สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

10 วิธีรวมพลังสร้างทีม

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
พอใจ พุกกะคุปต์



ในโลกของการทำงานวันนี้ ที่การเปลี่ยนแปลงมาแรง คอยจ้องแซงเราทุกทางโค้ง

แถมงานที่ต้องทำสลับซับซ้อนขึ้น ต้องเสร็จเร็วขึ้น ต้องดีขึ้น ต้องมีประสิทธิภาพมากขึ้น..และต้องถูกลง!

วิธีการทำงานแบบเดิมๆ จึงอาจไม่ตอบโจทย์ใหม่ เพราะเราต้องใช้พลังมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นพลังสมอง พลังใจ หรือพลังที่ได้จากหยาดเหงื่อแรงงาน

การทำงานร่วมกันเป็น “ทีม” จึงเป็นคำตอบสำคัญ

อาจารย์ Patrick Lencioni หนึ่งในกูรูผู้รู้เรื่องการบริหารจัดการและการทำงานเป็นทีม ฟันธงว่าความสำเร็จในการทำงานวันนี้มีที่มาอย่างไร

“ไม่ใช่การเงิน ไม่ใช่กลยุทธ์ ไม่ใช่เทคโนโลยี..

แต่ปัจจัยสำคัญที่สุดที่ทำให้ได้เปรียบในการแข่งขัน คือ การทำงานเป็นทีม

เพราะทีมทั้งทรงพลัง และหายากยิ่ง”

ทีมทำให้คนธรรมดาสามัญ สามารถเป็นส่วนหนึ่งของผลงานอลังการ ที่มิอาจทำได้ด้วยพลังของใครคนใดคนหนึ่ง

คนที่ทำงานร่วมกัน หลายครั้งอาจดูคล้ายทีม แต่เมื่อพิจารณาใกล้ๆ จะเห็นชัดว่าไม่ใช่ของแท้

เขาเพียงทำงานรวมกันเป็น “กลุ่ม” มิได้สอดประสานและเสริมกันฉันทีม

ตัวอย่างเห็นทุกวัน อาทิ

ทีมฟุตบอลรวมดาวอังกฤษ ลงทุนเอาดาวระดับเทพมาเล่นรวมกัน..ดูดี ดูได้ แต่ไม่ชนะนะ

“ทีม”ขายที่ต้องทำงานร่วมกันเป็นทีม แต่ผลงานกลับถูกวัดเป็นรายบุคคลแบบเรียงลำดับไหล่ Forced-Ranking ส่งผลให้พอคาดเดาวิธีทำงานออก ต่างคงบอกกึ่งประกาศว่า “ลูกค้าข้า ใครอย่าแตะ!”

“ทีม” ผู้บริหารในองค์กรส่วนใหญ่ที่ดิฉันได้มีโอกาสสัมผัส ก็จัดเข้าข่ายว่าทำงานรวมกันเป็นแค่ “กลุ่ม” เพราะบรรยากาศทีมลุ่มๆ ดอนๆ, โจทย์ส่วนตัวส่วนหน่วยตนมาก่อนโจทย์รวมภาพใหญ่, ฝ่ายขายตีกับฝ่ายผลิต, ฝ่ายการเงินซุบซิบแต่กับ CEO, ฝ่าย HR รู้สึกว่าด้อยค่ากว่าฝ่ายอื่น ฯลฯ

การทำงานเป็นทีมอย่างแท้จริง จึงเป็นสิ่งที่ “หายากยิ่ง” ตามคำของอาจารย์ข้างต้น

ทั้งนี้ ดิฉันกระซิบท่านผู้อ่านว่า ยิ่งหายากยิ่งดี

เพราะใครมีก่อน ย่อมนอนมา

วันนี้เราจึงมาหาวิธีรวมพลังสร้างทีมกันค่ะ

เริ่มต้นโดยพินิจพิจารณา 10 ประเด็นหลัก เพื่อปักรากฐานและสานทีมให้เกิดและเติบโตไวๆ

1. เป้าหมาย หรือ “เส้นชัย” ต้องชัด

พื้นฐานกว่านี้ ไม่มีอีกแล้ว

หากทีมไม่รู้ว่าจะไปที่ใด ต่างจะเดินเลี้ยวลดคดไปมาอย่างไร ก็ไม่ผิด

แถมไปคนละทิศก็ไม่แปลก เพราะไม่แม้รู้แต่แรก ว่าเราจะไปที่ใด

การมีเป้าหมายที่ชัดเจน จึงเสมือนมีธงชัยให้ทุ่มเทหมายตาเพื่อไขว่คว้ามาให้ได้

ยิ่งเป้าหมายท้าทาย น่าไป ทั้งไม่เป็นฝันที่ดูแสนไกลเกินเอื้อม ยิ่งเป็นจุดศูนย์รวมใจให้คนในทีมมีพลัง

ยกตัวอย่างเช่น หากสมาคมฟุตบอลไทยและโค้ชซิโก้ ประกาศว่าเป้าหมายคือ

“ทีมไทยจะต้องได้แชมป์โลก!”

ทีมผู้เล่นวันนี้ อาจบอกว่า พี่ๆ เตะเองแล้วกันครับ

แต่เมื่อเป้าหมายของทีมขณะนี้ คือ “เราจะคว้าแชมป์ฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานคิงส์คัพครั้งที่ 43” ที่จะลุยกันในเดือนกุมภาพันธ์นี้

ถือเป็นเป้าที่ดูดี มีความหวัง เป็นจุดรวมพลังได้มากกว่ายิ่งนัก

2. ตัวต่อพอดี

เมื่อมีเป้าหมายแล้ว ขั้นตอนต่อไปในการสร้างทีมเหมือนการต่อตัวจิ๊กซอว์ คือ วางแผนเลือกบุคลากรในทีมให้พอดีเพื่อที่จะตอบโจทย์

ตัวอย่างทีมฟุตบอลเห็นได้ชัด

พื้นฐาน คือ มีผู้เล่นไม่ยังครบตำแหน่งทั้งหมด กรุณางดแข่ง

นอกจากหลักการพื้นฐานแล้ว การคัดเลือกคนเข้าทีม ถือเป็นศิลปะและกลยุทธ์สำคัญ ที่พี่หัวหน้าต้องสรรหาอย่างเฉียบคม

ตั้งหลักตรงนี้ได้ดี มีชัยไปกว่าครึ่ง

ตัวอย่างอาทิ โค้ชซิโก้ฟันธงว่า มีทักษะขั้นเทพในการเล่นแค่ไหน แต่เล่นเป็นทีมไม่ได้ แถมไม่มีวินัย ไม่ใช่ทีมชาติ

องค์กรใดๆ หากให้เวลาและความสำคัญในการคัดเลือกคนเข้าในทีมมากเท่าไหร่ ยิ่งจะทำให้อัตราความสำเร็จของการทำงานสูงขึ้นเท่านั้น

ที่สำคัญ ต้องรู้ว่ามองหาอะไรในลูกทีม

เช่น น้องจบด้วยคะแนนเต็ม 4 จากมหาวิทยาลัยดัง แต่ไม่เคยร่วมทำกิจกรรมใดๆ กับใครๆ ในสังคมนี้ หากพี่รับมาจับงานที่ต้องสานสัมพันธ์กับคนทั่วทิศ พี่อาจต้องคิดดูดีๆ

Zappos หนึ่งในองค์กรชั้นนำที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในการทำธุรกิจออนไลน์ ให้ความสำคัญยิ่งต่อการเฟ้นคนเข้าทีม

ปัจจัยหนึ่งที่ Zappos มองหา คือ Humility ความอ่อนน้อมถ่อมตน

ไม่เอาเก่ง แบบกร่าง

แกร่ง แต่กร้าว เราก็ไม่เอาค่ะ

กระบวนการคัดเลือกจึงพิถีพิถัน อาทิ เขาใส่ใจสังเกตวิธีที่ผู้สมัครสื่อสารและปฏิสัมพันธ์กับคนที่ไม่ใช่ผู้สัมภาษณ์ อาทิ วิธีพูดกับคนตัวเล็กตัวน้อย ไม่ว่าจะเป็น รปภ. หรือ เจ้าหน้าที่แลกบัตร เป็นต้น

Google ขาใหญ่ในวงการธุรกิจ ก็มีกระบวนการคิดแล้วคิดอีกกว่าจะเลือกใครเข้าทีม

Eric Schmidt อดีต CEO ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง Executive Chairman ของ Google ฟันธงว่า ทักษะที่สำคัญยิ่งที่ผู้บริหารต้องมี คือ การสัมภาษณ์งาน และคัดเลือกคน

การเลือกคนเข้าบ้าน ถือเป็นงานด่านแรกที่สำคัญยิ่งที่ผู้บริหารจะละเลยไม่ได้

อีกหนึ่งตัวอย่างที่น่าชื่นชม คือ การสร้างทีมงานที่ปรึกษาของท่านกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

หากพูดถึงทีมที่ปรึกษา รมว. คนส่วนใหญ่คงนึกถึงนักธุรกิจใหญ่, ผู้ที่ได้รับการไว้วางใจเป็นส่วนตัว, อาจารย์ดัง, รวมทั้งผู้มีประสบการณ์ยาวนานคร่ำหวอด

ขอบอกว่า นอกจากคนกลุ่มนี้ ท่าน รมว. ยังมี “ตัวต่อ” ที่แตกต่างในทีม

เขาคือ คุณธีรศานต์ สหัสสพาศน์ หรือ “น้องไอซ์” อายุ 28 ปี ผู้ได้รับการยอมรับเป็น “อายุน้อยร้อยล้าน” เพราะมีวิธีคิดที่ไม่เหมือนใคร ส่งให้มีผลงานเป็นที่ประจักษ์และหลากหลาย เช่นสร้างแบรนด์ร้านก๋วยเตี๋ยว “เจ๊กเม้ง” ในจังหวัดเพชรบุรี ผ่าน social media จนเป็นก๋วยเตี๋ยวร้อยล้าน

“น้องไอซ์” ขายก๋วยเตี๋ยว แถมไม่ได้คร่ำหวอดในวงการท่องเที่ยว คงยากที่จะอยู่ในสายตานักการเมืองในอดีต

การเป็นคนนอกวงการ เก่งคิดต่าง ทั้งเข้าใจพฤติกรรมคนยุคใหม่ และความสามารถทำการตลาด โดยแปลง net ใน “อากาศ” เป็น “โอกาส”ได้ เป็นจุดแข็งที่น่าจะสามารถเสริมมุมมองใหม่ให้ทีมที่ปรึกษา เพื่อการแข่งขันของการท่องเที่ยวไทยในยุคดิจิทัลได้อย่างไม่ธรรมดา

วันนี้คุยกัน 2 ข้อ ให้ท่านผู้อ่านพอไปใช้ทบทวนความพร้อมในการสร้างทีม เพื่อหารือกันอีก 8 ข้อในตอนต่อไปค่ะ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : 10 วิธี รวมพลังสร้างทีม

view