สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

รักเธอประเทศไทย

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์คิด วิเคราะห์ แยกแยะ โดยชาย มโนภาส


ช่วงที่ผ่านมาไม่ว่าผมจะอ่านหนังสือพิมพ์ของต่างประเทศ หรือบทวิเคราะห์หุ้นของฝรั่ง ส่วนใหญ่ให้ความเห็นเชิงลบต่อภาพรวมเศรษฐกิจและตลาดหุ้นไทย และถ้าหันมาดูพาดหัวข่าวของหนังสือพิมพ์ในประเทศก็มักมีแต่ข่าวในด้านลบเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของหนี้ครัวเรือนในระดับสูง การส่งออกที่ไม่ได้ขยายตัวมากเหมือนในอดีต และราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำทำให้มีนักลงทุนหลายท่านเริ่มเกรงว่าประเทศไทยจะประสบกับวิกฤตเศรษฐกิจแบบ "ต้มยำกุ้ง" ที่เราเคยเจอเมื่อปี 2540

ผมเองก็ไม่ได้มีพื้นฐานการศึกษาทางด้านเศรษฐศาสตร์คงมิอาจกล้าฟันธงในเรื่องนี้ แต่สิ่งที่ผมมั่นใจก็คือประเทศไทยยังมีจุดแข็งและข้อดีอีกมากที่หลายๆ คนอาจมองข้ามไป เราลองมาดูกันว่ามีประเด็นหลักๆ อะไรบ้าง

หลังการต่อสู้เพื่อรักษาค่าเงินบาทในปี 2540 ประเทศไทยเหลือเงินทุนสำรองระหว่างประเทศเพียง 2,850 ล้านดอลลาร์ จากที่เคยอยู่สูงถึง 38,700 ล้านดอลลาร์ ในปี 2539 (ลดลงราว 92%) ทำให้เราต้องขอความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เพื่อรักษาเสถียรภาพของค่าเงินบาทผ่านมา 18 ปี หลังจากที่เราได้เรียนรู้บทเรียนอันเจ็บปวด ตอนนี้ประเทศไทยเรามีทุนสำรองระหว่างประเทศมูลค่าสูงถึง 158,000 ล้านดอลลาร์ สูงเป็นอันดับที่ 14 ของโลก มากกว่าประเทศที่พัฒนาแล้วบางประเทศ การมีทุนสำรองระหว่างประเทศในระดับสูง ช่วยให้เงินบาทมีเสถียรภาพมากกว่าประเทศคู่แข่งทางเศรษฐกิจหลายๆ ประเทศ

มีหลายครั้งที่ผมได้ยินนักลงทุนพูดกันว่า "ดูดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของอินโดนีเซียสิ ก่อนวิกฤตในปี 2540 ดัชนีเขาอยู่แค่ประมาณ 700 จุด แต่ตอนนี้เขาไป 5,200 จุดแล้ว SET ของไทยยังไม่เคยทะลุไฮเดิมเลย"

แต่หากเรามองดูเรื่องค่าเงินรูเปียของอินโดนีเซียประกอบด้วยจะพบว่า อ่อนค่าจาก 2,500 รูเปีย/ดอลลาร์ ในปี 2540 มาเป็น 12,755 รูเปีย/ดอลลาร์ ในปี 2558 อ่อนลงประมาณ 5 เท่า ในขณะที่ค่าเงินบาทอ่อนตัวมาประมาณ 30% ในช่วงเดียวกัน

ดังนั้น หากเราพิจารณาราคาหุ้นของอินโดนีเซียเทียบหุ้นไทยโดยอ้างอิงสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ เราก็อาจจะพบว่าการลงทุนในตลาดหุ้นอินโดนีเซียไม่ได้สวยงามมากมายขนาดนั้น

จากการจัดอันดับล่าสุดของ World Economic Forum ในเรื่อง "ความสามารถในการแข่งขันของประเทศ" (Global Competitiveness Report 2014-2015) โดยวัดจาก 12 หัวข้อหลัก เช่น สภาพโดยรวมของเศรษฐศาสตร์มหภาค, โครงสร้างพื้นฐาน การสาธารณสุข และการศึกษาของประเทศนั้น ๆ ตอนนี้ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 31 จาก 140 กว่าประเทศ ถ้านับกันในอาเซียนไทยยังเป็นรองสิงคโปร์ (อันดับ 2) และมาเลเซีย (อันดับ 20) แต่ยังเหนือกว่าอินโดนีเซีย (อันดับ 34) ฟิลิปปินส์ (อันดับ 52) และเวียดนาม (อันดับ 68)

หากมองจากหลักการลงทุนแบบ Warren Buffet ที่เน้นเรื่อง "ความสามารถในการแข่งขัน" ประเทศไทยถึงแม้จะไม่อยู่ในกลุ่มดีเลิศ แต่ก็ยังพอนับได้ว่าอยู่ในกลุ่มที่มีศักยภาพที่พอใช้ได้

ในเรื่องอัตราดอกเบี้ย ซึ่งเป็นประเด็นหลักที่เกื้อหนุนให้เกิดการลงทุนในประเทศนั้น หากเปรียบเทียบระหว่างประเทศ "ตลาดเกิดใหม่" (Emerging Markets) ด้วยกัน ประเทศไทยนับว่ามีอัตราดอกเบี้ยต่ำมาก ซึ่งตอนนี้ดอกเบี้ยนโยบายไทยอยู่ที่ 2% อัตราดอกเบี้ยของบราซิลอยู่ที่ 12.25% ตุรกีอยู่ที่ 7.75% และอินโดนีเซียอยู่ที่ 7.75% การที่มีดอกเบี้ยต่ำจะช่วยเรื่องการระดมทุนไม่ว่าจะเป็น กองทุนโครงสร้างพื้นฐาน หรือกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) ได้ง่ายกว่าประเทศที่มีดอกเบี้ยสูง และเมื่อรัฐวิสาหกิจหรือบริษัทเอกชนมีการขายสินทรัพย์เดิมออกไปเข้ากองทุน ก็จะนำเงินที่ได้มาลงทุนใหม่ ทำให้การหมุนเวียนของสินทรัพย์ในประเทศดีขึ้น ทำให้ประเทศกลับมามีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง

Master Card Global Destination Cities Index ได้รายงานเมืองที่มีนักท่องเที่ยวไปเยือนมากที่สุดในโลกปี 2014 อันดับหนึ่ง ได้แก่ มหานครลอนดอนของอังกฤษ อันดับสอง ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ขนาดประเทศไทยมีความไม่สงบทางการเมืองเกิดขึ้นกลางเมืองหลวงในปีที่แล้ว ยังมีคนมาเยือนขนาดนี้ ในปี 2015 นี้หากไม่มีความวุ่นวายเกิดขึ้นอีก ก็หวังว่ากรุงเทพฯจะคว้าเมืองอันดับหนึ่งมาได้อย่างง่ายดาย

ผมไม่ ปฏิเสธว่าประเทศไทยยังมีเรื่องที่ต้องแก้ไขและพัฒนาอีกมากไม่ว่าจะเป็น เรื่องของนวัตกรรมใหม่ๆ,เรื่องการบริหารห่วงโซ่อุปทานอย่างมีประสิทธิภาพ หรือไม่ว่าจะเป็นเรื่องระบบอุปถัมภ์พวกพ้อง แต่ประเทศไทยก็ยังมีเรื่องดี ๆ ที่หลาย คนอาจจะมองข้าม

เมื่อไม่นานมานี้ผมลองหาข้อมูลของประเทศในอเมริกาใต้ ที่ได้ชื่อว่ามีปัญหาเรื่องวิกฤตการเงินอยู่เสมอ กลับพบกับความประหลาดใจว่า ประเทศเหล่านั้นประชากรของเขามีความมั่งคั่งกว่าคนไทยในด้านรายได้เฉลี่ยต่อเดือนที่สูงกว่า และ GDP ต่อหัวที่สูงกว่าด้วยศักยภาพที่ประเทศไทยมี ผมเชื่อว่าในอนาคตหากเรามีการบริหารจัดการประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ ประเทศไทยเราคงเข้าสู่ยุคทองของการค้าและการลงทุนอย่างแน่นอน


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : รักเธอประเทศไทย

view