สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ปรีดิยาธร ลั่นเศรษฐกิจเริ่มฟื้น

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

ชี้เศรษฐกิจฟื้นตัวชัดแรงบริโภคหนุน เผยยอดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเดือนม.ค. ทะลุ4หมื่นล้านบาทสูงสุดเป็นประวัติการณ์

สะท้อนการบริโภค 5.5 แสนล้าน ระบุโรงงานเตรียมเปิดตัวอีก 2000 แห่ง จ้างงานเพิ่มขึ้นอีก 6 หมื่นตำแหน่ง วอนรัฐมนตรีรายกระทรวงเร่งเบิกจ่ายงบลงทุน ตั้งเป้า เดือนมี.ค.เบิกจ่ายได้ 30 %

สถานการณ์เศรษฐกิจที่หลายฝ่ายวิตกกังวลเกิดความซบเซาตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมาจนถึงต้นปีนี้ และคาดการณ์กันว่าจะอยู่ภาวะซึมตัวไปอย่างเนื่อง จนเป็นแรงกดดันไปที่รัฐบาลให้เร่งมาตรการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ดีการคาดการณ์หรือมุมมองในเชิงลบดังกล่าวถูกปฏิเสธจากนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)และม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีที่เห็นว่าเศรษฐกิจไทยกระเตื้องขึ้นและมีแนวโน้มที่ดี

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวว่า สถานการณ์เศรษฐกิจของไทยขณะนี้มีสัญญาณฟื้นตัวชัดเจน เห็นได้จากการบริโภคและการใช้จ่ายของประชาชนฟื้นตัว โดยยอดการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ในเดือนม.ค. ที่สูงเป็นประวัติการณ์ โดยสามารถจัดเก็บได้ 4.01 หมื่นล้านบาท โดยปกติเดือนม.ค. จะเป็นช่วงที่เก็บภาษีได้สูง สุดในแต่ละปีแต่ที่ผ่านมาไม่เคยเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มได้เกิน 3.6 หมื่นล้าบาทครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่เก็บได้สูงถึง 4 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้การเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในแต่ละเดือนเพิ่มขึ้นตามลำดับจากเดือน ต.ค. -ธ.ค. 2557 ที่รัฐเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มได้ 3.32 หมื่นล้านบาท 3.39 หมื่นล้านบาท และ 3.4 หมื่นล้านบาทตามลำดับ

ยอดภาษีมูลค่าเพิ่มรัฐเก็บได้ 4.01 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 7% ของมูลค่าการใช้จ่ายรวม ซึ่งเท่ากับมียอดการใช้จ่ายเอกชนในเดือนม.ค.ที่ผ่านมาสูงถึง 5.5 แสนล้านบาทและหากทั้งปีเฉลี่ยอยู่ที่เดือนละ 3.8-3.9 หมื่นล้าน เท่ากับการใช้จ่ายรวมทั้งปีจะอยู่ที่ 6.7 - 6.8 ล้านล้านบาท ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่สูงมาก ซึ่งเศรษฐกิจกระเตื้องขึ้นหรือไม่สามารถดูที่การใช้จ่ายของเอกชน

“ยอดภาษีมูลค่าเพิ่มที่เพิ่มขึ้นและขึ้นมาเป็น 4.01 ล้านบาท ในเดือนม.ค. 2558 อันนี้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ เพราะปกติในเดือน ม.ค. จะเก็บได้สูงอยู่แล้วแต่ที่สูงสุดคือ 3.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งหลังมาจาก 3 ปัจจัย คือโรงงานที่เปิดใหม่ทำให้มีการจ้างงานแรงงานได้ค่าจ้างก็นำไปใช้สอย สองคือราคาน้ำมันที่ลดลงทำให้มีเงินเหลือไปใช้จ่ายและสามเงินกระตุ้นเศรษฐกิจที่เดิมคาดว่าจะออก ต.ค. ที่แล้ว แต่ก็มาออกเดือนม.ค.ปีนี้ ทั้งเงินช่วยชาวนา 4 หมื่นล้าน และเงินสวนยาง 8,500 ล้านบาท” ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าว

เอกชนเริ่มทยอยลงทุนหนุนจ้างงาน

ในส่วนของการลงทุนเอกชนนั้นหลังรัฐบาลชุดนี้เข้ามา กระทรวงอุตสาหกรรมออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.4) ให้โรงงานในเดือนมิ.ย.2557-ม.ค.2558 จำนวน 4,200 แห่ง โดยในรอบ 7 เดือนที่ผ่านมามีโรงงานเปิดกิจการไปแล้ว 2,041 แห่ง มีการจ้างงานเพิ่ม 99,000 คน ที่เหลืออีกประมาณ 2,200 แห่ง จะต้องเปิดภายใน 4-5 เดือนนี้อย่างแน่นอน เพราะมีกฎให้เปิดโรงงานภายใน 180 วัน หลังได้ใบอนุญาต ร.ง.4 ซึ่งหากโรงงานอีก 2,200 แห่งเปิดดำเนินการก็จะมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นอีก 62,000 คน และหากรวม 4,200 โรงงานจะมีเม็ดเงินลงทุน 4.5 แสนล้านบาท แสดงให้เห็นว่าในส่วนของการลงทุนภาคเอกชนขยับเดินหน้าแล้ว

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ระบุ ว่า รัฐบาลเร่งรัดการเบิกจ่ายภาครัฐโดยลงไปแก้อุปสรรคต่างๆ เช่น แก้ไขราคากลางก่อสร้าง คาดว่างบซ่อมสร้างโรงเรียน สถานีอนามัย ในพื้นที่ต่างจังหวัดที่อนุมัติตามแผนกระตุ้นเศรษฐกิจรอบแรก 2.3 หมื่นล้านบาท จะเริ่มหาผู้รับเหมาได้ ส่วนโครงการส่งเสริมเกษตรกรโค่นต้นยางเก่า 1 แสนบาทต่อราย โดยให้เงินกู้ 1 แสนบาทต่อรายก็มีการยื่นกู้มาแล้ว 1 แสนราย ที่เพิ่งให้กู้ไปได้ 1 หมื่นราย ก็จะมีการเร่งรัดเรื่องนี้

จี้รมต.เร่งเบิกจ่ายงบลงทุน4แสนล้าน

ทั้งนี้ตนยังได้ขอความร่วมมือรัฐมนตรีทุกกระทรวงเร่งรัดเบิกจ่ายงบลงทุนปี 2558 วงเงินกว่า 4 แสนล้านบาท โดยกำหนดให้เร่งดำเนินการให้เสร็จในเดือนก.ย.2558 โดยจะต้องเบิกจ่ายไม่ต่ำกว่า 80 % โดยในเดือนมี.ค.นี้ จะต้องเบิกจ่ายให้ได้ 30% จากที่ในช่วง 4 เดือนเบิกจ่ายไปเพียง 12% ในขณะเดียวกันได้จัดสรรงบอีก 3,062 ล้านบาท ลงไปช่วยพื้นที่ทำนาแล้งซ้ำซาก 3,062 ตำบลส่วนใหญ่อยู่ในภาคอีสาน ให้ทำโครงการลดต้นทุนผลผลิตเช่น ซื้อเครื่องจักรผลิตปุ๋ยอินทรีย์ การทำระบบชลประทาน ก็มั่นใจว่า เม็ดเงินนี้จะเริ่มลงสู่ระบบมากขึ้น

“สินค้าเกษตรอ้อย ปาล์มไม่น่าเป็นห่วง ส่วนเรื่องข้าวด้วยโครงที่ช่วยเหลือทั้งหมด คาดว่าชาวนาจะขายข้าวได้ 9,500 บาทต่อตัน ขณะที่ชาวสวนยางก็จะดูแลให้ได้ในราคาประมาณ 63 บาทต่อกิโลกรัม” ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าว

ชี้คิวอียุโรปหนุนเม็ดเงินเข้าไทย

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ยังกล่าวด้วยว่า เศรษฐกิจไทยยังได้ผลดีจากมาตรการคิวอีของสหภาพยุโรปที่มีวงเงินสูงถึง 6 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน ก็ทำให้มีเม็ดเงินไหลเข้าต่อเนื่องจะเห็นได้ว่าตลาดหุ้นไทยดัชนีสูงกว่า 1,600 จุด ส่วนคณะกรรมการนโยบายการเงินหรือ กนง.จะลดดอกเบี้ยหรือไม่นั้น ทางรัฐบาลคงไม่กดดัน

ทั้งนี้ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ก็ส่งสัญญาณเรื่องการลดดอกเบี้ย ซึ่งหากลดได้จะส่งผลทั้งตลาดหุ้นและกิจกรรมทางเศรษฐกิจดีขึ้นและช่วยให้จีดีพีของประเทศจะโตไม่ต่ำกว่า 4% ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้

สำหรับในเรื่องของการส่งออกสินค้าของไทยคาดว่าจะขยายตัวได้ประมาณ 4% โดยส่วนหนึ่งมาจาก การค้าชายแดนจะยังขยายตัวได้ดี ส่วนผู้ซื้อในระดับโลกที่เศรษฐกิจของสหรัฐ ญี่ปุ่น และยุโรป ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ส่วนจีนที่เศรษฐกิจเคยเติบโตได้ 8%ลดลงมาเหลือ 6% จึงซื้อสินค้าลดลงไปด้วย โดยส่วนตัวหนักใจแทนกระทรวงพาณิชย์ที่จะต้องพยายามเต็มที่ เพื่อให้การส่งออกปีนี้เติบโตได้ 4% ขณะที่การบริโภคและลงทุนเอกชนที่ฟื้นตัวจากปัจจัยบวกภายในประเทศจะสนับสนุนจะทำให้เศรษฐกิจปีนี้ขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 4%

บี้ 40 หน่วยงานเร่งเบิกจ่าย

นายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวว่า กรมบัญชีกลางได้เชิญหน่วยงานที่มีงบลงทุนตั้งแต่ 300 ล้านบาทขึ้นไป ประมาณ 40 หน่วยงาน งบลงทุนรวม 3.3 แสนล้านบาท มาร่วมประชุมเพื่อติดตามความคืบหน้าของการเบิกจ่ายงบลงทุนในปีงบประมาณ 2558 ผลปรากฏว่า ส่วนใหญ่ให้ความมั่นใจ การเบิกจ่ายงบลงทุนจะทำได้ 90-100% ช่วงไตรมาส 4 ของปีงบประมาณ

โดยเมื่อวันที่ 30 ม.ค.ที่ผ่านมา กรมบัญชีกลาง เชิญหน่วยงานราชการที่มีงบลงทุนเกินกว่า 1 พันล้านบาท 21 หน่วยงาน คิดเป็นวงเงินลงทุนรวม 3.1 แสนล้านบาท มาหารือ ปรากฏว่า ทุกหน่วยงานสามารถเบิกจ่ายงบลงทุนช่วงไตรมาส 2 ของปีงบประมาณได้ 30% ของวงเงินลงทุนทั้งหมด ส่วนที่เหลือสามารถก่อหนี้ได้ 80% ส่วนการเบิกจ่ายภาพรวมสามารถทำได้ใกล้เคียงเป้าหมาย

ล่าสุดวานนี้ (6 ก.พ.) กรมบัญชีกลาง ได้เชิญอีก 20 หน่วยงาน ที่มีงบลงทุนระหว่าง 300-1,000 ล้านบาท มาหารือเรื่องนี้ ผลปรากฏว่า ทุกหน่วยงานได้ประเมินว่า สามารถก่อหนี้ได้เฉลี่ย 90-100% และเบิกจ่ายได้ตามเป้า 90-100% ช่วงไตรมาส 4 ของปีงบประมาณเช่นกัน

มั่นใจจะเห็นการเบิกจ่ายดีขึ้น

สำหรับปัญหาการเบิกจ่าย ได้รับรายงานใน 2-3 ประเด็น อาทิ 1.ตั้งงบประมาณไม่เพียงพอ และ 2.มติครม.ที่ปรับลดค่าใช้จ่ายในการลงทุน หลังราคาน้ำมันปรับลดลง ซึ่งประเด็นนี้ ได้มีการหารืออย่างกว้างขวางในประเด็นนี้ โดยเฉพาะใน 14 หน่วยงานที่เห็นว่า อาจปรับลดราคาลงไม่ได้ ซึ่งอาจมีผลต่อการจัดซื้อจัดจ้างใหม่ และจะทำให้การเบิกจ่ายล่าช้า

"กลุ่มที่เราเชิญมาประชุมนี้ ถือเป็นกลุ่มที่ต้องอภิบาลอย่างใกล้ชิด เพราะที่ผ่านมา มียอดเบิกจ่ายได้น้อย บางหน่วยงานเบิกไม่ได้เลย นับจากนี้ไป จะเห็นภาพการเบิกจ่ายที่ดีขึ้นเรื่อยๆ เพราะจะติดตามกลุ่มนี้ใกล้ชิด" เขากล่าว

ยันไม่ผ่อนคลายจัดซื้อจัดจ้าง

นอกจากนี้ กรมบัญชีกลาง ยังไม่มีมาตรการอะไรเพิ่มเติม เพราะที่ผ่านมา ได้ผ่อนคลายระเบียบการจัดซื้อจ้างไปมากแล้ว ซึ่งหน่วยงานต่างๆ ก็พอใจ กรมฯจะได้รายงานผลการเบิกจ่าย รวมถึงแผนการเบิกจ่ายของส่วนราชการต่างๆ ให้ที่ประชุมคณะกรรมการติดตามเร่งรัดการเบิกจ่าย ที่มี ม.ร.ว.ปรีดิยาธรเป็นประธาน ซึ่งจะมีการประชุมภายในเดือนก.พ.นี้ ได้รับทราบ

สำหรับปีงบประมาณ 2558 ตั้งเป้าเบิกจ่ายไว้ที่ 96% ของงบรวม 2.575 ล้านล้านบาท ส่วนเป้าหมายการเบิกจ่ายงบลงทุนอยู่ที่ 87% ของงบลงทุนจำนวน 4.49 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ ผลการเบิกจ่ายงบประมาณ ณ สิ้นเดือนม.ค.ที่ผ่านมา ผลปรากฏว่า มีการเบิกจ่ายไปแล้วรวม 9.69 แสนล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมาย 2.2% โดยงบรายจ่ายประจำเบิกจ่ายแล้ว 42.8%ของวงเงินรวม ส่วนงบลงทุนเบิกจ่ายได้เพียง 13%จากวงเงินลงทุนรวม


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ปรีดิยาธร เศรษฐกิจเริ่มฟื้น

view