สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ความท้าทายใหม่ในโลกใบเดิม

ความท้าทายใหม่ในโลกใบเดิม

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ประหลาดใจ เป็นเกียรติ และดีใจ เป็นความรู้สึกของผู้เขียนเมื่อได้รับเชิญจาก ดร. กิริฎา เภาพิจิตร เศรษฐกรอาวุโส

ของธนาคารโลกประจำประเทศไทย เข้าร่วมหารือกลุ่มเล็กร่วมกับนักเศรษฐศาสตร์แนวหน้ารุ่นใหม่ๆ ร่วมกับ Dr. Ayhan Kose หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์มหภาคของธนาคารโลก และผู้เขียน Global Economic Prospects ฉบับเดือนมกราคม 2015 อันเป็นรายงานเศรษฐกิจโลกรายครึ่งปีที่ผู้เขียนติดตามเป็นประจำ

หลังจากที่ได้อ่านรายงาน รวมทั้งได้วิเคราะห์ในรายละเอียดแล้ว ผู้เขียนยิ่งรู้สึกสนุก เพราะนอกจากตัวรายงานจะฉายภาพภูมิลักษณ์เศรษฐกิจโลกที่กำลังจะเปลี่ยนไปแล้วนั้น ผู้เขียนยังมีประเด็นที่ทั้งเห็นสอดคล้องและแตกต่างจากตัวรายงาน จึงขออนุญาตแบ่งปันมุมมองเหล่านั้นให้แก่ผู้อ่าน

รายงานฉบับนี้ ได้แบ่งมุมมองเศรษฐกิจโลกออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรก ได้แก่ สหรัฐและอังกฤษ ที่เศรษฐกิจสามารถขยายตัวได้แข็งแกร่งจากตลาดแรงงานที่ฟื้นตัวและนโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย ส่วนกลุ่มที่สอง ได้แก่ ยุโรป ญี่ปุ่น จีน รวมถึงเศรษฐกิจอื่นๆ ที่ยังมีความเสี่ยงทั้งจากปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจที่อ่อนแอ รวมถึงในบางกรณีเกิดจากการที่ทางการต้องการให้เศรษฐกิจชะลอลงเพื่อลดปัญหาฟองสบู่ภายในประเทศ

นอกจากนี้ ธนาคารโลกยังคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะเริ่มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป แม้จะยังเต็มไปด้วยความเสี่ยงก็ตามโดยมีหกภูมิลักษณ์หลักที่จะกำหนดทิศทางเศรษฐกิจโลกในระยะต่อไป อันได้แก่ หนึ่ง ราคาโภคภัณฑ์จะตกต่ำต่อเนื่องอย่างน้อย 2 ปี สอง ปริมาณการค้าโลกจะชะลอลงเมื่อเทียบกับช่วงก่อนวิกฤตการณ์แฮมเบอร์เกอร์ สาม ความผันผวนในตลาดการเงินโลกจะมีมากขึ้น สี่ ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์จะดำรงอยู่ และเป็นตัวแปรสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก ห้า ความเสี่ยงภาวะเงินฝืดจะคืบคลานสู่ยุโรปและญี่ปุ่น และหก จีนยังคงมีความเสี่ยงที่จะเกิด Hard Landing หรือเศรษฐกิจชะลอตัวรุนแรง

ทั้งนี้ รายงานได้เสนอแนะนโยบายเศรษฐกิจแก่รัฐบาลต่างๆ สี่ประการ คือ หนึ่ง ธนาคารกลาง (โดยเฉพาะในประเทศพัฒนาแล้ว) ควรทำนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไปหากภาคการเงินในประเทศยังมีเสถียรภาพ สอง รัฐบาลควรผลักดันนโยบายการสร้างสาธารณูปโภคหากมีความจำเป็น รวมทั้งสถานะทางการคลังยังดีอยู่ สาม รัฐบาลไม่ต้องกังวลกับราคาน้ำมันที่ลดลงมากนัก เพราะเป็นผลจากการผลิตที่มากขึ้น (โดยเฉพาะจาก Shale Oil ของสหรัฐ) ฉะนั้น จึงควรลดเงินอุดหนุนด้านพลังงาน และสี่ ปัญหาการค้าโลกที่ตกต่ำนั้น ส่วนหนึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง เนื่องจากผู้นำเข้าหลักของโลกอย่างสหรัฐและจีนนั้นสามารถผลิตในประเทศได้มากขึ้น จึงลดการนำเข้าลง

แม้ผู้เขียนจะเห็นด้วยกับมุมมองของธนาคารโลกเป็นส่วนใหญ่ แต่มุมมองผู้เขียนจะหดหู่กว่า โดยเห็นต่างในสี่ประการ คือ หนึ่ง ผู้เขียนเห็นว่าเศรษฐกิจโลกจะซึมยาวนานกว่าที่ธนาคารโลกคาดไว้ เพราะเศรษฐกิจโลกปัจจุบันอาจอยู่ในภาวะ “ถูกแช่แข็ง” (หรือที่ศัพท์เศรษฐศาสตร์เรียกว่า Secular Stagnation) จากศักยภาพเศรษฐกิจที่ลดลงต่อเนื่อง จำนวนคนว่างงานทั้งโลกที่เพิ่มสูงขึ้น และดอกเบี้ยที่ต่ำเตี้ยจนติดดิน ในขณะที่ธนาคารกลางทั่วโลกก็อัดฉีดขนานใหญ่ แต่เศรษฐกิจนอกสหรัฐก็หาฟื้นขึ้นอย่างมีนัยสำคัญไม่

สอง น้ำมันที่ราคาถูกเช่นนี้ อาจมิได้เกิดจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณน้ำมันจากการขุดเจาะใหม่ของสหรัฐเพียงอย่างเดียว แต่อาจเป็นผลสำคัญจากความต้องการที่ลดลงตามสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ซึมเซาด้วย โดยหากพิจารณาจากราคาแร่โลหะอื่นๆ เช่น ทองแดงและสินแร่เหล็กที่ลดลงกว่า 40% และ 60% นับจากปี 2011 แล้วนั้น อาจกล่าวได้ว่าการลดลงของราคาน้ำมันอาจเป็นแค่หนึ่งในอาการของเศรษฐกิจที่จะตกต่ำยาวนานก็เป็นได้

สาม สิ่งที่ผู้เขียนกังวลที่สุดในระยะต่อไปได้แก่ ปัญหาวังวนเงินฝืด (Deflationary Spiral) โดยจากการคำนวณอย่างง่ายของผู้เขียนแล้วนั้น พบว่าในครึ่งแรกของปีนี้นั้น เป็นไปได้สูงที่หลายประเทศในโลกจะเผชิญภาวะเงินเฟ้อติดลบ เช่นเดียวกับที่ไทยเผชิญอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานราคาน้ำมันที่สูงในปีก่อน แต่หากเงินเฟ้อติดลบเช่นนี้ยังคงอยู่ต่อเนื่อง ประชาชนอาจเริ่มกังวลและยุติการใช้จ่าย เมื่อนั้นเศรษฐกิจทั่วโลกอาจเงียบเหงาและซึมยาวดังเช่นที่ญี่ปุ่นและยุโรปเคยประสบเมื่อสองทศวรรษก่อนก็เป็นได้

สี่ ในความคิดของผู้เขียน นโยบายการคลังของทั่วโลกในช่วงที่ผ่านมานั้น อาจไม่สามารถกล่าวได้เต็มปากว่ามีประสิทธิภาพเต็มที่ โดยตัวอย่างที่เห็นได้ชัดได้แก่ ประเทศจีน ที่เน้นกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการสร้างโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคต่างๆ (เห็นได้จากตัวชี้วัดอย่างการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรหรือ Fixed Asset Investment ที่ขยายตัวระดับ 10-20% มาโดยตลอด) แต่เศรษฐกิจกลับชะลอลงต่อเนื่อง หรือแม้แต่ในประเทศไทยเอง ที่โครงการกระตุ้นการบริโภคทั้งหลาย เช่น โครงการจำนำข้าว โครงการรถคันแรก ก็มีผู้กล่าวถึงผลกระทบแง่ลบมากมาย

จากภาพต่างๆ เหล่านี้ ผู้เขียนจึงขอเสนอแนะสี่แนวทางที่อาจเป็นประโยชน์ต่อทางการในอนาคต คือ หนึ่ง หากต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านมาตรการการคลังแล้ว ควรทำโดยการลดภาษี โดยเฉพาะนิติบุคคล เพื่อลดภาระทางการเงินให้แก่ธุรกิจ และสร้างโอกาสทางธุรกิจ น่าจะดีกว่าการลงทุนจากภาครัฐที่ไม่แน่นอนและเสี่ยงต่อคอร์รัปชัน

สอง ภาคการเงินอาจต้องลดดอกเบี้ย หรืออัดฉีดสภาพคล่องเพิ่มเติม เพื่อสร้างความมั่นใจให้ประชาชนว่าทางการจะทำทุกวิถีทางเพื่อให้พ้นจาก “กับดักเงินฝืด”

สาม ทางการควรเร่งเจรจาในกรอบการค้าเสรีต่างๆ เพื่อผลักดันให้การค้าระหว่างประเทศ และสี่ หากเป็นไปได้ อาจต้องมีการเจรจาในระดับโลก เพื่อมีการกำหนดกรอบทิศทางอัตราแลกเปลี่ยนให้เป็นไปตามที่สมควร (ลักษณะเดียวกับ Plaza Accord ในปี 1985) เช่น เงินดอลลาร์ควรแข็งค่าขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ขณะที่เงินยูโร เยน รวมถึงสกุลอื่นๆ ควรอ่อนอย่างค่อยเป็นค่อยไปเช่นกัน ทั้งนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงสงครามค่าเงินที่เป็นความเสี่ยงสูงสุดในปีนี้

อย่างไรก็ตาม สำหรับประชาชนทั่วไป ผู้อาศัยอยู่ในวังวนเศรษฐกิจแล้ว โลกใบใหม่สะท้อนได้ทั้งความเสี่ยงและโอกาส อยู่ที่ว่าเราจะหาโอกาสในโลกอันผันผวน พร้อมทั้งปิดความเสี่ยง เพื่อประโยชน์สูงสุดได้อย่างไร

----------------

บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ความท้าทายใหม่ โลกใบเดิม

view