สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ถอดคำแถลง วิชา-ยิ่งลักษณ์

ถอดคำแถลง'วิชา-ยิ่งลักษณ์

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

 "วิชา"วอน สนช.สร้างประวัติศาสตร์ "ยิ่งลักษณ์"สวนอย่าใช้วิธีทำลายล้าง

นายวิชา มหาคุณ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี แถลงปิดสำนวนคดีการถอดถอนอดีตนายกฯออกจากตำแหน่งต่อที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จากข้อกล่าวหาปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว

วิชา : ประเทศจำนำหนี้-ชาวนาจำนำชีวิต

นายวิชา แถลงปิดคดีว่า ขอยืนยันว่า สนช.มีอำนาจเต็มที่ในการถอดถอนผู้ถูกกล่าวหาออกจากตำแหน่ง และตัดสิทธิการเมือง 5 ปี และยืนยันว่า ป.ป.ช.ให้ความเป็นธรรมอย่างเต็มที่ ไม่ได้ละเว้นหลักนิติธรรม

โครงการจำนำข้าวเป็นการกำหนดราคารับจำนำข้าวสูงกว่าตลาด มีการรับจำนำราคาตันละ 15,000 บาท จากราคาตลาด 7,500 บาท เป็นการใช้กลไกการเมืองซื้อใจชาวนาจนชนะการเลือกตั้ง แต่มีวาระซ่อนเร้นในการทุจริตเชิงนโยบาย

จากการไต่สวนโครงการนี้ในทุกระดับจะมีผู้ชักโยงอยู่เบื้องหลังเพื่อหาผลประโยชน์ให้พวกพ้อง เล่นแร่แปรธาตุกันมากมาย ไม่เกรงกลัวกฎหมาย ป.ป.ช. ตรวจสอบยากที่สุด โดยพบว่ามีการระบายข้าวของรัฐในราคาถูก อ้างว่าเป็นการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ แต่ความจริงเป็นการนำไปขายต่อให้พวกพ้องภายในประเทศ

ที่ผ่านมาป.ป.ช. สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และคณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯ ได้มีคำเตือนถึงผู้ถูกกล่าวหาให้ยกเลิกโครงการ ด้วยความเป็นห่วงการใช้งบประมาณในโครงการ และมีการทุจริตเกิดขึ้น แต่ผู้ถูกกล่าวหายืนยันต้องดำเนินโครงการต่อไป เพราะเป็นสัญญาประชาคม ยกเลิกไม่ได้

อย่างไรก็ดี ป.ป.ช.สามารถจับทุจริตเชิงนโยบายโครงการนี้ได้ชัดเจนที่สุดเท่าที่ประเทศนี้เคยมีการจับทุจริตมา แม้ผู้ถูกกล่าวหาจะอ้างว่ามีกลไกตรวจสอบการทุจริต แต่เป็นเพียงเครื่องบังหน้าว่าผู้ถูกกล่าวหาไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริต

ทั้งนี้ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดว่า ผู้ถูกกล่าวหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ยับยั้งความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยมีใบเสร็จเป็นหลักฐานเรียบร้อย คือ รายงานคณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯ ที่สรุปว่าโครงการมีผลขาดทุนจำนวนมาก อยากถามว่าน่าเชื่อถือหรือไม่ เพราะคณะอนุกรรมการชุดนี้ประกอบด้วยปลัดกระทรวงการคลัง ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ และผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ

นอกจากนี้ยังมีความเสียหายจากการจัดเก็บข้าวในโกดัง จนปลัดกระทรวงพาณิชย์ต้องแจ้งความเอาผิดกับคู่สัญญาโครงการรับจำนำข้าว สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ในข้อหาฉ้อโกงที่นำข้าวไม่ได้มาตรฐานมาเข้าร่วมโครงการ รวมทั้งหมด 3.6 ล้านตัน วงเงิน 6.5 หมื่นล้านบาท

จากความเสียหายในการระบายข้าวขาดทุนและการจัดเก็บข้าวในโกดังส่งผลเสียต่อประเทศ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังระบุว่า ภาวะหนี้จากโครงการจำนำข้าว คาดว่าขาดทุน 7 แสนล้านบาท จะต้องใช้หนี้เป็นเวลากว่า 30 ปีจนถึงรุ่นหลาน แม้ผู้ถูกกล่าวหาได้โต้แย้งข้อมูลของคณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯ แต่บุคคลที่เป็นคณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯไม่มีส่วนได้เสียหรือผลประโยชน์ทับซ้อนจากโครงการรับจำนำข้าว ถ้าคณะอนุกรรมการชุดนี้มีเจตนาปิดบัญชีไม่ถูกต้อง ผู้ถูกกล่าวหาในฐานะผู้บังคับบัญชาก็ต้องดำเนินการทางวินัย อาญา จะปล่อยไว้ทำไม

จากการไต่สวนของ ป.ป.ช.ยังพบว่า มีชาวนารวมตัวกันเรียกร้องเงินค่าจำนำข้าว มีชาวนาหลายรายไม่สามารถรอคอยเงินค่าจำนำข้าวได้ จนตัดสินใจฆ่าตัวตาย ขณะนี้มีข้าวค้างอยู่ในโกดังจำนวนมาก ส่งผลกระทบต่อการผลิตข้าวในฤดูกาลถัดไป ทำให้ชาวนาถูกกดราคาข้าว แต่ไม่มีผู้ใดรับผิดชอบ และผู้ถูกกล่าวหาก็ยังไม่เคยขออภัยต่อชาวนา เพียงแต่กล่าวว่าโครงการนี้เป็นที่ชื่นชอบของชาวนา ซึ่งเหมือนกับรัฐบาลจำนำข้าว ชาวนาจำนำชีวิต สุดท้ายประเทศจำนำหนี้ ป.ป.ช.ยืนยันว่าผู้ถูกกล่าวหาทราบว่าขั้นตอนของโครงการได้สร้างความเสียหายตลอดมา

ป.ป.ช.จึงเห็นว่าผู้ถูกกล่าวหามีความผิด ฐานจงใจไม่ใช้อำนาจหน้าที่นายกรัฐมนตรียับยั้งความเสียหาย ทั้งนี้เรื่องคุณธรรม จริยธรรมมีความสำคัญที่สุดในการบริหารราชการแผ่นดิน โดยเฉพาะตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต้องมีคุณธรรมจริยธรรมสูงสุดกว่าคนอื่น เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีให้คนอื่นประพฤติปฏิบัติตาม ขอคารวะบุคคลที่อยู่เบื้องหน้า (สมาชิกสนช.) ให้ช่วยทำประวัติศาสตร์การถอดถอนครั้งนี้ให้ปรากฏผลเป็นจริง

ยิ่งลักษณ์ : เชื่อไม่ได้-ใช้พยานปฏิปักษ์

นางสาวยิ่งลักษณ์ แถลงปิดคดีว่า มาวันนี้เพื่อยืนยันความบริสุทธิ์และขอความเป็นธรรมต่อสภา หวังว่า สนช.ทุกท่านจะใช้ดุลยพินิจถูกต้องเที่ยงธรรมเป็นประจักษ์ต่อสาธารณชน ไม่จำยอมจากการชี้นำของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

การที่ไม่ได้มาตอบข้อซักถามด้วยตนเอง (ในวันซักถาม) นั้นก็เพราะข้อบังคับการประชุมระบุว่าผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถมาชี้แจงแทนได้ ตนในฐานะนายกฯที่กำกับนโยบายได้มอบหมายให้รัฐมนตรีไปขับเคลื่อนให้นโยบายเกิดขึ้น ดังนั้นรัฐมนตรีจะมีข้อมูลสามารถมาตอบข้อซักถามของสมาชิกได้อย่างเข้าใจกว่าตน

ขอโต้แย้งรายงานสำนวนและความเห็นของ ป.ป.ช.ที่กล่าวหาตน ซึ่งมีข้อสังเกตที่เป็นพิรุธ ไม่สมควรที่จะเป็นสาเหตุให้ตนถูกถอดถอน คือ รัฐธรรมนูญปี 50 สิ้นสุดแล้ว เหลือเพียงพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ (พ.ร.บ.ป.ป.ช.) ที่มิอาจถอดถอนได้ เพราะไม่มีรัฐธรรมนูญให้อำนาจไว้ ขอยืนยันว่าตนไม่เหลือตำแหน่งอะไรให้ถอดถอนอีกแล้ว เป็นการถอดถอนที่ซ้ำซ้อน

การที่ ป.ป.ช.อ้างว่าใช้เวลาไต่สวนตน 1 ปี 10 เดือนนั้นไม่เป็นความจริง เพราะการแจ้งข้อกล่าวหาคดีนี้ใช้เวลาเพียง 21 วัน มีคำสั่งของป.ป.ช.เป็นหลักฐานชัดเจน นอกจากนั้นหลายส่วนในสำนวนไม่ได้เกี่ยวข้องกับคดีที่กล่าวหา แต่กลับมารวมในคดี เช่น กรณีการระบายข้าวแบบจีทูจี

โดยเฉพาะการที่นายวิชาไปกล่าวในการเสวนา เมื่อวันที่ 5 เม.ย.57 ซึ่งกล่าวหาว่าข้าวในโครงการ 2 ล้านตันได้หายไป เป็นการกล่าวที่เลื่อนลอย และชี้นำสังคมเพื่อให้สาธารณะเข้าใจผิดว่าตนละเว้นไม่ระงับยับยั้งความเสียหายที่เกิดขึ้น ซึ่งไม่พึงกระทำในฐานะที่นายวิชาเป็นกรรมการ ป.ป.ช. ที่รับผิดชอบในสำนวนที่ต้องอำนวยความยุติธรรม ทั้งที่จริงกรณีข้าวหาย 2 ล้านตันไม่เป็นความจริง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมายืนยันแล้ว และได้นำหลักฐานยืนยันต่อ ป.ป.ช.แล้ว แต่ ป.ป.ช.ไม่รับฟัง

ที่ผ่านมาไม่มีคำสั่งหรือรายงานใดของคณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯที่ให้ยุติโครงการรับจำนำข้าว ส่วนที่ สตง.ส่งหนังสือมาให้ 3 ฉบับแรกไม่ปรากฏว่าเสนอให้รัฐบาลยกเลิกโครงการจำนำข้าว มีเพียงฉบับที่ 4 ในวันที่ 30 ม.ค.57 ที่ให้รัฐบาลทบทวนโครงการรับจำนำข้าวเปลือกในฤดูกาลต่อไป ซึ่งก็เป็นช่วงที่รัฐบาลประกาศยุบสภาแล้ว จึงมีฐานะเป็นรัฐบาลรักษาการ จึงไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้

นอกจากนี้ ป.ป.ช.ยังตัดพยานที่ได้ตนเสนอไปจำนวน 18 ราย เหลือ 6 ราย โดยพยานที่ตัดไปล้วนเกี่ยวข้องกับประเด็นสำคัญ และมีการใช้พยานที่เป็นปฏิปักษ์ทางการเมืองกับรัฐบาล 4 ใน 7 ปากของ ป.ช.ช. เช่น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ นายนิพนธ์ พัวพงศกร ซึ่งเป็นผู้รับจ้างทำงานวิจัยให้กับ ป.ป.ช.และมีชื่อไปร่วมประชุมกับนายอภิสิทธิ์ที่ริเริ่มโครงการประกันรายได้ และนายระวี รุ่งเรือง ประธานเครือข่ายชาวนาไทย ที่เพิ่งตั้งขึ้นเมื่อเดือน ก.พ.57 และร่วมชุมนุมกับ กปปส.ในการขับไล่รัฐบาล แล้ว สนช.จะเชื่อความเห็น ป.ป.ช.ได้อย่างไร

ข้อกล่าวหาที่ว่าโครงการจำนำข้าวทำให้เป็นภาระ มีการนำภาษีมาใช้ และกระทบต่อระบบการเงินการคลังประเทศ ยืนยันว่าไม่จริง แต่ก่อให้เกิดรายได้ต่อชาวนา นำไปสู่การใช้จ่ายต่อเนื่อง ทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นจำนวน 3.1 แสนล้านบาทคิดเป็น 2.7 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีของประเทศ และสามารถดูแลชาวนาถึง 23 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งประเทศ

รวมทั้งหนี้สาธารณะของประเทศอยู่ในระดับเพียง 45 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งต่ำกว่าเพดาน 60 เปอร์เซ็นต์ สรุปได้ว่าวินัยการคลังของรัฐบาลช่วงที่ตนเป็นนายกฯ มีความเข้มแข็งมั่นคง ไม่ใช่เรื่องความเสียหาย ยืนยันว่าโครงการนี้มีประโยชน์มาก จึงไม่มีเหตุผลใดๆ ที่ต้องยุติโครงการ

การดำเนินคดีกับตนเป็นวาระซ่อนเร้นภายใต้การดำเนินคดีที่ไม่เป็นธรรม เป็นวาระการเมืองที่เห็นชัด เมื่อมีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญให้พ้นจากตำแหน่งนายกฯเมื่อวันที่ 7 พ.ค.57 แล้ววันรุ่งขึ้นวันที่ 8 พ.ค.จะเป็นการบังเอิญหรือไม่ที่ ป.ป.ช.ชี้มูลคดีนี้ทันที วันนี้ ป.ป.ช.มาอ้างความบังเอิญชี้มูลการระบายข้าวแบบจีทูจี เพื่อชี้นำสังคมอีก และกดดัน สนช.ว่าตนมีพฤติกรรมส่อไปในทางทุจริต

ขอยืนยันว่าได้ปฏิบัติหน้าที่นายกฯและประธานคณะกรรมการนโยบายข้าว (กขช.) ครบถ้วนเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายและบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญทุกประการ และขอปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาของ ป.ป.ช. ตลอดจนขอคัดค้านคำแถลงเปิดและปิดสำนวน รวมถึงรายงานของ ป.ป.ช.ในเรื่องนี้ทั้งหมด


“ยิ่งลักษณ์” ไม่รอด! สนช.ถอดพ้นเก้าอี้นายกฯ “นิคม-สมศักดิ์” รอด

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์

        มติ สนช.190 เสียงเห็นชอบให้ถอดถอน “ยิ่งลักษณ์” จากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ส่วน “นิคม” เสียงไม่ถอดถอน 120 ต่อ 95 รอดถูกถอดจากตำแหน่งประธานวุฒิสภา ขณะที่ “สมศักดิ์” ไม่ถอด 115 ต่อ 100 เสียง รอดถูกถอดจากตำแหน่งประธานรัฐสภา
       วันนี้ (23 ม.ค.) ที่รัฐสภา การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในวาระการถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กรณีไม่ระงับยับยั้งปล่อยให้เกิดการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว, นายสมศักดิ์ เกียรติ์สุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา และนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา กรณีดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 เกี่ยวกับที่มา ส.ว. ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดรัฐธรรมนูญปี 2550 ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวหา ได้มีการลงคะแนนจากสมาชิก 219 คนเสร็จสิ้นแล้ว ต่อมาได้มีการนับคะแนนพบว่า
       
       สมาชิก สนช.เห็นชอบให้ถอดถอนนายนิคม 95 เสียง ไม่ถอดถอน 120 เสียง และงดออกเสียง 4 เสียง
       
       สมาชิก สนช.เห็นชอบให้ถอดถอนนายสมศักดิ์ 100 เสียง ไม่เห็นชอบ 115 เสียง และงดออกเสียง 4 เสียง
       
       ขณะที่ สมาชิก สนช.เห็นชอบให้ถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ 190 เสียงไม่ถอดถอน 18 เสียงและงดออกเสียง 11 เสียง
       
       ผลจากการถูกถอดถอน ทำให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี


อสส.สั่งฟันอาญา “ปู” คดีทุจริตโครงการจำนำข้าว

โดย ทีมข่าวอาชญากรรม

อัยการสูงสุดสั่งฟ้อง “ปู” คดีทุจริตจำนำข้าว เผยอัตราโทษจำคุกสูงสุด 10 ปี ชี้พยานหลักฐานสมบูรณ์ คาดยื่นศาลฎีกาฯ นักการเมืองได้ภายใน 1 เดือน
       
       ที่สำนักงานอัยการสูงสุด อาคารศูนย์ราชการ ถ.แจ้งวัฒนะ เมื่อเวลา 09.00 น.วันที่ 23 ม.ค. นายสุรสักดิ์ ตรีรัตน์ตระกูล อธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวนและหนึ่งในคณะทำงานร่วมของฝ่ายอัยการ และนายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ได้แถลงผลสั่งคดีโครงการรับจำนำข้าวว่า ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้ส่งสำนวนการไต่สวนกรณีกล่าวหา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการในโครงการรับจำนำข้าว เพื่อให้อัยการสูงสุดพิจารณาฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 (และที่แก้ไขเพิ่มเติม) มาตรา 123/1 ต่อมาอัยการสูงสุดได้พิจารณาแล้วเห็นว่า คดีดังกล่าวที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ส่งมานั้นยังไม่สมบูรณ์พอที่จะยื่นฟ้องคดี ต่อศาลได้ อัยการสูงสุดจึงแจ้งข้อไม่สมบูรณ์ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทราบ และต่อมาคณะกรรมการ ป.ป.ช.และอัยการสูงสุดได้ตั้งคณะทำงานขึ้นเพื่อเป็นผู้แทนไปดำเนินการพิจารณาพยานหลักฐาน ที่ไม่สมบูรณ์ และรวบรวมพยานหลักฐานให้สมบูรณ์ เพื่อส่งให้อัยการสูงสุดฟ้องคดีต่อไปนั้น
       
       ต่อมาเมื่อมีการตั้งคณะทำงานทั้งสองฝ่ายแล้ว คณะทำงานฝ่ายผู้แทนอัยการสูงสุด และคณะทำงานฝ่ายผู้แทนคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้มีการนัดประชุมพิจารณาพยานหลักฐานที่ไม่สมบูรณ์ และไปดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐานให้สมบูรณ์ตามข้อไม่สมบูรณ์ที่พิจารณาตกลงกันได้ โดยได้มีการขอเอกสารหลักฐานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สอบปากคำพยานบุคคลที่จำเป็นแก่คดีเพิ่มเติมเพื่อให้สิ้นกระแสความ รวมทั้งอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อรูปคดี เพื่อรวบรวมพยานหลักฐานให้สมบูรณ์ตามอำนาจหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายต่อไป
       
       เมื่อคณะทำงานทั้งสองฝ่ายได้ดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐานตามข้อไม่สมบูรณ์ ที่ตกลงกันได้ดังกล่าวข้างต้นแล้ว ต่อมาวันที่ 20 มกราคม 2558 คณะทำงานได้นัดประชุมเพื่อพิจารณาผลการรวบรวมพยานหลักฐานร่วมกัน และมีความเห็นว่าการดำเนินการของคณะทำงานร่วม ได้ดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐานตามข้อไม่สมบูรณ์ดังที่พิจารณาตกลงกันได้เสร็จสิ้นแล้ว จึงมีมติให้ส่งพยานหลักฐานทั้งหมดเสนออัยการสูงสุดเพื่อฟ้องคดีต่อไปตามมาตรา 11 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542
       
       อัยการสูงสุดได้พิจารณาพยานหลักฐานที่คณะทำงานส่งมาดังกล่าวข้างต้น ประกอบพยานหลักฐานที่มีอยู่ทั้งหมดในสำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช.แล้วเห็นว่า คดีมีความสมบูรณ์พอที่จะดำเนินคดีอาญาฟ้องผู้ถูกกล่าวหาต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ จึงให้ดำเนินคดีอาญาฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตามข้อกล่าวหา
       
       ผู้สื่อข่าวถามว่า ภายหลังอัยการสูงสุดมีคำสั่งฟ้องแล้ว ขั้นตอนจากนี้จะเป็นอย่างไร นายสุรศักดิ์กล่าวว่า ทางอัยการสูงสุดก็จะตั้งคณะทำงานร่างฟ้องขึ้นมาตรวจสอบเอกสารหลักฐานที่มีกว่า 4,000 หน้า ให้เสร็จสมบูรณ์ก่อนจะนำไปยื่นฟ้องต่อศาล โดยคาดว่าจะเวลาประมาณ 1 เดือน ในกรณีนี้ทางอัยการสูงสุดได้ประสานไปยัง ป.ป.ช.ให้ดำเนินการนำตัว น.ส.ยิ่งลักษณ์มาฟ้องคดีแต่หากไม่ได้ตัวผู้ต้องหามาฟ้อง ตามข้อกำหนดเกี่ยวกับการดำเนินคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2553 ข้อ 8 ที่ระบุว่า หากนำตัวจำเลยมาศาลในวันฟ้อง ให้ผู้พิพากษาประจำแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา เป็นผู้พิจารณาในการขังหรือปล่อยตัวจำเลยชั่วคราว แต่หากไม่ได้นำตัวมาศาล ให้โจทก์ระบุที่อยู่จริงของจำเลยมาในฟ้องด้วย
       
       เมื่อถามต่อว่า ก่อนหน้านี้นายวุฒิพงศ์ วิบูลย์วงศ์ ประธานคณะทำงานร่วมฝ่ายอัยการ เคยออกมาให้ข่าวว่า สำนวนยังไม่ได้ข้อสรุปนั้นแสดงว่ามีความขัดแย้งกันในคณะทำงานร่วมหรือไม่ นายสุรศักดิ์กล่าวว่า การพิจารณาสำนวนคดีต้องพิจารณาร่วมกันของคณะทำงานทั้งฝ่ายอัยการ และป.ป.ช.และการรวบรวมหลักฐานก็ถือว่าคณะทำงานร่วมได้เห็นชอบแล้ว ซึ่งทางคณะทำงานได้รายงานผลให้อัยการสูงสุดรับทราบหมดแล้ว โดยทางคณะทำงานได้ตรวจสอบพิจารณาพยานหลักฐานขั้นสุดท้ายในสำนวนคดี ก่อนจะส่งความเห็นไปให้อัยการสูงสุดมีความเห็นสั่งคดี โดยอัยการสูงสุดได้เซ็นคำสั่งฟ้องในช่วงเช้าของวันนี้
       
       ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า ทนายของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้มายื่นขอความเป็นธรรมเพิ่มเติมได้พิจารณาหรือไม่ นายสุรศักดิ์กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ฝ่ายผู้ถูกกล่าวหาได้ยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมไว้แล้ว อัยการสูงสุดได้พิจารณาในส่วนนี้แล้ว  ส่วนที่มายื่นในช่วงเช้าวันนี้ ทางอัยการสูงสุดไม่มีอำนาจที่จะพิจารณาแล้ว เนื่องจากได้ยื่นภายหลังที่อัยการสูงสุดได้มีคำสั่งแล้ว ซึ่งอัยการสูงสุดให้ความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย ส่วนเรื่องการค้านประกัน ทางคณะทำงานจะพิจารณาต่อไป และหากมีการยื่นฟ้องคดีต่อศาลฎีกาฯ แล้วขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาลจะให้ประกันหรือไม่
       
       เมื่อถามถึงอัตราโทษในความผิดตาม ป.อาญา มาตรา 157 และพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1 นายสุรศักดิ์ กล่าวว่า ตามกฎหมายแล้วความผิดตาม ป.อาญา ม.157 ระหว่างโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 10 ปี แต่กฎหมายทั้งสองฉบับดังกล่าว ศาลจะพิจารณาควบคู่กันไปว่าเข้าข่ายประกอบความผิดในมาตราใด ซึ่งขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาล
       
       เมื่อถามอีกว่า การสั่งฟ้องคดีครั้งนี้ สอดคล้องเกี่ยวข้องกับกรณีที่ สนช.จะมีการลงมติยื่นถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์หรือไม่ นายสุรศักดิ์กล่าวว่า ไม่เกี่ยวข้องกัน โดยอัยการสูงสุดพิจารณาไปตามพยานหลักฐานในสำนวนคดี ซึ่งทางอัยการสูงสุดเห็นว่าพยานหลักฐานครบถ้วนสมบูรณ์แล้วจึงได้มีคำสั่งดังกล่าว ทั้งนี้ทางอัยการได้พิจารณาสำนวนคดีอย่างรอบคอบ รวดเร็ว และเป็นธรรม
       
       เมื่อถามว่า การที่อัยการเลื่อนเวลาแถลงผลสั่งฟ้องคดีเร็วขึ้น เป็นการเทน้ำหนักให้กับ สนช.ในการลงมติถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์หรือไม่ นายสุรศักดิ์กล่าวว่า ไม่เกี่ยวข้อง เนื่องจากอัยการสูงสุดและตนมีภารกิจจะต้องไปปฏิบัติหน้าที่ต่อ จึงได้มีการลงนามคำสั่งและแถลงข่าวในช่วงเช้าของวันนี้
       
       เมื่อถามว่า หากน.ส.ยิ่งลักษณ์ ผู้ต้องหาเดินทางไปต่างประเทศ ทางอัยการจะมีแนวทางป้องกันไม่ให้ผู้ต้องหาหลบหนีอย่างไร นายสุรศักดิ์กล่าวว่า เป็นเรื่องในอนาคต เพราะขณะนี้คดียังไม่เข้าสู้ชั้นศาลฎีกาฯ แต่ตามแนวทางแล้ว อัยการจะเป็นคนกลางในการทำเรื่องขอส่งผู้ร้ายข้ามแดน โดยประสานงานกับกระทรวงการต่างประเทศเพื่อติดตามตัวผู้ต้องหา
       
       เมื่อถามว่า สำนวนคดีของนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ พร้อมพวกจะนำมารวมกับสำนวนคดีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์หรือไม่ นายสุรศักดิ์กล่าวว่า สำนวนคดีของนายบุญทรง ทาง ป.ป.ช.ยังไม่ได้ส่งมาให้กับทางอัยการ ซึ่ง ป.ป.ช.อยู่ระหว่างพิจารณาดำเนินการ แต่หากข้อเท็จจริงของทั้งสองสำนวนมีประเด็นเกี่ยวพันกันก็อาจจะรวมเป็นสำนวนคดีเดียวกัน
       
       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หากอัยการสูงสุดได้ยื่นคำฟ้องคดีต่อศาลฎีกาฯ แล้วตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 นายดิเรก อิงคนินันท์ ประธานศาลฎีกาจะเรียกประชุมใหญ่ผู้พิพากษาศาลฎีกาทั้งหมดภายใน 14 วัน เพื่อเลือกผู้พิพากษา 9 คน เป็นองค์คณะรับผิดชอบคดีพร้อมนัดฟังคำสั่งว่าจะรับฟ้องคดีไว้พิจารณาพิพากษาหรือไม่ ซึ่งศาลจะพิจารณาจากรายละเอียดการบรรยายฟ้องว่าคดีอยู่ในอำนาจพิพากษาของศาลฎีกาฯ หรือไม่และเมื่อศาลมีคำสั่งรับฟ้องก็จะเลือกผู้พิพากษาในองค์คณะ 1 คน เป็นเจ้าของสำนวนคดีนี้ จากนั้นก็จะมีหมายเรียกจำเลยมาศาลในนัดพิจารณาคดีครั้งแรกภายใน 45 วันนับจากวันที่รับฟ้อง เพื่อสอบคำให้การจำเลย ซึ่งในวันดังกล่าวจำเลยจะต้องเดินทางมาศาลด้วยตนเองและเมื่อตกเป็นจำเลยแล้ว ก็จะต้องยื่นคำร้องเพื่อขอปล่อยชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดี ขณะที่ศาลจะพิจารณาให้ประกันหรือไม่และกำหนดเงื่อนไข เช่นการห้ามเดินทางออกนอกประเทศ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาลหรือไม่ ถือเป็นดุลพินิจของศาล
       
       อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้เมื่อเวลา 08.45 น. ก่อนอัยการจะแถลงข่าว นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางมายื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุดเพิ่มเติมอีก ผ่านนายโกศลวัฒน์ อินทุจันทรยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด นายนรวิชญ์กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ตนได้ติดตามข่าวทราบว่าอัยการสูงสุดสั่งให้สอบสวนเพิ่มเติมข้อไม่สมบูรณ์ ประเด็นของคดีนี้ซึ่งคณะทำงานร่วมฯ ยังพิจารณาไม่แล้วเสร็จ แต่กลับเร่งสั่งคดี และยังสอดคล้องกับที่ สนช.จะลงมติถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ในวันนี้ด้วย ตนอยากให้กระบวนการยุติธรรมเดินไปอย่างปกติ ในเมื่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์เป็นถึงอดีตนายกรัฐมนตรีแต่ไม่ได้รับความเป็นธรรมแล้วจะหาความเป็นธรรมได้จากที่ไหน
       
       เมื่อถามว่า ในการลงมติถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ครั้งนี้มีความมั่นใจแค่ไหน นายนรวิชญ์กล่าวว่า ไม่ได้กังวลในเรื่องเนื้อหาที่ได้แถลงปิดคดีไปแล้ว


ตามคาด! “ปู” โวยถูก สนช.กลั่นแกล้งเอาชาวนาเป็นเครื่องมือ ลั่นไม่เหลืออะไรแล้วนอกจากคดีความ

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์

อดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ โพสต์เฟซบุ๊กแทนแถลงข่าว บอกตามคาดที่ถูก สนช. ถอดถอน ยืนยันความบริสุทธิ์ ย้ำจำนำข้าวโครงการที่ดี ไม่สร้างความเสียหาย อัดตัวเลขแค่อคติ เอาชาวนาเป็นเครื่องมือ หนำซ้ำอัยการสูงสุดแถลงสั่งฟ้องก่อนลงมติ 1 ชั่วโมง ลั่นไม่เหลืออะไรแล้วนอกจากคดีความ เปรยปรองดองไม่ใช่ไล่ล่า แต่ต้องเป็นกลาง แทนที่จะหันหน้าเข้าหากันกลับสร้างความเกลียดชัง ก่อนทำเศร้าเสียใจแทนชาวนาเสียโอกาส ลั่นสู้คดีถึงที่สุด
       
       วันนี้ (23 ม.ค.) เฟซบุ๊ก Yingluck Shinawatra ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้เผยแพร่คำแถลงหลังสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติถอดถอน 190 ต่อ 18 เสียง ในกรณีไม่ระงับยับยั้งความเสียหายโครงการจำนำข้าว โดยระบุว่า
       
       “เรียน พี่น้องประชาชนที่รักทุกท่าน เป็นไปตามความคาดหมาย ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้มีมติถอดถอนดิฉันออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี และอัยการสูงสุดได้สั่งฟ้องดิฉัน ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญา ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้น ดิฉันขอแถลงดังนี้
       
       ดิฉัน ขอยืนยันและมั่นใจในความบริสุทธิ์ของดิฉัน และขอขอบคุณเสียงส่วนน้อยที่ยังคงยึดมั่นในหลักการ และความเที่ยงธรรม ซึ่งในกระบวนการต่างๆ ได้ลิดรอนและตัดสิทธิขั้นพื้นฐานของดิฉัน ในฐานะประชาชนคนไทยคนหนึ่งที่พึงได้รับ
       
       ดิฉันขอยืนยันว่า โครงการรับจำนำข้าวเป็นโครงการที่ดี ไม่ได้สร้างความเสียหายแต่อย่างใด สำหรับตัวเลขความเสียหายที่พยายามจะยัดเยียดให้ดิฉันนั้นก็เป็นเพราะความมี อคติต่อตัวดิฉัน และนำชาวนามาเป็นเครื่องมือในการทำลายล้างทางการเมือง
       
       ดังที่ดิฉันได้เคยกล่าวถึงความเป็นประชาธิปไตยในประเทศไทย เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2556 ณ เมืองอูลันบาตอ ประเทศมองโกเลียว่า “ดิฉันนั้นต้องการเห็นความปรองดองเกิดขึ้นในประเทศไทย และประชาธิปไตยของไทยพัฒนาให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ ก็ด้วยหลักนิติธรรม และกระบวนการทางกฎหมายที่แข็งแรง มีขั้นตอนที่ชัดเจน โปร่งใส และเมื่อนั้น ทุกคนจะสามารถมั่นใจได้ว่าเขาจะได้รับการดูแลที่ยุติธรรม”
       
       ดิฉันยังคงยืนยัน ในคำพูดดังกล่าว แม้ว่าวันนี้ประชาธิปไตยไทยได้ตายไปแล้วพร้อมกับหลักนิติธรรม แต่ขบวนการทำลายล้างยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ดังที่ดิฉันได้ประสบอยู่ขณะนี้
       
       เป็นที่น่าเสียใจ และเป็นเรื่องที่ไม่อยากจะเชื่อว่ามีเหตุการณ์บังเอิญต่างๆ มากมาย ตามที่ดิฉันได้แถลงปิดสำนวนไปเมื่อวานนี้ และเป็นการบังเอิญ ที่ไม่ใช่ความบังเอิญ อีกครั้งหนึ่ง คือ ก่อนเวลาที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติจะเริ่มลงมติถอดถอนเพียง 1 ชั่วโมง อัยการสูงสุดก็ได้แถลงสั่งฟ้องดิฉันในข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ก่อให้ เกิดการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว ทั้งๆ ที่หัวหน้าคณะผู้แทนอัยการสูงสุดยืนยันว่ายังต้องพิจารณาข้อไม่สมบูรณ์ของ คดีต่อไป
       
       องค์กรอัยการซึ่งเป็นองค์กรที่สร้างความน่าเชื่อถือในกระบวนการยุติธรรมมายาวนาน กลับต้องถูกตั้งข้อสงสัยในประเด็นนี้ค่ะ
       
       ทั้งนี้ การปฏิบัติหน้าที่ของดิฉันในฐานะนายกรัฐมนตรีตลอดระยะเวลา 2 ปี 9 เดือน 2 วันนั้น ดิฉันตั้งใจทำงานด้วยความทุ่มเทที่จะแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชน ทุกกลุ่มอย่างไม่เลือกปฏิบัติ และดิฉันภูมิใจที่ช่วงหนึ่งในชีวิตได้ทำให้พี่น้องชาวนา และคนยากจนได้ลืมตาอ้าปากและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
       
       แม้ในวันนี้ดิฉันไม่มีตำแหน่งอะไรเหลืออยู่แล้ว ยังคงเหลือแต่คดีความที่ถูกยัดเยียดไว้ให้ ที่ต้องไปสู้คดีในชั้นศาลต่อไป
       
       คำว่าความปรองดองจะเกิดขึ้นได้ต้องไม่ใช่การไล่ล่าคนใดคนหนึ่ง แต่หมายถึงความเป็นกลาง ที่ต้องอำนวยความยุติธรรมให้กับทุกฝ่าย เมื่อความเป็นธรรมเกิด ความยุติธรรมก็จะตามมา การยอมรับ ความสงบ ความสามัคคีก็จะมีขึ้นในสังคมไทย
       
       เพราะเราเป็นคนไทยเหมือนกัน แทนที่เราจะหันหน้าเข้าหากัน แล้วร่วมกันทำให้ประเทศของเราเข้มแข็ง แต่กลับสร้างความจงเกลียดจงชังให้แก่กัน ไล่ล่าเพื่อให้ไม่มีที่ยืน สุดท้ายคนที่เสียหายก็คือประเทศของเรา
       
       ดิฉันรันทดใจ ไม่ใช่เพราะดิฉันถูกกลั่นแกล้ง และประสบชะตากรรมที่ไม่เป็นธรรม แต่ดิฉันเสียใจแทนชาวนา และประชาชนคนไทยทั้งประเทศ ที่ต้องสูญเสียโอกาส ต้องกลับไปอยู่ในวังวน ของความยากจน มีหนี้สิน ถูกเอารัดเอาเปรียบ และสูญเสียความเป็นประชาธิปไตยขั้นพื้นฐาน ตลอดจนกฎหมายถูกบิดเบือน
       
       สุดท้ายนี้ ดิฉันก็หวังว่าผู้ที่เป็นฝ่ายอำนวยความยุติธรรมของประเทศ จะไม่ปล่อยให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ที่ไม่รักษากติกาประชาธิปไตย และไม่รักษา หลักนิติรัฐ นิติธรรม มาชี้นำใดใดอีก ดังที่มีนักวิชาการกล่าวว่า “ไม่มียิ่งลักษณ์ คนไทยยังอยู่กันได้ แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือ ถ้าไม่มีความยุติธรรมหลงเหลืออยู่ ในระบบการปกครองของไทยแล้ว คงไม่มีใครอยู่ได้”
       
       อย่างไรก็ตาม ดิฉันขอยืนยันว่า ดิฉันจะต่อสู้จนถึงที่สุดเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของดิฉันไม่ว่าผลจะเป็น อย่างไร และที่สำคัญ คือ ดิฉันจะขอยืนหยัดอยู่เคียงข้างพี่น้องประชาชนคนไทย เราต้องร่วมกันนำความเจริญก้าวหน้ามาสู่ประเทศ ทำให้ระบอบประชาธิปไตยของเรากลับคืนมา และสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคมไทยอย่างแท้จริง”


พานทองแท้'ถาม'พร้อมไหมคนไทย'

พานทองแท้" บุตรชายอดีตนายกรัฐมนตรี โพสต์อินสตาแกรมถาม "พร้อมไหมพร้อม? พร้อมไหมคนไทย"

เมื่อวันที่ 23 ม.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ปรากฎว่าเมื่อเวลาประมาณ 14.30 น. นายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชายพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ได้โพสต์ภาพลงในอินสตาแกรม หรือไอจีส่วนตัว มีข้อความเป็นตัวหนังสือสีขาว ว่า "พร้อมไหมพร้อม? พร้อมไหมคนไทย" และมีภาพชูกำปั้นประกอบ โดยมีพื้นหลังเป็นสีดำ นอกจากนี้ยังโพสต์ข้อความต่อในไอจีดังกล่าวด้วยว่า "เข้าใจตรงกันนะ"

ทั้งนี้มีผู้ติดตามไอจี เข้ามาโพสต์แสดงความเห็นใจน.ส.ยิ่งลักษณ์ และครอบครัว จำนวนมาก พร้อมให้ผ่านเหตุการณ์ครั้งนี้ไปด้วยดี ขณะที่บางคนระบุว่า "พร้อมนานแล้ว" และยังมีข้อความว่า "เอาไงเอากัน เหลือทนแล้ว" และ "เอาเสาไฟมาลงก็จะกาให้" ขณะที่บางสอบถามกลับไปว่า "แล้วคุณโอ๊ค พร้อมเป็นนายกฯ ยังครับ"


นิคม'ขอบคุณสนช.หลังไม่ลงมติถอดถอน

“นิคม” ขอบคุณสนช. หลังไม่ลงมติถอดถอน รับสิ้นสุดบ่วงกรรมแล้ว ขอเว้นวรรคการเมือง ตระเวนทำบุญไว้พระ

นายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา ให้สัมภาษณ์ภายหลังจากที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงมติไม่ถอดถอน 120 ต่อ 95 และงดออกเสียง 4 คะแนน ว่า ต้องขอขอบคุณสมาชิก สนช.ด้วยที่ให้ความเป็นธรรมแก่ตนเอง เป็นการแสดงให้เห็นว่ากระบวนการทางนิติบัญญัติยังมีความเป็นธรรมอยู่ ซึ่งมติดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า มีสมาชิกจำนวนมากที่มีความเข้าใจในข้อมูล ข้อเท็จ และหลักกฏหมายที่ตนได้นำเสนอไป อีกทั้งการต่อสู้ครั้งนี้ตนไม่ได้สู้เพื่อตัวเอง แต่เพื่อต้องการรักษาสถาบันนิติบัญญัติเอาไว้ ซึ่งการใช้ดุลยพินิจดังกล่าวสนช.ก็แสดงให้เห็นเช่นกันว่า เป็นไปเพื่อต้องการรักษาศักดิ์ศรีของฝ่ายนิติบัญญัติในฐานะผู้ทำหน้าที่ออกฏหมายเอาไว้ โดยไม่ให้องค์กรหรืออำนาจอื่นๆเข้ามาก้าวล่วงได้ ซึ่งมติดังกล่าวจะนำไปสู่แนวทางการพิจารณาในสำนวนถอดถอนของอดีตสมาชิกวุฒิสภา จำนวน 38 คนหรือไม่นั้น ตนคิดว่าเป็นเพียงส่วนหนึ่งคงไม่ใช้ทั้งหมด เพราะต้องดูข้อมูลข้อเท็จจริงอื่นๆประกอบด้วย

เมื่อถามก่อนการที่จะมีการลงมติมีความกังวลใจหรือไม่ นายนิคม กล่าวว่า ไม่มีความกังวลใดๆนอนหลังอย่างสบายใจ ซึ่งกระบวนการตอนนี้ก็ถือเป็นอันสิ้นสุดแล้ว พ้นบ่วงกรรรมไปแล้ว สำหรับอนาคตทางการเมืองหลังไม่ถูกเพิกถอนสิทธิทางการเมือง 5 ปีนั้น คิดว่าหลังจากนี้ก็คงหยุดงานการเมืองซักระยะหนึ่ง และใช้ชีวิตช่วงนี้ตามเหมือนข้าราชการที่เกษียณอายุ ทำบุญไหว้พระ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ถอดคำแถลง วิชา-ยิ่งลักษณ์

view