สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

จากเด็กคุ้ยขยะ สู่ ดร.วิศวะ

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ธเนศน์ นุ่นมัน

ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะพลิกสภาพชีวิตที่กำลังติดลบให้กลับมาสู่ด้านบวก แต่ กุลชาติ จุลเพ็ญ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ก้าวข้ามจากชะตาที่ต้องเร่ร่อน ขอทาน พ่อแม่แยกทางกัน กลายเป็นเด็กเหลือขอ เคยลักกินขโมยกิน ไม่เรียนหนังสือ มองไม่เห็นอนาคตของตัวเอง

อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ เล่าถึงช่วงเวลาอันเลวร้ายในวัยเด็กว่า เริ่มจากแม่กับพ่อทะเลาะกันจนแยกทางกัน แม่ตัดสินใจไปทำงานร้านอาหารที่ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ ต่อมาพี่น้องห้าคนก็อยู่อย่างขาดหัวเรือใหญ่ ไม่รู้ว่าหันหน้าไปทางไหน หนีออกจากบ้านจนในบ้านเหลือเพียงตัวเขากับพี่สาวอีกคน พอเงินที่แม่ส่งมาให้เดือนละ 500 บาทหมด พี่สาวก็ไปเก็บผักบุ้งข้างทางมาผัดกับน้ำเปล่า เพราะไม่มีอะไรเลย

“มื้อแรกๆ ก็พอกินได้ แต่พอกินหลายวันเข้า ร่างกายก็เริ่มไม่รับ จะเพราะมีสารอาหารไม่เพียงพอหรืออะไรก็ไม่ทราบได้ ผมถึงกับอ้วกออกมาเป็นผักบุ้ง พี่สาวคงสงสาร เลยจูงมือผมไปขอข้าวคนข้างบ้าน แต่การขอเขากิน มันก็ไม่ใช่ทางออกที่ยั่งยืน”กุลชาติ ย้อนชีวิตวัยเด็กจากความทรงจำอันขมขื่นให้ฟัง

กุลชาติ บอกว่า ในเวลาต่อมาความลำบากผลักแผ่นหลังให้ต้องเรียนรู้แบบเด็กๆ ว่า นอกจากการขอคนอื่นกิน จะไม่ใช่ทางออกที่พึ่งพาได้ตลอดไปแล้ว การต้องลักกินขโมยกินเมื่อท้องหิว ก็เป็นทางออกที่นำมาซึ่งปัญหาอื่นๆ มากมาย

“ผมกลายเป็นเด็กเร่ร่อน ไม่เรียนหนังสือ หากินอยู่ในสถานีขนส่ง ตามร้านเกม รับจ้างซื้อของในวงไพ่ ลักเล็กขโมยน้อย เรียกว่าทำอย่างไรก็ได้จะขอฟรี จะขโมย จะรับจ้าง ขอให้มีอาหารตกถึงท้องก็ทำได้หมด เป็นเด็กเร่ร่อนอยู่สองปี จนแม่ผมกลับมา แม่ปลุกผมให้ไปเรียนหนังสือ แต่ผมไม่ยอมไป แม่ก็ตี ผมไม่เข้าใจหรอกว่าทำไมต้องลำบากเรียนหนังสือด้วย”เขาเล่า

ทำไมต้องทนลำบาก? เป็นคำถามที่วัยเด็กของกุลชาติไม่เคยถามตัวเองมาก่อนเลย กระทั่งถึงจุดเปลี่ยนที่ทำให้เข้าใจว่า ถ้าตัวเองไม่ทน คนอื่นก็ต้องรับเคราะห์แทน

“ผมจำได้วันนั้นส้วมที่บ้านเต็ม ผมซึ่งหาเรื่องไม่ยอมไปเรียนหนังสือ นั่งๆ นอนๆ อยู่ในบ้าน แม่กลับมาถึงบ้านตอนค่ำ แกรอให้ลูกๆ หลับหมด ค่อยๆ ย่องลงมา เอาค้อนเคาะเปิดฝาบ่อเกรอะ เอากระป๋องสีตักไปทิ้งทีละกระป๋องๆ แม่ทำตั้งแต่สามทุ่มจนถึงตีสอง ผมแอบมองสิ่งที่แม่ทำ วันนั้นผมเริ่มสำนึกถึงสิ่งที่แม่ทำให้ลูกๆ ก่อนหน้านี้ ท่านเสียสละให้ทุกอย่าง แต่ผมกลับไม่ยอมกระทั่งทำสิ่งที่ไม่ได้ยากเย็นอะไร แค่ไปเรียนหนังสือ เรื่องง่ายๆ ยังทำไม่ได้ ก็เลยตัดสินใจว่าต่อไปจะตั้งใจเรียนเพื่อแม่” กุลชาติระบุถึงช่วงเวลานั้น

ความสำนึกในครั้งนั้น ทำให้เรียนจบชั้น ป.6 ได้โควตาเข้าเรียนที่โรงเรียนชายล้วนประจำจังหวัด ขณะที่แม่ออกไปเก็บขยะ เป็นเงินค่าเทอม ค่าข้าว ค่าขนม ทุกบาทมาจากกองขยะ หลังเลิกเรียนเขาช่วยแม่แยกขยะ จนผลการเรียนเทอมแรกของ ม.1 ได้ที่โหล่ของห้องและติด ร. ถึง 5 วิชา

“อาจารย์สอนคณิตศาสตร์ดัดนิสัยผมด้วยการให้ทำแบบฝึกหัดท้ายบททุกเล่ม ทำให้ผมมีพื้นฐานด้านคณิตศาสตร์ พอใกล้จบ ม.3 ครูก็มาทักอีกว่า ทำไมไม่เรียนต่อ ปวช. จะได้เงินเดือนสูงขึ้น ก็เลยลองสอบดู ปรากฏว่าสอบติดช่างเชื่อมที่วิทยาลัยเทคนิคชุมพร ผมเรียนไปด้วยทำงานไปด้วย หาค่าเทอมส่งตัวเองเรียนจนจบ ปวส. ครูก็บอกว่าถ้าจะเรียนต่อ มีทุนเรียนต่อปริญญาตรี ประเภทเรียนดีแต่ยากจน ในที่สุดผมก็สอบจนได้ทุนเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ได้ทุนพัฒนาบุคลากรมหาวิทยาลัย ทุนเรียนต่อปริญญาโท เป็นอาจารย์สอนและได้ทุนไปเรียนปริญญาเอกที่สถาบันเทคโนโลยีนิปปอน ประเทศญี่ปุ่น”กุลชาติ กล่าว

กุลชาติ กล่าวทิ้งท้ายว่า ก้าวมาถึงวันนี้ได้เพราะความจนสอนให้อดทนและพยายาม และทำให้มีเป้าหมายในชีวิต จนรู้ว่าไม่ต่อสู้ดิ้นรนก็ไม่สามารถเอาตัวรอดได้ ยิ่งลงมือทำ ก็ยิ่งมีโอกาสที่ท้าทายประสบการณ์ความสามารถ ความสำเร็จที่สำคัญที่สุดที่ใช้เล่าต่อให้ลูกศิษย์ฟังในวันนี้ก็คือการตระหนักรู้อยู่เสมอ จะเอาชนะอุปสรรคได้ ต้องชนะใจตัวเองให้ได้ ไม่มีอะไรได้มาโดยไม่พยายาม


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เด็กคุ้ยขยะ ดร.วิศวะ

view