งหมดนำมาใช้ภาระขาดทุน ที่ต้องใช้เวลาหลายปี และส่งผลกระทบกดดันราคาข้าวในฤดูกาลผลิตต่อไป และทำให้ราคาข้าวต่ำอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ความทุกข์ยากของชาวนาแสนสาหัสขนาดนี้ ยังไม่มีผู้ใดออกมาแสดงความรับผิดชอบ รวมทั้งผู้ถูกกล่าวหา ยังไม่ขออภัยชาวนาแต่อย่างใด คงกล่าวแต่เพียงว่าโครงการนี้เป็นที่ชื่นชอบของชาวนา กระผมจึงอาจกล่าวได้ว่า โครงการรับจำนำข้าว สรุปเป็นคำสั้นๆ ว่า รัฐบาลผู้ถูกกล่าวหาจำนำข้าว ชาวนาจำนำชีวิต และประเทศจำนำหนี้” นายวิชากล่าว
       
       นายวิชากล่าวว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.ขอยืนยันข้อเท็จจริงดังกล่าว ผู้ถูกกล่าวหาได้รับทราบตลอดมาว่า โครงการทุกขั้นตอนได้ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมากมาย จนกระทบต่อระบบการเงิน การคลังของประเทศ และชีวิตของชาวนาอย่างกว้างขวาง แสดงให้เห็นว่าหากดำเนินโครงการต่อไปจะส่งผลร้ายยิ่งขึ้นกับประเทศ ตาม พ.ร.บ. บริหารราชการแผ่นดิน ปี 2534 มาตรา 11 ที่ต้องให้บริหารเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนและบ้านเมือง ตนขอถามทุกท่านโดยเฉพาะ สนช. ว่าโครงการนี้คุ้มค่าและมีประสิทธิ์ภาพตรงไหน หลังมีการแจ้งเตือนในหลายโอกาสดังที่กล่าวมา แต่ท่านเป็นนายกฯ ที่ต้องยับยั้งความเสียหายได้ แต่ผู้ถูกกล่าวหากลับยืนยันดำเนินโครงการต่อไป จนก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศอย่างใหญ่หลวงเพิ่มขึ้นๆ ทุกขณะ ป.ป.ช. จึงเห็นว่า ผู้ถูกกล่าวหามีมูลความผิด ฐานจงใจละเว้นไม่ใช้อำนาจหน้าที่ ในฐานะนายกฯ ผู้มีอำนาจสูงสุดในการบริหารราชการแผ่นดิน
       
       “เมื่อความปรากฏว่าผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำความผิดทั้งต่อตำแหน่งหน้าที่ ต่อการเงินการคลังของประเทศ และชีวิตชาวนาที่ต้องตายไป ซึ่งเป็นหลักการที่เราต้องดำเนินจารึกไว้ในแผ่นดินนี้ เรื่องของคุณธรรม จริยธรรมเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในการบริหารราชการแผ่นดิน มีคำกล่าวว่า “บุคคลที่ขาดสติปัญญาหรือไม่มีสติปัญญา แต่หากเขามีคุณธรรมและจริยธรรมที่พอจะชดเชยและเยียวยา ทำให้เห็นว่าเป็นคนดี พอที่จะอยู่และทำประโยชน์ให้แก่แผ่นดินนี้ได้ แต่สำหรับบุคคลที่มีสติปัญญาและความเฉลียวฉลาด มีความรอบรู้ แต่ขาดคุณธรรม จริยธรรม นั้นก่อให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรง ก่อให้เกิดความเสื่อมทรามในการปกครองบ้านเมือง อย่างไม่อาจเห็นได้ทั้งชาตินี้และชาติหน้า จึงไม่อาจปล่อยไว้ได้” นายวิชากล่าว
       
       นายวิชากล่าวปิดท้ายว่า กระบวนการถอดถอนเป็นจุดเริ่มต้นที่ปักธงให้เห็นว่าผู้ใดก็ตามที่จะมารับผิดชอบ ในฐานะผู้นำสูงสุดของแผ่นดิน โดยเฉพาะตำแหน่งนายกฯ ที่จะต้องมีคุณธรรมและจริยธรรมสูงสุดยิ่งกว่าบุคคลอื่นทั้งหมด เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีให้ผู้อื่นประพฤติปฏิบัติตาม เป็นตัวอย่างที่ดีแก่ลูกหลานของเราเพื่อให้ดำรงตนอยู่ในจริยธรรมและคุณธรรมต่อไป แต่อย่างไรก็ดี การจะให้ใครเป็นคนดีได้นั้น เป็นเรื่องที่น่าคิดว่าเราไม่อาจให้ทุกคนเป็นคนดีได้
       
       “ดังที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ให้พระบรมราโชวาทตรัสว่า ในบ้านเมืองนั้นมีทั้งคนดีและคนไม่ดี ไม่มีใครที่จะทำให้ทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด การทำให้บ้านเมืองมีความปกติสุข เรียบร้อยจึงมิใช้การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมความดี ให้คนดีปกครองบ้านเมือง และคุมคนไม่ดี ไม่ให้มีอำนาจไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้ กระผมขอคารวะทุกท่านที่อยู่เบื้องหน้าของกระผมว่าจะร่วมกันทำประวัติศาสตร์ในการถอดถอนครั้งนี้ให้ปรากฏผลเป็นจริง”


“ปู” โวย ครม.อนุมัติทำไมโดนอยู่คนเดียว จวก ป.ป.ช.ทำคนไขว้เขว ใช้พยานแต่ปฏิปักษ์

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์

       “ยิ่งลักษณ์” ยันมาแถลงเพื่อแสดงความบริสุทธิ์และขอความเป็นธรรมต่อ สนช. หวังไม่ถูกชี้นำจากใคร ลั่นตอบข้อสงสัยหมดแล้ว อ้างโยนอดีต รมต.แจง กมธ.เพราะดูแค่ภาพรวม ไม่ได้รับผิดชอบขับเคลื่อนนโยบาย โวยถ้าอาศัยแค่ พ.ร.ป.ถอดถอนถือว่าจำกัดสิทธิ์ จวก “วิชา” ชี้นำทำคนไขว้เขวเข้าใจว่าตนผิด แถมข้อเสนอยุติโครงการก็มาหลังจากตนยุบสภาแล้ว โวยพยาน ป.ป.ช.มีแต่ปฏิปักษ์ โวไม่ได้ทำเสียหายแถมสร้างรายได้ชาวนา แถไม่ได้บิดเบือนกลไกตลาด โวยทำไมตนโดนอยู่คนเดียว เชื่อมีวาระซ่อนเร้น จี้มองให้ครบทุกมิติ ด้าน “พรเพชร” นัดพรุ่งนี้ 10 โมง เริ่ม “นิคม-สมศักดิ์-ปู”
       
       

       
       วันนี้ (22 ม.ค.) ที่รัฐสภา การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.ทำหน้าที่ประธาน เพื่อพิจารณาดำเนินกระบวนการถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ออกจากตำแหน่งตามมาตรา 6 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 ประกอบมาตรา 64 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 เพื่อรับฟังคำแถลงการณ์ปิดสำนวนด้วยวาจา โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้แถลงปิดคดีว่า ตนมาวันนี้ เพื่อมาแถลงปิดคดีในเรื่องที่ถูกกล่าวหา เพื่อยืนยันถึงความบริสุทธิ์ของตนและเพื่อขอความเป็นธรรมต่อสภาแห่งนี้ โดยเข้าใจดีถึงดุลพินิจที่เป็นเอกสิทธิ์ และเป็นอิสระของสมาชิกแต่ละคนในการตัดสินใจครั้งสำคัญนี้ เพียงหวังว่า สนช.ทุกคนจะได้ใช้ดุลยพินิจด้วยความถูกต้อง เที่ยงธรรม เป็นประจักษ์ต่อสาธารณชน และเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ โดยไม่จำยอมต่อการชี้นำของบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
       
       “ขอชี้แจงในวันที่มาแถลงเปิดคดีได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าวในรายละเอียดครบถ้วน ทั้งยังได้จัดเตรียม และแจกเอกสารข้อมูลสนับสนุน ที่ตอบทุกข้อสงสัย ดังนั้น ในขั้นตอนของการตอบข้อซักถามของคณะกรรมาธิการนั้น ตนเห็นว่า น่าจะเป็นประโยชน์ ต่อการพิจารณาของสภาฯ หากผู้ที่ปฏิบัติงานในหน้าที่ คือ อดีตรัฐมนตรีที่เคยรับผิดชอบโดยตรงต่อโครงการนี้ จะได้มาให้ข้อมูลเพิ่มเติม และตอบข้อซักถาม เพราะในฐานะนายกรัฐมนตรี จะเป็นผู้กำกับโดยทั่วไปซึ่งการบริหารราชการแผ่นดิน ส่วนรัฐมนตรีจะเป็นผู้รับผิดชอบขับเคลื่อนให้นโยบายนั้นเป็นจริง ซึ่งในการดำเนินการตัดสินใจต่างๆ ก็เป็นไปในรูปแบบของคณะกรรมการ จึงทำให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง รับรู้และรับทราบ ข้อเท็จจริง และสามารถที่จะมาชี้แจงต่อสภาแห่งนี้ ได้อย่างสมบูรณ์ และข้อบังคับของสภาก็เปิดให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเข้ามาชี้แจงตอบคำถามของกรรมาธิการ จึงมอบหายให้ผู้อื่นมาตอบคำถาม ไม่ได้มีเจตนาเป็นอื่น” น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าว
       
       น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า รายงานและสำนวนพร้อมความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. รวมทั้งการแถลงเปิดและปิดคดี และการตอบข้อซักถามของผู้แทนคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีข้อสังเกตอันเป็นข้อพิรุธที่ไม่สมควรให้ สนช.นำรายงานและสำนวนพร้อมความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช.มาเป็นเหตุผลในการถอดถอนในคดีนี้ได้ เพราะรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 สิ้นสุดแล้ว ไม่อาจถอดถอนได้ เหลือเพียง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ป.ป.ช.ซึ่งไม่มีรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจไว้ และขอยืนยันในคำโต้แย้งที่ได้แถลงคัดค้านคำแถลงเปิดสำนวนของ ป.ป.ช.ในข้อกล่าวหาว่ามีพฤติการณ์ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 270 และมาตรา 178
       
       “การถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่จะนำไปสู่การตัดสิทธิในการดำรงตำแหน่งใดๆ ทางการเมืองของดิฉัน เป็นเวลา 5 ปี ถือเป็นการจำกัดสิทธิ และเสรีภาพขั้นพื้นฐาน มีที่มาจากมาตรการตามรัฐธรรมนูญ ทั้งฉบับ 2540 และฉบับ 2550 จะอาศัยเพียง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ป.ป.ช. พ.ศ. 2542 เพียงอย่างเดียว โดยปราศจากบทบัญญัติรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายแม่ไม่ได้ การดำเนินคดีเพื่อถอดถอนดิฉันจึงไม่สามารถดำเนินการได้ และหากดำเนินการต่อไปก็จะไม่เป็นธรรมต่อตัวดิฉัน และไม่เป็นไปตามหลักนิติรัฐ นิติธรรม และไม่เหลือตำแหน่งอะไร ที่จะให้ถอดถอนอีกแล้ว การดำเนินการที่ทำอยู่ถือเป็นการถอดถอนที่ซ้ำซ้อน ไม่ถูกต้องในข้อกฎหมาย และไม่เป็นธรรม เพราะศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยสถานะความเป็น “นายกรัฐมนตรี” ของดิฉันสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 และซึ่งรัฐธรรมนูญดังกล่าว ได้ถูกยกเลิกไปแล้ว จึงยืนยันว่า ป.ป.ช.ไม่มีอำนาจส่งเรื่องมาให้สภาถอดถอน เพราะจะถือเป็นการกระผิดรัฐธรรมนูญเสียเอง”
       
       น.ส.ยิ่งลักษณ์ยังโต้ตอบ ป.ป.ช.ว่าบิดเบือนเรื่องระยะเวลาการดำเนินคดีว่าใช้เวลาไต่สวน 1 ปี 10 เดือน เพราะข้อเท็จจริงมีการแจ้งข้อกล่าวหาใช้เวลาเพียง 21 วัน โดยคำสั่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ 27/2557ลงวันที่ 28 มกราคม 2557 มีมติให้ไต่สวนข้อเท็จจริง โดยให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ทั้งคณะเป็นองค์คณะในการไต่สวน และมีนายวิชา มหาคุณ เป็นผู้รับผิดชอบสำนวนการไต่สวนคดีถอดถอนซึ่งคำสั่งนี้ ไม่มีข้อความใดๆ ที่ระบุถึงการดำเนินคดีถอดถอน และคดีอาญาต่อตน ไปเกี่ยวข้องกับคดีระบายข้าวของนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ แต่ต่อมาอีก 2 วัน ป.ป.ช.ได้มีหนังสือ ลงวันที่ 31 ม.ค. 2557 ในเรื่องการไต่สวนตนและการตั้งคณะกรรมการ ป.ป.ช.ทั้งคณะเป็นองค์คณะในการไต่สวนซึ่งรวมทั้งคดีอาญาและคดีถอดถอนเข้าด้วยกันดังนั้น กระบวนการไต่สวนจึงเริ่มนับตั้งแต่ วันที่ 28 ม.ค. 2557 ต่อมาวันที่ 19 ก.พ. 2557 ตนได้รับหนังสือลงนามโดยนายวิชาแจ้งให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาภายในวันที่ 27 ก.พ. 2557 ทำให้เห็นได้ว่านับตั้งแต่วันที่ 28 ม.ค.จนถึงวันที่ 19 ก.พ. คณะกรรมการ ป.ป.ช.ใช้เวลาเพียง 21 วัน และหลังจากนั้นอีก 80 วัน ป.ป.ช.ก็มีมติชี้มูลความผิดตน รวม 101 วัน หรือเพียง 3 เดือนเศษเท่านั้น ไม่ใช่ 1 ปี 10 เดือนตามที่ ป.ป.ช.กล่าวอ้าง
       
       น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า คำกล่าวของนายวิชาได้ชี้นำให้สภาและผู้ที่รับฟังทั่วไปไขว้เขวและเข้าใจว่าตนกระทำความผิด ทั้งๆ ที่เนื้อหาข้อเท็จจริงเหล่านั้นหลายประเด็นไม่ได้อยู่ในสำนวนนี้ เช่น กรณีข้าวหาย ที่หาว่าเลื่อนลอย และชี้นำต่อสังคมว่าข้าวในโครงการรับจำนำข้าว จำนวน 2 ล้านตัน ในปี 2555 ได้หายไปแล้ว เพราะต้องการทำให้สาธารณะชนเข้าใจผิดว่าตน และรัฐบาลปล่อยปละละเลยทำให้ข้าวหายไป และพยายามให้เกิดความเชื่อว่าตนละเว้น ไม่ระงับยับยั้งความเสียหายที่เกิดขึ้น จนต้องมีหนังสือ ยุติหรือยกเลิกโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งทั้งหมดไม่เป็นธรรมต่อตนอย่างยิ่ง และไม่พึงกระทำในฐานะที่นายวิชาเป็นกรรมการ ป.ป.ช. ผู้รับผิดชอบในสำนวนคดีนี้ และเป็นผู้ที่ใช้กฎหมาย เพื่ออำนวยความยุติธรรมให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ถูกกล่าวหาทุกราย
       
       “กรณีข้าวหาย ไม่ว่าจะเป็นกรณีข้าวหายจำนวน 2 ล้านตันที่ ป.ป.ช.อ้าง หรือ 2.98 ล้านตัน ที่คณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯ ไม่ยอมบันทึกบัญชีนั้น เมื่อครั้ง ป.ป.ช.ไต่สวนในเรื่องนี้ หน่วยงานผู้รับผิดชอบ คือ อ.ต.ก. และ อคส. ได้ยืนยันถึงความมีอยู่จริงของข้าวทั้ง 2 กรณี ที่ได้นำพยานหลักฐานมาโต้แย้งเพื่อหักล้างว่าข้าวจำนวนดังกล่าวไม่สูญหายไป แต่ ป.ป.ช.กลับไม่รับฟัง หรือกรณีเรื่องจีทูจี ในข้อบังคับในคดีถอดถอน ข้อที่ 153 กำหนดให้การพิจารณาของสภาให้ยึดสำนวนที่ส่งมา แต่ ป.ป.ช.กลับนำคดีระบายข้าวแบบจีทูจีที่มีการกล่าวหาต่อผู้อื่นซึ่งเป็นเรื่องนอกสำนวนมาปนเปอยู่ในเนื้อหาคดีถอดถอน ทำให้บางท่านหลงเข้าใจว่าเกี่ยวข้องกับคดีของดิฉันในประเด็นนี้ ซึ่งทาง ป.ป.ช.ก็ยืนยันประเด็นที่ชี้มูลนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ เป็นคนละประเด็น และไม่เกี่ยวกับคดีถอดถอนนี้แต่อย่างใด อีกทั้งเอกสารคำวินิจฉัยของ ป.ป.ช. ก็ได้ยืนยันในสำนวน ว่าในชั้นนี้ยังไม่ปรากฏชัดเจนว่าผู้ถูกกล่าวหามีส่วนร่วมให้เกิดการทุจริตหรือสมยอมให้เกิดการทุจริต”
       
       ส่วนกรณีที่นายวิชาอ้างถึงการที่ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯ ได้แถลงผลขาดทุนทางบัญชี ครั้งที่ 4 จำนวนประมาณ 5 แสนล้านบาทเศษนั้นก็ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าเป็นการขาดทุนตามตัวเลขดังกล่าว เนื่องจาก ยังมีข้อโต้แย้งทางบัญชี อีกทั้งยังมีข้าวในสต๊อคที่สามารถระบายได้อีกมาก การตั้งอนุกรรมการปิดบัญชี นอกจากจะแยกดูแลเรื่องข้าวโดยเฉพาะเป็นครั้งแรกยังเพื่อให้ ธ.ก.ส.สามารถบริหารจัดการเงินทุนหมุนเวียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และควบคุมภาระหนี้สิน ได้แก่ เงินต้น ดอกเบี้ย และค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการบริหารโครงการ ไม่ใช่การปิดบัญชีกำไร-ขาดทุนในเชิงธุรกิจ และไม่ใช่เรื่องค่าเสียหายแต่ประการใด หากสนช.จะให้ความเป็นธรรมก็จะเห็นว่าไม่มีครั้งใดที่รายงานจากคณะอนุกรรมการปิดบัญชี มีความเห็นให้ยุติโครงการรับจำนำข้าวเลย
       
       ส่วนการแจ้งความของปลัดกระทรวงพาณิชย์ต่อพนักงานสอบสวน ล้วนเป็นการดำเนินคดี ตามสัญญาที่มีอยู่ที่รัฐบาลตนได้กำหนดไว้ เพื่อป้องกันความเสียหายต่อรัฐไว้แล้ว โดยกำหนดตัวผู้รับผิดชอบ คือ เจ้าของโกดัง เซอร์เวเยอร์ และเจ้าของโรงสีซึ่งเป็นกรณีทำนองเดียวกันกับ 276 คดีที่มีการดำเนินคดีไปแล้วในขณะที่ตนดำรงตำแหน่งอยู่ จึงไม่สามารถนำมาชี้ถึงความเสียหายในคดีนี้ได้ เนื่องจากสัญญาเหล่านั้นได้ระบุผู้รับผิดชอบไว้อย่างชัดเจนแล้ว จึงไม่ใช่ความเสียหายต่อรัฐแต่ประการใด ส่วนหนังสือ สตง.ที่ส่งมา 4 ครั้ง 3 ฉบับแรกไม่ปรากฏในรายงาน และความเห็นของ ป.ป.ช. และไม่มีครั้งใดที่มีข้อเสนอแนะให้รัฐบาลต้องยุติ หรือยกเลิกโครงการรับจำนำข้าว ส่วนฉบับที่ 4 มีข้อเสนอให้พิจารณาทบทวน และยุติการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกในฤดูกาลต่อไป ก็เป็นเวลาภายหลังที่ตนได้ประกาศยุบสภาฯไปแล้ว ในฐานะรัฐบาลรักษาการไม่สามารถดำเนินการใดๆ ที่มีผลผูกพันต่อรัฐบาลหน้า รวมถึงโครงการรับจำนำข้าวด้วย อีกทั้งช่วงเวลาคดีที่ ป.ป.ช.กล่าวหาตนนั้นอยู่ระหว่าง 9 ต.ค. 2555 ถึง 9 ธ.ค. 2556 แต่หนังสือ สตง.ฉบับที่4 ลงวันที่ 30 ม.ค. 2557 จึงอยู่นอกสำนวน
       
       นอกจากนี้ การที่ ป.ป.ช.อ้างว่าให้ความเป็นธรรม โดยไม่ตัดพยานหลักฐานฝ่ายตนนั้นไม่เป็นความจริง เพราะตนเสนอพยานบุคคลเพียง 18 ราย แต่ ป.ป.ช. ตัดพยานเหลือเพียง 6 รายที่ ป.ป.ช.รับฟังในชั้นไต่สวน ไม่ใช่เสนอเป็นพันราย ดังที่นายวิชากล่าวอ้าง และพยานที่ถูกตัดไปล้วนเกี่ยวข้องในประเด็นสำคัญทั้งสิ้น การตัดพยานหลักฐานเป็นการปิดกั้นโอกาสตนที่จะนำพยานหลักฐานเข้าสู่สำนวนการไต่สวน ส่วนพยานของ ป.ป.ช.มีเพียง 7 ปากเท่านั้น และในจำนวนดังกล่าวมีพยานบุคคลถึงจำนวน 4 ปากที่เป็นปฏิปักษ์ทางการเมืองโดยตรงต่อรัฐบาลตน เช่น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายวรงค์ เดชกิจวิกรม ซึ่งเป็นฝ่ายค้านทางการเมือง ดังนั้นทาง สนช.จะเชื่อถือและยึดสำนวนและความเห็นของ ป.ป.ช.ได้อย่างไร
       
       น.ส.ยิ่งลักษณ์ยังยืนกรานว่า โครงการรับจำนำข้าวไม่ได้ก่อให้เกิดผลเสียหาย แต่ในทางกลับกันก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจในเรื่องของรายได้ของผู้มีรายได้น้อย คือ ชาวนา และนำไปสู่การใช้จ่ายที่ต่อเนื่อง เป็นเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ สำนักเศรษฐกิจมหภาค กระทรวงการคลังคำนวณว่าโครงการรับจำนำข้าวฤดูกาลผลิต 2554/55 และ 2555/56 สามารถทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจของประเทศเพิ่มขึ้น เป็นจำนวน 3 แสนกว่าล้านบาท คิดเป็นกว่า 2.7% ของจีดีพีของประเทศในแต่ละปี ขณะที่โครงการรับจำนำข้าวมีการใช้งบประมาณไม่เกิน 5% ของงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งเป็นเรื่องที่เหมาะสมไม่เกินเลย สามารถดูแลเกษตรกรจำนวนกว่า 23% ของประชากรทั้งประเทศ ให้มีความเป็นอยู่ดีขึ้น และยังสามารถส่งผลต่อการหมุนเวียนที่ดีของเศรษฐกิจโดยรวมอีกด้วย ส่วนหนี้สาธารณะของประเทศยังอยู่ในระดับเพียง 45% ของจีดีพี ซึ่งต่ำกว่าเพดานที่กำหนดไว้ที่ 60% จึงสรุปได้ว่า วินัยการคลังของรัฐบาลช่วงที่ตนเป็นนายกรัฐมนตรีมีความเข้มแข็งและมั่นคง และนอกจากจะไม่มีการเพิ่มประเภทภาษีแล้ว กลับลดอัตราภาษีที่สำคัญลงในหลายกรณี โดยรายได้ของรัฐบาลยังคงเป็นไปตามเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง
       
       น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า ส่วนที่กล่าวหาว่าโครงการรับจำนำข้าวขาดทุน และเสียหายมากขึ้น แล้วทำไมยังทำโครงการต่อ การปิดบัญชีของคณะกรรมการปิดบัญชีฯนั้น ยังมีข้อโต้แย้งอยู่ ทั้งในเรื่องปริมาณสต๊อกที่ไม่รวมจำนวนที่ อ.ต.ก.และ อคส. ยืนยันว่า มีอยู่จริง จำนวนถึง 2.98 ล้านตัน และราคา ที่ใช้ในการคำนวณมูลค่าสต๊อก จะเห็นว่าต่อให้แตกต่างกันก็ยังมีผลที่อาจเรียกว่าการขาดทุนทางบัญชีสะสมที่สูงอยู่ การที่นำตัวเลขของแต่ละปีการผลิตมาบวกรวมกันหลายๆ ปี แล้วเรียกว่าการขาดทุนทางบัญชีสะสมนั้นเป็นสิ่งที่ไม่สมควร ถ้าหากนำตัวเลขการปิดบัญชี 3 ปีมาเทียบก็ต้องนำเอาประโยชน์ที่พี่น้องชาวนาได้รับ รายได้เพิ่มขึ้น และประโยชน์เศรษฐกิจในช่วง 3 ปีมาเทียบด้วยซึ่งจะพบว่าประโยชน์ที่ได้รับโดยรวมมีมูลค่าสูงกว่ามาก เมื่อเห็นว่าโครงการรับจำนำข้าวมีคุณประโยชน์คุ้มค่าต่อประเทศชาติ มากกว่าเงินที่นำมาใช้ในโครงการ จึงไม่มีเหตุผลใดที่จะยุติโครงการ
       
       “ขอยืนยันว่ารัฐบาลดิฉันมีความจริงใจต่อการปราบปรามทุจริต โดยมีการกำหนดมาตรการเงื่อนไข ที่เป็นกลไกในการดำเนินการอย่างชัดเจน โครงการรับจำนำข้าว ไม่ได้บิดเบือนกลไกตลาดข้าวตามที่มีการกล่าวหา เพราะชาวนานำข้าวมาจำนำในโครงการประมาณครึ่งหนึ่งของผลผลิตรวมในประเทศ จึงยังมีข้าวอยู่ในตลาดอีกกว่าครึ่งซึ่งเอกชนสามารถค้าขายได้ตามปกติ ข้าวในส่วนที่เข้ามาอยู่ในมือของรัฐบาล ประมาณครึ่งหนึ่งของผลผลิตนั้นก็นำออกกระบายตามระบบการประมูล และยุทธศาสตร์การระบายข้าวของกระทรวงพาณิชย์ โดยมุ่งที่จะให้มีการแข่งขันในเรื่องราคา และมีพ่อค้าเข้าร่วมแข่งขันเป็นจำนวนมาก จึงไม่ใช่การผูกขาด และเป็นการทำให้ตลาดข้าวโลกมีความเข้มแข็ง และเป็นธรรมมากขึ้น ไม่ใช่การทำลายกลไกตลาด และยังส่งผลให้ราคาข้าวไทยในตลาดสูงขึ้น รวมถึงกรณีข้าวหาย ข้าวปลอมปน ข้าวเสื่อม ไม่ใช่ความเสียหายต่อรัฐ และได้กำหนดมาตรการเพื่อป้องกันความเสียหายไว้ โดยกำหนดตัวผู้รับผิดชอบไว้อย่างชัดเจนตามลักษณะของสัญญา สอดคล้องกับรายงานคณะอนุกรรมการปิดบัญชีที่ว่าหากมีการสูญหาย หรือสินค้าเสื่อมคุณภาพ เพราะความบกพร่อง หน่วยงานดังกล่าวจะต้องชดใช้ให้แก่รัฐ จากหลักประกันที่วางไว้ในอัตราร้อยละร้อยของมูลค่าสินค้าในคลังสินค้า” น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าว
       
       น.ส.ยิ่งลักษณ์ยืนยันว่า ตนและครม.ไม่เคยละเลยปัญหาการป้องกันและปราบปรามการทุจริตเพราะเป็นวาระแห่งชาติ เมื่อมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ ได้ให้นโยบายที่จะป้องกันปัญหาการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวว่าให้เป็นไปโดยโปร่งใสและตรวจสอบได้อีกทั้ง กขช.ได้มีมติ 13 ข้อเพื่อเป็นมาตรการป้องกันการทุจริต มีการออกมาตรการเสริม มาตรการเพิ่มเติมเพื่อป้องกันการทุจริต รวมทั้งตั้งคณะทำงาน เพื่อตรวจสอบปัญหาการทุจริต มีการตั้งคณะทำงานในการตรวจนับสินค้าคงเหลือทั่วประเทศ ภายหลังได้รับทราบรายงาน เมื่อมีปัญหาในการปฏิบัติก็ได้มีการปรับปรุงโครงการรับจำนำข้าวเปลือก เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น และเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย ยืนยันว่าการดำเนินการของรัฐบาล และตนไม่ได้ละเลย เพิกเฉย ต่อ ข้อชี้แนะ จากหน่วยงานต่างๆ รวมทั้ง ป.ป.ช. แต่หนังสือ ป.ป.ช.ที่ให้ยกเลิกโครงการก็มาหลังจากที่รัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาแล้ว ซึ่ง ป.ป.ช.ก็ทราบดีว่า โครงการรับจำนำข้าวเป็นสัญญาประชาคม และมีผลผูกพันตามรัฐธรรมนูญที่ให้รัฐบาลต้องปฏิบัติ
       
       “หากจะให้ความเป็นธรรมกับรัฐบาลดิฉันแล้ว จะเห็นได้ว่านับแต่มีการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวจนวาระที่รัฐบาลสิ้นสุดลง ดิฉันในฐานะที่เป็นนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ ไม่เคยละเลยเพิกเฉยในการตรวจสอบฝ่ายปฏิบัติ ให้ดำเนินโครงการ โดยไม่ให้เกิดการทุจริตและเสียหาย แต่ดิฉันก็มีข้อสงสัยว่า โครงการรับจำนำข้าวดำเนินการในรูปคณะบุคคล เป็นมติคณะรัฐมนตรี มติคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ แต่เหตุใดดิฉันจึงถูกดำเนินคดีโดยลำพัง ทั้งที่รัฐธรรมนูญและกฎหมาย มิได้บัญญัติความรับผิดชอบ เช่นนั้น การดำเนินคดีดิฉันโดยลำพังนั้นจึงกล่าวได้ว่าเป็นวาระซ่อนเร้น อยู่ภายใต้การดำเนินคดีที่ไม่เป็นธรรมต่อดิฉัน เป็นวาระทางการเมืองที่เห็นชัดว่า เมื่อมีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญให้พ้นจากตำแหน่งในวันที่ 7 พฤษภาคม 2557 แล้ว ในวันรุ่งขึ้น วันที่ 8 พ.ค. 2557 จะเป็นการบังเอิญหรือไม่ที่ ป.ป.ช.ชี้มูลต่อทันที และวันนี้ฝ่ายกรรมการ ป.ป.ช.ก็มาอ้างความบังเอิญอีกเช่นกัน ที่มาชี้มูลคดีระบายข้าวจีทูจี เพื่อชี้นำสังคมและกดดันสภา เพื่อให้เห็นว่าดิฉันมีพฤติกรรมส่อไปในทางทุจริต” อดีตนายกรัฐมนตรีกล่าว
       
       ทั้งนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ยืนยันว่า ได้ปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีและประธานกขช.อย่างครบถ้วน ตามขั้นตอนของกฎหมายและรัฐธรรมนูญ และขอปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ทุกข้อกล่าวหาจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตนไม่เคยคิดโกง ไม่ปล่อยปละละเลย หรือมีพฤติกรรมใดๆ ที่กระทำส่อไปในทางทุจริตอย่างที่ ป.ป.ช.กล่าวหา การมาขอความเป็นธรรมในที่นี้ไม่เพียงเพื่อตัวเอง แต่อยากขอโอกาสให้คนจนให้ชาวนาชาวไร่ได้มีชีวิตทีดีขึ้นเหมือนคนอื่น ได้ลืมตาอ้าปาก ได้รับรายได้ที่เป็นธรรมคุ้มค่าเหนื่อยและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ชาวนาเป็นกระดูกสันหลังของชาติ เราจะให้ชาวนาของเราหลังหักไม่ได้ เราจึงไม่ควรที่จะปล่อยให้เขาเหล่านั้น ใช้ชีวิตตามยถากรรม เพราะหนี้สิน และไม่พอจะกินเลย โดยโครงการรับจำนำข้าวเป็นระยะแรกเริ่มที่จะทำให้ชาวนามีรายได้เพียงพอ ระยะต่อไปจะมีการเร่งดำเนินการพัฒนาพันธุ์ข้าว เกษตรโซนนิ่ง แก้ปัญหาสินค้าเกษตรตกต่ำ เชื่อว่าเมื่อมาตรการต่างๆ สามารถดำเนินการได้สำเร็จ ราคาสินค้าเกษตรของไทยทั้งระบบ ก็จะค่อยๆ ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมีเสถียรภาพมากขึ้น
       
       “ขอย้ำว่าเราอย่ามองเหรียญเพียงด้านใดด้านหนึ่ง โดยไม่มองให้ครบทุกมิติ ทั้งด้านรายได้ และโอกาสที่หายไปของชาวนา ตลอดจนประโยชน์ของเศรษฐกิจประเทศโดยรวม และการลดช่องว่าง ระหว่างคนรวย คนจน ความเหลื่อมล้ำในสังคมหากเทียบโครงการรับจำนำข้าว กับการแจกเงินโดยตรง ที่นอกจากจะไม่ส่งเสริมอาชีพปลูกข้าวแล้ว กลับเป็นการให้คนรอรับความช่วยเหลือ เพียงเพราะไม่ยอมที่จะขาดทุนกับคนจน การคิดเช่นนี้เมื่อไหร่พี่น้องชาวนาจะยืนบนขาตัวเองได้ ดิฉันเติบโตมาในต่างจังหวัด เมื่อขันอาสาเข้ามาทำงานก็ได้รับโอกาสจากประชาชน จึงตั้งใจทำงานเพื่อประเทศชาติด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ไม่ต้องการเห็นประเทศชาติมีความขัดแย้งทางการเมืองจนต้องใช้วิธีการทำลายล้างที่ไร้หลักการ และขาดความเป็นธรรมอย่างที่ตัวเองประสบอยู่ โดยพร้อมเสมอที่จะพิสูจน์ตนเองในการทำงาน แต่ก็ต้องขอความเป็นธรรม เพื่อที่ทุกคนจะได้เห็นว่าบ้านเมืองมีกฎหมาย และการบังคับใช้ที่เป็นธรรม อันเป็นพื้นฐานสำคัญของความเป็นนิติธรรม และเพื่อให้การปฏิรูปและความปรองดองที่แท้จริงเกิดขึ้น อันจะนำมาซึ่งความสุขสันติมาสู่พี่น้องประชาชนคนไทยทุกคน” อดีตนายกรัฐมนตรีกล่าว
       
       จากนั้นนายพรเพชรได้ชี้แจงถึงกระบวนการลงมติถอดถอนว่าจะมีขึ้นในวันที่ 23 ม.ค. เวลา 10.00 น. เริ่มจากการลงมติถอดถอนหรือไม่ถอดถอนนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีต ส.ว.ก่อน จากนั้นจะเป็นกรณีของนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีต ส.ส. และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จึงขอความกรุณาสมาชิกมาให้พร้อมเพรียงกันตามเวลากำหนดด้วย


เหน็บ'ยิ่งลักษณ์'จะให้'เสี่ยเปี๋ยง'เป็นพยานแทน'วรงค์'หรือ

"นพ.วรงค์"เหน็บถาม"ยิ่งลักษณ์"จะให้"เสี่ยเปี๋ยง"เป็นพยานแทน"หมอวรงค์"หรือ จวกมะโนอยู่คนเดียว

นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีตส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรอดีตนายกรัฐมนตรี. แถลงปิดคดีว่าคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นำนพ.วรงค์ซึ่งเป็นคู่ปฏิปักษ์ทางการเมืองมาเป็นพยานในคดีถอดถอนว่า ตนทำหน้าที่ฝ่ายค้านขณะนั้น ก็ตรวจสอบการบริหารงานของฝ่ายรัฐบาล โดยเฉพาะนโยบายที่ประกาศและนำมาใช้ปฏิบัติ เมื่อเกิดความเสียหายหรือมีเรื่องไม่ชอบมาพากลก็ต้องทักท้วง การที่ป.ป.ช.นำตนมาเป็นพยานก็ถูกต้องตามหลักสากล เพราะเป็นผู้ทำหน้าที่ตรวจสอบตามบทบาท ถามว่าถ้าไม่ใช่ตนเป็นพยานแล้วจะไปนายอภิชาติ จันทร์สกุลพร (เสี่ยเปี๋ยง) ที่เพิ่งถูกป.ป.ช.ชี้มูลมา เป็นพยานให้น.ส.ยิ่งลักษณ์เช่นนั้นหรือ ถือเป็นการเบี่ยงประเด็น เพราะไม่สามารถชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ข้อเท็จจริงประกอบกับพยานหลักฐานที่ปรากฏต่อสังคมได้ เรื่องนี้ขอให้สังคมเป็นผู้ตัดสินจะดีที่สุด

"วันนี้คงได้เห็นคุณยิ่งลักษณ์มะโนอยู่คนเดียว ในหลายๆประเด็นที่คุณยิ่งลักษณ์จินตนาการณ์เอง เอาแค่การปิดบัญชีคุณยิ่งลักษณ์ไม่เชื่ออนุกรรมการปิดบัญชีที่ตนเองตั้ง แต่ไปเชื่อข้อมูลองค์การคลังสินค้า(อคส.) และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อตก.) ที่เป็นฝ่ายถูกอนุกรรมการตรวจสอบ คุณยิ่งลักษณ์อ้างว่าการที่ปลัดกระทรวงพาณิชย์ไปแจ้งความดำเนินคดีคู่สัญญาข้าวที่เสื่อมสภาพ กลับอ้างว่าเป็นไปตามเงื่อนไขสัญญาที่รัฐบาลตนเองทำไว้ แต่ไม่รู้หรอกว่า ยิ่งเป็นการสะท้อนถึงการปล่อยปละละเลยให้เกิดความเสียหาย " นพ.วรงค์ กล่าว

นพ.วรงค์ กล่าวว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์อ้างว่าป.ป.ช. เชิญผมและนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ มาเป็นพยานนั้น ถือว่าเชิญฝ่ายตรงข้ามมาเป็นพยาน สงสัยน.ส.ยิ่งลักษณ์คงต้องการให้เชิญเสี่ยเปี๋ยงมาเป็นพยานฝ่ายผู้ร้องแน่ และยังอ้างว่าในการระบายข้าวแบบจีทูจี ได้ให้นางวัชรี วิมุตตายนต์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ตั้งกรรมการสอบสวน ผลการสอบสวนกลับไม่พบการทุจริต ซึ่งตรงข้ามกับผลของป.ป.ช.

นพ.วรงค์ กล่าวต่อว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังอ้างอีกว่ามีมาตการในการปราบปรามการทุจริต แต่การดำเนินการเป็นแค่ในกระดาษ เพราะในความเป็นจริงเกิดการทุจริตทุกขั้นตอน นอกจากนี้ยังพยายามบอกว่าคดีจีทูจีเป็นคนละสำนวนของตนเอง แต่หารู้ไม่ว่ายิ่งเป็นการตอกย้ำการปล่อยปละละเลยให้เกิดความเสีนหายจากการทุจริต

"คุณยิ่งลักษณ์อ้างว่า โครงการนี้ต้องการช่วยชาวนา และเป็นการโอนเงินเข้าบัญชีชาวนาโดยตรง แต่คุณยิ่งลักษณ์ไม่รู้หรอกว่า เวลาเขาโกงชาวนา เขาตัดเป็นปริมาณข้าวเปลือกออกไป หรือถ้าเงินเข้าบัญชีชาวนาก็มีการไปข่มขู่เพื่อเอาเงินจากชาวนา จึงไม่แปลกที่คุณยิ่งลักษณ์ช่วยจนชาวนาจนฆ่าตัวตายถึง 16 ราย ทั้งนี้ผมหวังว่าท่านสนช.คงไม่ปรองดองกับผู้กระทำผิด ที่สำคัญคือผิดแล้วยังไม่สำนึก" นพ.วรงค์ กล่าว


“ทนายปู” เกาะขาอัยการ หวังเบรกฟ้องอาญา “ยิ่งลักษณ์” โกงจำนำข้าว

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์

ทนายความ “ยิ่งลักษณ์” เตรียมยื่นหนังสือต่ออัยการสูงสุด หวังเบรกฟ้องอาญาคดีโกงจำนำข้าว อ้าง “วิชา” ชี้นำ สนช. ทั้งที่เป็นความลับ ก่อนที่ฝ่ายอัยการจะแถลงอ้างว่าไม่ทราบเรื่อง ยังไม่สรุปเรื่อง พยานไม่สมบูรณ์ ซัดการประชุม ป.ป.ช. มิชอบ ก่อนยกหางนายดำรงหลักนิติธรรม
       
       วันนี้ (22 ม.ค.) นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ตั้งข้อสังเกตต่อการปฏิบัติหน้าที่ของคณะทำงานร่วมระหว่างอัยการสูงสุด กับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในการพิจารณาข้อไม่สมบูรณ์ของอัยการสูงสุด ว่า ได้ปฏิบัติไปตามอำนาจหน้าที่ด้วยความชอบธรรมหรือไม่ ทั้งนี้ เนื่องจากที่ตนตั้งข้อสังเกต เพราะได้ไปยื่นเรื่องขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุดรวม 2 ครั้ง ภายหลังที่ ป.ป.ช. ส่งสำนวนคดีอาญาโครงการรับจำนำข้าวมายังอัยการสูงสุด และต่อมาอัยการสูงสุดได้ตั้งคณะทำงาน ที่มี นายวุฒิพงศ์ วิบูลย์วงศ์ เป็นหัวหน้าคณะทำงาน ในเบื้องต้นคณะทำงานได้สรุปข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายจากสำนวน ป.ป.ช. แล้ว อัยการสูงสุดได้ชี้ข้อไม่สมบูรณ์รวม 3 ประเด็น อาทิเช่น คดีนี้ไม่มีหลักฐานทุจริต มีเพียงปกรายงานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ให้สั่งสอบว่ามีการทุจริตในขั้นตอนใด เป็นต้น
       
       และครั้งสุดท้ายตนได้ไปยื่นขอความเป็นธรรมตามที่อัยการสูงสุดชี้ข้อ ไม่สมบูรณ์ ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 16 ม.ค. 58 นายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. ได้ตอบข้อซักถามในสภาฯ ในลักษณะชี้นำ ทั้งๆ ที่เรื่องนี้เป็นความลับว่ามีการตกลงระหว่างคณะทำงานร่วม ระหว่างฝ่ายอัยการสูงสุด และฝ่าย ป.ป.ช. เป็นที่เรียบร้อยแล้วว่า คณะทำงานร่วมมีมติเห็นว่าคดีมีมูล มีข้อตกลงกันได้ว่าอัยการสูงสุดจะฟ้องคดีอาญาโครงการรับจำนำข้าวให้กับ ป.ป.ช. ซึ่งเป็นข้อพิรุธว่าเหตุใด นายวิชาจึงกล้าพูดชี้นำเช่นนั้น แต่ความมาปรากฏต่อมาว่า นายวุฒิพงศ์ หัวหน้าคณะทำงานร่วมระหว่างฝ่ายอัยการสูงสุด กับฝ่าย ป.ป.ช. แถลงข้อเท็จจริง วันที่ 21 ม.ค. 58 ว่า “ตนในฐานะหัวหน้าคณะทำงานไม่เห็นทราบเรื่องที่ ป.ป.ช. ไปออกข่าว ไปประชุมกันตอนไหน ยังงงว่าทำไมไม่เชิญตนเพราะคณะทำงานร่วมยังไม่สรุปเรื่องเลย ยังอยู่ขั้นตอนรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติมที่ไม่สมบูรณ์ สอบพยานเพิ่มเติม 2 ปาก ยังไม่ถึงไหน ยังไม่รายงานเลย...และยืนยันว่าการพิจารณาข้อไม่สมบูรณ์ในคดีนี้ต้องพิจารณา คำให้การของพยานที่สอบเพิ่มเติมและหลักฐานต่างๆ ที่ฝ่าย ป.ป.ช. ขอจากหน่วยราชการมาให้ครบถ้วนเสียก่อน” จากข่าวนี้ทำให้เห็นว่าคำสั่งของอัยการสูงสุดยังไม่ได้รับการปฏิบัติให้ครบ ถ้วนเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม
       
       นอกจากนี้ นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการ ป.ป.ช. กลับให้ข่าวยืนยันว่าได้มีการประชุม เมื่อวันที่ 20 ม.ค. 58 มีตัวแทนฝ่าย ป.ป.ช. 10 คน และตัวแทนฝ่ายอัยการสูงสุด 3 คน โดยยืนยันว่าเป็นการประชุมที่สมบูรณ์แล้ว และอ้างว่าที่ประชุมเห็นพ้องกันว่าขณะนี้ข้อไม่สมบูรณ์ในสำนวนคดี น.ส.ยิ่งลักษณ์ นั้น ได้มีการสอบพยานบุคคลและหาพยานหลักฐานต่างๆ จนครบถ้วน สามารถฟ้องคดีได้ จึงมีมติเสนอเรื่องส่งให้อัยการสูงสุดฟ้องต่อไป ซึ่งอัยการสูงสุดฟ้องคดีโดยไม่รับฟังข้อยุติจากคณะทำงานที่ตนแต่งตั้งมาเอง ได้อย่างไร ซึ่ง นายวุฒิพงศ์ ก็ได้ยืนยันว่าคดีนี้ข้อไม่สมบูรณ์ยังไม่ได้รับการพิจารณาไต่สวนให้คดีมี ความสมบูรณ์ และทำไมตนจึงไม่ทราบว่ามีการประชุมครั้งนี้ หากข่าวที่ นายสรรเสริญ ยืนยันเป็นจริง จึงมีคำถามว่า อัยการจำนวน 3 คน ที่ร่วมประชุมถือเป็นตัวแทนอัยการสูงสุดหรือไม่ และมติที่นายสรรเสริญ อ้างนั้นเป็นมติที่ชอบของคณะทำงานชุดใหญ่ที่อัยการสูงสุดแต่งตั้งหรือไม่ เพราะหัวหน้าคณะทำงานยังไม่รับทราบ และยังยืนยันว่าข้อไม่สมบูรณ์ยังไม่ได้รับการปฏิบัติ เช่นนี้ถือได้หรือไม่ว่าการประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมที่ไม่ชอบ
       
       “ในฐานะทนายความของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุดในวันพรุ่งนี้ (23 ม.ค.) เพราะผู้ถูกกล่าวหาในคดีนี้เป็นถึงอดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้นำของประเทศ จึงควรดำรงไว้ซึ่งหลักนิติธรรม และอัยการสูงสุดจำเป็นที่ต้องรักษาภาพลักษณ์ขององค์กรที่ดำรงมากว่า 100 ปี” นายนรวิชญ์ กล่าว


จี้สนช.ตรวจพยานหลักฐานให้ครบก่อนลงมติถอดถอน

พิชิต” จี้สนช. ตรวจพยานหลักฐานให้ครบก่อนลงมติถอดถอน “ยิ่งลักษณ์”

นายพิชิต ชื่นบาน ที่ปรึกษาทีมทนายความ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในวันพรุ่งนี้ (23 ม.ค.) จะมีการลงมติถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ โดยทีมทนายความอยากเรียกร้องว่า สมาชิกสนช.ท่านใดที่ยังไม่ได้ไปตรวจพยานหลักฐานนั้นก็ขอให้ไปตรวจพยานหลักฐานให้ครบก่อน เพราะเรื่องนี้เป็นการพิจารณาคดี ไม่อยากให้มีกระแสอย่างหนึ่งอย่างใด อีกทั้งยังมีข้อถกเถียงกันอยู่ในเรื่องของตัวเลขการขาดทุนทางบัญชี และอยากให้สื่อมวลชนช่วยกันดูด้วยว่า มีสนช.ท่านใดบ้างที่ไม่ไปตรวจพยานหลักฐาน เพราะตอนนี้มีการกดดันว่าอัยการดำเนินการฟ้องแล้ว หรือปลัดกระทรวงพาณิชย์ได้ไปแจ้งความแล้ว ซึ่งหลายเรื่องเป็นเรื่องนอกสำนวน แต่เท่าที่ทราบมีสนช.ไปดูพยานหลักฐานเพียงไม่กี่คนเท่านั้น

ผู้สื่อข่าวถามว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์มีความมั่นใจมากน้อยเพียงใดในการชี้แจง นายพิชิตกล่าวว่า คิดว่าท่านมีความมั่นใจในการที่จะแถลงปิดคดี และคิดว่าครบทุกประเด็น อย่างไรก็ตาม คงจะไวเกินไปที่จะพูดว่าคดีจะเป็นไปในทางใด ส่วนกังวลเรื่องคดีของนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์หรือไม่ว่า อาจจะมีผลต่อการตัดสินใจลงมติของสนช.หรือไม่ นายพิชิตกล่าวว่า ขอความเป็นธรรมด้วย เพราะเรื่องการระบายข้าวแบบจีทูจีนั้นเป็นที่ประจักษ์อยู่แล้ว อีกทั้งประธานป.ป.ช.เองก็แถลงแล้วว่าเป็นคนละเรื่อง ทั้งนี้ หากเราพูดถึงเรื่องความเป็นธรรมก็จะเป็นการพูดที่ไม่อยู่บนพื้นฐานของสำนวน เพราะเรื่องนี้ข้อบังคับให้ยึดสำนวนของป.ป.ช.เป็นหลัก นอกจากนี้ เรายังตั้งข้อสังเกตอีกว่า สิ่งที่ผู้กล่าวหาพูดนั้นพูดนอกเรื่องที่อยู่นอกสำนวนหลายเรื่อง อาทิ เรื่องที่ปลัดกระทรวงพาณิชย์ไปแจ้งความหรือเรื่องการระบายข้าวแบบจีทูจี ซึ่งไม่มีในสำนวน

ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า มีความพยายามที่จะส่งสัญญาณว่า หากมีการถอดถอนอาจจะขัดต่อหลักการปรองดองนั้น นายพิชิตกล่าวว่า เรื่องปรองดองในความหมายน่าจะอยู่ที่ความยุติธรรมไม่มี ความสามัคคีไม่เกิด น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่ได้หลีกเลี่ยงเรื่องการตรวจสอบ แต่ไปตีความกล่าวหาท่านเอง เรื่องความปรองดองนั้นอยู่บนพื้นฐานของความเป็นธรรม ดังนั้น ควรกลับมาอยู่บนพื้นฐาน เรื่องนี้เป็นเรื่องการเมือง ทีมทนายความขอเรียกร้องในสิ่งที่อยู่ในประเด็นทางกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ในการแถลงปิดคดีในวันนี้นั้น ทีมทนายความเพียงแต่สรุปประเด็นข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเท่านั้น ส่วนน.ส.ยิ่งลักษณ์จะแถลงอะไรนั้นก็อยู่ที่การตัดสินใจของท่าน

สำหรับกรณีที่สนช.ไม่ให้ผู้แทนคดีตอบคำถามแทนน.ส.ยิ่งลักษณ์นั้น นายพิชิตกล่าวว่า ตนขอถามง่ายๆ ว่า ศักดิ์และสิทธิของผู้แทนคดีนั้นไม่เท่ากันหรืออย่างไร และอยากถามว่า เอกสิทธิของผู้ถูกกล่าวหานั้น เขาเอาไปทิ้งทะเลหรือ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เปิดคำแถลง ปปช.-ยิ่งลักษณ์ ปิดคดีจำนำข้าว

view