สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ระบบแบ่งปันผลผลิตดีจริงหรือ?

ระบบแบ่งปันผลผลิตดีจริงหรือ?

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ในวงการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมทั่วโลก คุ้นเคยกับระบบบริหารจัดการปิโตรเลียม ที่นำมาใช้กันอย่างกว้างขวาง

อยู่ 3 แบบ คือ ระบบรับจ้างผลิต (Service Contract) ซึ่งมักจะใช้ในประเทศตะวันออกกลางที่มีแหล่งน้ำมันดิบขนาดใหญ่ ความเสี่ยงต่ำ ประมาณว่า ขุดไปตรงไหนก็เจอ การใช้ระบบนี้รัฐจะได้ประโยชน์จากปิโตรเลียมแบบเป็นกอบเป็นกำ

แบบที่สอง คือ ระบบแบ่งปันผลผลิต ( Production Sharing Contract) มักจะใช้กับประเทศที่มีแหล่งน้ำมันดิบขนาดใหญ่ และเป็นผู้ส่งออกน้ำมันเช่นเดียวกัน เพราะรัฐมีอำนาจในการต่อรองกับเอกชนสูง

ประเทศที่ใช้ระบบนี้แล้วได้ผลดี และภาคประชาชนชอบ ยกตัวอย่างคือมาเลเซีย ที่ทำให้เปโตรนาส กลายเป็นบริษัทพลังงานชั้นนำของโลก เพราะส่งออกทั้งน้ำมันดิบและแอลเอ็นจี

ส่วนระบบสุดท้ายคือ ระบบสัมปทาน (Concession Contract) มักจะใช้กับประเทศที่มีศักยภาพปิโตรเลียมไม่สูงมาก มีความเสี่ยงสูง และรัฐไม่อยากจะเป็นผู้แบกรับความเสี่ยงเอาไว้เอง

ประเทศที่ใช้ระบบสัมปทานเช่นสหรัฐ ,อังกฤษ, ออสเตรเลีย รวมทั้งไทย ที่ใช้ระบบสัมปทานนี้มาโดยตลอด และมีพัฒนาการมาตั้งแต่สัมปทานที่เรียกว่า ไทยแลนด์วัน ,ไทยแลนด์ทู,ไทยแลนด์ทรี จนมาถึงไทยแลนด์ทรีพลัส ในการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบล่าสุด ที่ถูกคัดค้านอย่างหนักจากเครือข่ายภาคประชาชน อยู่ในขณะนี้

เมื่อเข้าใจถึงระบบการบริหารจัดการปิโตรเลียมทั้ง 3 ระบบที่ว่านี้ ก็จะไม่แปลกใจว่า คนที่เข้าใจไปว่าไทยมีศักยภาพปิโตรเลียมสูง มีทั้งแหล่งก๊าซและแหล่งน้ำมันดิบ จนถึงกลับต้องมีการส่งออกน้ำมันดิบไปขายต่างประเทศนั้น จะเชียร์ให้รัฐเปลี่ยนมาใช้ระบบแบ่งปันผลผลิตแทนระบบสัมปทาน เพราะจะทำให้ปตท.กลายเป็นยักษ์ใหญ่เหมือนเปโตรนาส รัฐจะได้ส่วนแบ่งผลประโยชน์มากกว่าเดิม และที่สำคัญ ประชาชนผู้บริโภคจะได้ใช้น้ำมันราคาถูกเหมือนกับมาเลเซีย

อย่างไรก็ตามนักธรณีวิทยาด้านปิโตรเลียมของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติยืนยันว่า ศักยภาพทางด้านปิโตรเลียมของไทยนั้นด้อยกว่ามาเลเซีย แม้จะอยู่ในทะเลอ่าวไทยด้วยกัน แต่เหมือนพระเจ้าแกล้งอย่างไรอย่างนั้น เพราะไล่ตั้งแต่พื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซียหรือเจดีเอลงไปทางใต้ของอ่าวไทยอันเป็นแนวเขตของมาเลเซีย นั้นส่วนใหญ่เป็นแหล่งน้ำมันดิบ และมีขนาดหลุมกระเปาะใหญ่กว่าไทย ที่ส่วนใหญ่เป็นแหล่งที่มีการพบก๊าซธรรมชาติมากกว่าน้ำมัน และเป็นกระเปาะเล็กๆ กระจายตัวอยู่ ซึ่งทำให้อายุการผลิตของแต่ละหลุมสั้นกว่า แถมต้องมีการเจาะหลุมผลิตมากกว่า มาเลเซีย

ระบบแบ่งปันผลผลิตไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับไทย เพราะมีการใช้ระบบนี้แล้วในแหล่งเจดีเอ ตามระบบของมาเลเซีย ที่มีการตั้งองค์กรพัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย ขึ้นมากำกับดูแล ผลก็คือรัฐได้ส่วนแบ่งจากระบบนี้ประมาณ 60% ในขณะที่เอกชนผู้สำรวจและผลิตได้ผลประโยชน์เมื่อหักค่าใช้จ่ายไปประมาณ 40% น้อยกว่าระบบสัมปทานไทยแลนด์ทรีที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

การที่จะเปลี่ยนจากระบบสัมปทานมาเป็นระบบแบ่งปันผลผลิตนั้น จำเป็นจะต้องมีการแก้ไขพ.ร.บ.ปิโตรเลียมให้รองรับ และต้องมีองค์กรเฉพาะ แบบเดียวกับองค์กรร่วมไทยมาเลเซีย ขึ้นมาดูแล ต้องมีระยะเวลาเตรียมพร้อมบุคลากร ซึ่งกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติบอกว่า ต้องใช้เวลาประมาณ 4 ปี

เทวินทร์ วงศ์วานิช ซีอีโอ ปตท.สผ.บอกว่า แหล่งปิโตรเลียมที่รัฐเปิดสัมปทานมาในช่วง 3 ครั้งหลัง หรือในรอบประมาณ 15 ปีที่ผ่านมา มีการสำรวจพบและผลิตปิโตรเลียมรวมกันเท่ากับความต้องการใช้เพียงปีเดียว ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ศักยภาพปิโตรเลียมของไทยในแหล่งที่เหลืออยู่นั้นไม่ได้สูงมาก

ในประเทศ เวียดนาม ที่ใช้ระบบแบ่งปันผลผลิต พบว่า มีปัญหาความล่าช้าในขั้นตอนการอนุมัติ จนทำให้การผลิตปิโตรเลียมในประเทศไม่สนองตอบต่อความต้องการใช้ ส่วน กัมพูชา ที่ใช้ระบบแบ่งปันผลผลิตมานานหลายปี ก็ประสบปัญหาในขั้นตอนปฏิบัติเช่นเดียวกัน จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการผลิตปิโตรเลียมขึ้นมาใช้ได้เลย ส่วนอินโดนีเซีย ที่ใช้ระบบแบ่งปันผลผลิต ก็มีปัญหาเรื่องการคอร์รัปชัน และกำลังที่จะเปลี่ยนมาใช้ระบบสัมปทานที่ดูแล้วโปร่งใสมากกว่า

กระแสการคัดค้านเรื่องของการเปิดสัมปทานปิโตรเลียม และเรียกร้องให้ใช้ระบบแบ่งปันผลผลิต จึงต้องศึกษาและทำความเข้าใจให้ถ่องแท้เสียก่อนว่า จะมีขั้นตอนดำเนินการแบบไหน ปฏิบัติอย่างไร เหมาะสมกับศักยภาพปิโตรเลียมที่เป็นจริงหรือไม่ รัฐได้ประโยชน์มากกว่าจริงหรือ?

เพราะไม่เช่นนั้น อาจจะเป็นการเปิดประตูให้นักการเมืองเข้ามาคอร์รัปชันทรัพยากรของประเทศ อย่างที่รัฐมนตรีของอินโดนีเซียนั่งกลุ้มใจอยู่ในขณะนี้


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ระบบแบ่งปันผลผลิต ดีจริงหรือ

view