สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เศรษฐกิจจีนเข้าสู่ new low หรือ new normal กันแน่?

เศรษฐกิจจีนเข้าสู่ new low หรือ new normal กันแน่?

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




"เศรษฐกิจจีนกำลังจะแย่แล้วใช่มั้ยคะ (ครับ) ...นี่คือ คำถามคุ้นหูที่ดิฉันได้ยินบ่อยมากในช่วงนี้

โดยเฉพาะหลังจากที่ทางการจีนได้ประกาศตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจ 2014 ทั้งปีที่โตแค่ 7.4 % ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ผลการเติบโต GDP ของจีนไปไม่ถึงเป้าหมายที่ผู้นำจีนเคยวางไว้ (ทางการจีนตั้งเป้าไว้ที่ 7.5%) และเป็นตัวเลขการเติบโตที่ต่ำที่สุดในรอบ 24 ปี จึงชัดเจนว่า นี่คือตัวเลข new low ของเศรษฐกิจจีน

หากแต่ผู้นำจีนกลับใช้คำอธิบายว่า “นี่เป็น new normal นะครับ” เข้าทำนองว่า ตัวเลข GDP ที่เปลี่ยนไปไม่ใช่ new low หากแต่เป็นปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจแนวทางใหม่ที่จะเข้ามาแทนที่การเติบโตแบบเดิม จึงไม่ต้องตื่นตระหนกตกใจกันนะ แถมย้ำว่า นี่คือความตั้งใจของจีนเองที่จะโตช้าหน่อย แต่โตแบบมีคุณภาพ การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนจากนี้ไป จะไม่หวือหวาเหมือนที่ผ่านมา แต่จะเป็นการเติบโตอย่างมั่นคง

คำว่า new normal ในภาษาจีนกลาง คือ ซินฉางท่าย (xīnchángtài) ซึ่งคำศัพท์นี้ถูกนำมาใช้โดยฝรั่งนักวิเคราะห์เศรษฐกิจ Mohammed El Erian และ Bill Gross ในการอธิบายการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่เริ่มลดต่ำลงหลังเกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ในช่วงปี 2008-2009 และชี้ว่า จากนี้ไปการเติบโตที่ต่ำลงของเศรษฐกิจโลกจะกลายเป็นเรื่องปกติตามวัฏจักรของกระบวนการเข้าสู่ new normal ด้วยเหตุปัจจัยต่างๆ

ดิฉันขอชื่นชมผู้นำจีนที่ตั้งใจหยิบยืมคำศัพท์สุดชิคนี้มาใช้อธิบาย “ภาวะโตต่ำลง” ของเศรษฐกิจจีน เพื่อให้ฟังดูดีและทำให้คลายกังวลต่อสภาพเศรษฐกิจจีนในช่วงขาลง และนายโจว เสี่ยวฉวน ผู้ว่าการธนาคารกลางของจีน ถึงกลับบอกว่า “การชะลอตัวทางเศรษฐกิจถือเป็นข่าวดี หากสามารถมีการเติบโตอย่างยั่งยืนมากขึ้น”

อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ ยังคงมีนักเศรษฐศาสตร์ 2 ค่ายความคิดที่มองอนาคตเศรษฐกิจจีนต่างกันไปคนละมุม มีทั้ง “ค่ายเปี่ยมหวัง” ที่มองเศรษฐกิจจีนอย่างสดใสสวยงามเชื่อมั่นว่า นี่เป็นเพียงปรากฏการณ์ new normal และ “ค่ายเปี่ยมกังวล” ที่จับจ้องมองจีนว่า ได้เกิดภาวะ new low แล้ว และเศรษฐกิจถดถอยกำลังจะตามมา

ขอเริ่มที่ “ค่ายเปี่ยมหวัง” ที่นำโดยศาสตราจารย์ Lin Yifu นักเศรษฐศาสตร์จีนที่มีชื่อเสียงระดับโลก ซึ่งมองปัญหาในมุมบวกว่า “ปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัวของจีนในขณะนี้มีสาเหตุหลักมาจากปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะการส่งออกที่ลดลงของจีนเกิดจากการฟื้นตัวอย่างเชื่องช้าของเศรษฐกิจประเทศที่มีรายได้สูง (ตลาดหลักของจีน) และแท้จริงแล้ว เศรษฐกิจของหลายประเทศต้องถูกกระทบหนักกว่าจีน และถดถอยมากกว่าจีนด้วยซ้ำ”

ความเปี่ยมหวังของนักเศรษฐศาสตร์ค่ายนี้ เน้นไปที่ศักยภาพและโอกาสในการเติบโตของจีน ทั้งในแง่ของการบริโภคภายในประเทศ (consumption led growth) และในแง่ของการขยายการลงทุน (investment led growth) โดยเฉพาะศาสตราจารย์ Lin Yifu ได้เน้นด้านการลงทุน โดยอธิบายว่า “จีนยังมีโอกาสที่จะขยายตัวด้านการลงทุนในประเทศได้อีกมาก ทั้งจากการยกระดับในภาคอุตสาหกรรม (industrial upgrading) การพัฒนาเครือข่ายโครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure improvements) การลงทุนในด้านสิ่งแวดล้อม (environmental protection) และการสร้างความเป็นเมือง (urbanization)”

นอกจากนี้ จีนมีเศรษฐกิจมหภาคที่แข็งแรงและเอื้อต่อการขยายการลงทุน เช่น รัฐบาลจีนมีหนี้สาธารณะสัดส่วนเพียง 40% ของ GDP ในขณะที่ มีการออมของภาคเอกชนจีนสูงถึง 50% ของ GDP รวมไปถึงการมีทุนสำรองเงินตราต่างประเทศมากที่สุดในโลกสูงถึง 4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นต้น

ศาสตราจารย์ Lin Yifu จึงมั่นใจและกล้าฟันธงว่า “ในระยะปานกลาง จีนจะยังคงรักษาระดับการเติบโตได้ถึง 7-7.5%” และมองว่า จีนจะยังคงเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก และจะมีสัดส่วนสูงถึง 1 ใน 3 ของการเติบโตของเศรษฐกิจโลก ไม่เฉพาะการลงทุนภายในประเทศจีน ศาสตราจารย์ Lin Yifu ยังมั่นใจว่า จีนจะเป็นแหล่งสำคัญของการออกไปลงทุนโดยตรงในต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม “ค่ายเปี่ยมกังวล” กลับมองต่างมุม โดยเฉพาะศาสตราจารย์ Paul Krugman นักเศรษฐศาสตร์อเมริกันชื่อดังระดับรางวัลโนเบล ได้ออกมาให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 20 มกราคม ที่ผ่านมาด้วยความกังวลว่า “เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มที่จะเผชิญกับภาวะถดถอยอย่างรุนแรงในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้” โดยชี้ว่า “การเปลี่ยนผ่านของเศรษฐกิจจีนจากการพึ่งพาการส่งออกอย่างยิ่งยวด ไปสู่การบริโภคภายในประเทศเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก (นั่นคือ ไม่ใช่จะสำเร็จได้โดยง่าย)” และมองว่า “จีนจะไม่สามารถเพิ่มการลงทุนในระดับสูงได้ต่อไปอีก เนื่องจากปัญหาขาดแคลนแรงงาน จากนี้ไป แรงงานจีนอพยพจากภาคชนบทเข้าสู่เมืองอาจจะไม่ได้มีจำนวนมากดังเช่นที่ผ่านมา และปัญหาประชากรจีนสูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ผลพวงจากนโยบายลูกคนเดียวจึงมีประชากรเกิดใหม่ที่น้อยลงและส่งผลให้ชาวจีนในวัยทำงานมีน้อยลง”

ศาสตราจารย์ Paul Krugman ย้ำด้วยว่า “ผม (ยัง) ไม่คิดว่าเศรษฐกิจจีนจะพังทลาย และจีนยังเป็นอนาคตในเวทีเศรษฐกิจโลก เพียงแต่สิ่งที่เรากำลังจะเห็น อาจจะไม่เหมือนกับสิ่งที่เราคิดไว้ก่อนหน้านี้”

ที่สำคัญ หากเศรษฐกิจจีนมีการชะลอตัวที่แรงเกินไป ไม่ว่าจะด้วยปัจจัยภายในหรือภายนอกประเทศ ทางการจีนจำเป็นต้องลงมืออย่างจริงจังเพื่อประคับประคองเศรษฐกิจไม่ให้ถดถอยไปมากกว่านี้ ก่อนจะกลายเป็นปัญหาลูกโซ่กระทบภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะการจ้างงานและการบริโภคจับจ่ายใช้สอยของคนจีนทั่วไป จนเกิดเป็นภาวะเงินฝืดที่เรื้อรังก็เป็นได้ และย่อมส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศไทย

โดยเฉพาะในตอนนี้ ประเทศไทยเราต้องพึ่งพารายได้จากการส่งออกไปตลาดจีนเป็นสัดส่วนราว 11 % ของการส่งออกไทยทั้งหมด ดังนั้น หากพญามังกรจีนตลาดหลักอันดับ 1 ของไทยป่วยเป็นอะไรไป เศรษฐกิจไทยก็มีโอกาสสูงมากที่จะเดี้ยงตามไปด้วย ล่าสุด มูลค่าการส่งออกของไทยไปจีนก็ลดลงอย่างน่าเป็นห่วงแล้วด้วยค่ะ

โดยสรุป การเติบโตที่ช้าลงของจีนได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว และจากนี้ไป เศรษฐกิจแดนมังกรคงจะไม่เติบโตอย่างหวือหวาเหมือนในอดีต ซึ่งไม่ว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของปรากฏการณ์ new low หรือ new normal ก็ขอเอาใจช่วยรัฐบาลจีนให้สามารถจัดการกับภารกิจอันหนักหน่วงนี้ให้ลุล่วงไปได้ด้วยดีนะคะ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เศรษฐกิจ จีนเข้าสู่ new low new normal

view