สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

7 สาเหตุประสิทธิภาพ แรงงานไทยอยู่ในระดับต่ำ

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ ช่วยกันคิด โดย สถาบันอนาคตไทยศึกษา

ทำไมเราต้องใส่ใจเรื่องประสิทธิภาพแรงงาน

เพราะ "ประสิทธิภาพแรงงาน" มีความสำคัญต่อความสามารถในการแข่งขันโดยตรง และยังเป็นแนวทางที่จะทำให้คนมีรายได้เพิ่มขึ้นได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย

บรรดาประเทศในสหภาพยุโรปที่ต้องเผชิญกับวิกฤตยูโรโซนในช่วง2551-2554 ต่างมีต้นเหตุร่วมกันอย่างหนึ่ง นั่นคือประเทศเหล่านั้นมีความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง ซึ่งเป็นผลมาจากประสิทธิภาพการผลิตที่ลดลง

หนึ่งในตัวที่ใช้วัดความสามารถในการแข่งขัน คือ ต้นทุนแรงงานต่อหน่วย (Unit Labor Cost) ซึ่งถ้ายิ่งสูง ยิ่งแสดงว่าความสามารถในการแข่งขันแย่ลง


แล้วประเทศไทยเป็นอย่างไร

ความสามารถในการแข่งขันของไทยต่ำกว่าเมื่อสิบปีก่อนเล็กน้อยและยังตามหลังอีกหลายประเทศเมื่อเทียบกันในภูมิภาค เนื่องจาก ต้นทุนแรงงานต่อหน่วย ที่เพิ่มขึ้นเร็ว และแซงประเทศเพื่อนบ้านในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เพราะประสิทธิภาพแรงงานที่เพิ่มขึ้นไม่ทันกับค่าจ้าง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือประสิทธิภาพแรงงานของไทยที่เพิ่มขึ้นน้อยกว่า (2% ต่อปี) เมื่อเทียบกับประเทศอื่น เช่น เวียดนาม (4%) และจีน (10%)

ประสิทธิภาพแรงงานนั้นกระทบกับขีดความสามารถในการแข่งขันโดยตรง เพื่อให้เห็นเป็นรูปธรรมลองนึกภาพว่า ประเทศไทยเป็นบริษัทชื่อ Thailand Corp ในปี 2546 บริษัทแห่งนี้จ้างแรงงาน 10 คน ซึ่งผลิตสินค้าที่มีราคา 10 บาท ได้คนละ 10 ชิ้นต่อวัน ความสามารถในการผลิตสินค้าของแรงงานนี้เองคือสิ่งที่เรียกว่า "ประสิทธิภาพแรงงาน" ผลผลิตรวมของบริษัทที่ได้จะมีมูลค่า 1,000 บาทต่อวัน

สมมติต่ออีกว่าบริษัทจ่ายค่าจ้างวันละ 10 บาทต่อคน ทำให้มีต้นทุนค่าจ้างเท่ากับ 1,000 บาทต่อวัน (ค่าแรง 10 บาท x10 คน) แสดงว่าต้นทุนค่าจ้างต่อสินค้าเท่ากับ 1 บาท (ค่าจ้าง 1,000 บาท/สินค้า 1,000 บาท) อีกสิบปีต่อมาพบว่าประสิทธิภาพแรงงานไทยนั้นเพิ่มขึ้น 26% หมายความว่าแรงงาน 10 คนนี้ สามารถผลิตสินค้าได้มูลค่ามากขึ้นจาก 1,000 บาท เป็น 1,260 บาท ส่วนค่าจ้างก็เพิ่มขึ้นเช่นกันราว 31% จากเดิมที่บริษัทเคยจ่ายค่าจ้างรวม 1,000 บาทเมื่อสิบปีที่แล้ว ก็เริ่มเป็น 1,310 บาทต่อวัน ทำให้ต้นทุนค่าจ้างต่อหน่วยเพิ่มเป็น 1.03 บาท (1,310 บาท/1,260 บาท) หรือราว 3% ในขณะที่ประเทศอื่น เช่น อินโดนีเซีย ต้นทุนค่าจ้างต่อหน่วยลดลง 12% เมื่อเทียบสิบปีที่แล้ว เพราะแม้ว่าค่าจ้างจะเพิ่มขึ้นเกือบ 30% ใกล้เคียงกับไทย แต่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพแรงงานได้เร็วกว่า โดยเพิ่มขึ้นกว่า 40% เช่นกัน

ประสบการณ์ที่ผ่านมาทำให้เรียนรู้ได้แล้วว่า ลำพังการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอย่างเดียว โดยไม่ได้พัฒนาศักยภาพของแรงงาน ไม่ใช่วิธีที่ยั่งยืนที่จะช่วยให้คนมีรายได้เพิ่มขึ้น

แต่ก่อนจะปรับปรุงประสิทธิภาพแรงงานจำเป็นต้องเข้าใจก่อนว่าสาเหตุที่ทำให้ประสิทธิภาพแรงงานของไทยต่ำเป็นเพราะอะไร

1.ระดับการลงทุนของไทยในปัจจุบันต่ำคิดเป็นแค่เพียง 84% ของระดับการลงทุนก่อนเกิดวิกฤตปีཤ บรรดาประเทศอื่น ๆ ที่เผชิญวิกฤตเศรษฐกิจเหมือนกับเราเมื่อปี 2540 ปัจจุบันต่างสามารถฟื้นฟูการลงทุนให้กลับมาสูงกว่าเมื่อก่อนเกิดวิกฤตได้แล้ว อย่างเกาหลีมีระดับการลงทุนในปัจจุบัน คิดเป็น 130% ของปี 2539 (มาเลเซีย 146%, อินโดนีเซีย 173%) แต่สำหรับ บ.Thailand Corp เมื่อพิจารณาสัดส่วนทุนต่อแรงงาน พบว่าภาคธุรกิจยังใช้เครื่องจักรในสัดส่วนที่แทบไม่เพิ่มขึ้นเลย เพราะสัดส่วนของสต๊อกสินค้าทุนต่อแรงงานเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1% ต่อปีเท่านั้น ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา อีกทางหนึ่งที่จะช่วยให้มีการลงทุนเพิ่มขึ้น คือการลงทุนภาครัฐในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ แต่งบฯลงทุนของรัฐบาล 5 ปีที่ผ่านมาเฉลี่ยแล้ว คิดเป็นเพียง 19% ของงบประมาณทั้งหมดเท่านั้น

2.กระบวนการผลิตสินค้าไม่ค่อยยกระดับมูลค่าผลิตภัณฑ์ หนทางที่บริษัท Thailand Corp จะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพของแรงงานได้ ถ้าไม่ทำให้แรงงานผลิตสินค้าได้มากขึ้น ก็ต้องเปลี่ยนไปผลิตสินค้าที่มีราคาหรือมูลค่าเพิ่มที่สูงขึ้น หรือที่เรียกว่า Move up Value Chain เช่น การสร้างนวัตกรรม การวิจัยและพัฒนา และการพัฒนาแบรนด์ เป็นต้น แต่สำหรับประเทศไทยยังคงทำหน้าที่ผลิต และประกอบ ซึ่งได้มูลค่าเพิ่มต่ำสุดใน Value Chain

3.แรงงานมีระดับการศึกษาเพิ่มขึ้น แต่ไม่ตอบโจทย์ตลาด เห็นได้จากผลตอบแทนจากการศึกษาที่สูงขึ้น ได้ผลตอบแทนลดลง โดยปกติแล้วเมื่อประเทศพัฒนามากขึ้น ผลตอบแทนจากการศึกษาระดับที่สูงขึ้นนั้นควรจะมีรายได้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ที่เป็นเช่นนี้น่าจะเป็นผลมาจาก 2 ปัจจัย หนึ่งคือจำนวนผู้ที่จบการศึกษาในระดับสูงมีมากเกินความต้องการของตลาดแรงงาน สองคือคุณภาพที่แย่ลงของบัณฑิตที่จบการศึกษา ส่งผลให้ต้องไปทำงานต่ำกว่าวุฒิมากขึ้น

4.แรงงานไทยอยู่ในภาคเกษตร ซึ่งเป็นภาคที่มีประสิทธิภาพแรงงานต่ำสุด แรงงานภาคเกษตรของไทยนั้นสูงมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาค เช่น จีนมีแรงงานภาคเกษตร 35%, มาเลเซีย 24%, อินโดนีเซีย 35% แต่ภาคเกษตรนั้นเป็นภาคที่มีประสิทธิภาพแรงงานต่ำสุด คิดเป็นเพียง 1 ใน 10 ของภาคอุตสาหกรรมเท่านั้น ช่วงสิบปีที่ผ่านมา สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ประสิทธิภาพแรงงานในภาคเกษตรต่ำ มาจากระดับการใช้เครื่องจักรและเทคโนโลยียังอยู่ในระดับต่ำ สต๊อกของสินค้าทุนในภาคเกษตรของไทยนั้นคิดเป็นแค่ครึ่งหนึ่งของเวียดนามเท่านั้น

5.แรงงานย้ายออกจากภาคเกษตรเข้าสู่ภาคบริการสัดส่วนของแรงงานในภาคบริการเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะที่สัดส่วนแรงงานในภาคอุตสาหกรรมกลับแทบไม่เปลี่ยนแปลงเลย การโยกย้ายแรงงานจากภาคเกษตรไปสู่ภาคอุตสาหกรรม เคยมีส่วนสำคัญที่ทำให้ประสิทธิภาพแรงงานโตขึ้นอย่างรวดเร็วในอดีต แต่ในปัจจุบันแรงงานกลับเลือกที่จะย้ายไปสู่ภาคบริการ ซึ่งมีประสิทธิภาพแรงงานต่ำกว่า เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ประสิทธิภาพแรงงานโดยรวมโตช้า

6.กว่า 40% ของลูกจ้างเอกชนอยู่ในบริษัทที่มีลูกจ้างน้อยกว่า 10 คน กิจการขนาดเล็กย่อมมีข้อจำกัดในเรื่องเงินทุนที่จะลงทุนซื้อเครื่องจักรและอุปกรณ์ และเงินลงทุนฝึกอบรมพัฒนาทักษะแรงงาน เห็นได้จากข้อมูลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรที่พบว่า 98% ของแรงงานที่อยู่ในสถานประกอบการขนาดเล็ก จ้างคนน้อยกว่า 10 คนนั้น ไม่เคยได้รับการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะเลย

7.เพียง 1 ใน 6 ของกำลังแรงงานเท่านั้นที่เป็นมนุษย์เงินเดือนในภาคเอกชน ประเทศไทยมีกำลังแรงงานในปี 2556 ทั้งหมด 39 ล้านคน กำลังแรงงานเกือบ 2 ใน 3 (23 ล้านคน) ประกอบอาชีพอิสระ เช่น เกษตรกร คนขับแท็กซี่ แม่ค้า มีเพียง 16 ล้านคนเท่านั้นที่เป็นลูกจ้าง แต่ที่น่าสังเกตคือ จากลูกจ้างในภาคเอกชนจำนวน 13 ล้านคน มีมนุษย์เงินเดือนเพียง 6 ล้านคน หรือคิดเป็นเพียง 1 ใน 6 ของกำลังแรงงานเท่านั้น อีกกว่า 7 ล้านคนนั้นเป็นลูกจ้างชั่วคราวที่ยังได้ค่าจ้างเป็นรายวัน หรือตามชิ้นสินค้าที่ผลิตได้ นอกจากนี้ยังคาดว่ามีแรงงานต่างด้าวอีกราว 4 ล้านคน ที่อยู่ในตลาดแรงงาน ทั้งที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย การที่แรงงานส่วนใหญ่อยู่ในภาคการผลิตที่ไม่เป็นทางการ เอกชนส่วนใหญ่เน้นการจ้างแบบไม่ใช่ลูกจ้างประจำ และใช้แรงงานต่างด้าวเพื่อให้ได้เปรียบเรื่องต้นทุน ย่อมทำให้เอกชนขาดแรงจูงใจที่จะลงทุนในการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะ/ฝีมือให้กับลูกจ้างเหล่านี้

จาก 7 สาเหตุที่กล่าวมาจะเห็นว่า ปัญหาประสิทธิภาพแรงงานไทยนั้นซับซ้อน เกี่ยวพันกับโครงสร้างตลาดแรงงาน โครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งการแก้ปัญหาตามสาเหตุที่กล่าวมาข้างต้นมีการพูดถึงมานานมากแล้ว แต่ยังไม่สำเร็จเสียที เนื่องจากขาดการบูรณาการ

เพราะที่จริงเราต้องการความร่วมมือ และความเชื่อมโยงระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งรัฐ เอกชน วิชาการ มากกว่าที่จะแก้ปัญหาแบบไซโล คือการพยายามแก้ไขเป็นเรื่อง ๆ ประหนึ่งว่าแต่ละเรื่องอยู่ในไซโลที่แยกออกจากกันในแบบที่เคยทำอย่างที่แล้ว ๆ มา

ดังนั้นความร่วมมือ ความเชื่อมโยงระหว่างกัน ควรเริ่มจากหน่วยที่เล็กลงมาในพื้นที่ใกล้เคียงกัน ช่วยให้เกิดความร่วมมือระหว่างกันได้ง่ายขึ้น เนื่องจากความรู้จักคุ้นเคยของแต่ละฝ่ายซึ่งต่างก็อยู่ในพื้นที่เดียวกัน และทุกฝ่ายน่าจะเห็นประโยชน์ร่วมกันที่จะเกิดขึ้นได้ชัดเจนกว่า

ทางออกที่เป็นรูปธรรม คือ การใช้ประโยชน์ในเชิงพื้นที่ในการสร้างและพัฒนา Cluster ใหม่ในภูมิภาค ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพแรงงานทั้งในแง่ของการลงทุน ความร่วมมือระหว่างรัฐ (ท้องถิ่น) เอกชน และวิชาการในการผลิต/ฝึกอบรมบุคลากร และงานวิจัย สร้างนวัตกรรมที่ช่วยให้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตด้วยวิธีต่าง ๆ

เช่น เพิ่มการลงทุนจากภาครัฐและเอกชนในท้องถิ่น สร้างคลัสเตอร์ใหม่ ๆ กระตุ้นให้เกิดการลงทุนมากขึ้น นอกจากจะมีภาคธุรกิจเป็นผู้ร่วมลงทุนด้วยแล้ว ภาครัฐหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สามารถลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ สถานศึกษา ภาคเอกชนร่วมกันผลิต/พัฒนาฝีมือแรงงานที่ตลาดต้องการ การสร้างคลัสเตอร์จะทำให้สถาบันการศึกษาได้รับข้อมูลความต้องการของตลาดแรงงานมากขึ้น เกิดเป็นความร่วมมือแบบทวิภาคี ระหว่างสถานศึกษากับสถานประกอบการ หรือเป็นความร่วมมือในการฝึกอบรมแรงงานระหว่างเอกชนด้วยกัน

นอกจากนี้ต้องมีมหาวิทยาลัย หรือศูนย์วิจัยที่ผลิตงานวิจัยมารองรับ เพื่อให้เกิดนวัตกรรมในการปรับปรุงประสิทธิภาพแรงงาน การพัฒนาคลัสเตอร์ที่ผ่านมาเป็นแค่การจับคู่ทางธุรกิจ มากกว่าการสร้างมูลค่าให้
ธุรกิจ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : 7 สาเหตุ ประสิทธิภาพ แรงงานไทย อยู่ในระดับต่ำ

view