สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

คลอดเกณฑ์ร่วมทุนรัฐ-เอกชน โครงสร้างพื้นฐาน2ล้านล้าน

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

ไฟเขียวหลักเกณฑ์เอกชนร่วมลงทุนในกิจการรัฐรับโครงการลงทุนภาครัฐ ตีกรอบโครงสร้างพื้นฐาน-บริการสาธารณะ

วงเงิน 5 พันล้านต้องเข้ากฎหมายร่วมทุนและคกก.พีพีพี พิจารณา คาดกฎหมาย 14 ฉบับประกาศใช้ในก.พ.นี้ ปรับเงื่อนไขป้องรัฐเสียประโยชน์


คณะกรรมการนโยบายให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (พีพีพี)เห็นชอบกรอบการพิจารณาโครงการร่วมทุนรัฐและเอกชน รองรับแผนยุทธศาสตร์ด้านคมนาคม 8 ปี วงเงินเกือบ 2 ล้านล้านบาทและสอดคล้องกับหลักเกณฑ์กฎหมายร่วม 14 ฉบับที่จะประกาศใช้ในเร็วนี้


ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการพีพีพีว่าได้เห็นชอบกำหนดวงกรอบมูลค่าของโครงการที่จะให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐโดยให้กระทรวงการคลังออกกฎกระทรวงการคลังในการพิจารณาโครงการร่วมทุนภาครัฐและเอกชน


ทั้งนี้ ได้กำหนดกรอบวงเงินโครงการที่มีมูลค่าตั้งแต่ 5,000 ล้านบาทขึ้นไป จะต้องให้คณะกรรมการพีพีพีพิจารณาทุกโครงการ ขณะที่หากเป็นโครงการที่มีมูลค่าตั้งแต่ 1,000 - 5,000 ล้านบาทและเป็นโครงการที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานและการบริการสาธารณะให้เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายพีพีพี
แต่หากเป็นโครงการที่ไม่ถือเป็นโครงการที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานและการบริการสาธารณะ เช่น การพัฒนาที่ดินของรัฐเชิงพาณิชย์ ให้ดำเนินการเช่นเดียวกับโครงการที่มีมูลค่าต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพิจารณาเพื่อทำให้โครงการไม่ล่าช้าและเป็นภาระแก่หน่วยงานราชการมากเกินไป


นายกุลิศ สมบัติศิริ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กล่าวว่าที่ผ่านมากฎหมาย พ.ร.บ.ให้เอกชนร่วมทุนในกิจการของรัฐผ่านการเห็นชอบจากสภาฯตั้งแต่ปี 2556 แต่ตลอด 2 ปีที่ผ่านมายังไม่มีโครงการขนาดใหญ่ของรัฐแม้แต่โครงการเดียวที่เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนได้เนื่องจากกฎหมายระดับรองที่เกี่ยวข้องยังไม่แล้วเสร็จ


"ขณะนี้คณะกรรมการพีพีพี ได้มีการผลักดันกฎหมายลำดับรองจำนวน 14 ฉบับจากทั้งหมด 17 ฉบับซึ่งจะมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีผลบังคับใช้ภายในเดือน ก.พ.นี้ซึ่งเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเข้ามาร่วมทุนของภาคเอกชนตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ"


สำหรับกฎหมายลำดับรองที่มีความสำคัญ เช่น 1.การกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณมูลค่าโครงการ โดยจะเป็นครั้งแรกที่มีการคำนวณมูลค่าโครงการทั้งจากเงินลงทุนและทรัพย์สินของรัฐและภาคเอกชนตลอดอายุโครงการที่ใช้ดำเนินการในโครงการเท่านั้นและให้หน่วยงานสามารถเลือกคำนวณส่วนใดก่อนก็ได้


2.กำหนดให้กระบวนการประกาศเชิญชวนและการคัดเลือกภาคเอกชน ให้คงเป็นไปตามระเบียบเดิมแต่ปรับหลักเกณฑ์บางส่วนให้มีความโปร่งใสและชัดเจนมากขึ้น 3.มีการกำหนดหัวข้อสำคัญที่ต้องเป็นไปตามมาตรฐานในสัญญาร่วมลงทุน เช่น สิทธิหน้าที่ของแต่ละฝ่าย การกำหนดอัตราค่าบริการและผลประโยชน์ตอบแทน และสัญญาร่วมลงทุนต้องไม่มีการต่ออายุสัญญาโดยอัตโนมัติ การกำหนดไม่ให้เอกชนเปลี่ยนเงื่อนไขสัญญาโดยฝ่ายเดียว โดยให้หน่วยงานเจ้าของโครงการพิจารณาถึงประเด็นสำคัญต่างๆที่กำหนดไว้ตั้งแต่วันที่จะเริ่มโครงการเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเหมือนในอดีต


4.ลักษณะการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนที่เป็นสาระสำคัญเพื่อรักษาคุณภาพการให้บริการแก่ประชาชนและผลประโยชน์ของภาครัฐเป็นสำคัญ โดยการเปลี่ยนแปลงใดที่จะส่งผลต่อโครงการหรือผลประโยชน์ของภาครัฐ หรือเป็นการเพิ่มประโยชน์ให้แก่คู่สัญญาเอกชน จะต้องได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก่อน เพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการแก้ไขสัญญาและลดปัญหาในการกำกับดูแล


เห็นชอบแผนยุทธศาสตร์ร่วมทุน5ปี
นายกุลิศกล่าวอีกว่าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพีพีพียังได้เห็นชอบแผนยุทธศาสตร์การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐระยะเวลา 5 ปี ครอบคลุมกิจการ 2 ประเภทหลักได้แก่ 1.กิจการคมนาคมขนส่งและการสื่อสารที่ต้องมีภาคเอกชนร่วมลงทุนแบ่งเป็น 6 กิจการย่อยได้แก่ กิจการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนทางรางในเมือง กิจการพัฒนาถนนที่มีการเก็บค่าผ่านทางในเมือง กิจการพัฒนาท่าเรือขนส่งสินค้า กิจการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง กิจการพัฒนาโครงการข่ายโทรคมนาคม และกิจการระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง


2.กิจการคมนาคมขนส่งและกิจการจัดการคุณภาพน้ำ ชลประทาน และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการส่งเสริมการศึกษา สาธารณสุขและเศรษฐกิจ โดยภาครัฐจะส่งเสริมให้เอกชนร่วมลงทุน 12 กิจการ ได้แก่ กิจการพัฒนาและบริหารระบบจัดการคุณภาพน้ำ กิจการพัฒนาและบริหารจัดการระบบชลประทาน กิจการพัฒนาระบบขยะมูลฝอย กิจการพัฒนาสถานศึกษา กิจการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม กิจการการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุข การบริหารจัดการยาและครุภัณฑ์ทางการแพทย์ และกิจการพัฒนาศูนย์ประชุมขนาดใหญ่ที่ใช้ทรัพย์สินของรัฐ


นายกุลิศกล่าวต่อว่า สคร.จะได้นำแผนยุทธศาสตร์ พีพีพีไปหารือกับกระทรวงเจ้าสังกัดเพื่อจัดลำดับความสำคัญโครงการต่างๆ โดยในปี 2558 จะเน้นไปที่การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมและโครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสารที่ส่งเสริมนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล


ถกคมนาคมยุทธศาสตร์8ปี1.99ล้านล้าน
นายกุลิศ กล่าวว่าในส่วนของแผนของกระทรวงคมนาคมที่มียุทธศาสตร์การลงทุนระยะ 8 ปีประมาณเป็นวงเงิน 1.99 ล้านล้านบาท และมีแผนให้เอกชนร่วมลงทุนประมาณ 15% หรือประมาณ 3 แสนล้านบาทที่ประชุมมอบหมายให้ สคร.และสำนักบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ไปหารือกับกระทรวงคมนาคมเพื่อเพิ่มสัดส่วนการร่วมลงทุนของภาคเอกชนในโครงการต่างๆ โดยดูแต่ละโครงการว่าแหล่งเงินมาจากไหน รายได้เป็นอย่างไร ซึ่งหากเพิ่มสัดส่วนพีพีพีได้ก็จะช่วยให้โครงการต่างๆ ทำได้รวดเร็วขึ้นและประหยัดงบประมาณและลดภาระเงินกู้ของประเทศได้


“การมีกฎหมายให้เอกชนลงทุนในกิจการของรัฐจะช่วยลดภาระงบประมาณและภาระเงินกู้ของภาครัฐ การพิจารณาโครงการจะต้องมีการเปรียบเทียบว่าการดึงเอกชนมาร่วมลงทุนจะมีประสิทธิภาพมากกว่ารัฐลงทุนเองหรือไม่ ในส่วนโครงการที่จะต้องมีการลงทุนโดยใช้กฎหมายตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน แต่ไม่สามารถบรรจุไว้ในแผนงบประมาณปี 2559 ได้ทัน โดยอาจจะต้องไปจัดลำดับไว้ในงบประมาณปี 2560 สามารถใช้เงินจาก กองทุน Project development fund ที่มีทุนประเดิมไว้ที่ 500 ล้านบาท หากโครงการสามารถดำเนินการได้ให้เอกชนที่เป็นผู้ชนะการประมูลจ่ายเงินคืนกองทุนนี้เพื่อให้มีเงินหมุนเวียนในกองทุนนี้เพื่อใช้ในการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการอื่นๆ” นายกุลิศกล่าว


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : คลอดเกณฑ์ร่วมทุนรัฐ-เอกชน โครงสร้างพื้นฐาน2ล้านล้าน

view