สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เปิด!พรบ.ความลับทางการค้า(ฉบับ2)พ.ศ.2558

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

เปิดรายละเอียด! พ.ร.บ.ความลับทางการค้า (ฉบับ2) พ.ศ.2558 ประกาศใช้พรุ่งนี้ (6ก.พ.)

เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ (5ก.พ.) พระราชบัญญัติ ความลับทางการค้า (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๘ ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร. ให้ไว้ ณ วันที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๘ เป็นปีที่ ๗๐ ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยความลับทางการค้า จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคําแนะนําและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดังต่อไปนี้

มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติความลับทางการค้า (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๘”

มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป

มาตรา ๓ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๖ แห่งพระราชบัญญัติความลับทางการค้า พ.ศ. ๒๕๔๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา ๑๖ ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการความลับทางการค้า” ประกอบด้วย

(๑) ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานกรรมการ

(๒) อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เป็นรองประธานกรรมการ

(๓) อธิบดีกรมวิชาการเกษตร และเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เป็นกรรมการ

(๔) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้ซึ่งมีความรู้ความสามารถ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ในสาขาเกษตรศาสตร์ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร นิติศาสตร์ พาณิชยศาสตร์ แพทยศาสตร์ เภสัชศาสตร์ วิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ อุตสาหกรรม หรือสาขาอื่นใด ที่เป็นประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้จํานวนไม่เกินสิบเอ็ดคน โดยในจํานวนนี้ให้แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิ ในภาคเอกชนอย่างน้อยหกคน ให้คณะกรรมการแต่งตั้งข้าราชการกรมทรัพย์สินทางปัญญาเป็นเลขานุการและผู้ช่วยเลขานุการ”

มาตรา ๔ ให้ยกเลิกมาตรา ๑๗ แห่งพระราชบัญญัติความลับทางการค้า พ.ศ. ๒๕๔๕

มาตรา ๕ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๘ และมาตรา ๑๙ แห่งพระราชบัญญัติความลับทางการค้า พ.ศ. ๒๕๔๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา ๑๘ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระอยู่ในตําแหน่งคราวละสี่ปี ในกรณีที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตําแหน่งก่อนวาระ หรือในกรณีที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งกรรมการเพิ่มขึ้นในระหว่างที่กรรมการซึ่งแต่งตั้งไว้แล้วยังมีวาระอยู่ในตําแหน่ง ให้ผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดํารงตำแหน่งแทนหรือเพิ่มขึ้น อยู่ในตําแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของผู้ซึ่งได้แต่งตั้งไว้แล้ว เมื่อครบกําหนดตามวาระในวรรคหนึ่ง หากยังมิได้มีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิขึ้นใหม่ ให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งพ้นจากตําแหน่งตามวาระนั้นอยู่ในตําแหน่งเพื่อดําเนินงานต่อไปจนกว่ากรรมการผู้ทรงคุณวุฒซิึ่งได้รับแต่งตั้งใหม่เข้ารับหน้าที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งพ้นจากตําแหน่งตามวาระ อาจได้รับการแต่งตั้งอีกได้ แต่จะดํารงตําแหน่งติดต่อกันเกินสองวาระไม่ได้

มาตรา ๑๙ นอกจากการพ้นจากตําแหน่งตามวาระ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตําแหน่งเมื่อ

(๑) ตาย

(๒) ลาออก

(๓) คณะรัฐมนตรีให้ออก

(๔) บกพร่องหรือไม่สุจริตต่อหน้าที่หรือหย่อนความสามารถ

(๕) เป็นบุคคลล้มละลาย

(๖) เป็นคนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ

(๗) ได้รับโทษจําคุกโดยคําพิพากษาถึงที่สุดให้จําคุก เว้นแต่เป็นโทษสําหรับความผิดที่ได้กระทําโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ”

มาตรา ๖ ให้ยกเลิกความในวรรคสองของมาตรา ๒๐ แห่งพระราชบัญญัติความลับทางการค้าพ.ศ. ๒๕๔๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน“ให้ประธานกรรมการเป็นประธานในที่ประชุม ในกรณีที่ประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้รองประธานกรรมการเป็นประธานในที่ประชุม ถ้าประธานกรรมการ และรองประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการที่มาประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม”

มาตรา ๗ ให้ยกเลิกความในวรรคสี่ของมาตรา ๒๐ แห่งพระราชบัญญัติความลับทางการค้าพ.ศ. ๒๕๔๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน“กรรมการผู้ใดมีส่วนได้เสียในเรื่องที่พิจารณา ห้ามมิให้กรรมการผู้นั้นเข้าร่วมประชุมในเรื่องดังกล่าว”

มาตรา ๘ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๒๖ แห่งพระราชบัญญัติความลับทางการค้า พ.ศ. ๒๕๔๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน“มาตรา ๒๖ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้กรรมการเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา”

มาตรา ๙ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๓๔ แห่งพระราชบัญญัติความลับทางการค้า พ.ศ. ๒๕๔๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน“มาตรา ๓๔ ผู้ใดโดยเหตุที่ตนมีตําแหน่งหน้าที่ในการดูแลรักษาความลับทางการค้าตามระเบียบที่ออกตามความในมาตรา ๑๕ วรรคหนึ่ง เปิดเผยหรือใช้ความลับนั้นเพื่อประโยชน์ของตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ”

มาตรา ๑๐ ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา ๓๕ แห่งพระราชบัญญัติความลับทางการค้าพ.ศ. ๒๕๔๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน“มาตรา ๓๕ ผู้ใดเปิดเผยข้อเท็จจริงใดเกี่ยวกับกิจการของผู้ควบคุมความลับทางการค้าอันเป็นข้อเท็จจริงที่ตามปกติวิสัยจะพึงสงวนไว้ไม่เปิดเผย ซึ่งตนได้มาหรือล่วงรู้เนื่องจากการปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับเว้นแต่เป็นการเปิดเผยในการปฏิบัติราชการ หรือเพื่อประโยชน์ในการสอบสวนหรือการพิจารณาคดี”

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา

นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชบัญญัติความลับทางการค้าพ.ศ. ๒๕๔๕ มีบทบัญญัติบางประการที่เป็นอุปสรรคต่อการแต่งตั้งและการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการความลับทางการค้า อีกทั้งโทษที่กําหนดไว้สําหรับผู้มีตําแหน่งหน้าที่ในการดูแลรักษาความลับทางการค้าและผู้เปิดเผยข้อเท็จจริงซึ่งตนได้มาหรือล่วงรู้จากการปฏิบัติงานตามพระราชบัญญัตินี้ ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันสมควรปรับปรุงบทบัญญัติดังกล่าวให้เหมาะสมยิ่งขึ้น จึงจําเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เปิด พรบ.ความลับทางการค้า(ฉบับ2)พ.ศ.2558

view