สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

มุมมองเศรษฐกิจโลกปี 2015 จากเวทีเศรษฐกิจโลก

มุมมองเศรษฐกิจโลกปี 2015 จากเวทีเศรษฐกิจโลก

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ในสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการประชุมเศรษฐกิจระดับโลก คือ เวทีเศรษฐกิจโลก หรือ WEF หรือ World Economic Forum

ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในระหว่างวันที่ 21-24 มกราคมที่ผ่านมา ที่ผู้นำและนักธุรกิจได้มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นถึงทิศทางเศรษฐกิจและแนวนโยบายทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่ต้องการเห็นจากประเทศผู้นำ ที่ได้รับความสนใจมากโดยเฉพาะในภาวะที่มีการเปลี่ยนแปลงสำคัญๆ เช่น ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ลดลงจากระดับ 100 ดอลลาร์/บาเรล เมื่อกลางปี 2557 ลงมาอยู่ที่ 50 ดอลลาร์/บาเรล ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 6 ปี และเศรษฐกิจจีนที่เริ่มชะลอตัวจากที่เคยเติบโตได้ในอัตราเลขสองหลักลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 24 ปีด้วยอัตราร้อยละ 7.4 ในปี 2557 ที่ผ่านมา ซึ่งพอจะสรุปประเด็นหลักๆ ได้ดังนี้

ประเด็นเรื่องแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจนั้น เป็นที่ชัดเจนว่าความคาดหวังต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกได้ลดลง ทั้งนี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศได้ปรับคาดการณ์อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลกของปีนี้ลงเหลือเพียง 3.5% ลดลงจากเดิม 3.8% เนื่องจากมีเพียงสหรัฐอเมริกาเท่านั้นที่สามารถฟื้นตัวได้สูงสุดในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปและญี่ปุ่นเองยังคงอ่อนแอและมีปัญหา เศรษฐกิจจีนที่เคยเติบโตสูงก็ชะลอตัวลงอยู่เพียงระดับร้อยละ 7.0 เท่านั้น ดังนั้น จะเห็นได้ว่าเศรษฐกิจที่เป็นหัวจักรในการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจยังคงมีปัญหาและยังมีปัจจัยเสี่ยงอยู่ค่อนข้างมาก

สหรัฐอเมริกาที่เติบโตได้ดีที่สุดในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว ได้อานิสงส์มาจากการใช้นโยบายทางการเงินแบบผ่อนคลาย ด้วยการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ โดยการเข้าซื้อพันธบัตรมาอย่างยาวนานต่อเนื่องของรัฐบาล (ที่เรียกว่ามาตรการ QE) นับตั้งแต่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ sub prime ในปี ค.ศ. 2008 เป็นต้นมา ควบคู่ไปกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงจากระดับร้อยละ 6.5 ในช่วงก่อนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจลงมาอยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ที่ร้อยละ 0.25 ในปัจจุบัน ทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจกระเตื้องขึ้นจนล่าสุดอัตราการว่างงานกลับมาอยู่ที่ระดับร้อยละ 5.8 ซึ่งเป็นปัจจัยทำให้การเพิ่มขึ้นของกำลังของครัวเรือนปรับตัวดีขึ้นในปีนี้ กอปรกับราคาน้ำดิบที่อ่อนตัวในปีนี้จะทำให้กำลังซื้อของประชาชนชาวอเมริกันดีขึ้น การเติบโตในระดับร้อยละ 3.6 ทำให้ความจำเป็นที่จะต้องใช้นโยบายเศรษฐกิจแบบกระตุ้นลดน้อยลง ดังจะเริ่มลดมาตรการเข้าซื้อพันธบัตรลดลง และมีการคาดการณ์กันว่า จะเริ่มมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงในปีนี้ที่ตลาดคาดการณ์กันว่า ธนาคารกลางสหรัฐอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงในช่วงกลางปีนี้

มหาอำนาจทางเศรษฐกิจลำดับสองคือประเทศจีน นั้น ถือได้ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับร้อยละ 7 เป็นระดับที่สูงเมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่การชะลอการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนนั้นเป็นความตั้งใจที่รัฐบาลจีนต้องการปฏิรูประบบเศรษฐกิจที่ต้องการให้เศรษฐกิจมีความสมดุลและยั่งยืน รัฐได้พยายามลดภาวะความร้อนแรงของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่กำลังก่อฟองสบู่และการขยายตัวของสินเชื่อที่ไม่มีคุณภาพของธนาคารเงา (shadow banking) ที่จะเน้นผลักดันการเติบโตด้วยการเพิ่มขึ้นของกำลังซื้อของประชาชนและการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งในระยะยาวจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจจีนและเศรษฐกิจโลกโดยรวม

สหภาพยุโรปอยู่นั้นยังติดอยู่ในวงจรของภาระหนี้สาธารณะและการว่างงานที่อยู่ในระดับสูง จึงทำให้การฟื้นตัวเป็นอย่างล่าช้า โดยที่ล่าสุดในสัปดาห์ที่ผ่านมาธนาคารกลางของสหภาพยุโรปประกาศจะอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอีกเดือนละ 65 ล้านยูโรเป็นเวลา 18 เดือนเพื่อพยุงให้เศรษฐกิจขยายตัวเป็นบวกได้ต่อไปภายหลังเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจชะงักงันมาระยะหนึ่ง

จากการประเมินภาพเศรษฐกิจปีนี้แล้ว ยังคงเป็นที่น่าห่วงใยต่อเศรษฐกิจไทยที่จะหวังพึ่งพาเศรษฐกิจโลกด้านการส่งออกและการท่องเที่ยวจะไม่ได้เป็นอย่างที่คาดหวัง และสุดท้ายเห็นว่ามาตรการให้มีวันหยุดยาวเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวนั้นอาจจะไม่เหมาะสม เพราะมองในมุมกลับแล้ววันหยุดที่มากขึ้นหมายถึงว่าวันทำงานและผลผลิตลดหายลงไปด้วย ทำให้ผลผลิตและรายได้ของแรงงานที่ทำงานรายวันก็ลดลงตามวันทำงานที่ลดลงด้วย

ที่สำคัญกว่าคือจะเป็นการสร้างค่านิยมที่ส่งเสริมให้มีวันหยุดยาวเป็นกรณีพิเศษเกิดขึ้น แทนที่จะส่งเสริมให้ประชาชนขยันทำงานและหารายได้เพิ่ม จะเกิดอะไรขึ้นหากในอนาคตจะมีการเรียกร้องเพิ่มวันหยุดยาวเป็นกรณีพิเศษ ทั้งๆ ที่ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีวันหยุดเทศกาลต่างๆ มากที่สุดในโลกอยู่แล้ว


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : มุมมองเศรษฐกิจโลก ปี 2015 เวทีเศรษฐกิจโลก

view