สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

กนง.ชี้ศก.ไทยฟื้นตัวต่อเนื่อง มีความเสี่ยง ทุนไหลเข้า

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) เปิดเผยรายงานการประชุมฉบับย่อ ครั้งที่1/2558 เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2558

 โดยกรรมการที่เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล (ประธาน) นางผ่องเพ็ญ เรืองวีรยุทธ (รองประธาน) นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน นายจำลอง อติกุล นายปรเมธี วิมลศิริ นายวิรไท สันติประภพ และ นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ มีรายละเอียดดังนี้

ภาวะเศรษฐกิจต่างประเทศ
เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มฟื้นตัวในอัตราใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ในการประชุมครั้งก่อน แต่ความเสี่ยงด้านต่ำมีมากขึ้น โดยเฉพาะจากเศรษฐกิจกลุ่มยูโรที่การฟื้นตัวยังอ่อนแอและอาจถูกกระทบเพิ่มเติมจากความไม่แน่นอนทางการเมืองและความขัดแย้งระหว่างประเทศ


สำหรับเศรษฐกิจหลักอื่นๆ โดยรวมเป็นไปตามคาด โดยเศรษฐกิจญี่ปุ่นขยายตัวในระดับต่ำตามการฟื้นตัวอย่างช้าๆ ของการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน เศรษฐกิจจีนชะลอตัวต่อเนื่องจากผลของการปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อลดความเสี่ยงด้านเสถียรภาพทางการเงิน ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯขยายตัวดีจากพื้นฐานเศรษฐกิจที่เข้มแข็งขึ้นเป็นลำดับในระยะต่อไป


ปัจจัยที่จะมีผลต่อเศรษฐกิจโลก ได้แก่ (1) ราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งส่งผลต่อเศรษฐกิจของแต่ละประเทศแตกต่างกันไป (2) พัฒนาการของปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ และ (3) ช่วงเวลาที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะเริ่มปรับนโยบายการเงินซึ่งจะมีผลต่อความผันผวนในตลาดการเงินโลก
อัตราเงินเฟ้อลดลงและติดลบในบางประเทศ ทำให้ธนาคารกลางบางแห่งปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยเฉพาะในประเทศที่มีความเชื่อมโยงสูงกับเศรษฐกิจกลุ่มยูโรและเผชิญกับความเสี่ยงของภาวะเงินฝืด อย่างไรก็ดี ธนาคารกลางในภูมิภาคส่วนใหญ่คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงที่ผ่านมา


ภาวะตลาดการเงิน
ตั้งแต่ต้นปี 2558 เงินสกุลหลักเคลื่อนไหวผันผวนเพราะเศรษฐกิจโลกมีความไม่แน่นอนมากขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาการเมืองและการดำเนินนโยบายการเงินที่ตลาดไม่ได้คาดการณ์ไว้เช่น มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (Quantitative Easing) ของธนาคารกลางยุโรปในขนาดที่มากกว่าคาด และการยกเลิกการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนขั้นต่ำของธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์


สำหรับเงินสกุลภูมิภาคเคลื่อนไหวแตกต่างกันตามผลกระทบของราคาน้ำมันต่อเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ
ทั้งนี้ เงินบาทปรับแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ เช่นเดียวกับค่าเงินของประเทศอื่นที่ได้รับประโยชน์จากราคาน้ำมันที่ลดลง ขณะที่ค่าเงินของประเทศผู้ส่งออกน้ำมันในภูมิภาคอ่อนค่าลง


อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยโดยรวมปรับลดลง สอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ รวมทั้งเป็นผลจากอัตราเงินเฟ้อของไทยเดือนธ.ค. 2557 ที่ออกมาต่ำกว่าที่ตลาดคาด และความต้องการลงทุนในพันธบัตรไทยของทั้งนักลงทุนในประเทศและนักลงทุนต่างชาติ
สำหรับทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ผลการสำรวจชี้ว่าผู้ร่วมตลาดส่วนใหญ่คาดการณ์ว่ากนง.จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งนี้


กรรมการอภิปรายอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับแนวโน้มการเคลื่อนย้ายของเงินทุนมายังตลาดการเงินไทยและภูมิภาคภายหลังจากที่ธนาคารกลางยุโรปประกาศมาตรการคิวอีเพิ่มเติม รวมทั้งธนาคารกลางบางแห่งได้ผ่อนคลายนโยบายการเงินมากขึ้น


กรรมการบางท่านประเมินว่าพื้นฐานทางเศรษฐกิจของไทย โดยเฉพาะตัวเลขดุลบัญชีเดินสะพัด ที่เกินดุลจากการปรับลดลงของราคาน้ำมัน อาจเป็นปัจจัยดึงดูดเงินทุนไหลเข้าในระยะต่อไป
ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยที่อยู่ในระดับต่ำอาจลดทอนความน่าสนใจของการลงทุนดังกล่าวบ้าง
ทั้งนี้ ผลกระทบในภาพรวม ยังขึ้นอยู่กับปริมาณสภาพคล่องในตลาดการเงินโลก (Global Liquidity) รวมทั้งระดับความเสี่ยงที่นักลงทุนยอมรับได้(Risk Appetite)


อย่างไรก็ดี ปัจจุบันยังไม่เห็นการเคลื่อนย้ายเงินทุนมายังไทยอย่างมีนัยสำคัญ และกรรมการเห็นพ้องกันว่าควรติดตามพัฒนาการในตลาดการเงินไทยโดยเฉพาะอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิดต่อไป


ภาวะเศรษฐกิจในประเทศ
เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 ของปี 2557 ฟื้นตัวอย่างช้าๆ ในอัตราที่ใกล้เคียงกับการประเมินครั้งก่อน โดยการใช้จ่ายในประเทศที่ขยายตัวต่ำกว่าคาดถูกชดเชยด้วยการส่งออกสินค้าและบริการที่ดีกว่าคาด
สำหรับการใช้จ่ายของภาครัฐเร่งขึ้นบ้างจากช่วงก่อนหน้า แต่เม็ดเงินที่เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจยังต่ำกว่าคาด ในระยะต่อไปเศรษฐกิจไทยจะได้รับผลดีจากราคาน้ำมันดิบที่ลดลงมาก ดังนี้


(1) ดุลการค้าจะปรับดีขึ้น แม้ว่าราคาของสินค้าส่งออกบางรายการอาจลดลงบ้างตามทิศทางราคาน้ำมัน (2) กำลังซื้อของครัวเรือนจะเพิ่มขึ้นจากการลดลงของค่าครองชีพซึ่งสะท้อนด้วยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ต่ำลง และ (3) ต้นทุนการผลิตจะลดลงและทำให้ภาคธุรกิจส่วนใหญ่มีกำไรเพิ่มขึ้นแต่กำไรที่เพิ่มขึ้นอาจยังไม่นำไปสู่การลงทุนเพื่อขยายกำลังการผลิต เพราะยังมีกำลังการผลิตส่วนเกินอยู่ในหลายอุตสาหกรรม
อย่างไรก็ดี ในปี 2558 คาดว่าจะเห็นการทยอยลงทุนของธุรกิจที่ได้รับบัตรส่งเสริมจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ในปีที่ผ่านมา


นอกจากนี้ความชัดเจนของโครงการลงทุนภาครัฐต่างๆ น่าจะช่วยให้การลงทุนภาคเอกชนฟื้นตัวได้ดีขึ้นในระยะต่อไปอัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงตามราคาน้ำมันในตลาดโลก และมีแนวโน้มที่จะติดลบในช่วงครึ่งแรกของปี 2558 ภาวะดังกล่าวไม่ได้เป็นสัญญาณของภาวะเงินฝืดเนื่องจาก (1) การปรับลดลงของราคาไม่ได้เกิดขึ้นในทุกประเภทสินค้าโดยราคาสินค้านอกหมวดพลังงานยังปรับเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับการทยอยฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศ (2) การลดลงของราคาน้ำมันเป็นเพียงภาวะชั่วคราวและคาดว่าจะกลับเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี

(3) อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ของสาธารณชนยังอยู่ในระดับใกล้เคียงกับค่ากลางของเป้าหมายเงินเฟ้อ
คณะกรรมการฯ แสดงความห่วงใยถึงปัจจัยเสี่ยงต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยมีการติดตามความคืบหน้าของการใช้จ่ายภาครัฐ โดยเฉพาะงบลงทุนซึ่งมีความจำเป็นต่อการฟื้นตัวอย่างเข้มแข็งของเศรษฐกิจไทย
นอกจากนี้คณะกรรมการฯ ได้อภิปรายอย่างกว้างขวางถึงผลกระทบของอัตราแลกเปลี่ยนต่อเศรษฐกิจ โดยกรรมการส่วนหนึ่งมองว่าการเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ทำให้ประเทศผู้นำเข้าสินค้าจากไทยมีทางเลือกมากขึ้นส่งผลให้การแข่งขันด้านราคารุนแรงขึ้น


ขณะที่กรรมการอีกส่วนมองว่าการเปลี่ยนผู้ผลิตสินค้าภายในห่วงโซ่อุปทานทำได้ไม่ง่ายนักในหลายอุตสาหกรรม เพราะต้องมีการกำหนดมาตรฐานสินค้าเป็นการเฉพาะและอยู่บนพื้นฐานความสัมพันธ์ทางการค้าที่ต่อเนื่องและยาวนาน


อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการฯ เห็นพ้องว่า การปรับปรุงเทคโนโลยีและศักยภาพการผลิตให้ตอบสนองต่อความต้องการของตลาดโลกจะเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งของภาคส่งออกอย่างแท้จริงในระยะยาว
การดำเนินนโยบายที่เหมาะสม


คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องในปี 2558 ใกล้เคียงกับประมาณการในการประชุมครั้งก่อน และแม้ว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังใกล้เคียงกับประมาณการเดิม แต่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับลดลงมากกว่าที่คาด โดยเป็นผลจากราคาน้ำมันดิบที่ต่ำกว่าคาด


นอกจากนี้ มีความเสี่ยงของการไหลเข้าของเงินทุนมากกว่าเดิมภายหลังจากที่บางประเทศผ่อนคลายนโยบายการเงิน


ที่ประชุมอภิปรายถึง (1) ผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อจากความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกที่เพิ่มขึ้น ราคาน้ำมันที่ลดลง การดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายเพิ่มขึ้นในหลายประเทศ การเคลื่อนย้ายเงินทุนและผลกระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยน (2) ความจำเป็นในการผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมในสภาวะที่ภาวะการเงินมีแนวโน้มผ่อนคลายลดลงในช่วงที่ผ่านมา และ (3) การดำเนินนโยบายภายใต้ภาวะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มที่จะต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมาย


กรรมการ 5 ท่านเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.00% ต่อปี โดยให้เหตุผลสำคัญ ดังนี้
(1) นโยบายการเงินในปัจจุบันอยู่ในระดับผ่อนปรนเพียงพอและไม่เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ขณะที่การใช้จ่ายลงทุนของภาครัฐจะเป็นแรงกระตุ้นที่ตรงจุดในการสร้างความเชื่อมั่นแก่ภาคธุรกิจและสนับสนุนให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่งขึ้นในระยะต่อไป นอกจากนั้น การลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมในภาวะปัจจุบันน่าจะมีผลจำกัดต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยจากการสำรวจผู้ประกอบการพบว่า ระดับอัตราดอกเบี้ยมิได้เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน


(2) แม้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มลดลงต่ำกว่าเป้าหมาย แต่เป็นเพราะปัจจัยด้านอุปทานซึ่งมีผลดีในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย และมิได้สร้างความกังวลเช่นในกรณีที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงเพราะอุปสงค์หดตัว ทั้งนี้ ยังไม่มีข้อมูลใดที่ชี้ให้เห็นว่าสาธารณชนคาดการณ์การลดลงอย่างต่อเนื่องของระดับราคาจนทำให้ตัดสินใจเลื่อนการใช้จ่ายออกไป


(3) ในภาวะที่ตลาดการเงินโลกมีแนวโน้มผันผวนขึ้นในระยะข้างหน้า นโยบายการเงินควรให้น้ำหนักกับการรักษาเสถียรภาพทางการเงินมากขึ้น
กรรมการ 2 ท่านเห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ต่อปี เพื่อช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง ในช่วงที่ความเสี่ยงจากเศรษฐกิจและตลาดการเงินโลกมีมากขึ้น และแรงกระตุ้นจากภาคการคลังยังต้องใช้เวลากว่าจะเห็นผลชัดเจน เนื่องจาก


(1) การลดลงของเงินเฟ้อและแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อที่จะเป็นลบในช่วงต่อไปจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงปรับสูงขึ้น นโยบายอัตราดอกเบี้ยจึงควรผ่อนคลายเพิ่มเติมเพื่อไม่ให้ภาวะการเงินโดยรวมมีแนวโน้มตึงตัวขึ้น
(2) การดำเนินนโยบายการเงินของหลายประเทศในโลกจะทำให้เกิดความเสี่ยงของเงินทุนไหลเข้า ซึ่งจะเพิ่มแรงกดดันให้เงินบาทแข็งค่าและอาจกระทบต่อเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่
(3) การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะช่วยรักษาความน่าเชื่อถือของนโยบายการเงินในภาวะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับลดลงต่ำกว่าขอบล่างของช่วงเป้าหมายเงินเฟ้อ


คณะกรรมการฯ มีมติ 5 ต่อ 2 เสียงให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.00% ต่อปีโดยกรรมการเห็นพ้องถึงความจำเป็นที่นโยบายการเงินควรอยู่ในระดับผ่อนปรนต่อเนื่องเพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวอย่างชัดเจน


ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ จะติดตามพัฒนาการทางเศรษฐกิจและการเงินอย่างใกล้ชิด โดยพร้อมที่จะดำเนินนโยบายการเงินที่เหมาะสมกับสถานการณ์ต่อไป


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : กนง. ศก.ไทย ฟื้นตัวต่อเนื่อง มีความเสี่ยง ทุนไหลเข้า

view