สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ลมหายใจค้าปลีก ปะทะและหลอมรวม (1)

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ เรื่องราวกับความคิด
โดย วิรัตน์ แสงทองคำ

วิวัฒนาการค้าปลีกไทย ว่าด้วยการปะทะและหลอมรวม ควรอรรถาธิบายให้เห็นภาพมากขึ้น

การแข่งขันทางธุรกิจอย่างเข้มข้น ยิ่งขยายเครือข่าย ยิ่งแข่งขันกันมากขึ้น เป็นโมเมนตัมรุนแรงมากขึ้น มาถึงจุดหนึ่งธุรกิจค้าปลีกต้องเผชิญหน้ากับธุรกิจอื่น ๆ สร้างแรงปะทะและหลอมเข้าหากัน ข้ามพรมแดนจากสินค้าคอนซูเมอร์สู่สินค้าอื่น จินตนาการเกี่ยวกับรูปแบบธุรกิจค้าปลีก ปรับเปลี่ยนไปจากเดิม ที่สำคัญต้องเผชิญหน้ากับคู่แข่งรายใหม่ ๆ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจใหญ่ของสังคมไทย เดินหน้าเข้าสู่ธุรกิจค้าปลีกกันอย่างเป็นขบวน

เหตุการณ์สำคัญสะท้อนภาพข้างต้น คือกรณี ปตท.พยายามเข้าซื้อเครือข่ายค้าปลีกรูปแบบ Hypermarket ในประเทศไทย-- Carrefour

"แรงปะทะอันเปรี้ยงปร้างที่ไม่อาจปรองดองกันได้ เป็นปรากฏการณ์ทั่วไปในสังคมไทย สำหรับแวดวงธุรกิจไทยถือว่าเป็นวิวัฒนาการใหม่อันซับซ้อน จากเดิมโครงสร้างง่าย ๆ ว่าด้วยการแบ่งพื้นที่ แบ่งประเภทธุรกิจ เป็นระบบจัดสรรผลประโยชน์ และโอกาสที่ลงตัวของบรรดาผู้ทรงอิทธิพล ซึ่งมีจำนวนไม่มากราย แต่วันนี้พื้นที่และโอกาสไม่อาจจัดสรรด้วยระบบเดิมอีก เป็นเรื่องหลีกเลี่ยงไม่ได้เสียแล้ว ต้องซ้อนทับและขัดแย้งกันเอง จึงตามมาด้วยแรงปะทะสั่นสะเทือนไปทั่ว" ผมเองเคยอรรถาธิบายในขณะนั้นไว้

เรื่องราวเกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2553 เมื่อธุรกิจยักษ์ใหญ่ของไทยทั้ง ซีพี เซ็นทรัล ไทยเจริญ และ ปตท. เข้าร่วมเสนอซื้อกิจการ Carrefour ซึ่งมีแผนขายกิจการในประเทศไทย แรงปะทะรุนแรงมาที่ ปตท. พลังต่อต้านการเข้าร่วมประมูลของ ปตท.สั่นสะเทือนไปทั่วจนถึงที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ในที่สุด ปตท.ต้องประกาศถอนตัว

แรงปะทะ ปตท.เชื่อกันว่ามาจากพลังอันน่าเกรงขามของธุรกิจพลังงาน ที่เติบโตและขยายเครือข่ายอย่างมากมายโดยใช้เวลาเพียงทศวรรษเดียว ท่ามกลางปรากฏการณ์ก้าวข้ามพรมแดนธุรกิจเดิมออกไปอย่างไม่หยุดยั้ง อีกมิติหนึ่งพลังอันน่าเกรงขามมาจากการค้า พบว่า ปตท.มีธุรกิจค้าปลีกอยู่แล้วนั่นคือ พัฒนาอันน่าตื่นเต้นของเครือข่ายสถานีบริการน้ำมัน

คำแถลงถอนตัวของ ปตท.ครั้งนั้น ให้จินตนาการธุรกิจค้าปลีกใหม่ไว้อย่างน่าสนใจ

"1.การศึกษาแนวโน้มการทำธุรกิจค้าปลีกน้ำมันในต่างประเทศ เช่น ประเทศฝรั่งเศส อังกฤษ สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย พบว่าการทำธุรกิจค้าปลีกน้ำมันเพียงอย่างเดียว (Stand Alone) มีแนวโน้มลดลง และเริ่มปรับเปลี่ยนเป็นการจัดตั้งสถานีบริการน้ำมันควบคู่ไปกับธุรกิจ Hypermarket เพื่อเพิ่มผลตอบแทนจากการลงทุน ทำให้การค้าน้ำมันส่วนใหญ่จำหน่ายผ่านช่องทาง Hypermarket สูงมากขึ้นเป็นลำดับ

2.สถานที่ตั้งของห้างคาร์ฟูร์ จากจำนวนทั้งหมด 43 แห่ง ส่วนมากตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ซึ่งเป็นบริเวณที่ ปตท.มีจำนวนสถานีบริการน้ำมันอยู่น้อย ไม่เพียงพอต่อการให้บริการแก่ประชาชน จึงเป็นโอกาสที่ ปตท.จะได้ขยายเครือข่ายสถานีบริการน้ำมันให้ครอบคลุมบริเวณดังกล่าวได้มากขึ้น และสามารถเป็นช่องทางการขยายการจำหน่ายสินค้าและบริการของ ปตท. อาทิ น้ำมันหล่อลื่น บริการคาร์แคร์ เพื่อให้บริการลูกค้าได้หลากหลายและมากขึ้น" (จากถ้อยแถลงข่าว ปตท.ไม่เข้าร่วมซื้อห้างคาร์ฟูร์ 21 กันยายน 2553)

ความจริงแล้วในเวลานั้น สถานีบริการน้ำมันของ ปตท.ถือเป็นเครือข่ายของธุรกิจค้าปลีกไปแล้ว โดยเฉพาะเป็นทำเลที่ดีของ Convenience Store

กระบวนการพัฒนาสถานีบริการเชื่อมโยงธุรกิจค้าปลีก เกิดขึ้นมาแล้วตั้งแต่ปี 2546 ปตท.ร่วมมือกับ 7-Eleven (เครือข่าย Convenience Store ของเครือซีพี) ในปี 2553 มีร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven อยู่มากกว่า 800 แห่งที่อยู่ในสถานีบริการน้ำมัน ปตท.

จากนั้นในปี 2550 ปตท.ลงทุนด้วยเงินประมาณ 7 พันล้านบาท ซื้อสถานีบริการน้ำมัน ConocoPhillips ในประเทศไทยจำนวน 147 แห่ง ConocoPhillips กิจการพลังงานครบวงจรที่ใหญ่เป็นอันดับ 7 ของโลก เข้ามาดำเนินธุรกิจสถานีบริการในเมืองไทยตั้งแต่ปี 2536 --สถานีบริการน้ำมัน Jet โดยมีร้านสะดวกซื้อ (Convenience Store) --Jiffy ถือเป็นโมเดลสถานีบริการใหม่ในเวลานั้น เป็นจุดเริ่มต้น ปตท.เข้าสู่ธุรกิจค้าปลีกอย่างเต็มตัว

เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ธุรกิจค้าปลีกรูปแบบ Convenience Store เติบโตอย่างเห็นได้ชัดในสังคมไทย

เครือซีพีเข้าสู่ธุรกิจค้าปลีกในรูปแบบร้านสะดวกซื้อ (Convenience Store) ภายใต้ชื่อ 7-Eleven เริ่มต้นร้านค้าเล็ก ๆ อย่างไม่โดดเด่นในราวปี 2531 เป็นธุรกิจลักษณะ Franchises ได้รับสิทธิ์การใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวเฉพาะในประเทศไทยจาก 7-Eleven, Inc. สหรัฐอเมริกา

เครือข่ายร้านค้าเล็ก ๆ ค่อย ๆ เติบโตอย่างต่อเนื่องจนถึง 1,000 แห่งในทศวรรษแรก (2541) ธุรกิจค้าปลีกขนาดเล็กแทบไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ จากนั้นใช้เวลาเพียงครึ่งเดียว (5 ปี) ในปี 2545 เครือข่ายร้าน 7-Eleven จึงก้าวกระโดดครั้งใหญ่ สามารถสร้างเครือข่ายทะลุถึง 2,000 แห่ง เป็นช่วงเวลาเดียวกับการร่วมมือกับ ปตท.เปิด 7-Eleven ในสถานีบริการน้ำมันหลายร้อยแห่ง ย่อมเป็นไปได้ว่าการสร้างพันธมิตรทางธุรกิจกับ ปตท.เป็นปรากฏการณ์อันน่าทึ่งของการเติบโต ทั้งธุรกิจร้านสะดวกซื้อ และธุรกิจค้าปลีกน้ำมัน

ในปีเดียวกันนั้น เครือข่ายร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven ภายใต้การบริหารของบริษัท ซี.พี. เซเว่นอีเลฟเว่น ได้นำกิจการเข้าตลาดหุ้น ถือเป็นช่วงจังหวะที่ดีในการระดมทุนสร้างโมเมนตัมแห่งการขยายเครือข่ายอย่างไม่หยุดยั้ง

"ปี 2550 เป็นปีที่มีความหมายเป็นพิเศษสำหรับ 7-Eleven เริ่มต้นจากการเปลี่ยนชื่อบริษัทเดิมจาก-ซี.พี. เซเว่นอีเลฟเว่น จำกัด เป็นซีพี ออลล์ ไม่เพียงเครือซีพีให้ความสำคัญยกฐานะเป็นกลุ่มธุรกิจหลัก 1 ใน 3 และธนินท์ เจียรวนนท์ ได้เข้ามาเป็นประธานบริษัทเท่านั้น หากเชื่อกันต่อไปว่ายุทธศาสตร์ธุรกิจจะมีจินตนาการกว้างขวางกว่าเดิม" ผมเคยนำเสนอเรื่องราวของ 7-Eleven ไว้ก่อนหน้า เมื่อไม่นานมานี้

ซีพี ออลล์สร้างผลสะเทือนเชิงบวกให้กับเครือซีพีอย่างดีในปี 2556 สามารถสร้างรายได้เกือบ 3 แสนล้านบาท ตามมาติด ๆ กับซีพีเอฟ (กลุ่มธุรกิจอาหาร ธุรกิจดั้งเดิมของซีพี) ซึ่งมีรายได้กว่า 3 แสนล้านบาท โดยทิ้งห่างจากกลุ่มทรู (กลุ่มธุรกิจใหม่เกี่ยวกับการสื่อสาร) ซึ่งมีรายได้เพียงประมาณ 1 แสนล้านบาท ที่สำคัญในปีเดียวกันนี้ซีพี ออลล์ทำกำไรมากกว่า 1 หมื่นล้านบาท มากกว่าทั้งซีพีเอฟและทรู

ซีพี ออลล์สร้างผลสะเทือนในฐานะพันธมิตรกับ ปตท.ต่อเนื่องมา ปัจจุบันเครือข่ายร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven ทั้งหมดมากกว่า 7,400 แห่ง มีจำนวนถึง 1,000 แห่งเป็นเครือข่ายในสถานีบริการน้ำมัน ปตท. ขณะที่ ปตท.เองพยายามสร้างเครือข่ายค้าปลีกในรูปแบบของตนเองด้วย จากกรณีซื้อกิจการ ConocoPhillips ในปี 2555 ปตท.ร่วมมือกับ เค.อี.แลนด์ (ผู้จุดกระแส Community Mall จะขอกล่าวถึงเป็นการเฉพาะในตอนต่อ ๆ ไป) สร้าง The Crystal PTT Community Mall มูลค่า 600 ล้านบาทบนถนนชัยพฤกษ์ มีทั้งสถานีบริการน้ำมันภายใต้แนวคิด Green Station พร้อม Jiffy Convenience Store ซึ่งได้เปิดตัวไปเมื่อกลางปีที่แล้ว

สำหรับวงการค้าปลีกแล้วกระแส Convenience Store สร้างผลสะเทือนอย่างมาก ถูกจุดขึ้นอย่างครึกโครม เกิดความร่วมมือใหม่อย่างเป็นระลอกคลื่น โดยเฉพาะระหว่างกลุ่มธุรกิจยักษ์ใหญ่กับเครือข่าย Convenience Store แห่งญี่ปุ่น ไม่ว่ากรณีเซ็นทรัลกับ FamilyMart หรือสหพัฒน์กับ Lawson ในช่วงปี 2555-2556

ในเชิงสังคมแล้ว Convenience Store กระจายเครือข่ายเข้าสู่ชุมชนขนาดเล็กมากขึ้น ๆ ในระดับทั่วประเทศ ไม่เพียงขยายตัวในเชิงภูมิศาสตร์ หากขยายตัวในประเภทสินค้า มีหลากหลายมากขึ้น ลงสู่ระดับย่อยมากขึ้น ๆ ย่อมสร้างแรงปะทะและหลอมรวมกับร้านค้าย่อยท้องถิ่นและโชห่วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ลมหายใจค้าปลีก ปะทะและหลอมรวม

view