สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ผุดงบกลางแสนล้าน-เปิดช่องทำประชานิยม

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...เกียรติศักดิ์ ผิวเกลี้ยง

กลายเป็นประเด็นใหม่ทางเศรษฐกิจ เมื่อ สมหมาย ภาษี รมว.คลัง เตรียมเสนอ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตั้งงบกลางในปีงบประมาณ 2559 เพิ่มอีก 1 แสนล้านบาท เพื่อไว้ใช้ดูแลปากท้องประชาชนเกษตรกรผู้มีรายได้น้อย

แม้ว่าปัจจุบันจะมีการตั้งงบกลางปีละ 7-8 หมื่นล้านบาท โดยให้อำนาจนายกรัฐมนตรีอนุมัติการใช้จ่ายได้อยู่แล้ว แต่งบกลางดังกล่าวจะเปิดกว้างให้ใช้เป็นการทั่วไป รวมถึงการลงทุนในโครงการต่างๆ ที่ไม่มีการตั้งงบไว้ก่อน

แต่สำหรับไอเดียของ รมว.คลัง ต้องการกันงบกลางที่จะเพิ่มอีก 1 แสนล้านบาท โดยจะกำหนดให้ชัดเจนว่าต้องเป็นการช่วยเหลือแก้ปัญหาเศรษฐกิจปากท้องของชาวบ้านที่มีรายได้น้อยเท่านั้น เพราะเศรษฐกิจโลกที่ผันผวนกระทบต่อการขยายตัวเศรษฐกิจของไทย และผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือคนที่อยู่ฐานรากของประเทศ รัฐบาลจึงหนีไม่พ้นที่จะใช้เงินช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนดังกล่าว

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ การทำงบประมาณ 2558 ที่กำลังใช้อยู่ในปัจจุบัน เกษตรกร โดยเฉพาะชาวนาที่ปลูกข้าวได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจชะลอตัว และไม่มีโครงการรับจำนำข้าว ทำให้ประสบปัญหารายได้ขายข้าวได้ราคาต่ำกว่าต้นทุน ทำให้รัฐบาลต้องเข้าไปช่วยเหลือแจกเงินชาวนาไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 1.5 หมื่นบาท/ครอบครัว รวมแล้ว 4 หมื่นล้านบาท โดยรัฐบาลต้องขอใช้เงินธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ไปก่อน และตั้งงบ 2559 มาใช้คืนทั้งหมด

จากปัญหาดังกล่าวหากมีการตั้งงบกลางเพื่อดูแลคนมีรายได้น้อย ก็จะทำให้รัฐบาลมีเงินเข้าไปช่วยเหลือเกษตรกรได้ทันที ไม่ต้องไปยืมเงินให้ยุ่งยากและไม่ต้องมีต้นทุนเพิ่ม เพราะแม้จะใช้เงินของ ธ.ก.ส.ที่เป็นแบงก์รัฐก็ต้องจ่ายดอกเบี้ยให้

นอกจากนี้ สมหมาย ยังมองว่าการตั้งงบกลางเพื่อใช้ดูแลประชาชนที่มีรายได้น้อยและได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ ยังเป็นการป้องกันให้รัฐบาลไม่ทำโครงการประชานิยม ในแบบการซุกหนี้ไว้ในแบงก์รัฐจำนวนมากหลายแสนล้านบาท ที่ใช้เวลาไม่รู้กี่สิบปีจึงจะชดใช้ได้หมด โดยจะดำเนินการควบคู่ไปกับการออกกฎหมายการเงินการคลังที่จะเขียนกำหนดไว้ว่า รัฐสามารถใช้เงินแบงก์รัฐไปดำเนินนโยบายช่วยเหลือประชาชนได้ แต่ต้องตั้งงบประมาณชดใช้ในปีถัดไปทันที เหมือนที่รัฐบาลนี้ใช้เงิน ธ.ก.ส.แจกชาวนา 4 หมื่นล้านบาท และตั้งงบปี 2559 ชำระคืน

ด้าน สมหมาย เชื่อว่าแนวทางนี้จะไม่ถูกมองว่าเป็นการทำงบกลางเพื่อโครงการประชานิยม เพราะเป็นการใช้เงินที่โปร่งใสอยู่ในระบบงบประมาณที่ตรวจสอบได้ และเป็นการช่วยเหลือที่มีเหตุมีผลรองรับไม่ใช่แจกเงินหาเสียงทางการเมือง

หากพิเคราะห์แล้ว ถือว่าเป็นแนวคิดที่ดี หากทำได้ตามไอเดียที่ รมว.คลัง วาดฝันไว้ และรัฐบาลชุดต่อไป ยังคงยึดกุมหลักการดังกล่าว ไม่เป็นศรีธนญชัยนำงบดังกล่าวไปตัดต่อพันธุกรรมกลายเป็นงบประชานิยมเต็มรูปแบบ ทำให้ใช้เงินไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจเหมือนที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม การดำเนินการก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะกรอบงบประมาณได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ววงเงิน 2.72 ล้านล้านบาท ขาดดุล 3.9 แสนล้านบาท แบ่งเป็นงบลงทุน 20% ของงบประมาณรายจ่าย หรือเม็ดเงิน 5.44 แสนล้านบาท

จะเห็นว่าการตั้งงบประมาณดังกล่าว ไม่ได้เตรียมเงินไว้สำหรับทำงบกลางเพิ่ม 1 แสนล้านบาท หากจะทำจริงก็ต้องไปหั่นงบรายจ่ายในส่วนอื่นๆ เพื่อนำมาตั้งงบกลางเพิ่ม แต่ก็เป็นเรื่องยาก เพราะงบประจำก็ตัดไม่ได้มาก เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นเงินเดือนข้าราชการและงบดำเนินงานของหน่วยราชการ

ส่วนการจะหั่นงบลงทุนก็ปิดทางไปได้เลย เพราะการตั้งงบลงทุนที่มีเม็ดเงิน 20% ของงบรายจ่ายเพิ่มขึ้นจาก 17% ในปี 2558 ก็เพราะต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจและเรียกความเชื่อมั่นจากนักลงทุน หากลดงบลงทุนเพื่อไปเพิ่มงบกลางก็จะบั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุน ทำให้ได้ไม่คุ้มเสีย

นอกจากนี้ สัดส่วนงบลงทุนต่องบประมาณรายจ่าย 20% ยังต่ำกว่า 25% ที่เป็นเพดานขั้นต่ำตามที่กำหนดไว้ในกรอบความยั่งยืนทางการคลัง และเป็นปัญหามาโดยตลอด เพราะรัฐจัดหารายได้ไม่ทันการเพิ่มของรายจ่าย ส่วนหนึ่งเพราะรัฐบาลในอดีตกลัวคะแนนเสีย ไม่กล้าปฏิรูปภาษี

แม้แต่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ที่มีอำนาจเต็มมือ และประกาศจะปฏิรูปทุกเรื่องรวมทั้งภาษีก็ยังทำได้ยาก เราจึงได้เห็นความไม่คืบหน้า หรือขั้นตอนสะดุดที่เกิดกับการเก็บภาษีมรดก ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง การขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ฯลฯ

เมื่อปฏิรูปภาษีไม่สำเร็จ การเก็บรายได้ของประเทศก็เป็นปัญหา รัฐบาลต้องทำงบประมาณขาดดุลมานานกว่า 10 ปี ยิ่งในช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมา รายได้ต่ำกว่าคาดมาก ปีงบประมาณ 2557 รายได้ต่ำกว่าเป้าถึง 2 แสนล้านบาท ขณะที่ปี 2558 ผ่านมาได้ 3 เดือน รัฐก็คาดว่าทั้งปีจะเก็บได้ต่ำกว่าเป้า 1.2 แสนล้านบาท เพราะกรมจัดเก็บหลักอย่างสรรพากรส่อเค้าจะเก็บได้ต่ำกว่าเป้า 1.7 แสนล้านบาท สูงกว่าปีที่ผ่านมาอีก

การจัดเก็บรายได้ของประเทศจึงสวนทางกับรายจ่ายที่มากแบบจัดเต็มพิกัด และหากรัฐจะเอาจริงก็ต้องรีดเงินภาษีเพิ่ม หรือต้องกู้ ทำให้คนไทยเป็นหนี้เพิ่ม เพื่อเอาเงินมาโปะงบกลางอีก 1 แสนล้านบาท

การหาเงินก็ยากเข็ญมากอยู่แล้ว แต่การวางกรอบการนำเงินเพื่อช่วยคนฐานรากให้คนฐานรากได้ประโยชน์แท้จริง จะยิ่งยากลำบากขึ้นไปอีก โดยเฉพาะรัฐบาลชุดนี้กำลังถูกมองว่ากำลังซ้ำรอยประชานิยมของรัฐบาลในอดีต

ฉะนั้น จะมีอะไรเป็นหลักประกันว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จะไม่นำเงินภาษีที่ต้องขอดเกล็ดกันสุดฤทธิ์ไปละลายทำโครงการประชานิยมอีก


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ผุดงบกลาง แสนล้าน เปิดช่องทำ ประชานิยม

view